ที่มา : https://nakhonsistation.com/…
ผู้เขียน : ธีรยุทธ บัวทอง
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒. หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

อ่านต่อได้ที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/