ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

วัดท่ามอญ (วัดศรีทวี) อ.เมือง จ.นคร ฯ วัดที่ชาวมอญช่วยสร้าง ด้วยเหตุที่เจ้าอาวาสมียศคำนำหน้าว่า “ศรี” สองรูปติดกัน จึงทำให้มีการขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดศรีทวี” โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

วัดศรีทวี ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีความเก่าแก่อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เดิม วัดศรีทวี มีชื่อว่า “วัดท่ามอญ” เนื่องจากมีกลุ่มชาวมอญเข้ามาอาศัยในละแวกเขตนั้น โดยยึดอาชีพปั้นหม้อ ตลอดจนภาชนะดินเผาชนิดต่าง ๆ มีนิวาสสถานที่ “บ้านเตาหม้อ” ซึ่งอยู่ห่างจากวัดศรีทวีไม่มากนัก ชาวมอญเหล่านี้ สันนิษฐานว่า ได้ก่อตั้งชุมชน ตั้งแต่สมัยที่ “ท้าวโคตรคีรี” เศรษฐีชาวมอญพร้อมสมัครพรรคพวกได้มาอาศัยในแผ่นดินศรีวิชัย ตามตำนานประวัติวัดท่าช้าง และมีชาวมอญเข้ามาอาศัย จนหลงเหลือเป็นกลุ่มชนที่ “บ้านเตาหม้อ” ที่ชำนาญการปั้นหม้อ ภาชนะเครื่องดินเผาเป็นอย่างยิ่ง

วัดศรีทวีถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. ที่ ๒๓๙๐ โดยกลุ่มพุทธบริษัทชาวมอญเป็นผู้นำ จึงทำให้ถูกขนานนามว่า “วัดท่ามอญ” ต่อมา ในยุคสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่หก คือ พระครูศรีสุธรรมรัต (ห้องกิ้ม วุฑฒิํกโรเถร) ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูเหมเจติยานุรักษ์” ปกครองอาวาสได้ไม่นาน ก็มรณภาพลง ใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ “พระสมุห์ดำ ฐิตเปโม” ขึ้นเป็น “พระครูศรีสุธรรมรัต” แทนเจ้าอาวาสองค์เก่า ด้วยเหตุที่เจ้าอาวาสมียศคำนำหน้าว่า “ศรี” สองรูปติดกัน จึงทำให้มีการขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดศรีทวี” อันแปลว่า วัดที่มีพระครูศรี ฯ ถึงสองรูป

วัดศรีทวี (ท่ามอญ) ตั้งอยู่ริมคลองท่าเรียน ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ใช้ในการสัญจรในยุคที่ถนนหนทางยังไม่เจริญ โดยผู้คนที่อยู่บ้านพรหมโลก บ้านนอกท่า บ้านเกาะ บ้านหลวงครูและบ้านน้ำแคบ จะพากันล่องเรือมาขึ้นท่ายังวัดศรีทวีแห่งนี้ แล้วจึงเดินทางเข้าไปในตัวเมืองนคร ส่วนพวกที่มีถิ่นอาศัยอยู่แถบบ้านนอกไร่ บ้านเตาหม้อและบ้านโพธิ์เสด็จ จะเดินเท้ามาข้าม “สะพานยาว” สะพานที่มีความยาวถึง ๔๐๐ เมตร ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามคลองท่าเรียน และที่ลุ่มในบริเวณนั้น สะพานยาวนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระครูกาชาด จึงทำให้สะพานยาว มีอีกชื่อว่า “สะพานท่าน”  ปัจจุบันได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพระครูกาชาดผู้สร้างสะพานไว้กลางวงเวียนสะพานยาว เพื่อให้ชนรุ่นหลังระลึกนึกถึง

สำหรับเจ้าอาวาสของวัดศรีทวี เท่าที่สืบประวัติมามีดังนี้
๑. พระเรือง
๒. พระเสือ
๓. พระนุ้ย
๔. พระรอด
๕. พระสีนวล
๖. พระครูศรีสุธรรมรัต (ห้องกิ้ม)
๗. พระครูศรีสุธรรมรัต (ดำ)
๘. พระภัทรธรรมธาดา (ฮั้ว)
๙. พระครูถาวรธรรมธร (ถาวร วชิราโก)
๑๐. พระครูปลัดณรงค์ คตปุญฺโญ
๑๑. พระครูสิริธรรมประศาสน์
๑๒. พระครูสิริธรรมานุศาสน์ ซึ่งปัจจุบันคือ ท่านพระพุทธิสารเมธี (สุวิทย์ อชิโต)

ขอบคุณภาพจาก www.วัด.ไทย