ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

อาณาจักรศรีวิชัย มหาดินแดนที่ยืนยงในน่านน้ำอุษาคเณย์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ เป็นเวลายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ที่เป็นเจ้าแห่งดินแดนการค้าขาย ดินแดนที่รวมเอากระแสวัฒนธรรมจากโลกตะวันออก และ โลกตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน จนมีวัฒนธรรมและคติความเชื่อที่เป็นเฉพาะตนขึ้นมา

ถ้าหากกล่าวถึงอาณาจักรที่กินผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ทุกคนจะนึกถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา และ ความสงบสุขของผู้คน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถมองศรีวิชัยได้อย่างเด่นชัด นั่นก็คือเรื่องของ

“ ระบบการปกครอง ”
เป็นเวลายาวนานแล้ว ที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับศรีวิชัย ว่าเป็นอาณาจักรหรือไม่ ? และมีรูปแบบการปกครองอย่างไร ? ถึงแม้ว่าอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเป็นเจ้ามหาสมุทรอันไพศาลจะล่มสลายไปนานถึง ๘๐๐ ปี ไม่หลงเหลือหลักฐานที่เป็นบันทึกมากนักก็ตาม แต่ด้วยรูปแบบการปกครองบางประการที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเมืองอุษาคเณย์ ก็สามารถสืบย้อนไปถึงในยุคสมัยที่มหาอาณาจักรแห่งนี้ยังคงเจริญอยู่ได้

ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองของศรีวิชัย จะต้องย้อนไปถึงยุคก่อนที่จะมีศรีวิชัย คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ ดินแดนในทะเลใต้ มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “ ประเทศกิมจิว ” ซึ่งพระอาจารย์อี้จิง พระเถระชาวต้าถังผู้เดินทางมาตามเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้ขนานนามอาณาจักรทะเลใต้แห่งนี้ว่า “ อาณาจักรแห่งประเทศทั้ง ๑๐ ” โดยท่านได้อธิบายรูปแบบการปกครองของดินแดนทะเลใต้เอาไว้ว่า

“ บ้านเมืองเหล่านี้ประกอบไปด้วยรัฐเล็ก ๆ มีพระราชาของตนเองเป็นผู้ปกครองอย่างอิสระอยู่ประมาณ ๑๐ รัฐ แต่มีพระราชาอีกองค์หนึ่งเป็นประมุข เมืองหลวงของประเทศทั้ง ๑๐ มีชื่อว่า “ เมือง โฟ – ชิ ” ”

ต่อมาเมื่อศรีวิชัยได้ถูกสถาปนาขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยการนำของมหาราชที่มีพระนามว่า “ ศรีชยะนาศะ ” พระองค์ได้ผนวกเอาอาณาจักร “ โม – โล – ยู ” หรือ มลายู และอาณาจักร “ โต – โล – มา ” หรือ ตะรุมา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย โดยมีหลักฐานเป็นศิลาจารึกภาษามลายูโบราณที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงชัยชนะ และ การสาปแช่งผู้คิดร้ายของ “ ตา ปุนตะ หิยัม ศรีชยะนาศะ ” มหาราชผู้สลักจารึกไว้ยังดินแดนอันอยู่ใจกลางมหาสมุทร

การยึดครองอาณาจักรทางตอนใต้ของปฐมกษัตริย์แห่งศรีโพธิ์ ได้ทำให้ระบบการปกครองแบบ “ สหพันธรัฐ ” เด่นชัดขึ้น โดยการปกครองของศรีวิชัยนั้น จะนิยมแต่งตั้ง ผู้นำที่มีความชอบในรัฐแห่งนั้น ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง โดยให้เสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ของไศเลนทร์ เพื่อเป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างดินแดนให้แน่นแฟ้นขึ้น ทั้งยังแสดงฐานะอันสูงส่งของเจ้าผู้ครองรัฐแห่งนั้น ว่ามีศักดิ์ใกล้เคียงกับเชื้อพระวงศ์ในนครหลวง โดยมหาราชแห่งศรีวิชัย ได้แต่งตั้งเจ้าชาย “ สัญชัย ” เจ้าชายพื้นเมืองแห่งตะรุมา ที่มีผลงานจากการยกทัพไปช่วยปราบปรามอาณาจักรเจนละขึ้นเป็น “ พระเจ้านฤบดีศรีสัญชัย ” กษัตริย์พื้นเมืองทะเลใต้ผู้แกล้วกล้า และได้ประทานเจ้าชายจากราชวงศ์ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงชาวพื้นเมือง เพื่อเป็นตัวแทนราชสำนัก ในการดูแลดินแดนในแต่ละนครรัฐ

การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเครือญาติของศรีวิชัย ได้นำมาซึ่งระบบการบริหารแบบ “ พระอินทร์ ” คือผู้ปกครองทุกรัฐมีอำนาจทัดเทียมกัน เว้นแต่ผู้นำของเหล่ากษัตริย์ ๑ องค์ ที่ทำหน้าที่ในการเป็นพระประมุขของอาณาจักร โดยการปกครองของแต่ละรัฐนั้น พระราชาจะมีอิสระในการบริหารปกครอง แต่จะต้องส่งบรรณาการ และ นโยบายหลักจากเมืองหลวง ซึ่งระบบการปกครองในรูปแบบนี้ ใกล้เคียงกับระบบสหพันธรัฐในปัจจุบัน เพียงแต่มีประธานาธิบดี หรือ พระราชาธิบดี เป็นประมุขสูงสุดของประเทศนั้น ๆ

การปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ก่อตั้งอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จนกระทั่งล่มสลายในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยข้อดีของการปกครองแบบสหพันธรัฐนั้น คือเจ้าผู้ปกครองรัฐจะมีอิสระในการปกครองรัฐของตน โดยที่ทางศูนย์กลางอำนาจ หรือ ทางเมืองหลวงจะไม่แทรกแซงเรื่องภายในของรัฐนั้น ๆ เพียงแค่ในแต่ละปี แต่ละรัฐจะต้องส่งบรรณาการ หรือ สิ่งของล้ำค่าแก่มหาราชผู้ปกครอง และรัฐเอานโยบายหลักมาปรับใช้ ในยามสงคราม ก็ระดมกำลังพลกันไปช่วยนครหลวงทำสงครามปกป้องดินแดน ซึ่งกำลังรบทางทะเลของศรีวิชัยเป็นที่เกรงขามในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ เป็นอย่างมาก

แต่ข้อเสียของระบบสหพันธรัฐนั้นก็มีอยู่เช่นกัน คือในยามใดที่นครหลวง หรือ ศูนย์กลางการปกครองอ่อนแอลง ก็จะทำให้รัฐที่เข้มแข็งกว่าสามารถสถาปนาดินแดนตนเป็นดินแดนอิสระ หรือเป็นนครหลวงแห่งใหม่ได้ เช่น ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เจ้าชายศรีพาลบุตรแห่งศรีวิชัย ทรงมีความขัดแย้งกับ ระตูกปิตัน เจ้าชายพื้นเมืองราชวงศ์สัญชัย ได้ก่อให้เกิดสงครามระหว่างนครหลวงและอาณาจักรพื้นเมือง จนทำให้ศรีวิชัยพ่ายแพ้ เจ้าชายศรีพาลบุตรถูกขับไล่ออกจากชวา และเมื่อเจ้าชายศรีพาลบุตรทรงนิวัติมายังกฑาหะ ( ไทรบุรีในปัจจุบัน ) พระองค์ก็ทรงมีความขัดแย้งกับเจ้าชายกัสสปะ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์อีกผู้หนึ่งที่อาศัยในอาณาจักรสิงหล ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยเจ้าชายกัสสปะได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นมหาราชกัสสปะที่ ๔ และได้สถาปนากรุงตามพรลิงค์ขึ้นเป็นนครหลวงแทนที่นครศรีโพธิ์ และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีนครหลวงอยู่ที่สิริธรรมนคร ก็ได้มีปัญหาขัดแย้งกับหัวเมืองทางตอนใต้ จนกระทั่งราชสำนักราชวงศ์หยวนต้องส่งพระราชสาส์นมายุติความขัดแย้ง จนทำให้อาณาจักรที่เป็นหมู่เกาะทั้งหลาย ทยอยปลีกตัวเป็นอิสระ จนกระทั่งศรีวิชัยล่มสลายด้วยโรคระบาดลงอย่างสมบูรณ์ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ร่องรอยที่เหลืออยู่ของระบบการปกครองอย่างศรีวิชัยที่เห็นได้ชัดในทุกวันนี้ ก็คือการปกครองของประเทศมาเลเซีย ที่มีรูปแบบการปกครองเป็นสหพันธรัฐราชาธิปไตย โดยมีผู้ปกครองสูงสุดคือ พระราชาธิบดี หรือ ยังดีเปอร์ตวนอากง ที่มาจาก ๑ ใน ๙ สุลต่านของประเทศมาเลเซีย โดยการเป็นพระราชาธิบดีนั้น จะมาจากการเลือกของเหล่าสุลต่านในแต่ละรัฐ โดยยึดถือเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน ซึ่งในอดีตเอง ศรีวิชัยก็ได้มีการปกครองในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่มหาราชของศรีวิชัยนั้น จะเป็นมหาราชไปตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์ แล้วจึงมีการคัดเลือกมหาราชพระองค์ใหม่ขึ้นปกครอง โดยอาจเป็นพระโอรสรัชทายาท หรือ เป็นพระราชบุตรที่มีความสามารถมากพอที่จะนำพาอาณาจักรได้

และอีกร่องรอยหนึ่งของการปกครองของยุคศรีวิชัย คือ “ ระบบหัวเมือง ๑๒ นักษัตร ” ที่มีการแต่งตั้งเมืองบริวารให้มีความสำคัญทัดเทียมกัน โดยมีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง สันนิษฐานว่า ระบบหัวเมือง ๑๒ นักษัตรนั้น เก่าแก่ถึงยุคศรีวิชัย และเป็นระบบการปกครองดั่งเดิมของดินแดนในแถบนี้ จนกระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระพนมวัง แห่งพริบพรี ได้นำเอาระบบหัวเมือง ๑๒ นักษัตรนี้ กลับมาใช้ปกครองอีกครั้ง เพื่อรวมกำลังผู้คนให้เป็นปึกแผ่น โดยได้กำหนดหัวเมืองนักษัตรใหม่ดังต่อไปนี้คือ

๑. เมืองสายบุรี ใช้ตราหนู ( นักษัตรปีชวด )
๒. เมืองปัตตานี , ลังกาสุกะ , โฆตามลิฆัย ใช้ตราวัว ( นักษัตรปีฉลู )
๓. เมืองกลันตัน ใช้ตราเสือ ( นักษัตรขาล )
๔. เมืองปาหัง ใช้ตรากระต่าย ( นักษัตรเถาะ )
๕. เมืองกะฑาหะ , เคดะห์ , ไทรบุรี ใช้ตราพญานาค ( นักษัตรมะโรง )
๖. เมืองพัทลุง ( สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่สทิงพระ ) ใช้ตรามะเส็ง ( นักษัตรมะเส็ง )
๗. เมืองตรัง , ทะรัง ใช้ตราม้า ( นักษัตรมะเมีย )
๘. เมืองชุมพร , อุทุมพร ใช้ตราแพะ ( นักษัตรมะแม )
๙. เมืองบัณฑายสมอ หรือ เมืองไชยา ใช้ตราลิง ( นักษัตรวอก )
๑๐. เมืองสะอุเลา หรือ เมืองท่าทอง ใช้ตราไก่ ( นักษัตรระกา )
๑๑. เมืองตะกั่วป่า , ตักโกลา ใช้ตราสุนัข ( นักษัตรจอ )
๑๒. เมืองถลาง , มณิคราม ( บางท่านก็ว่าเมืองกระบุรี ) ใช้ตราสุกร ( นักษัตรกุน )

การแต่งตั้งหัวเมือง ๑๒ นักษัตรนี้ เจ้าหัวเมืองทุกหัวเมืองขึ้นตรงกับเมืองนครศรีธรรมราช จึงมีผลทำให้การบูรณะซ่อมแซมพระมหาธาตุในยุคต้นกรุงศรีอยุธยาประสบความสำเร็จยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองเป็นไปอย่างราบรื่น ถึงแม้ว่าภายหลังกรุงศรีอยุธยาจะได้ใช้ระบบการปกครองแบบใหม่เข้ามาปกครองท้องถิ่นก็ตาม แต่เรื่องหัวเมือง ๑๒ นักษัตร ก็ยังคงได้รับการบันทึกมาจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อนำเอาหัวเมือง ๑๒ นักษัตรมาเทียบเคียงกับหัวเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของศรีวิชัย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่บันทึกโดย “ เจาจูกัว ” ผู้ตรวจการค้าภายนอกประเทศ ก็พบว่ามีหัวเมืองที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสันนิษฐานว่า หัวเมืองที่บันทึกโดย เจาจูกัว อาจเป็นรัฐที่ขึ้นกับศรีวิชัย หรือ ๑๒ นักษัตรในยุคนั้นก็เป็นไปได้ โดยหัวเมืองในขณะนั้น ประกอบไปด้วย

๑. เป็ง –โฟ สันนิษฐานว่า คือเมืองปาหัง ประเทศมาเลเซีย
๒. เตง – ยา – นอง สันนิษฐานว่า คือเมืองตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
๓. ลิง – ยา – สิ – เกีย สันนิษฐานว่า คือเมืองลังกาสุกะ
๔. กิ – แลน – ตัน สันนิษฐานว่า คือเมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
๕. โฟ – โล – อัน สันนิษฐานว่า คือเมืองเก่าที่สทิงพระ
๖. ยิ – โล – ติง สันนิษฐานว่า คือเมืองยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย
๗. เซียน – ไม ยังไม่ทราบแน่ชัด
๘. ปา – ตา ยังไม่ทราบแน่ชัด
๙. ตัน – มา – ลิง สันนิษฐานว่า คือเมืองตามพรลิงค์
๑๐. เกีย – โล – หิ สันนิษฐานว่า คือเมืองไชยา
๑๑. ปา – ลิ – ฟอง สันนิษฐานว่า คือเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนิเซีย
๑๒. ซิน – โต สันนิษฐานว่า คือเมืองซุนดา ประเทศอินโดนิเซีย
๑๓. เกียน – ไป สันนิษฐานว่า คือเมืองกัมเป ประเทศอินโดนิเซีย
๑๔. ลัน – วู – ลิ สันนิษฐานว่า คือเมืองลามูรี ประเทศอินโดนิเซีย
๑๕. ซี – แลน สันนิษฐานว่า คือ เกาะศรีลังกา หรือ อาณาจักรสิงหล

จะเห็นได้ว่า เมือง หรือ รัฐ ที่ขึ้นตรงกับศรีวิชัยในยุคตอนปลาย ( พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ ) นั้น มีมากถึง ๑๕ หัวเมืองใหญ่ แม้ว่าศรีวิชัยตอนปลาย จะไม่ได้มีหัวเมืองและอาณาเขตที่ไพศาลเหมือนในยุคก่อนหน้าที่จะเสียเมืองให้กับโจฬะก็ตาม แต่ด้วยอาณาเขตของหัวเมืองเหล่านี้ ก็ได้บอกถึงอาณาเขตที่ยิ่งใหญ่เหนือน่านน้ำอุษาคเณย์ และเจ้าของมวลหมู่เกาะทั้งสองคาบสมุทรของศรีวิชัยได้เป็นอย่างดี

การที่จะเข้าใจภาพโดยรวมของศรีวิชัย จำเป็นยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการปกครองของศรีวิชัยเสียก่อน รูปแบบการปกครองอย่างสหพันธรัฐนั้น ถ้าเจ้านครรัฐที่ใดมีความเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับจากหมู่เจ้านครรัฐด้วยกัน เจ้านครรัฐและรัฐของเขาก็จะได้เป็นนครหลวง และด้วยเหตุนี่เองกระมัง ที่ทำให้นครหลวงของศรีวิชัยปรากฎหลายที่ บ้างก็ว่า ไชยาบ้าง นครศรีธรรมราชบ้าง สทิงพระบ้าง กฑาหะบ้าง หรือแม้แต่ปาเล็มบัง และหัวเมืองในหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งหัวเมืองที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นนครหลวงของศรีวิชัย นอกจากจะอาศัยพยานหลักฐาน ที่มีทั้งโบราณวัตถุ และ โบราณสถานแล้ว การทำความเข้าใจการปกครอง ก็จะสามารถช่วยคลายปริศนาของนครหลวง ที่เป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งยังเป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้า และ ศึกษากันต่อในจุดนี้

การปกครองของศรีวิชัย เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างแตกต่างจากระบบที่ใช้ปกครองในดินแดนโดยรอบ ในขณะที่อาณาจักรเจนละ หรือ อาณาจักรพระนคร ได้ใช้รูปแบบการปกครองแบบ “ เทวราช ” ในการปกครองแบบรวมศูนย์ แต่ศรีวิชัย กลับใช้ระบบการปกครองที่แตกต่าง โดยให้อิสระแก่เจ้าผู้ครองนครในการปกครอง เป็นการกระจายอำนาจ และ กระจายนโยบายของนครหลวงไปทั่วถึงทุกรัฐภายในอาณาจักร แต่การปกครองแบบสหพันธรัฐเอง ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งเป็นทั้งจุดที่ส่งเสริมให้ศรีวิชัยมีอายุของอาณาจักรที่ยาวนานถึง ๗๐๐ ปี และเป็นจุดบอด ที่ทำให้ศรีวิชัยถึงแก่กาลล่มสลาย จนไม่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้อีกเลย ซึ่งนี่ คือสิ่งหนึ่งที่นักค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับศรีวิชัยควรจะศึกษา อย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของศรีวิชัยได้อย่างรอบด้าน