ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

#ความรู้ความจริงเรื่องจอมขมังเวท
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

เมื่อกล่าวถึงพิธีกรรมในปัจจุบัน ได้มีการกล่าวถึง “ จอมขมังเวท ” กันอย่างเกลื่อนกลาด รวมถึงมีการใช้นาม “ จอมขมังเวท ” กับอาจารย์ในสำนักต่าง ๆ จนทำให้ผู้คนเข้าใจว่า “ จอมขมังเวท ” จะต้องมีภาพลักษณ์เป็นเจ้าสำนัก มีแท่นบูชาที่แน่นหนาไปด้วยรูปเคารพ รายล้อมไปด้วยลูกศิษย์มาก มาย และมีวัตถุมงคลนานาชนิด ซึ่งความเข้าใจในคำว่า “ จอมขมังเวท ” ของท่าน กับคำว่า “ จอมขมังเวท ” ที่ผู้เขียนพบเห็นมาจะเข้าใจตรงกันหรือไม่ และเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ลองมาอ่านและพิจารณากันดู

คำว่า “ จอมขมังเวท ” ถ้าแปลความหมายตามตัว “ จอม ” คือสิ่งที่อยู่บนยอด อยู่บนจุดสูงสุด “ ขมัง ” คือความแข็งขัน ความแม่นยำ และ “ เวท ” ถ้าแปลอย่างโบราณคือความรู้ แต่ถ้าแปลตามในที่นี้ คือผู้ที่เรียนวิชาทางไสยศาสตร์ ดังนั้นแล้ว “ จอมขมังเวท ” จึงหมายถึง “ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไสยศาสตร์ ” ชนิดชั้นครู คือเป็นครูคนได้ เปรียบเสมือนกับผู้ที่จบปริญญาเอกได้เกียรตินิยม มีความรู้ในด้านไสยศาสตร์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง เข้า ใจในทุกสรรพวิชา จึงจะเรียกได้ว่าเป็นจอมขมังเวท

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนประสบพบเจอ และที่ได้รับฟังจากผู้รู้ในท่านอื่น ๆ การเป็นจอมขมังเวทไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เป็นกันได้ทุกคน ถ้าจิตใจไม่เด็ดเดี่ยวมั่นคง ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่น เชื่อมั่นในสรรพวิชาที่ตนได้เรียนมาแล้ว

ย่อมไม่มีทางสำเร็จได้เลย จอมขมังเวท เปรียบได้กับยอดฝีมือคนหนึ่ง ผู้ที่จะเป็นยอดฝีมือได้ ต้องทุ่มเทชีวิตเกือบทั้งหมดให้กับศาสตร์ที่ตนรัก จุดเริ่มต้นของจอมขมังเวทในยุคก่อนนั้น มักจะเริ่มตั้งแต่อายุยังไม่มากในการเรียนรู้วิชาทางไสยศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงชั้นยากสุด โดยผู้ที่จะเป็นจอมขมังเวทได้นั้น ต้องมีพื้นฐานของวิชาที่หนาแน่น บางอาจารย์ ต้องบวชก่อนถึงจะได้เรียน และโดยส่วนมาก จอมขมังเวท หรือ ผู้ทรงเวทในยุคก่อน มักจะบวชอบรมจิตใจมาก่อน เพราะในบางครั้ง การใช้วิชาบางประเภท เช่น วิชาทำลายศัตรู วิชาที่ทำให้เกิดผลกระทำกับคนจำนวนมาก จะต้องมีการไตร่ตรองอย่างละเอียด อีกทั้งบางวิชานั้น เช่น วิชาประเภทรอยสักรูปสัตว์ต่าง ๆ วิชาประเภทคงกระพัน เมื่อใช้นาน ๆ จะเกิดความฮึกเหิมจนขาดสติ ดังนั้น เพื่อเป็นการดำรงสติและจิตใจ จอมขมังเวทในยุคก่อน จึงต้องผ่านการฝึกฝนด้านธรรมะอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถควบคุมจิตใจของตนได้

จอมขมังเวทเรียนอะไรบ้าง ? ไสยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มีส่วนที่เป็นเอกเทศเฉพาะตน และมีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับศาสตร์วิชาอื่น ๆ ผู้ที่จะเดินทางไปให้สุดทางของการมีอำนาจมหัศจรรย์ทางจิต จะต้องร่ำเรียนทั้งศาสตร์หลัก คือไสยศาสตร์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น โหราศาสตร์ เวชศาสตร์ อักษรศาสตร์ ฝีมือการช่าง วิชาการเดินป่า สัตว์วิทยา ฯลฯ เป็นต้น เพราะหลาย ๆ วิชา มีเรื่องฤกษ์ยาม มีเรื่องว่านยาสมุนไพร หรือ เรื่องของช่างฝีมือเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสังเกตได้ว่า นักไสยศาสตร์ในยุคก่อน เมื่อสร้างวัตถุมงคลออกมา จะมีความขลังตั้งแต่แรกเห็น และการเรียนไสยศาสตร์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครูเป็นผู้สั่งสอนวิชา เพราะแต่ละวิชา ย่อมมีเคล็ดลับ มีรายละเอียดที่หนังสือ หรือ ตำราไม่ได้บอกไว้ เป็นไม้ตายของครูในรุ่นก่อน ๆ ที่เอาไว้ดัดหลังพวกศิษย์บ้าตำรา ถ้าตราบใดครูไม่บอกเคล็ดวิชา หรือถ่ายทอดองค์ความรู้ในวิชานั้น ๆ จนหมด ถึงจะได้ตำราไป ก็ย่อมทำวิชาได้ไม่ครบอยู่ดี

การเป็นจอมขมังเวทที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องหมั่นทบทวนวิชาและฝึกซ้อมวิชาอยู่เสมอ ดั่งที่พระสุนทรโวหาร ( ภู่ ) ได้กล่าวไว้ในกลอนสวัสดิรักษาว่า

“ อนึ่งวิชาอาคมถมถนำ เวลาค่ำควรคิดเป็นนิจศิล จึงศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรนพ้นไพริน ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฏไป ”

การหมั่นทบทวนและฝึกซ้อมนั้น จะยิ่งเพิ่มอานุภาพของวิชาที่ตัวจอมขมังเวทร่ำเรียนมา การเรียนวิชาว่ายากแล้ว แต่การปฏิบัติตนให้เคร่งครัดตามข้อห้ามของบูรพาจารย์นั้นยากยิ่งกว่า เพราะไสยศาสตร์บางวิชา เช่น ในด้านคงกระพัน หรือในด้านชาตรี ( หินเบา ) มีข้อห้ามจำกัดหลายประการ เช่น ห้ามกินพืชต้องห้าม ห้ามกินอาหารในงานอวมงคล ห้ามลอดใต้สิ่งปลูกสร้างบางประการ ห้ามกระทำกริยาบางอย่างในที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ จอมขมังเวทหลายท่านเคร่งครัดมาก จนกระทั่งไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ จนบุตรหลานต้องจัดเครื่องใช้ไม้สอยให้อยู่เพียงลำพัง

การใช้ชีวิตของจอมขมังเวทนอกจากจะมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้านแล้ว เมื่อจะสร้างวัตถุมงคลขึ้นมา ก็นับว่าต้องรู้จริง เครื่องรางบางอย่างต้องรอเวลาตามตำราบังคับ เช่น ตระกรุดที่ต้องลงในวันเสาร์ที่มีดวงจันทร์เพ็ญเต็มดวง พระปิดตาที่ต้องเสกวันเสาร์ หรือวันอังคาร พระราหูต้องเสกในเวลาที่เกิดสุริยคราส หรือ จันทรคราส วัตถุมงคลบางอย่างต้องรอวัสดุบังคับ เช่น ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หนุมานแกะจากรากรักซ้อน และการสร้างของมงคลบางอย่าง ก็ต้องใช้ความอุสาหะ มานะพยายาม เช่น การลบผงตามตำราปถมัง ลบผงอิทธิเจ ลบผงพุทธคุณ เป็นต้น ซึ่งการสร้างวัตถุมงคลของจอมขมังเวทในยุคโบราณนั้น เรียกว่าสร้างกันเพียงพอต่อการใช้ จึงจะเห็นได้ว่า วัตถุมงคลที่จอมขมังเวทในสมัยก่อนใช้มีอานุภาพมาก เพราะสร้างตรงตามตำราบังคับทุกประการ

เมื่อกล่าวถึงการทดสอบ หรือ ข้อพิสูจน์ว่า ใครคือจอมขมังเวทหรือไม่นั้น เราไม่สามารถดูจากพฤติกรรมภายนอกได้เลย จอมขมังเวทบางคนอยู่เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป จะรู้อีกทีก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์คับขัน ซึ่งลักษณะของจอมขมังเวทนั้น มีดังต่อไปนี้

๑. เป็นผู้ที่พูดแต่พอจำเป็น ไม่คุยโวโอ้อวด ไม่ท้าทายผู้ใด
๒. เป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อแบบแผนพิธีกรรมและฤกษ์ยาม
๓. เป็นผู้ที่เคร่งครัดในข้อห้ามทางไสยศาสตร์อย่างมาก ข้อนี้พอจะสังเกตได้จากอาหารการกิน เพราะจอมขมังเวทค่อนข้างที่จะเลือกกินสิ่งที่ไม่เป็นข้อห้าม
๔. เป็นผู้ที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ปะปนสุงสิงอยู่กับผู้ใด
๕. เป็นผู้ที่มั่นใจทุกครั้งเมื่อทำวัตถุมงคล และยินดีที่จะให้พิสูจน์ในสิ่งที่ตนสร้าง
๖. จอมขมังเวท ไม่ใช่รู้เพียงแค่ไสยศาสตร์ แต่ยังรู้ลึก รู้จริงในศาสตร์แขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย หลัก ๆ คือ โหราศาสตร์ เวชศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ งานศิลปะช่างฝีมือ รวมถึงการเพาะปลูก และวิชาอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เพราะไสยศาสตร์บางวิชา ต้องใช้ศาสตร์แขนงอื่นเข้ามาใช้ร่วมด้วย เช่น การหาฤกษ์กระทำศัตรู การเลี้ยงว่าน การทำวัตถุมงคล ฯลฯ
๗. จอมขมังเวท จะไม่ยกมือไหว้ผู้ใดง่าย ๆ เว้นเสียแต่เป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การไหว้ เช่น บิดรมารดา ครูอาจารย์ ผู้ที่ทรงภูมิสูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ครูอาจารย์ที่เป็นจอมขมังเวทสมัยก่อน ท่านมีความมั่นใจในวัตถุมงคล หรือ สิ่งที่ได้สร้างสูงมาก ถึงขนาดสามารถท้าประลองกันได้ ซึ่งต้องขออธิบายว่า การประลองวิชาของคนโบราณ ถือเป็นเกมส์กีฬาอย่างหนึ่ง ไม่ได้ถือว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นแต่อย่างใด ซึ่งการทดลองวิชาแขนงต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ของคนในยุคโบราณนั้น พอจะแบ่งได้ดังนี้

๑. วิชาคงกระพัน เมื่อฟันแทงด้วยของมีคม ยิงด้วยอาวุธยิงประเภทต่าง ๆ แล้ว ต้องมีผลแค่ผิวหนังเป็นรอยขีดขูด
๒. วิชาแคล้วคลาด เมื่อลองแล้ว จะไม่มีอาวุธใด ๆ เข้ามาต้องผิวกายได้
๓. วิชาชาตรี ( หินเบา ) จะลองด้วยการทุ่มหิน หรือสิ่งของหนัก ไปที่ร่างกายของคนลงวิชา จะรู้สึกเหมือนโดนแมลงบินมาชน ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่ประการใด
๔. วิชาจังงัง ( ทำให้สติหลุดไปชั่วขณะ ) เมื่อลองแล้ว ผู้ที่ได้รับวิชามา จะต้องทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอาการเกร็งโดยฉับพลัน ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ ได้
๕. วิชามหาอุตม์ เมื่อลองแล้ว อาวุธปืนที่ยิงมาจะต้องเกิดอาการขัดลำกล้อง หรือเกิดอาการกระสุนตก ไม่สามารถทำร้ายผู้มีวิชาได้
๖. วิชามหาระงับ เมื่อลองแล้ว สามารถสะกดผู้คนจำนวนมากให้หลับได้
๗. วิชาเมตตา ลองด้วยการนำของวัตถุสิ่งนั้น ป้ายไปยังสัตว์ที่เป็นคู่ศัตรูกัน เช่น หนูกับแมว หมากับแมว เมื่อป้ายแล้ว สัตว์ต้องไม่ทำร้ายกัน หรือถ้าลองกับคน ต้องมีอิทธิคุณสามารถทำให้คนหายโกรธกลับมารักใครได้ บางวิธีก็ให้ผู้เขียนวิชาเสกข้าว แล้วเรียกสัตว์ป่าจำพวกอีกา นกสาลิกา หรือ ไก่ป่ามากิน บางครั้งก็ใช้เสกเรียกยอดตำลึง หรือ ยอดฟักทองมาพันนิ้วก็มี
๘. วิชามหาเสน่ห์ เมื่อลองแล้ว ผู้คนทั้งหลายจะเข้ามานิยมชมชอบ หรือ เป็นที่นิยมของผู้คนอย่างรวดเร็ว หรือเมื่อทำแล้ว ผัวเมียกลับมารักคืนดีกันดั่งเดิม
๙. วิชามหาลาภ หรือ ทางโภคทรัพย์ เมื่อทำแล้ว ย่อมค้าขายหรือ ทำมาหากินได้ผลมากกว่าเก่า หรือ มีเหตุให้เจอทรัพย์ในทันทีทันใด
๑๐. วิชาเกี่ยวกับดวงชะตา ไม่ว่าจะเป็นวิชาหนุนดวง เสริมดวง หรือสะเดาะเคราะห์ เมื่อทำแล้ว จะต้องเหตุผลกับดวงชะตาไม่เกิน ๓ วัน จะต้องมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิต
๑๑. วิชาการกระทำศัตรู เมื่อกระทำแล้ว ศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามจะต้องมีอันเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด
๑๒. วิชาเกี่ยวกับการรักษาโรค เมื่อใช้ทำการรักษาแล้ว โรคจะต้องบรรเทาลง

นอกจากนี้ การทดลองวิชาต่าง ๆ ยังมีขั้นตอนการทดสอบอีกมากมาย ในบางครั้ง เมื่อจอมขมังเวทกระทำสิ่งของตามหลักวิชาเสร็จ ก็จะทดลองให้ลูกศิษย์เห็นกันคาสายตาเลย ซึ่งในปัจจุบันผู้เขียนต้องขอให้ท่านไตร่ตรองในสิ่งที่เห็นมาก ๆ เพราะความขลังและการเล่นกลห่างกันแค่เส้นด้ายกั้นแล้ว มีผู้ที่เป็นจอมขมังเวทยุคใหม่ไม่น้อย ที่ใช้การเล่นกลตบตาผู้ศรัทธา ทำให้เกิดปาฎิหาริย์จริง แต่กลับไม่ปรากฏอิทธิคุณใด ๆ ตามที่ได้ระบุถึงคุณของวิชาเลยก็มี ซึ่งการกระทำวิชาอันใดก็ตามของจอมขมังเวท จะต้องเห็นผลตามอุปเท่ห์ หรือ สรรพคุณของวิชาตามที่ตำราได้ระบุไว้ ถ้าเป็นเมตตา คนที่ใช้หรือตัวจอมขมังเวทเอง ก็ต้องมีคนมาเอ็นดูช่วยเหลือไม่ขาด ถ้าเป็นมหาลาภ ก็ต้องมีเงินทองสมบัติเพิ่มพูน ค้าได้ขายดีมีกำไรมาก ถ้าเป็นในทางคงกระพัน ก็ต้องทำให้หนังเหนียวจริง ไม่ใช่เสกหรือสักเสร็จแล้วเกิดอาการ “ ของขึ้น ” แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริง กลับไม่สามารถคุ้มครองชีวิตได้ ซึ่งในข้อนี้ มีให้เห็นกันมากในสังคมไทยปัจจุบัน

ชีวิตของจอมขมังเวทไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปรารถนาความสะดวกสบายจะเป็นได้เลย นอกจากจะยากลำบากจากข้อห้ามประการต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำรง ชีวิตแล้ว ความเคร่งครัดในการคงวิทยาคมเอาไว้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จอมขมังเวทต้องแบกรับเช่นกัน การเป็นจอมขมังเวทไม่มีคำว่าลาออก ไม่มีคำว่าหยุด จนกว่าจะถึงแก่กาลแตกดับของชีวิต ถ้าหากไม่รัก ไม่ทุ่มเทชีวิต จิตวิญญาณให้กับศาสตร์แขนงนี้จริงแล้ว การเป็นจอมขมังเวทนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ที่สำคัญของการเป็นจอมขมังเวท คือการทำให้อำนาจของคุณวิชาไสยเวท ปรากฏผลเป็นจริง สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งในจุดนี้ต่างหาก ที่เป็นผลชี้วัดการเป็นจอมขมังเวทอย่างแท้จริง ต่อให้คนผู้นั้น จำบทสวด บทคาถาได้มากขนาดไหน แต่ถ้าไม่สามารถทำให้อิทธิคุณของมนตรานั้นปรากฏผลออกมาแล้ว ก็เป็นเพียงแค่นักท่องจำเท่านั้น การเป็นจอมขมังเวทที่สมบูรณ์มีองค์ประกอบหลายข้อ ที่จะสามารถสำแดงอำนาจของไสยวิชาที่เรียนมาให้เห็นผลได้ ที่สำคัญสุดคือความเข้มแข็งในพลังจิตของตน ที่จะต้องสามารถบังคับใจทำให้บังเกิดผลขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่คนไม่เคยฝึกฝนจะทำได้

นอกจากนี้ การเป็นจอมขมังเวท กว่าจะได้รับการยอมรับ หรือ เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมนั้น ไม่ใช่เวลาเพียงแค่สิบ หรือ ยี่สิบปี แต่ต้องใช้เวลานับค่อนครึ่งชีวิตในการยอมรับ ยกเว้นเสียแต่ผู้ที่มีวาสนา มีบุญบารมีมาในด้านวิชาไสยมาโดยตรง ถึงจะเป็นจอมขมังเวทในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งบุคคลประ เภทหลังนี้หาได้ยากมาก เรียกว่าต้องเป็นคนที่มีดวงชะตาเอกอุในด้านไสยวิชาจริง ๆ จึงจะเป็นจอมขมังเวทในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นผู้ทรงเวท เป็นครูไสยศาสตร์แล้ว สิ่งที่ยากสุด คือการบังคับตนมิให้ผิดกฎข้อห้ามในทุก ๆ ด้าน และการบังคับใจตนไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาที่จะพาไปสู่ความเสื่อมของวิชา ในอดีตที่ผ่านมา มีอาจารย์ไสยศาสตร์มากมายที่สำเร็จ และล้มเหลวในการรักษากฎข้อห้าม

ดังนั้นแล้ว การที่จะเรียกใครสักคนว่าเป็นจอมขมังเวท หรือ เป็นผู้ขมังเวทนั้น ต้องใช้การใคร่ครวญพิจารณาอย่างมากในการเชื่อถือ ยิ่งเป็นยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ต้องสังเกตการณ์ หรือ พิจารณาในด้านความแม่นยำของวิชาเป็นหลัก อย่าหลงใหลไปกับวาทะกรรม อย่าหลงไปกับโฆษณาชวนเชื่อ อย่าหลงไปกับสิ่งที่ตาเห็น ถ้าตราบใดยังไม่เห็นอิทธิคุณจากผู้ทรงเวทคนนั้นชนิดชัดแจ้งหลาย ๆ ครั้ง จนทำให้ปฎิเสธไม่ได้แล้ว จงอย่าพึงเชื่อเด็ดขาดว่าคนผู้นั้นเป็นจอมขมังเวทจริง