ที่มา : http://dspace.nstru.ac.th:8080/…
ผู้เขียน : ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
เข้าถึงข้อมูล : วันศุกร์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วัดศรีทวี

“วัดศรีทวี” เป็นวัดธรรมยุต ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๗๓ ตารางวา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๑๔

แต่เดิมวัดนี้ชื่อว่า “วัดท่ามอญ” ที่ได้ชื่ออย่างนี้ก็เพราะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราว พ.ศ. ๒๓๙๐ มีชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานและค้าขายอยู่ในบริเวณนี้ ด้วยเหตุที่ชาวมอญนับถือพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดขึ้นเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดท่ามอญ” เพราะตั้งอยู่ท่าน้ำของคลองท่าซัก ส่วนชื่อ “วัดศรีทวี” มาจากชื่ออดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่มีสมณศักดิ์เป็น “พระครูศรีสุธรรมรัต (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิํกโรเถร)” ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น “พระครูเหมเจติยานุรักษ์” เมื่อมรณภาพ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง “พระสมุห์ดำ ฐิตเปโม” เป็นพระครูสัญญาบัตร โดยมีสมณศักดิ์ว่า “พระครูศรีสุธรรมรัต” เหมือนรูปก่อนและได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนกระทั่งมรณภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๗ วัดนี้มีเจ้าอาวาสนามว่า “ศรี” สองรูปต่อเนื่องกัน อันถือได้ว่ามี “ศรี – ทวี” ขึ้นเป็นสอง เพราะคำว่า “ทวี” ในภาษาบาลีแปลว่าสอง

ภายในวัดมีพระประธานอุโบสถปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๗๕ นิ้ว สูง ๑๐๘ นิ้ว และพระพุทธรูปยืนปางเสด็จจากดาวดึงส์ (หรือพระลาก) ทำด้วยทองเหลือง สูง ๑๘๐ เซนติเมตร พระอุระกว้าง ๘๘ เซนติเมตร พระพักตร์หุ้มนาค พระหัตถ์ทั้งสองหุ้มนาค ไม่มีหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด

วัดศรีทวีหรือวัดท่ามอญเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวเหนือ อันได้แก่ชาวบ้านพรหมโลก บ้านนอกท่า บ้านเกาะ บ้านครูหลวง และบ้านน้ำแคบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่อำเภอพรหมคีรี เพราะชาวบ้านเหล่านี้เมื่อจะเข้ามาในตัวเมืองก็นิยมนั่งเรือมาตามลำน้ำ คือคลองนอกท่า แล้วมาขึ้นเรือที่ท่ามอญก่อนจะเข้าสู่ตัวเมือง ส่วนพวกที่ไม่มีเรือก็ใช้วิธีเดินลัดมาออกที่บ้านนอกไร่ ตำบลโพธิ์เสด็จ ซึ่งข้ามสะพานไม้ที่ทอดยาวมาจากบ้านนอกไร่ มายังท่ามอญ สะพานไม้ดังกล่าวมีความยาวกว่า ๔๐๐ เมตร ซึ่งถือว่ายาวมากที่สุดในบรรดาสะพานไม้ที่มีในจังหวัดนครศรีธรรมราชเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันเรียกสะพานนี้ว่า “สะพานยาว” หรือบางคนก็นิยมเรียกว่า “สะพานท่าน” เพราะพระครูกาชาดเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสะพานนี้ขึ้น ปัจจุบันสะพานยาวหรือสะพานท่านได้ชำรุดปรักหักพัง จึงได้ตัดเป็นถนนแทน ยังคงเหลือเฉพาะอนุสรณ์สถานท่านพระครูกาชาด ที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของสะพานนี้เท่านั้น

เจ้าอาวาสวัดนี้เท่าที่สืบค้นประวัติมาได้ในขณะนี้ประกอบด้วย พระเรือง พระเสือ พระนุ้ย พระรอด พระสีนวล พระครูเหม พระครูธรรมธรถาวร วชิราโก พระครูปลัดณรงค์ กตปุญฺโญ พระครูสิริธรรมประสาธน์ และพระครูสิริธรรมานุศาสน์

อ่านเอกสารต้นฉบับได้ที่ http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/423/1/มเหยงคณ์%20ศรีทวี%20ประดู่%20สามวัดเก่าตอนเหนือของเมืองนคร.pdf