ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ในยุครัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( พ.ศ. ๒๑๓๓ – พ.ศ. ๒๑๔๘ ) แผ่นดินรายล้อมด้วยภัยสงครามจากทั้งทิศตะวันออก คือ อาณาจักรละแวก ของชาวเขมร และภัยทางทิศตะวันตก คือ อาณาจักรหงสาวดีของชาวพม่า เป็นที่ทราบกันว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงต้องกรำศึกกับผู้รุกราน แต่ในขณะเดียวกัน อาณาจักรของพระองค์ก็ขยายตัว มีพื้นที่มากกว่ารัชสมัยใด ๆ ในยุคกรุงศรีอยุธยา

ถึงแม้ในยุคของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภัยส่วนใหญ่จากแผ่นดินจะมาจากอาณาจักรหงสาวดี และ อาณาจักรละแวก แต่ภัยที่มิอาจมองข้ามจากทางทิศใต้ คือกลุ่มกองทัพจากนครรัฐในปลายแหลมมลายู ที่มักจะมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าขาย นครรัฐในกลุ่มหมู่เกาะในช่องแคบสุมาตรา แม้จะไม่ได้มีกองทัพที่มหาศาล แต่ก็เป็นกลุ่มที่ชำนาญการรบพุ่งทางทะเล สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่านักวานิชที่เดินทางผ่านดินแดนเหล่านี้

เพื่อที่จะป้องกันภัยที่เกิดขึ้น ไม่ให้รบกวนในการทำสงครามปราบปรามอาณาจักรหงสาวดี หรืออาจกล่าวว่า เป็นการทำให้แนวหลังของพระองค์มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ส่งพระรามราชท้ายน้ำ หนึ่งในขุนพลของพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังจำนวนหนึ่งมารักษาเมืองนครศรีธรรมราชไว้ มิให้กองทัพจากเหล่านครรัฐปลายแหลมเข้าทำลายเมืองท่าหลักทางตอนใต้ ถึงแม้ว่าในยุคสมัยนั้น ภัยส่วนใหญ่จะมาทางตะวันออกและทางทิศเหนือ แต่ภัยจากเหล่านครรัฐทางปลายแหลมมลายู ถึงการรุกรานจากนครรัฐเหล่านี้ จะเป็นเพียงการทำลาย ไม่ได้เป็นการรุกคืบยึดอาณาจักร แต่ก็เป็นสิ่งที่กรุงศรีอยุธยาไม่อาจมองข้าม จึงต้องส่งขุนพลที่มีฝีมือและเป็นที่ไว้วางพระทัย มาดูแลหัวเมืองหลักทางด้านแนวหลัง

จากบทความ “ ประวัติความเป็นมาของวัดท่าโพธิ์วรวิหาร ” ที่เขียนโดย ครูน้อม อุปรมัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ๔ สมัย ได้มีระบุถึงเรื่องราวของพระรามราชท้ายน้ำ รวมถึงการศึกสงครามระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช และ กองทัพจากนครรัฐยะโฮร์ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๑๔๑ กองทัพจากนครรัฐยะโฮร์ ( อุฌงคตะนะ กลุ่มโจรสลัดจากปลายแหลม ) ที่นำโดย ลักปมานา ( ลักษมาณา ขุนพลของ สุลต่าน อัลลาฮุดดิน ไรยัต ชาห์ ที่ ๓ แห่งนครรัฐยะโฮร์ ) ได้เข้ารุกรานเมืองนครศรีธรรมราช พระยานครศรีธรรมราชเดชะ ส่งกองทัพที่นำโดย ขุนคำแหง นำทัพเรือต่อต้านทัพข้าศึกที่อ่าวนคร บริเวณปากพญา ผลการสู้รบปรากฎว่า ขุนคำแหงต้องอาวุธข้าศึกเสียชีวิต ทำให้กองทัพเรือแตกพ่าย กองทัพจากนครรัฐยะโฮร์จึงยกทัพเข้ามาทางคลองปากพญา เข้ามาถึงบริเวณท่าวัง แล้วยกพลขึ้นบกเข้ารุกรานถึงกำแพงเมืองทางทิศเหนือ แต่ก็ถูกพระยาศรีธรรมราชเดชะตีแตกพ่ายไป

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๔๔ พระรามราชท้ายน้ำได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมแต่งตั้งให้ขุนเยาวราชเป็นปลัดเมือง พระรามราชท้ายน้ำได้คาดการณ์ไว้ว่า ข้าศึกจากนครรัฐยะโฮร์จะต้องยกทัพมารุกรานเป็นรอบสองอย่างแน่นอน จึงได้ทำการขุด “ คูขวาง ” ขึ้น โดยเริ่มขุดจาก คลองท่าวัง บริเวณท่าขนอนตะวันออก ขุดพุ่งตรงไปยังคลองคูพาย ที่อยู่ทางทิศใต้ ( ภายหลังได้มีการถมคูสายนี้ แต่ชื่อของคูขวางก็ยังมีอยู่ )

นอกจากเตรียมการขุดคูสำหรับขวางข้าศึกแล้ว พระยารามราชท้ายน้ำยังเตรียมกำลังพล ที่กะเกณฑ์จากชาวพื้นเมือง และหัวเมืองที่เป็นบริวารโดยรอบ ได้ฝึกซ้อมและเตรียมไพร่พล เป็นเวลานานล่วงไปหลายปี ซึ่งในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุว่าใน พ.ศ. ๒๑๗๑ อยู่ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ ข้าศึกจากนครรัฐยะโฮร์ได้ยกทัพมาจริง กองทัพจากสุลต่านอับดุล จาลิล ชาห์ ที่ ๓ ได้เข้าโจมตีเมืองพัทลุงที่สทิงพระและเวียงบางแก้ว และได้พ้นมาโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช โดยกองทัพยะโฮร์ยกทัพเรือบุกเข้าทางคลองปากนคร และ คลองปากพญา และได้พยายามยกพลขึ้นบกที่บริเวณ “ ทุ่งหยาม ” ซึ่งพระรามราชท้ายน้ำ ได้นำกำลังพลที่สะสมไว้แบ่งเป็นสองทัพ ทัพหนึ่งออกทางประตูลักและประตูลอด อีกทัพหนึ่งประตูชัยชุมพล ( สันนิษฐานว่า เป็นบริเวณสี่แยกวัดชุมพล ในปัจจุบันเป็นวัดร้างไปแล้ว ) ทั้งสองทัพได้ยกพลเข้าสกัดทัพนครรัฐยะโฮร์ที่ทุ่งหยาม การทำสงครามยาวนานถึง ๗ วัน ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ จนถึงวันที่เจ็ด พระรามราชท้ายน้ำได้เกิดสิ้นชีวิตกลางสมรภูมิ (ตามบันทึกท่านนั้นชราภาพร่างกายตรากตรำศึกอย่างต่อเนื่องจนเกินกำลังของร่างกายสังขารทนอยู่ไม่ได้ล้มลงและหมดลมหายใจสิ้นชีพในสนามรบ)
เมื่อทัพนครศรีธรรมราชสิ้นผู้นำ กองทัพยะโฮร์เข้าบุกทำลายพื้นที่ทางตอนเหนือ ไล่ตั้งแต่บริเวณวัดท่าโพธิ์เก่า ( คือ บริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ ) มาจนถึงบริเวณท่าวัง แต่โชคยังดีของทัพชาวนครศรีธรรมราช ที่มีขุนพันจ่า ได้เป็นผู้นำทัพเข้าโจมตีทัพนครยะโฮร์กลางดึก ทำให้กองทัพอุฌงคะตนะจากปลายแหลมแตกพ่ายถอยไป

เหตุการณ์สงครามป้องกันเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ มีบันทึกในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า

“ เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคะตนะ จึงพระยาให้ขุดคูฝ่ายบูรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคะตนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุ้มเรือพาย พลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวันเจ็ดคืน ขุนพันจ่าออกหักทัพกลางดึก ( ข้า ) ศึกแตกลงเรือ ( ข้า )ศึกเผาวัดท่าโพธิ์เสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุกระดูกไว้ในพระธรรมศาลา ”

เมื่อสิ้นศึกระหว่างนครศรีธรรมราช–นครรัฐยะโฮร์แล้ว ศพของพระรามราชท้ายน้ำได้รับการฌาปนกิจอย่างสมเกียรติ พญาแก้วผู้เป็นหลานชาย ได้นำอัฐฐิของพระรามราชท้ายน้ำ บรรจุที่เจดีย์ในวิหารพระธรรมศาลา วัดพระบรมธาตุนครศรีรรมราช คูที่ขุดเชื่อมลำน้ำระหว่างคลองท่าวังและคลองคูพายเรียกกันว่า คูขวาง ยังปรากฏนามอยู่จนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้น ได้นำชื่อ “ รามราชท้ายน้ำ ” ตั้งเป็นชื่อซอยที่ตัดเพื่อเชื่อมถนนศรีธรรมโศกและถนนพัฒนาการคูขวาง ซึ่งถนนเส้นนี้ ผ่านหน้าวัดมุมป้อมและเลียบริมคลองหน้าเมือง ซึ่งการตั้งชื่อรามราชท้ายน้ำที่ซอยแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระรามราชท้ายน้ำ เจ้าเมืองผู้ปกป้องเมืองนครศรีธรรมราชด้วยชีวิต