ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วัดเจดีย์ หรือวัดไอ้ไข่ อ.สิชล จ.นคร ฯ ตามการตรวจสอบทางประวัติศาสตร์ ในอดีตนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ “ เมืองอะลอง ” ( ปัจจุบันคือ บริเวณ ต.ฉลอง ต.เขาน้อย และบางส่วนของ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ) ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ให้แก่เมืองนครศรีธรรมราช มีเส้นทางที่สามารถเดินทางจากเมืองอะลองไปยังพื้นที่ ต.คลองสระ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และ เส้นทางไปยังเมืองตระนอม ( อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ) เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่โบราณกาล

ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ ๕ ได้กล่าวถึง “ นายเชียงแสน ” หลานชายของพระนางสะเดียงทอง ที่ถูกมอบหมายไปปกครองเมืองอะลองและพื้นที่โดยรอบ เพื่อทำหน้าที่เมืองหน้าด่าน การแพร่กระจายของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเพชรบุรีในพื้นที่ภาคใต้ ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้นำเอาคติพุทธศาสนาเข้ามายังพื้นที่ เพื่อเป็นการรวมศูนย์บ้านเมืองให้มั่นคง โดยมีการสร้างวัดไว้ประจำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่เมืองอะลอง ได้มีวัดโบราณที่ถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา คือ วัดถ้ำเขาพรงตะวันออก วัดวิหารเบิก และ วัดเจดีย์

หากเจาะลึกเรื่องความเก่าของวัดเจดีย์ ทางวัดเองได้มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมาย มีทั้งกระเบื้องหลังคา อิฐฐานเจดีย์โบราณ พระพุทธรูปโบราณ แม้วันเวลาจะทำให้หลักฐานความรุ่งเรืองของวัดเจดีย์แทบไม่หลงเหลือสิ่งใด แต่โชคดีที่ยังมีโบราณวัตถุบางส่วน ที่ยืนยันการมีอยู่จริงของเจดีย์ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำวัด

ถึงแม้จะมีหลักฐานอยู่จริง แต่เพราะพระเจดีย์ประจำวัดได้ชำรุดพังทลายเกินกว่าจะเห็นรูปทรง หรือ เค้าโครงเดิมของพระเจดีย์ประจำวัดแล้ว ซึ่งผู้เขียนนั้นได้ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลและหลักฐานรูปแบบของพระเจดีย์ที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปแบบเดิมของเจดีย์ของวัด โดยใช้หลักฐานของเจดีย์ที่อยู่ในยุคเดียวกันและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขึ้นเป็นโบราณสถาน โดยอยู่ในพื้นใกล้เคียงกันหรือพื้นที่ในการปกครองในยุคดังกล่าว ซึ่งหากจะมีการจัดสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาให้คู่กับวัดอีกครั้งนั้นสามารถใช้เทคโนโลยีในการจำลองภาพเสมือนจริง โดยใช้หลักฐานต่าง ๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง จะสามารถนำพระเจดีย์ในยุคดังกล่าวของวัดเจดีย์ให้กลับมาเพื่อเป็นที่สักการะของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางของรูปแบบพระเจดีย์ของวัดเจดีย์ดังต่อไปนี้

๑. เจดีย์โบราณบ้านไสอิฐ
โบราณสถานบ้านไสอิฐ ตั้งอยู่ที่ ม.๖ ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ก่ออิฐสอดิน ฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ตัวองค์เจดีย์ก่ออิฐเป็นวงกลม ถัดขึ้นไป อาจเป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำ หรือ อาจเป็นทรงสถูปเช่นเดียวกับสถูปที่ Maligai Stupa ในกลุ่มโบราณสถาน Candi Muara Takus บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย ( ข้อมูลสถูปจาก เพจ ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย )

๒. เจดีย์ปะการังโบราณเขาจันทน์ธาตุ
เจดีย์ปะการังเขาจันทน์ธาตุ ตั้งอยู่ที่ วัดเขาจันทน์ธาตุ ม.๔ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เจดีย์องค์นี้ก่อด้วยอิฐที่ถากจากปะการัง ก่อเป็นรูปทรงโอคว่ำแบบลังกา ภายในมีการพบพระกรุและของมีค่าทางศาสนาส่วนหนึ่ง ภายหลังได้มีการบูรณะกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ มีพร้อมทั้งส่วนระฆังคว่ำและปล้องไฉน เป็นที่สักการะรวมใจของชาวขนอมตลอดมา

๓. เจดีย์โบราณ วัดกาญจนาราม
วัดกาญจนาราม ( วัดกำแพงกะแดะเดิม ) ตั้งอยู่ที่ ม.๑ ต.กะแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นวัดที่มีอายุการสร้าง ถึงต้นกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานจากการขุดพบพระกรุเนื้อชิน ที่เจดีย์โบราณภายในวัด ซึ่งอายุของพระกรุวัดกาญจนาราม มีอายุอยู่ที่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ รูปแบบของพระกรุนั้นเป็นศิลปะละโว้ ดังนั้นแล้ว เจดีย์โบราณที่วัดกาญจนาราม จะเป็นรูปทรงช่วงอยุธยาตอนต้น

อาจมีคำถามว่าด้วยเหตุใดที่กลุ่มเชื้อพระวงศ์ อโยธยาจากเพชรบุรี จึงไม่สร้างพระปรางค์ตามแบบคตินิยมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนนั้นสันนิษฐานว่าอาจสืบเนื่องได้ว่า เพื่อเป็นการคล้อยตามคติพุทธศาสนาของชนชาวพื้นเมือง ที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา หรือเพราะความพร้อมในการสร้างพระปรางค์นั้นเป็นสิ่งที่เกินกำลังของผู้คนในพื้นที่ จึงหันไปสร้างเจดีย์ตามแบบพื้นถิ่นแทน แต่ยังคงแฝง รูปแบบและศิลปะตามแบบทางตอนกลางเอาไว้ ซึ่งรูปแบบของพระเจดีย์ ประจำวัดเจดีย์ เป็นรูปทรงใดที่พอจะใกล้เคียง ก็มีเจดีย์จากโบราณสถานบ้านไสอิฐ เจดีย์จากโบราณสถานเขาจันทน์ธาตุ และ พระเจดีย์องค์เก่าของวัดกาญจนาราม ที่พอจะบ่งบอกเค้าโครง ร่องรอยของพระเจดีย์ประจำวัดเจดีย์ได้