ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีการสร้างด้วยอิฐอย่างแข็งแรงตามแบบ “ ชาโต ” ( Chateau ) ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยทรงส่งวิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ “ เดอ ลามาร์ ” มาสร้างกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาใหม่ ทดแทนที่กำแพงเดิมที่ใช้วิธีปักเสาพูนดิน ให้มีความแข็งแรงมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช มีป้อมปราการทั้งสี่มุมเมือง มีประตูชัยสองประตู คือ ประตูชัยสิทธิ์ หรือ ประตูชัยใต้ และ ประตูชัยศักดิ์ หรือ ประตูชัยเหนือ มีประตูเล็กสำหรับเข้า – ออก และหามศพออกจากเมือง ได้แก่ ประตูลัก ประตูโพธิ์ ประตูลอด ประตูสะพานยม ในด้านทิศตะวันออก และ ประตูนางงาม หรือ ประตูท่าม้า ประตูท้ายวัง ประตูท่าชี ในทิศตะวันตก กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการบูรณะอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในครั้งสมัยเจ้าพระยานคร ( น้อย ) ได้ครองเมือง

จนกระทั่งใน ยุคสมัยของรัชกาลที่ ๕ ได้มีการริเริ่มการทลายกำแพงเมือง โดย พระยาสุขุมนัยวินิต ( ปั้น สุขุม ในเวลานั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยายมราช ) การทลายกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการนำเอาอิฐที่ทลายมาถมสร้างถนน สำหรับแล่นรอบตัวเมืองในด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และ ทิศตะวันตก

แต่การทลายกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง ได้เกิดขึ้นจากการขยายของตัวเมือง จึงจำเป็นต้องมีการทลายกำแพงเมืองเพิ่มเติม โดยได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรในยุคนั้น ให้ทลายกำแพงและป้อมปราการในด้านทิศเหนือ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากรอนุญาติให้รื้อกำแพงทางด้านทิศเหนือ ตั้งแต่ทางตอนเหนือแล่นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตามประสงค์ของกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการใช้พื้นที่เป็นโรงเลื่อยจักรสำหรับฝึกหัดอาชีพให้นักโทษ

พ.ศ. ๒๔๘๓ กรมศิลปากรอนุญาตให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ถือสิทธิ์บนที่ดินซากกำแพงเมืองด้านทิศใต้ทั้งหมด โดยถือคำอ้างทางจังหวัดว่ากำแพงเมืองด้านนี้ถูกเกลี่ยลงจนกลายเป็นที่ราบไปแล้ว

พ.ศ. ๒๔๘๕ เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชขออนุญาตรื้อกำแพงทางด้านทิศเหนือ ซีกตะวันออกสุดที่เคยจรดป้อมปราการ เพื่อสร้างสะพานข้ามคลองหน้าเมือง เชื่อมระหว่างถนนศรีปราชญ์ที่อยู่นอกเมือง กับ ถนนศรีธรรมโศกที่อยู่ในเมือง ซึ่งสร้างทับแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก เดิมตรงนี้มีป้อมปราการ อันเป็นที่มาของวัดมุมป้อมอยู่ แต่ถูกรื้อออกไปก่อนที่จะมีการสงวนรักษาเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ด้วยเหตุให้สะดวกแก่การคมนาคม กรมศิลปากรจึงอนุญาตให้รื้อ

พ.ศ. ๒๔๙๕ จังหวัดนครศรีธรรมราชขออนุญาตรื้อป้อมที่ติดกับประตูชัยเหนือออก ๕ เมตร เพื่อขยายสะพานนครน้อย ให้เชื่อมต่อถนนราชดำเนินระหว่างนอกเมืองและในเมือง โดยอ้างสาเหตุจากการจราจรที่คับคั่ง และสะพานก็แคบเกินกว่าจะสัญจรได้ ทางกรมศิลปากร จึงอนุญาตให้รื้อออกได้ ๒ เมตร

พ.ศ. ๒๕๐๖ จังหวัดนครศรีธรรมราชขออนุญาตรื้อป้อมที่ริมสะพานนครน้อยอีกครั้ง โดยขออนุญาตรื้อออกไปอีก ๑๐ เมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการขยายถนนและสะพานเพื่อความสะดวกแก่การจราจร แต่ทางกรมศิลปากรไม่เห็นด้วยจึงไม่อนุญาตในตอนแรก แต่เพราะทางบ้านเมืองและหน่วยงานจังหวัด ต้องการให้รื้อ เพื่อความสะดวกในการคมนาคม ทางกรมศิลปากรจึงอนุญาตให้รื้อออก และเป็นการรื้อครั้งสุดท้าย ที่เหลือเพียงประตูชัยเหนือ ป้อมปราการ และ กำแพงเมืองตั้งแต่ถนนราชดำเนิน จรดถนนศรีธรรมโศกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ส่วนคูเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากที่มีการบันทึกในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้ว คูเมืองก็ได้ตื้นเขินลง และมีผู้มาจับจองพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออก ได้ถมคูเมืองที่ตื้นแล้วให้หายไป จนกระทั่งไม่ปรากฎคูเมืองนครศรีธรรมราชในด้านทิศตะวันออกอีกต่อไป

จากข้อมูลที่นำเสนอมาในข้างต้น ได้เสนอให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการรื้อกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ที่ค่อยเป็นค่อยไป จากยุครัชกาลที่ ๕ มาจนถึงยุคต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการปรับกำแพงเมืองลงทีละด้าน จนกระทั่งสังเกตได้ว่า ถนนศรีธรรมโศก ถนนชลวิถี และ ถนนศรีธรรมราช จะมีพื้นผิวถนนจะสูงกว่าระดับบ้านผู้คนอย่างเห็นได้ชัด ก็เพราะวางถนนทั้งสามเส้น ได้สูงเพราะมีการนำเอาอิฐกำแพงเมืองมาถม จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และในภายหลัง มีการขุดค้นแนวป้อมปราการทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จึงมีโครงการสร้างป้อมปราการย้อนยุคในด้านทิศพายัพ และแนวกำแพงเมืองจำลอง ในฝั่งของเรือนจำเก่าขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ ได้เห็นภาพในอดีตของเมืองนครศรีธรรมราชได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๑