ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

คติความเชื่อเรื่องพระพิมพ์ศรีวิชัย มีที่มาในการสร้างเป็นอย่างไร และเหตุใดถึงไม่นิยมนำมาห้อยคอหรือติดตัวกัน โดยภูมิ จิระเดชวงศ์

หลังจากยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช การเผยแผ่พุทธศาสนาได้แพร่ขยายไปยังส่วนต่าง ๆ ของอนุทวีปอินเดีย ตั้งแต่ทางตอนเหนือสุดจรดเส้นทางสายไหม ไปจรดทางตอนใต้ของรัฐอานธรประเทศ แม้ว่าในยุคราชวงศ์กุษาณะ ( ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๘ ) พุทธศาสนาจะแบ่งแยกเป็นสองนิกาย คือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และพุทธศาสนานิกายมหายานอย่างชัดเจน แต่การเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่าง ๆ นั้น ก็ยังคงรุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีป ก่อนที่ต่อมา เมื่อมีเหล่าพ่อค้าชาวชมพูทวีปไปแสวงโชคในดินแดนสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๒ ก็ได้เริ่มมีการนำเอาอารยธรรมอันรุ่งเรืองจากแผ่นดินตะวันตก มายังแผ่นดินสุวรรณภูมิ อันเป็น “ โลกใหม่ ” ของชาวอินเดีย

ถ้าหากนับแต่ดั่งเดิมแล้ว การำลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดานั้น ให้หลังจากพุทธกาลราวยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการสร้างเจดีย์สี่ประเภทขึ้น เพื่อรำลึกถึงพระพุทธองค์ คือสร้างพระสถูปเพื่อครอบพระธาตุเจดีย์ สร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างบนสังเวชนียสถาน อันเป็นบริโภคเจดีย์ จารึกพระธรรมคำสอน อันเป็นพระธรรมเจดีย์ และ สร้างรูปพุทธประวัติ เพื่อเป็นอุเทสิกะเจดีย์ ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมการสร้างรูปเคารพจากชาวกรีกเฮเลนิคที่อาศัยในแถบนครคันธาระ ( อัฟกานิสถานในปัจจุบัน ) ได้แพร่หลายเข้ามาในลุ่มแม่น้ำสินธุ จึงได้เริ่มมีการสร้างรูปเคารพขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพของพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา หรือรูปเคารพของเหล่าทวยเทพในศาสนาพราหมณ์ก็ตาม ล้วนได้รับอิทธิพลการสร้างมาจากอารยธรรมของชาวกรีก เป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นศิลปะประจำอาณาจักรของตน

ในส่วนของการสร้างพระพิมพ์ สันนิษฐานว่าเดิมทีแล้ว คงจะมีที่มาจากการแกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติลงบนหิน เป็นพุทธประวัติตอนสำคัญต่าง ๆ เช่น ตอนแสดงยมกปาฎิหาริย์ ตอนแสดงพระธรรมเทศนา เป็นต้น โดยในยุคแรกของการทำรูปพุทธประวัตินั้น จะใช้สัญลักษณ์มงคลแทนพระพุทธเจ้า เช่น รูปบัลลังก์ว่างใต้ต้นโพธิ์ แทนการตรัสรู้ รูปพระธรรมจักร แทนการประกาศพระธรรมเทศนา รูปแท่นว่างใต้ต้นสาละ แทนการปรินิพพาน ซึ่งในกาลต่อมาเมื่อมีการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว เหล่าช่างแกะสลักได้จำหลักองค์พระศาสดาเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อการเผยแพร่พุทธศาสนามีการขยายตัวมากขึ้น การแกะสลักเรื่องราวบนหินจึงไม่อาจตอบสนองให้ทันต่อความต้องการได้ จึงต้องมีการทำ “ พิมพ์ดิน ” ขึ้นมา เพื่อที่จะใช้บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ และรูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้า โดยพิมพ์ดินเหล่านี้ ได้เริ่มเข้ามาในแผ่นดินเอเชียอาคเนย์ในยุคสมัยทวาราวดี โดยพิมพ์ดินเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในยุคนั้น ยังเป็นเรื่องราวในฝ่ายเถรวาทอยู่ มีทั้งพระพิมพ์ยมกปาฎิหาริย์ พระพิมพ์ธรรมเทศนา พระพิมพ์เสด็จจากดาวดึงส์ หรือมีแม้กระทั้งพระพิมพ์พระสาวก ( พบที่เขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ) ต่อมา เมื่ออิทธิพลของดินแดนทวาราวดีได้พ่ายแพ้ต่ออำนาจของอาณาจักรอีสานปุระที่เข้มแข็งกว่า ทำให้พุทธศาสนาไปเจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ของดินแดนแหลมทอง โดยพุทธศาสนาในดินแดนคาบสมุทรทองคำแห่งนี้ เป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการเผยแพร่จากกลุ่มภิกษุที่มาจากดินแดนทางตะวันออกของอาณาจักรคุปตะ ( ปัจจุบันคือภาคเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย ) พระภิกษุผู้นับถือนิกายมหายาน ได้นำพิมพ์พระรูปแบบใหม่เข้ามาด้วย คือพิมพ์พระพุทธเจ้าในคติมหายาน ที่ประกอบไปด้วย พระพุทธเจ้า ล้อมด้วยพระโพธิสัตว์พระองค์ต่าง ๆ ซึ่งพิมพ์พระเนื้อดินของทางตอนใต้ของประเทศไทย ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ ได้มีการค้นพบที่ถ้ำพระพุทธ จ.ยะลา พบที่ถ้ำเขานุ้ย – ถ้ำเขาสาย จ.ตรัง พบที่ ต.พรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี พบที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งโดยการจำแนกพระพิมพ์มหายานของศรีวิชัย พอจะแบ่งรูปแบบได้ดังต่อไปนี้

๑. พระพิมพ์รูปแบบ พระพุทธ
โดยพระพิมพ์รูปแบบพระพุทธนี้ จะเป็นพระพุทธเจ้าทรงประทับในซุ้ม มีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สถูป หรือ ธรรมจักรประกอบ ยกตัวอย่างเช่น พระกรุพิมพ์ใบพุทรา วัดนาสนธิ์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุพิมพ์เม็ดกระดุม เขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี , พระกรุเขาเหมน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดสนธิ์ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

๒. พระพิมพ์รูปแบบ พระโพธิสัตว์
พระพิมพ์รูปแบบพระโพธิสัตว์ โดยส่วนมากที่พบในภาคใต้ จะเป็นรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระปัทมปาณี และ รูปเคารพของพระชัมภล หรือ ท้าวกุเวร เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพระพิมพ์ในรูปแบบพระโพธิสัตว์นี้ จะปรากฏอยู่ในพระกรุเขานุ้ย เขาสาย จ.ตรัง , พระกรุพรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี , พระกรุวัดหน้าถ้ำ จ.ยะลา เป็นต้น

๓. พระพิมพ์รูปแบบ พระพุทธประทับร่วมกับพระโพธิสัตว์
พระพิมพ์ในรูปแบบพระพุทธเจ้าประทับร่วมกับพระโพธิสัตว์นั้น มักจะมีรูปแบบที่มีพระพุทธเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง ถูกขนาบ หรือ ล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ถ้าหากล้อมด้วยพระโพธิสัตว์สององค์ คือ พระเมตไตรญะ และ พระอวโลกิเตศวร แต่ถ้าหากล้อมด้วยพระโพธิสัตว์แปดพระองค์ คืออัษฎามหาโพธิสัตว์ ประกอบด้วย พระวัชรปาณี พระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี พระสมันตภัทร พระกษิติครรภ์ พระอากาศครรภ์ พระเมตไตรญะ และพระสรรวนิวรณะวิษกัมภิณ ซึ่งการสร้างพระกรุในรูปแบบนี้ ได้แก่ พระกรุวัดกำแพงถม จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุเขานุ้ย – เขาสาย จ.ตรัง พระกรุบนควน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

พระพิมพ์ทั้ง ๓ รูปแบบที่ได้ยกกล่าวมานี้ เป็นรูปแบบพระกรุที่ปรากฏในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ โดยการสร้างพระกรุในยุคนั้น สร้างขึ้นเพื่อประกาศพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น และเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนารูปแบบหนึ่ง โดยอาศัยการสร้างด้วยแม่พิมพ์ ที่สามารถสร้างจำนวนได้มากกว่าการแกะสลักด้วยหิน จะสังเกตได้ว่า พระกรุเนื้อดินดิบศรีวิชัย มักจะมีการฝังดิน หรือ บรรจุกรุไว้ เพื่อเป็นการบอกกล่าวผู้คนในยุคอนาคตว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์การสร้างพระกรุของผู้คนในยุคศรีวิชัย พอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

๑. สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้นเพื่อประกาศพระศาสนา ให้แสดงถึงอาณาเขตความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม

๒. สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้น เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต ถ้าหากอาราม หรือ วัดในนิกายมหายานแห่งนี้มีเหตุต้องร้างไป เมื่อวันหนึ่งผู้คนในอนาคตมาพบ จะได้ทราบว่าที่แห่งนี้เคยมีพุทธศาสนามาก่อน และเป็นการบอกกล่าวให้ผู้คนในอนาคต ช่วยสืบสาน จรรโลงพระพุทธศาสนาให้นานที่สุด

๓. สร้างพระพิมพ์เนื้อดินขึ้น เพื่อเป็นเหตุปัจจัยในการทำบุญกุศล ที่จะปรารถนาเข้าถึงพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะเข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งหลาย ๆ พระกรุในประเทศไทย จะมีข้อความจารึกคาถา “ เยธัมมา ฯ ” เอาไว้ เพื่อเป็นการประกาศพระศาสนา และเป็นการประกาศเจตนาที่จะเข้าถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้า

ซึ่งเจตนาการสร้างพระกรุของยุคสมัยศรีวิชัยนั้น ยังคงเจตนาทั้งสามข้อเป็นหลัก จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๗ เป็นยุคที่พุทธศาสนานิกายวัชรยาน เริ่มมีบทบาทเข้ามาแทนที่พระพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยพุทธศาสนานิกายวัชรยานนี้ จะมีจุดเริ่มต้นมาจากลพบุรี ได้มีการสร้างพิมพ์เนื้อดินเป็นรูปของมณฑลพระพุทธ และมณฑลพระโพธิสัตว์ตามแบบวัชรยาน ได้แก่

๑. รูปแบบที่มีพระพุทธเจ้ามาพร้อมพระโพธิสัตว์ ได้แก่รูปแบบพระตรีกาย ( พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ นั่งในซุ้มปราสาท ) หรือรูปแบบพระพุทธขนาบด้วยพระโพธิสัตว์ เช่น พระพุทธขนาบด้วย พระปัทมปาณี และ พระปรัชญาปารมิตรา หรือ พระพุทธขนาบด้วย พระโพธิสัตว์ หรือ ธรรมบาลองค์อื่น ๆ ซึ่งพระกรุในรูปแบบนี้ได้แก่ พระกรุวัดพระเวียง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดนางตรา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช , พระกรุวัดนาสนธิ์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

๒. รูปแบบที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้า ได้แก่พระกรุพิมพ์นาคปรก พระกรุพิมพ์ซุ้มประตู กรุวัดนางตรา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หรือ พระกรุพิมพ์ยอดขุนพล พระกรุพิมพ์เทริดขนนก พระกรุพิมพ์นาคปรก จ.ลพบุรี เป็นต้น

๓. รูปแบบที่มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ หรือ ธรรมบาล พระกรุรูปแบบนี้ค่อนข้างจะหายาก โดยมากมักจะเป็นรูปธรรมบาลเหวัชระ ขนาบด้วยพระพุทธและพระโพธิสัตว์ เป็นรูปมณฑลของพระเหวัชระ หรือไม่ก็เป็นรูปของพระเหวัชระเดี่ยว ๆ เลย ส่วนมากพระกรุพิมพ์เหวัชระนี้จะพบมากทางภาคกลางของประเทศไทย

เจตนาในการสร้างพระกรุในยุคศรีวิชัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๗ นี้ โดยส่วนใหญ่เพื่อเป็นการประกาศพระศาสนา และเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศล ให้เป็นเหตุปัจจัยในการบรรลุพระธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สร้างเพื่อเจตนาจะให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามที่เคยเข้าใจกันมา และคนในยุคบรรพกาลผู้สร้างพระกรุ ก็ไม่ได้นำเอารูปเหมือนพระ หรือเทพพระองค์ใดติดตัวเหมือนในเช่นปัจจุบัน ด้วยคนในยุคนั้นมีความรังเกียจว่า ร่างกายของตนนั้นเป็นสิ่งที่สกปรก ไม่คู่ควรที่จะให้พระผู้นิรทุกข์ นิรกิเลสมาประทับบนเรือนร่างตน แต่ในยุคหลังถัดมา แม้จะไม่เคร่งเหมือนในยุคกาลเก่า ก็เลี่ยงการนำพระมาติดตัวด้วยการสร้างสัญลักษณ์แทนพระขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์ เป็นตระกรุดพิศมรลงพระคาถาต่าง ๆ เพื่อนำเอาข้ออรรถข้อธรรมเหล่านั้นเป็นเครื่องคุ้มครองตน นอกเหนือไปจากการพึงพาในด้านอิทธิฤทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์แล้ว คนยุคก่อนยังเตือนใจตนด้วยการเขียนหัวใจย่อธรรมบทต่าง ๆ ลงในเครื่องรางของขลัง เป็นอนุสติ รำลึกถึงพระรัตนตรัยประการหนึ่ง

ดังนั้นการที่คนโบราณ ในยุคทวาราวดี ในยุคศรีวิชัย จะพกพาพระกรุแขวนคอนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการนิยมในการใช้เครื่องประดับ ยังไม่นิยมนำรูปพระ หรือ เทพในศาสนานำมาประดับแขวน แต่การแขวนพระนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการนิยมนำพระพุทธรูป หรือ พระพิมพ์องค์เล็ก ๆ แขวนคอเพื่อประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน เช่นเดียวกันกับศาสนิกชนศาสนาอื่น ๆ ที่พกพาสัญลักษณ์ของศาสนาตน เพื่อประกาศความศรัทธา แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์แทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ ในเรื่องวิวัฒนาการของความเชื่อ ความศรัทธา แต่อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาก็ควรจะควบคู่กับปัญญาในการดำรงชีวิต เพื่อไม่ให้พลัดหลงจากพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดไว้