ทำเนียบพระเถระ Elder Directory

เจ้าอาวาสวัดศรีทวี Our Leader

๑๒. พระพุทธิสารเมธี (สุวิทย์ อชิโต เปรียญ) พุทธศักราช ๒๕๔๐ ถึง ปัจจุบัน

Phra Puttisarametee (Suvit Achito)
The Current Prelate of Wat Sritawee

ท่านมีนามเดิมว่า นายสุวิทย์ วัยวัฒน์ ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ตรงกับขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ณ วัดคงคาวดี (วัดเสาเภา) อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช พระครูประสาทธรรมวิภัช เป็นอุปัชฌาย์ พระวินัยธรบุญไห้ ปทุโม (พระครูพิศาลวิหารวัตร) พระกรรมวาจารย์ ฉายา อชิโต วิทยฐานะ น.ธ.เอก ป.ธ.๔ ศน.บ. (ศาสนศาสตร์บัณฑิต) สมณศักดิ์ พระสุวิทย์ พระมหาสุวิทย์ พระครูสิริธรรมานุศาสน์ พระพุทธิสารเมธี ตำแหน่ง หน้าที่งาน เจ้าอาวาสวัดศรีทวี เจ้าคณะอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ธรรมยุต รักษาการเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ธรรมยุต ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ธรรมยุต

๑๑. พระครูสิริธรรมประสาธน์ (เอื้อน วุฑฺฒิญาโณ) พุทธศักราช ๒๕๒๕ ถึง ๒๕๓๙

๑๐. พระครูปลัดณรงค์ กตปุญฺโญ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ถึง ๒๕๒๔

ไม่ปรากฏข้อมูล

๙. พระครูธรรมธรถาวร วชิราโก พุทธศักราช ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๐

รักษาการแทนเจ้าอาวาส

๘. พระภัทรธรรมธาดา (ฮั้ว โสภิโต) พุทธศักราช ๒๔๙๘ ถึง ๒๕๑๙

ท่านมีนามเดิมว่า ฮั้ว อุ่ยพัฒน์ เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๓๘ ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม ณ บ้านปากน้ำ ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ นายห้องเก้ง อุ่ยพัฒน์ มารดาชื่อ นางนุ่ม อุ่ยพัฒน์ บรรพชาเมื่ออายุ ๑๙ ปี ณ วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตฺนธชฺเถร เปรียญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ณ วัดท่าโพธิ์ โดยมีพระรัตนธัชมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูอนันตนินาท (นวล ยโส เปรียญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระภัทรธรรมธาดาเริ่มดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีทวีในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ และมรณภาพในวันจันทร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๙ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง เวลา ๐๔.๔๕ น. รวมอายุได้ ๘๔ ปี ๖๔ พรรษา เล่ากันว่าระหว่างที่ท่านยังมีชีวิต ท่านมีความถนัดทางด้านการก่อสร้าง

๗. พระครูศรีสุธรรมรัต (ดำ ฐิตเปโม) พุทธศักราช ๒๔๗๘ ถึง ๒๔๙๗

เล่ากันว่าท่านมีความสามารถในการซ่อมตะเกียงลานและนาฬิกา ชาวบ้านมักจะมาขอความช่วยเหลือจากท่าน บ้างก็ไม่มารับของคืน กุฏิของท่านจึงเต็มไปด้วยนาฬิกา

๖. พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโร) รัชกาลที่ ๖ ถึง ๘

ท่านมีสมณศักดิ์เดิมว่า พระครูศรีสุธรรมรัต ปกครองวัดในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึง ๘ ในสมัยของท่าน ท่านได้พัฒนาและสร้างความเจริญให้กับวัดท่ามอญในหลาย ๆ ด้าน เช่น สร้างพระอุโบสถ กุฎีที่พักสงฆ์ และที่สำคัญคือ สร้างโรงเรียนวัดท่ามอญขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ เพื่อให้เด็กผู้หญิงในมณฑลนครศรีธรรมราชได้ศึกษาเล่าเรียนเช่นเดียวกันกับเด็กผู้ชายซึ่งเรียนที่โรงเรียนวัดท่าโพธ์ โรงเรียนวัดท่ามอญในครั้งนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชในขณะที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ทั้งสองโรงเรียนได้เปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน พระครูเหมเจติยานุรักษ์มรณะภาพในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗

๕. พระวินัยธรสีนวล รัชกาลที่ ๕ ถึง ๖

ในสมัยที่ท่านปกครองวัด วัดท่ามอญถูกจัดให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ท่านปกครองวัดท่ามอญได้เพียงไม่นานก็ขอย้ายไปปกครองวัดมเหยงคณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านมีความประสงค์ที่จะให้พระห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโร ปกครองวัดท่ามอญต่อจากท่าน ท่านจึงได้ไปขอความเมตตาและขออนุญาตดำเนินการดังกล่าวจากท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ (ม่วง รตฺนธชเถร เปรียญ)

๔. พ่อท่านรอด รัชกาลที่ ๔

เล่ากันว่า ท่านมีเสียงก้องกังวานและพูดเสียงดังฟังชัด

๓. พ่อท่านนุ้ย ก่อนรัชกาลที่ ๔

ไม่ปรากฏข้อมูล

๒. พ่อท่านเสือ ก่อนรัชกาลที่ ๔

ไม่ปรากฏข้อมูล

๑. พ่อท่านเรือง ก่อนรัชกาลที่ ๔

ไม่ปรากฏข้อมูล

หมายเหตุ : พ่อท่าน เป็นคำภาษาใต้ที่มีความหมายเดียวกันกับคำว่า หลวงพ่อ ในภาษากลาง

พระเถระผู้มีอุปการคุณต่อวัดศรีทวี Our Supporter

๕. พ่อท่านจุฬ บุปฺผโก พุทธศักราช ๒๔๔๙ ถึง ๒๕๑๓

พ่อท่านจุฬ บุปฺผโก เป็นพระในวัดท่ามอญที่มีชื่อเสียงทางด้านการสอน อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก อดีตผู้อำนวยการกองการศาสนาและวัฒนธรรมเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ทำการสืบหาประวัติของพ่อท่านจุฬ ได้ความว่า ท่านเป็นบุตรของนายละเอียดและนางเกลี้ยง รัตนะรัต ท่านเกิดในวันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ ณ บ้านบางอุดม หมู่ที่ ๖ ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน คือ ๑. นางล้อม กาญจนามัย ๒. พระจุฬ รัตนะรัต ๓. นางแกวด รัตนะรัต ๔. นายแจ้ง รัตนะรัต ๕. นางหมี รัตนะรัต ๖. นางติ้น รัตนะรัต

เมื่ออายุประมาณ ๙ ถึง ๑๓ ปี โยมบิดามารดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือ กอ.ขอ.นอโม (อักษรสมัย) ซึ่งเป็นชั้นเรียนเริ่มต้น ณ วัดใกล้บ้าน จนสามารถเรียนรู้ภาษาไทยพื้นฐานได้พอสมควร เมื่ออายุ ๑๔ ถึง ๑๕ ปี โยมพ่อซึ่งมีความสนิทคุ้นเคยกับ พระห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโร เจ้าอาวาสวัดท่ามอญ จึงได้นำท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์วัด ทำให้ท่านได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนสุขุมาภิบาล) โดยได้เข้าศึกษาวิชาภาษาไทย และสอบไล่ได้ชั้นปีที่ ๓ ของหลักสูตรในสมัยนั้น

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ท่านอายุครบบวช (คืออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์) จึงได้ขอบรรพชาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดพระนคร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์ (เนียม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศิริธรรมมุนี (ม่วง รตฺนธชเถร เปรียญ) วัดท่าโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจาจารย์ หลังการอุปสมบทท่านได้กลับมาอยู่กับ พระห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโร ที่วัดท่ามอญ

พ่อท่านจุฬ ได้ช่วยงานทางพระพุทธศาสนาในวัดท่ามอญเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นผู้ดูแลและให้การอบรมเด็กวัดทุกวัน เมื่อโรงเรียนวัดท่ามอญถูกก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ มีนักเรียนเข้าศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก พ่อท่านจุฬจึงได้รับหน้าที่สอนในตำแหน่งครูน้อยและได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ ๑๕ บาท ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ ได้มีใบบอกจากทางราชการให้แยกโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกเป็น ๓ โรงเรียน คือ โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช) และโรงเรียนประถมวิสามัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช) โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดการเรียนการสอนอยู่ที่วัดท่ามอญ ได้ออกระเบียบใหม่ ไม่อนุญาตให้พระภิกษุเป็นผู้สอน พ่อท่านจุฬจึงพ้นจากตำแหน่งครูไปตามระเบียบดังกล่าว ท่านทำหน้าที่ครูที่โรงเรียนวัดท่ามอญเป็นเวลาทั้งหมด ๒๒ ปี และได้รับเงินเดือน เดือนสุดท้าย ที่ ๓๐ บาท

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้มีการแยกชั้นเรียนระดับประถมและมัธยมอย่างชัดเจน พ่อท่านจุฬจึงได้กลับมาสอนในระดับประถมที่โรงเรียนวัดท่ามอญอีกครั้ง ท่านสอนอยู่หลายปีจนถึงวัยชรา นักเรียนทุกคนของท่านเรียกท่านว่า “ท่านอาจารย์จุฬ” หรือ “ท่านจุฬ”

ท่านอาจารย์จุฬ รัตนะรัต เป็นพระภิกษุผู้เอาใจใส่ต่อการศึกษาและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ นอกจากวิชาภาษาไทยแล้ว ท่านยังสนใจวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษซึ่งที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษ ท่านได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาษาอังกฤษด้วยตนเองจากตำราของพระยาวรวิทย์พิศาล ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไปในเวลานั้น ท่านเป็นคนที่มีความกล้าแสดงออก ไม่ว่าท่านจะพบกับใคร ที่ไหน และเมื่อไร ท่านก็พยายามที่จะฝึกใช้ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของไวยากรณ์ ท่านมักจะนำคำภาษาอังกฤษมาเรียงในรูปประโยคภาษาไทย เพื่อใช้สื่อสาร เช่น

“You come but where”
“ท่านมาแต่ไหน” เป็นภาษาภาคใต้ ซึ่งแปลเป็นภาษากลางได้ว่า “ท่านมาจากไหน”

“I come but garden”
“ฉันมาแต่สวน” เป็นภาษาใต้ ซึ่งแปลเป็นภาษากลางได้ว่า “ฉันมาคนเดียว”

“Water at learn”
“น้ำที่เรียน” เป็นภาษาใต้ ซึ่งแปลเป็นภาษากลางได้ว่า “น้ำกะทิสำหรับใช้รับประทานกับข้าวเหนียวทุเรียน”

เป็นต้น เด็ก ๆ ในยุคของท่านจึงเรียกการใช้ภาษาอังกฤษในลักษณะนี้ว่า “ภาษาอังกฤษท่านจุฬ” ด้วยความสนใจในภาษาอังกฤษและความกล้าแสดงออกของท่าน หากท่านได้รับการศึกษาที่ถูกต้องท่านคงจะใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว

ในด้านการสอน ท่านเป็นครูที่มีความเอาใจใส่และเข้มงวดกวดขันเพื่อที่จะให้ศิษย์ของท่านได้มีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน เมื่อไม่ได้ดั่งใจท่านก็ดุและเฆี่ยนตีไม่เลือกหน้า แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีนักเรียนคนไหนที่เรียนกับท่านแล้วไม่เคยโดนท่านเฆี่ยน ท่านจึงมีอีกฉายาว่า “ท่านจุฬขี้เฆี่ยน” ซึ่งตรงกับภาษากลางว่า “ท่านจุฬชอบเฆี่ยน” แม้จะเจ็บแต่เด็กที่ถูกเฆี่ยนบางคนกลับพอใจและเห็นเป็นเรื่องสนุกไปก็มี บางครั้งท่านเฆี่ยนทีเดียวยาวไปตลอดทั้งแถวแบบตีระนาดก็มี เลยดูเป็นเรื่องสนุกไป

ท่านเป็นพระภิกษุที่มีลูกศิษย์มาก นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ถึง ๒๕๑๓ เป็นเวลา ๖๔ พรรษา ของการครองสมณเพศ มีผู้นิยมชมชอบท่านเป็นจำนวนมาก พวกเขาได้นำลูกหลานมาฝากไว้ที่วัดศรีทวีเพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาในตัวเมืองนครศรีธรรมราชหลายรุ่น ตอนเช้า ๆ ท่านจึงต้องออกบิณฑบาตรหลาย ๆ รอบ เพื่อนำอาหารที่เต็มจนเกือบล้นบาตรมาเก็บไว้ที่วัดก่อนออกไปรับบิณฑบาตรต่อไปจนครบทุกบ้าน มีคนเคยถามท่านว่า “ท่านรับบิณฑบาตรมากอย่างนี้ไปเพื่ออะไร ? ” ท่านตอบว่า “ฉันมีลูกมาก” นอกจากที่ท่านจะนำอาหารที่บิณฑบาตรมาได้ไปถวายเจ้าอาวาสและพระที่เจ็บป่วยแล้ว ท่านยังได้แบ่งอาหารไว้ให้ลูกศิษย์ของท่านเก็บไว้ฉันในตอนเพลอีกด้วย

ท่านเป็นพระภิกษุที่ไม่สะสม ไม่ยินดีในสมณศักดิ์และตำแหน่งใด ๆ แม้บางครั้งคณะสงฆ์จะแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ไม่ยอมรับ เมื่อครั้งพระครูศรีสุธรรมรัต (ดำ กาญจนาภรณ์) มรณภาพ ชาวบ้านและคณะสงฆ์มีความเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ท่านก็ปฏิเสธ ทางคณะสงฆ์จึงได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณภัทรธรรมธาดา (ฮั้ว โสภิตเถระ) มาเป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นท่านอยู่ในกุฏิหลังใหญ่ แต่พอทราบว่ามีเจ้าอาวาสรูปใหม่มาปกครองวัด ท่านก็ยินดีย้ายมาอยู่ในกุฏิหลังเล็ก ซึ่งท่านอยู่ตลอดมาจนมรณภาพ ท่านเจ้าคุณภัทรธรรมธาดา ได้กล่าวสรรเสริญท่านไว้ในหลาย ๆ ครั้ง ท่านเป็นพระภิกษุที่ เมื่อมรณะภาพ ภายในกุฏิของท่านมีเพียงแค่เสื่อปูนอนหนึ่งผืนกับอัฐบริขาร อันได้แก่ บาตร และผ้าไตรจีวรเพียงชุดเดียวที่ใช้อยู่เป็นประจำเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะท่านเป็นครูอาจารย์ที่คอยสั่งสอนตักเตือนผู้อื่น มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงได้ทำตัวของท่านให้เป็นแบบอย่างสมกับการเป็นครูเป็นอาจารย์อย่างแท้จริง ไม่สะสม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แจกจ่ายแบ่งปัน มีปฏิสันถาร เจรจาปราศรัยเน้นถ้อยคำที่เป็นที่จับใจ กระทำตนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่น วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว ไม่ต้องการตำแหน่ง จึงจัดได้ว่าท่านเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสังคหวัตถุธรรม ควรแก่การยกย่องนับถือ ลูกศิษย์ลูกหาล้วนภูมิใจในตัวท่านตลอดมา ท่านนำความงดงามมาสู่คณะสงฆ์ จึงนับได้ว่าท่านเป็น “สังฆโสภณ” ชีวิตของท่านมีแก่นสาร ควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่าง

ท่านครองชีวิตสมณเพศมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ ก็ถูกความชราครอบงำตามกฎธรรมดาของชีวิต ท่านเป็นโรคลมอัมพาต ลูกศิษย์นำท่านส่งโรงพยาบาลสงฆ์ ที่กรุงเทพมหานคร แต่คณะแพทย์ก็ไม่สามารถให้การรักษาท่านได้ จึงได้นำท่านกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช อาการท่านมีแต่ทรงกับทรุด และในวันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ เวลา ๐๙.๕๐ น. ท่านก็มรณะภาพด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี ๓ วัน

๔. พ่อท่านหวน ธมฺมหินฺโน

ท่านมีความสามารถและมีชื่อเสียงทางด้านการรักษาคนที่โดนงูกัด ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “หมอบ้าน”

๓. พ่อท่านจาบ

ท่านอยู่ในกุฏิหลังใหญ่มาก จึงมีลูกศิษย์มากที่สุดในบรรดาพระในวัดทั้งหมดในเวลานั้น

๒. พระปลัดแป้น

จากคำบอกเล่า ท่านมีชื่อเสียงในด้านความเข้มงวดกวดขันเรื่องระเบียบวินัย เช่น ท่านจะให้เด็กวัดในสังกัดของท่าน สวดมนต์แปลก่อนเข้านอน และก่อนไปเรียน ทุกคนทุกครั้ง กลุ่มเด็กวัดที่ท่านดูแลจึงเป็นกลุ่มเด็กที่มีระเบียบที่สุดในวัดในเวลานั้น ร้อยตรีสมจิตต์ ไกรเมศว์ อดีตหัวหน้ากลุ่มลูกศิษย์ของพระปลัดแป้นเล่าให้ฟังว่า เวลาฉันอาหาร ท่านจะตักอาหารให้กับพระรูปอื่น ๆ ก่อน แล้วจึงตักให้ตัวเองเป็นรูปสุดท้าย ทั้งนี้เพราะท่านต้องการสอนทุกคนให้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นก่อนทำประโยชน์แก่ตนเอง

๑. พระสิริธรรมมุนี