ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

สมเด็จพระสังฆราชสี ( ศรี ) พระสังฆราชาสองกรุง
ภูมิ จิระเดชวงศ์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ พระองค์ก็ได้ทุ่มเทพระทัย ในการฟื้นฟูพระศาสนาอย่างเต็มพระกำลัง ถึงแม้ว่าจะมีศึกสงครามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มิได้ทำให้ทรงท้อพระทัยในการบำรุงพระพุทธศาสนาเลย หลังจากการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ดี) แห่งวันอินทรารามวรวิหาร พระสังฆราชพระองค์แรกของกรุงธนบุรีแล้ว จึงได้มีการนิมนต์ พระอาจารย์ศรี ( สี ) แห่งวัดบางหว้าใหญ่ ( ปัจจุบันคือวัดระฆังโฆษิตาราม ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่สองแห่งกรุงธนบุรี เดิมทีท่านเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดพนัญเชิง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเข้าสู่วิกฤตสงคราม ถูกปิดล้อมโดยกองทัพจากกรุงอังวะ คณะศิษย์จึงนิมนต์พระภิกษุศรีลี้ภัยไปยังเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ราวปีเศษ กระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพลงมาผนวกเมืองนครศรีธรรมราช และดินแดนในปักษ์ใต้กลับเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวในราชอาณาจักร พระองค์ได้ทรงนิมนต์พระภิกษุศรี ( สี ) และคณะศิษย์ พร้อมกับนำพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชกลับมายังกรุงธนบุรี โดยทรงให้พระภิกษุศรีพำนักที่วัดบางหว้าใหญ่ คอยตรวจทานพระไตรปิฎก และดูแลกิจการคณะสงฆ์ของแผ่นดิน จนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราช ( ดี ) ได้สิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้มีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม นิมนต์พระภิกษุศรี แห่งวัดบางหว้าใหญ่ ( วัดระฆังโฆษิตามรามในปัจจุบัน ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี

จวบจนถึงปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระอริยวงษญาณ ( ศรี ) ได้ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พร้อมกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย ( วัดอมรินทรารามวรวิหาร ) และ พระพิมลธรรม วัดโพธาราม ( วัดพระเชตุพล หรือ วัดโพธิ์ท่าเตียน ) เหตุเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงตั้งปุจฉาในหัวข้อที่ว่า พระภิกษุควรไหว้ฆราวาสที่บรรลุธรรมได้หรือไม่ ในที่ประชุมแห่งนั้น พระมหาเถระทั้งสามทรงถวายวิสัชชนาไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระอริยวงษญาณ ( พระสังฆราชศรี ) ถูกลดชั้นลงมาเป็นพระอนุจร ( พระธรรมดา )

จนกระทั่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงปราบดาภิเษก ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น พระองค์ได้ทรงนิมนต์ พระภิกษุศรี กลับมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ทรงเป็นแม่กององค์สำคัญในการชำระพระไตรปิฎกในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตันตปิฎก สมเด็จพระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระไตรปิฎก พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระกองพระสัททาวิเศส พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก มีพระราชาคณะ ๒๘ รูป และ ราชบัณฑิต ๓๒ ท่าน เป็นผู้ร่วมการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยใช้สถานที่ คือ วัดนิพพานา ( วัดมหาธาตุในปัจจุบัน ) ในการชำระ รวบรวม และจารพระไตรปิฎกลงคัมภีร์ การชำระพระไตรปิฎกครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ได้สำเร็จลงในระยะเวลา ๕ เดือน เมื่อสมโภชน์พระไตรปิฎกหลักแห่งแผ่นดินแล้ว ก็ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกหลวงเข้าสู่หอพระมณเฑียรธรรม ไว้เป็นพระไตรปิฎกฉบับหลัก ฉบับหลวง

นอกจากการเป็นองค์ประธานในการชำระ สังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว สมเด็จพระอริยวงษญาณ ( ศรี ) ยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ( ต่อมาทรงเสวยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ) เมื่อครั้งผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑

ในเรื่องเล่าพื้นถิ่นของชาวนครศรีธรรมราช จะเชื่อกันว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ( พระสังฆราชศรี หรือ สี ) ทรงเป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด เมื่อคราวทรงเป็นพระภิกษุ ได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมและพระวินัยที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระเถราจารย์โดยมากในกรุงศรีอยุธยา จะนิยมเชิญพระเถระจากหัวเมืองทางใต้ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระศาสนา ขึ้นมาศึกษา และพำนักในกรุง โดยคราวนั้น พระภิกษุศรี ได้พำนักที่วัดพนังเชิญ จนมีความชำนาญในพระไตรปิฎก และข้ออรรถข้อธรรมอย่างมาก จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยา ส่อแววว่ากำลังจะพ่ายสงคราม คณะศิษย์จึงนิมนต์พระภิกษุศรีลงสำเภากลับไปยังบ้านเกิด และได้พำนักที่วัดหน้าพระลาน วัดที่อยู่ทางทิศใต้ของวัดพระมหาธาตุ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมาตีเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อรวมแผ่นดิน จึงได้นิมนต์พระภิกษุศรี พร้อมคณะศิษย์ขึ้นไปยังกรุงธนบุรี และยังมีเรื่องเล่าถึงการเดินทางของสมเด็จพระสังฆราชศรีไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่คีรีวง ที่วัดหน้าพระลาน

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชศรี ( สี ) ได้สิ้นพระชนม์ลง ชาวนครศรีธรรมราชรุ่นเก่า ๆ จะเชื่อกันว่า บัว ( ที่บรรจุอัฐฐิ ) ที่อยู่เยื้องจากอุโบสถวัดประดู่ เป็นบัวที่บรรจุพระอัฐฐิส่วนหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชศรี เพราะ มีลวดลาย ความวิจิตร ที่ผิดแปลกไปจากบัวที่ปรากฎในท้องที่เมืองนคร ฯ และเป็นบัวที่อยู่ไม่ห่างกับพระบัวบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับ เจ้าพระยานครน้อย ที่อยู่ในเก๋งจีนด้านหน้าอุโบสถวัดประดู่ และมีศิลปะลวดลายในยุคเดียวกัน และมีข้อสังเกตุอย่างหนึ่ง คือบัวที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชศรี ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่า และ อยู่ในทิศที่เหนือกว่า บัวบรรจุพระอัฐฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงทำให้เป็นที่สรุปในระดับหนึ่งว่า บัวปริศนาในพื้นที่ของวิทยาลัยเทคโนโลยีสถาปัตย์นคร คือ บัวบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชศรี

ในปัจจุบัน บัวบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชศรี ได้อยู่ในพื้นที่ของวิทยาลัยเทคโนโลยีสถาปัตย์นคร จ.นครศรีธรรมราช โดยได้มีการสร้างศาลาครอบไว้ ยังมีผู้ศรัทธา ที่ทราบเรื่องราวของพระองค์ท่าน มาสักการะบูชาอยู่เป็นระยะไม่ขาดสาย