ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

#แผ่นดินถิ่นกำเนิดเกิดชายน้อย (พระเทพสิงหร/ขุนศรีศรัทธา) ครูต้นโนรา จากบันทึกตำนานโนราสู่ความจริง “ เกาะสีชัง ” หรือ “ เกาะกระชัง ” ( เกาะใหญ่ ) อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ดินแดนให้กำเนิดครูต้นโนรา #ปฐพีฝังรกรากของขุนศรีศรัทธา
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

เมื่อเอ่ยถึงสถานที่ในตำนานโนรา บ้านเมืองของพญาสายฟ้าฟาดกษัตริย์ปกครองดินแดนนั้น ได้รับการขานไขแล้วว่าเป็นที่บริเวณเวียงบางแก้ว หรือ โคกเมืองบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานโนรา แต่ยังคงมีอยู่สถานที่แห่งหนึ่ง ที่ยังค้างคาอยู่ นั่นก็คือ “ เกาะสีชัง ” หรือ “ เกาะกระชัง ” ที่ยังไม่มีใครค้นคว้า หรือ พยายามหาว่าอยู่ที่ใดอย่างจริงจัง จนมีการคาดการไปคนละทิศละทาง

จนกระทั่งผู้เขียนได้ลงสำรวจ และเก็บข้อมูลในพื้นที่ “ เกาะใหญ่ ” ( ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ) ได้ข้อมูลที่น่าสนใจจากชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีประจักษ์หลักฐานทางภูมิศาสตร์ และระยะทางมากพอจะสนับสนุนว่า “ เกาะกระชัง หรือเกาะสีชังในตำนานโนรา ก็คือ เกาะใหญ่ในปัจจุบัน ” โดยพิจารณาจากการเดินเรือภายในทะเลสาบ ทั้งเรื่องทิศทางลม และเรื่องระยะเวลาการเดินทาง พิจารณาจากปัจจัยความสมบูรณ์ทางทรัพยากรของพื้นที่เกาะใหญ่ เพราะถ้าคนไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานนับสิบปีได้โดยไม่เดือดร้อน แสดงว่าที่แห่งนั้นต้องมีทรัพยากรที่สามารถเลี้ยงผู้คนได้ อีกทั้งเกาะใหญ่ยังมีหลักฐานถึงการเข้าอยู่อาศัยของผู้คนมายาวนานนับพันปี เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งเดียวของเกาะ ซึ่งจะได้นำเสนอให้ทราบไปทีละสถานที่ แต่ในตอนนี้ ขอให้ท่านได้อ่าน บทกาศครูโนราเก่าแก่ ที่ได้กล่าวถึงเกาะสีชัง หรือ เกาะกะชังกัน

“ นะเล่าแหละรื่นรื่น ลูกจะไว้นางธรณี ผึ่งแผน
เอาหลังเข้ามาเป็นแท่น นองตีนชาวมนุษย์ ทั้งหลาย
ชั้นกรวดดินดำ ถัดมาชั้นน้ำ อองทราย
นาค เจ้าทะฦาสาย ขานให้โนเน โนไน
ขานมาชาต้อง ทำนองเสมือนงัว ชัดไถ
เล่าแหละเพลงครวญ คิดขึ้นมาทรหวล หัวใจ
เพลงสมีไม่ลืมใน พี่ไปไม่ลืม น้องหนา
เล่าแหละรวยรวย มันยังหอมแต่รส แป้งทา
หอมรสครูข้า ส่งกลิ่นพ่อมา ไรไร
หอมมาสาแค่ ครั้นเหลียวไปแล หอมไกล
หอมฟุ้งสุราลัย ไคลเข้าในโรง น้องหนา
#เล่าแหละลมใด พัดแล้วตั้งเมฆ ขึ้นมา
#ลมว่าวดาหรา พัดโต้ด้วยลม หวันออก
#ลูกชักใบแล่น ส่งได้แต่เทียม ลูกรอก
#บ่ายหัวให้แพออก มาให้ท้ายแก่ลม หลาตัน
#ลูกชักใบแล่น กลางคืนมาเป็น กลางวัน
#ไกลหลิ่งไกลฝั่ง เอาเกาะศรีกระชัง เป็นเรือน
เพื่อนบ้านเขานับปี แต่นวลทองสำหลี นับเดือน
เอาเกาะสีชังเป็นเรือน เป็นแท่นที่นอน น้องหนา
( บทขานเอ ของโนราแปลก จันทร์เรือง จาก เว็บไซค์ http://manoracatchphrase.blogspot.com/2013/08/blog-post_18.htm)

หมายเหตุ : เส้นใต้ข้อความสีน้ำเงิน คือการพรรณนาถึงการถูกลอยแพของพระนางนวลทองสำลี และ เส้นใต้ข้อความสีแดง คือ การอยู่อาศัยบนเกาะสีชัง หรือ เกาะกะชังของพระนางนวลทองสำลี

บทกลอนในข้างต้น เรียกกันว่า “ บทขานเอ ” เป็นบทแรกที่คณะโนรามักจะขับบทเป็นบทแรกของการแสดง ซึ่งบทขานเอนี้ ได้รำพึงรำพันถึงพระนางนวลทองสำลีที่ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะกะชัง ซึ่งจากการลงสำรวจในพื้นที่ ตามตำนานโนรา โดยปักหลักที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จุดที่เป็นบ้านเมืองของโนราในอดีต เมื่อมีการเนรเทศพระนางนวลทองสำลีด้วยแพ ผู้เขียนจึงสำรวจพื้นที่ เกาะใหญ่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา โดยพิจารณาจากร่องรอยที่เหลืออยู่ในบทกาศครูดังต่อไปนี้

๑. #ร่องรอยการเดินเรือในทะเลสาบ ที่เหลืออยู่ในบทขานเอ มีความว่า

“ เล่าแหละลมใด พัดแล้วตั้งเมฆ ขึ้นมา
ลมว่าวดาหรา พัดโต้ด้วยลม หวันออก
ลูกชักใบแล่น ส่งได้แต่เทียม ลูกรอก
บ่ายหัวให้แพออก มาให้ท้ายแก่ลม หลาตัน
ลูกชักใบแล่น กลางคืนมาเป็น กลางวัน ”

๒. #ร่องรอยความสมบูรณ์ของเกาะกะชัง ที่มีอยู่ในตำนานโนรา ความว่า

“ คิดอ่านไม่ถูก จึงเอาลูกลอยแพ สาวชาวชะแม่ พร้อมสิบสองคน มาด้วยหน้าใย ที่ในกลางหน บังเกิดลมฝน มืดมนเมฆัง คลื่นซัดมิ่งมิตร ไปติดเกาะสีชัง สาวน้อยร้อยชั่ง เคืองคั่งบิดร จับระบำรำร่อน ที่ดอนเกาะใหญ่ ข้าวโพดสาลี มากมีถมไป เทวาเทพไท ตามไปรักษา ”

สภาพของเกาะกะชัง หรือ เกาะสีชังในตำนานโนรา จะต้องมีลักษณะทางภูมิศาสตร์คือ มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนน้ำใช้น้ำดื่ม และเมื่อเดินทางด้วยเรือ จะเดินทางถึงด้วยลมสลาตัน ( ลมพัดจากทางทิศใต้ ) ผู้เขียนได้สำรวจจุดแรก บริเวณแหลมคูลา ม.๘ ต.เกาะใหญ่ เป็นพื้นที่ราบ ที่เมื่อแล่นเรือออกจากบางคลองท่ามะเดื่อ ( คลองบางแก้ว ) จะมาขึ้นฝั่งตรงที่แหลมคูลาพอดี ( ในปัจจุบัน มีโครงการที่จะสร้างสะพานจากแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มายังแหลมคูลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา เพื่อความสะดวกในการเดินทางระหว่างสองจังหวัด ) และเมื่อผู้เขียนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่ทำการประมงในทะเลสาบสงขลา พบว่าหากจะเดินทางจากเขียนบางแก้วมายังเกาะใหญ่ ในสมัยโบราณต้องใช้ลมสลาตันพัดส่งใบเรือ จึงจะเดินทางมาถึง หากแล่นเรือหรือแพแบบโบราณ ใช้เวลาจากฝั่งเขียนบางแก้ว มายังแหลมคูลาเกาะใหญ่ไม่ถึงครึ่งวัน ถ้าหากแล่นเรือยนต์มา จะใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะใหญ่ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอดีตเกาะใหญ่ เคยมีต้นเตยหนาม ต้นคล้า ต้นกระจูดอยู่มาก และเมื่อจะสร้างบ้าน หรือทำเสื่อ ก็เอาพืชเหล่านี้มาสาน ตรงกับตำนานมุขปาฐะทางโนรา ว่าที่ประทับของพระนางนวลทองสำลีเมื่อคราวอยู่เกาะกระชังนั้น ใช้เสื่อคล้า เสื่อกระจูดปูพื้น และมุงหลังคาด้วยกระแชงที่ทอจากต้นเตยหนาม จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตจริง ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

สถานที่ ที่สอง ที่ผู้เขียนไปสำรวจ คือโบราณสถานที่ #วัดสูงเกาะใหญ่ มีแนวกำแพงหินโบราณ ที่เกิดจากการสกัดหินเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเรียงซ้อนกันเป็นอาณาเขต ซึ่งจากการพิสูจน์แนวหินเหล่านี้ เป็นแนวหินที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีอายุของการสร้างนับพันปี ก่อนหน้าที่จะมีการนำแนวหินมาใช้เป็นพระอุโบสถ จึงทำให้ทราบได้ว่า เกาะใหญ่ เป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งภูมิประเทศของเกาะใหญ่ ยังมีพื้นที่บางส่วนที่สามารถทำนาได้ เพาะปลูกต้นไม้ได้ จึงไม่ต้องแปลกใจ ว่าเหตุใดพระนางนวลทองสำลีและบริวารจึงอยู่บนเกาะกระชังได้นานนับสิบปี เพราะเกาะกระชัง หรือ เกาะใหญ่นั้น สามารถเพาะปลูกได้ มีน้ำจืดใช้สอยไม่ขาด และอยู่ในเส้นทางการเดินเรือภายในทะเลสาบ จึงทำให้ไม่ขาดแคลนในการอุปโภคบริโภค

สถานที่ ที่สาม ที่ผู้เขียนไปสำรวจ คือควนศรีปาน หรือ ยอดเกาะใหญ่ ยอดควนศรีปานนี้ สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ หากมองลงไปทางทิศใต้ จะเห็นเกาะสี่เกาะห้า เกาะโคบ เกาะหมาก เกาะนางคำ และพื้นที่ฝั่ง อ.สิงหนคร หากมองไปทางทิศตะวันตก จะมองเห็นริมทะเลสาบฝั่งจังหวัดพัทลุง ไปจรดพื้นที่ทะเลน้อย หากมองทางทิศเหนือและทิศตะวันออก จะมองเห็นฝั่ง อ.สทิงพระ ภูมิประเทศของเกาะใหญ่ เหมาะกับการอยู่อาศัยมาตั้งแต่โบราณและก็มีการใช้พื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตนั้น เกาะใหญ่ มีสภาพเป็นเกาะจริง ๆ คือมีน้ำล้อมรอบ ก่อนที่ต่อมา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน จึงทำให้เกิดสันดอนเป็นแผ่นดินเชื่อมต่อระหว่างฝั่งสทิงพระและฝั่งเกาะใหญ่

สถานที่ ที่สี่ ที่ผู้เขียนได้สำรวจ อยู่ทางตอนเหนือของเกาะใหญ่ เป็นสถานที่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ #สวนพระเทพสิงหร ” หรือ “ #สวนพระเทพ ” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณ ไม่ใกล้กันนักมี “ แหลมเจ้า ” ซึ่งพื้นที่ระหว่างแหลมเจ้าและสวนพระเทพนั้นอยู่ติดกัน และในพื้นที่สวนพระเทพ ในสมัยก่อนมีลานหินให้เหล่าโนรามาฝึกหัดรำ และตามมุขปาฐะของชาวบ้าน เชื่อกันว่า สวนพระเทพ คือ สถานที่ประทับของพระเทพสิงหล หรือ ขุนศรีศรัทธา เมื่อครั้งยังหัดรำอยู่ที่เกาะใหญ่ สิ่งที่มีในสวนพระเทพ มีทั้งก้อนหินสำหรับนั่ง ลานหิน และ ต้นมะม่วงโบราณขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี ๓ ต้น ที่เป็นจุดสังเกตของสวนพระเทพ ฯ มาตั้งแต่โบราณ จากข้อมูลที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ได้ทราบความว่าในอดีต เมื่อยังมีการสัญจรทางเรือ บริเวณแหลมเจ้า – สวนพระเทพ ฯ หากเรือลำใดเป็นศิลปิน หนังตะลุง หรือ โนรา หรือ อื่น ๆ ก็ดี จะต้องเชิดเครื่อง หรือ บรรเลงดนตรีเพื่อแสดงความเคารพต่อบริเวณสวนพระเทพ ถ้าหากไม่เชิดเครื่อง หรือทำการแสดง ก็จะต้องมีเหตุขัดข้องจนสัญจรต่อไม่ได้ ซึ่งชื่อ “ สวนพระเทพ ฯ ” เป็นชื่อที่มีกันเรียกกันมายาวนาน ไม่ใช่ชื่อที่เพิ่งตั้ง

ในการลงพื้นที่ติดตามตำนานโนราในครั้งนี้ หากพระนางนวลทองสำลีและบริวารถูกเนรเทศมา สภาพของเกาะกะชังที่พรรณนามา คงจะเป็นเกาะใหญ่ในปัจจุบัน ด้วยระยะเวลาการเดินทางในทะเลสาบ ด้วยอิทธิพลของลมประจำฤดู รวมถึงสภาพพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่บนเกาะใหญ่ ที่มีความสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณและน้ำสะอาด รวมถึงพื้นที่กว้างขวาง มากพอที่จะทำไร่นาได้ จากความสอดคล้องที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ เกาะกะชังในตำนานโนรา คือ ต.เกาะใหญ่ใน อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ในปัจจุบัน

สามารถชมภาพการลงพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามลิ้งครับ

ถอดรหัสเส้นทางประวัติศาสตร์โนรา (ตอนที่ ๑)
https://www.facebook.com/tsammuang/videos/821163071950368
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=3781523828548615

ถอดรหัสเส้นทางประวัติศาสตร์โนรา (ตอนที่ ๒)
https://www.facebook.com/tsammuang/videos/304381590560420

พิธีขอพลีดินและการมาอัญเชิญบอกกล่าว พระนางนวลทองสำลี พ่อขุนศรีศรัทธา และตายายโนราทั้งหลาย https://www.facebook.com/tsammuang/videos/805960586800389