ประวัติวัด Our History

พระประธานภายในพระอุโบสถวัดศรีทวี The Principal Buddha Statute in Our Uposatha Hall

พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงสิ่งเดียวที่อยู่คู่กับวัดศรีทวีมาตั้งแต่ต้น ศิลปะขององค์พระช่วยให้สันนิษฐานได้ว่า วัดศรีทวีถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๙๙๑ ถึง ๒๒๓๑ ตามบันทึกในทำเนียบการสร้างวัดของจังหวัดนครศรีธรรมราช สถานที่แห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นวัดในปีพุทธศักราช ๒๓๙๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ชื่อว่า “วัดท่ามอญ” ทั้งนี้เพราะที่ตั้งวัดอยู่ติดกับท่าน้ำในบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายทางเรือกับชาวเมืองนครศรีธรรมราช ชาวมอญเป็นชนชาติที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงคาดว่าชนกลุ่มนี้ได้สร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจขึ้น อันได้แก่ พระพุทธรูปและศาลาหลังเล็ก ๆ เพื่อประกอบการบุญต่าง ๆ ภายในชุมชน ทั้งยังได้จัดสร้างที่พักเอาไว้เพื่อให้พระสงฆ์ได้อยู่ประจำภายในชุมชนอีกด้วย วัดท่ามอญมีเจ้าอาวาสดูแลสืบต่อกันมาโดยตลอด และมีเจ้าอาวาสที่ได้ดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระครูศรีสุธรรมรัต” ถึงสองรูป คือ พระครูศรีสุธรรมรัต (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโร) และ พระครูศรีสุธรรมรัต (ดำ ฐิตเปโม) พระศรีธรรมประสาธน์ (แบน คณฺฐาภรโน เปรียญ) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชในเวลานั้น (พุทธศักราช ๒๔๗๔ ถึง ๒๕๐๕) จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น “วัดศรีทวี” โดยคำว่า “ศรี” ถูกนำมาจากพยางค์แรกของสมณศักดิ์ของท่านพระครูทั้งสอง ส่วน “ทวี” เป็นคำภาษาบาลี (ทฺวิ) ซึ่งแปลว่าสอง

ตามบันทึกใน จดหมายข่าววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก ฉบับที่ ๕๘ ประจำวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ วัดศรีทวี (วัดท่ามอญ) ตั้งอยู่ติดกับวัดโพธิ์มอญ ซึ่งมีเนื้อที่ ๓ งาน ๖๑.๕๓ ตารางวา ปัจจุบันพื้นที่บริเวณวัดโพธิ์มอญถูกเปลี่ยนเป็นถนนข้ามไปยังสะพานยาว ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดศรีทวี

บทความที่เกี่ยวข้อง Related Article

พระบัววัดศรีทวี Our Phra Bua

พระบัวเป็นสถูปเจดีย์หน้าประตูพระอุโบสถฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ด้านหลังองค์พระประธาน สันนิษฐานว่าภายในเจดีย์มีพระพุทธรูป อัฐิของเจ้าอาวาสวัดศรีทวีในอดีต หรืออัฐิของคนในตระกูล “ณ นคร” บรรจุอยู่ ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระบัวจึงได้ทำการบนบานศาลกล่าว เมื่อสิ่งที่บนบานดังกล่าวประสบผลสำเร็จก็กลับมาแก้บนโดยการปิดทอง ถวายพวงมาลัย ถวายน้ำแดงและน้ำดื่ม และผูกผ้าสี เป็นต้น พระบัวได้รับการนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำวัดศรีทวีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ดวงตราวัดศรีทวี Our Seal

หลักฐานการสร้างวัด Our Evidence

  • ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๙๘
  • ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๔ (โดยมีเนื้อที่กว้าง ๒๐ เมตร และยาว ๓๒ เมตร)
  • ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ตำแหน่งที่ตั้งวัด Our Location

เลขที่ ๒๑๓๑/๘ ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐

ที่ดินของวัดและธรณีสงฆ์ Our Land and Property

(จากโฉนดที่ดิน เลขที่ ๗๑๓๗๒ เล่มที่ ๗๑๔ หน้าที่ ๗๒ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช)

  • ทิศเหนือยาวประมาณ ๒.๔๐ เส้น จรดคลองท่าวัง
  • ทิศใต้ยาวประมาณ ๓.๑๐ เส้น จรดถนนราชดำเนิน ๑๒ (ชื่อเดิม ถนนท่าวัง-สะพานยาว แล้วเปลี่ยนเป็น ถนนเทวราช)
  • ทิศตะวันออกยาว ๔.๒๐ เส้น จรดถนนศรีทวี (ชื่อเดิม ตรอกท่ามอญ แล้วเปลี่ยนเป็น ถนนท่าวัง)
  • ทิศตะวันตกยาวประมาณ ๓.๘๕ เส้น จรดซอยหลังวัดศรีทวี
  • ได้รับที่ดินบริจาคในตำบลโพธิ์เสด็จ จำนวน ๑ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา
  • ได้รับที่ดินบริจาคในอำเภอปากพนัง จำนวน ๔๐ ตารางวา

การบูรณะพระอุโบสถวัดศรีทวี Restoration of Our Ordination Hall

ที่มา : พระครูสิริธรรมานุศาสน์, วัดศรีทวี, ครั้งที่ ๑ (นครศรีธรรมราช : อักษรการพิมพ์, ๒๕๕๓), หน้า ๕๑-๕๖.

จากคำบอกเล่า พระอุโบสถหลังเดิมของวัดศรีทวีได้ถูกพายุพัดพังเสียหายในปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ จึงได้มีการรื้อถอนแล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นในช่วงที่พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ห้องกิ้ม วุฑฒิํกโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส โดยมีภาพถ่ายดังต่อไปนี้ปรากฏไว้เป็นหลักฐาน

อนุสรณ์สถานสะพานยาว Long Bridge Memorial

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ ถึง ๒๔๔๑ พระครูกาชาด (ย่อง) เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก เป็นผู้นำชาวบ้านมาช่วยกันสร้างสะพานไม้ทอดข้ามทุ่งปรัง บริเวณบ้านนอกไร่ เพื่อเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านนอกเมืองในฤดูน้ำหลากเข้ามายังตัวเมืองที่บริเวณวัดศรีทวี ขนาดสะพานกว้าง ๒.๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐.๐๐ เมตร นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สะพานยาว” หรือ “สะพานท่าน”

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๐๓ นายน้อม อุปรมัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ทำการซ่อมศาลากลางสะพานเป็นศาลาคอนกรีต เพื่อทดแทนศาลาหลังเดิมที่ชำรุด

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ สะพานไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ประกอบกับมีการใช้รถยนต์มากขึ้น จึงได้รื้อถอนสะพานไม้ออกแล้วถมดินเป็นถนนทดแทน เหลือไว้เฉพาะศาลาคอนกรีตกลางสะพานอย่างเดียว

ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาเมือง ได้รื้อถอนศาลาคอนกรีตกลางสะพาน เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา

ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้สร้าง “อนุสรณ์สถานสะพานยาว” นี้ขึ้นแทนสืบมาตราบจนปัจจุบัน