ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

พระพุทธสิหิงค์
ท่ามกลางความจริง – ความปลอม
คติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช

“พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ครั้งใดนั้น ยังไม่ปรากฏจุดเริ่มต้นที่เป็นข้อสรุป ทั้งนี้ เพราะทางโบราณคดี คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลป์ และอีกหลายวิทยาการให้คำตอบต่างกัน ทว่าชาวนครศรีธรรมราช ก็ยังยืนยันถึงความเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฝ้าคำนึงและระลึกถึงคุณอันประเสริฐในฐานะศูนย์รวมศรัทธาอยู่ตาปีตาชาติ”

แม้จะมีการออกชื่อแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า พระสยิง พระหึง พระสีหิงค์ และพระสิหึง แต่ในความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราช กล่าวกันเป็นความเดียวว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ ถูกอัญเชิญมาจากลังกา ตามป้ายนิทัศน์ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำไว้หน้าหอพระพุทธสิหิงค์ ความว่า “…พระมหากษัตริย์ลังกา โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๗๐๐ และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช…” ในขณะที่ป้ายติดกันของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ไม่กล่าวถึงที่มา โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธลักษณะว่า “…เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร กางกั้นด้วยฉัตรหักทองขวางทำด้วยโลหะปิดทองฉลุลาย…”

การระบุศักราชของการสร้างที่ พ.ศ. ๗๐๐ อาจเป็นมูลเหตุตั้งต้นให้มีการตั้งคำถามถึงความจริง – ความปลอม เพราะนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านกำหนดอายุของงานพุทธศิลป์ชิ้นนี้ไว้ไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประกอบกับหลายพื้นที่ในเมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงท้องถิ่นภาคใต้ มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นสมบัติของตนในลักษณะตำนาน ว่าเป็นองค์จริงแท้ ดั้งเดิม อาทิ พระพุทธสิหิงค์ เมืองตรัง พระพุทธสิหิงค์ วัดอินทคีรี เป็นต้น เหล่านี้ไม่รวมถึงพระพุทธสิหิงค์ของภูมิภาคอื่นซึ่งเป็นที่สักการะโดยทั่วไป ทั้งพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ดังนั้น นอกจากการถามหาความจริง – ความปลอม ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของบทความฉบับนี้แล้ว การวิเคราะห์ให้เห็นมูลเหตุและตั้งข้อสังเกตกับบริบทที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจควบคู่กันไป ซึ่งข้อค้นพบเหล่านั้นอาจคลี่คลายไปสู่องค์ความรู้หรือทฤษฎีทางวัฒนธรรมใหม่ก็ได้

ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้บทความเยิ่นเย้อไร้หลัก จึงกำหนดขอบเขตที่จะกล่าวถึงเอาไว้เฉพาะสิ่งที่เป็นคติและความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงของชาวนอกบ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยง

พระพุทธสิหิงค์ในตำนาน

อย่างไรก็ดี เรื่องที่มาของพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจมากกว่าสิ่งอื่น ซึ่งบริบทของเมืองนครศรีธรรมราชได้สื่อสารที่มาเหล่านั้นด้วย “ตำนาน” ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร

ตำนานกระแสหลักถูกเล่าสืบต่อกันเป็นมุขบาฐ กล่าวกันตามข้อความในป้ายนิทัศน์แรกดังที่ได้ยกมาแล้ว ใจความสำคัญอยู่ที่การสร้างเมื่อพุทธศักราช ๗๐๐ และ เชิญมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะมีเพิ่มเติมก็ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวคือพ่อขุนรามคำแหง ฯ มิได้ไปเชิญด้วยพระองค์เอง แต่ตรัสขอกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้ช่วยเป็นธุระ ความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราชโดยทั่วไปมีแต่เพียงเท่านี้ ทั้งที่มีเอกสารสำคัญประจำเมืองกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจน

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงพิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือเก่ากระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ในหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑) มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์เอาไว้ ความว่า “…แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วันก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่…” ต้นย่อหน้าของข้อความนี้บอกมหาศักราชไว้ว่าตรงกับ ๑๑๙๖ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๑๗ ในขณะที่เมืองนครศรีธรรมราชมีพญาศรีไสณรงค์เป็นเจ้าเมือง

ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “เมื่อมหาศักราชได้ (ต้นฉบับลบ) ปีนั้นพระยาศรีธรรมโศกราชสร้างสถานลหาดซายนั้นเป็นกรงเมืองชื่อเมืองศรีธรรมราชมหานคร ผู้อัครมเหสีชื่อสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมโศกราชแลพญาพงศากษัตริย์แลบาคูตริริด้วยมหาพุทธเพียร ซึ่งจำทำอิฐปูนจะก่อพระมหาธาตุ จึงรู้ข่าวว่าพระสิหิงค์เสด็จออกแต่เมืองลังกาก็ล่องน้ำทะเลมา แลว่ามีผีเสื้อผีพรายเงือกงูชลามพิมทองตามหลังรัศมีพระพุทธสิหิงค์ ๆ ลอยมาเถิงเรียกชื่อเกาะปีนัง แล้วก็คืนมาเห็นเกาะแก้ว…”

ดังจะเห็นว่า
ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่ไปโดยไม่บอกที่มา
ส่วนตำนานเมืองนครศรีธรรมราช บอกที่มาแต่ไม่บอกที่ไป

ทั้ง ๒ ตำนานจึงถูกประติดประต่อสวมกันจนลงรอย แน่นอนว่าตำนานเหล่านี้ย่อมมีต้นเค้า ซึ่งในที่นี้อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากเรื่องพระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ ในพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์

เพื่อให้เห็นภาพกว้างเกี่ยวกับที่มาของพระพุทธสิหิงค์ จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งที่มีการกล่าวถึง ซึ่งก็คือต้นเค้าของชุดความรู้ในการสร้างความทรงจำร่วมกันของชาวนครศรีธรรมราช ดังจะได้ขมวดความต่อไป

ชิณกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยมหาเถรรัตนปัญญา ชาวเมืองเชียงใหม่ เสร็จสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อพุทธศักราช ๒๐๗๑ แรกแต่งนั้นเป็นภาษาบาลี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ราชบัณฑิต ได้แก่ พระวิเชียรปรีชา พระยาพจนพิมล หลวงอุดมจินดา หลวงราชาภิรมย์ และหลวงธรรมาภิมณฑ์ ร่วมกันแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๑ ใช้ชื่อว่า “ชินกาลมาลินี” ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยเรียกชื่อตามฉบับแปลนั้น และใน พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้ให้ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลแล้วเรียบเรียงโดยใช้ชื่อยืนตามต้นฉบับว่า “ชิณกาลมาลีปกรณ์”

ในชั้นแรก เหตุที่ได้ยกพระคัมภีร์ฉบับนี้ขึ้นประกอบ ก็ด้วยมีข้อสังเกตบางประการ อาทิ

๑. ผู้รจนาเป็นชาวเชียงใหม่ ซึ่งในตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงที่ไปขององค์พระพุทธสิหิงค์ว่าประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั่น

๒. การแปลมีขึ้นเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนพระคัมภีร์ถูกแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นมรดกตกทอดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระพรหมมุนีไปเมืองนครศรีธรรมราชถึง ๒ หน หนแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๙ “…ไปรับพระไตรปิฎกเมืองนคร…” ภายหลังจากที่ได้ทรงอัญเชิญไปด้วยแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ กับหนหลังเมื่อปี ๒๓๒๐ ซึ่งโปรด ฯ ให้ “…ค้นพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค…”
รวมความว่า พระคัมภีร์เมืองนครศรีธรรมราช ถูกเชิญขึ้นไปกรุงธนบุรีนั้นทั้งสิ้น ๓ ครั้ง (เฉพาะครั้งสำคัญที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) ก็อาจเป็นไปได้ว่าครั้งใดครั้งหนึ่ง จะติดพระคัมภีร์ชิณกาลมาลีปกรณ์ไปในสำรับเหล่านั้นด้วย ทว่าอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นของความแพร่หลายและการเป็นที่ยอมรับ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับลานนานั้น ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (ครองราชย์ ๑๙๑๒ และ ๑๙๓๑ – ๑๙๓๘) พระองค์เสด็จขึ้นไปทำศึกกับแคว้นลานนาไทยมีชัยชนะ โปรด ฯ ให้อพยพครัวชาวลานนาลงมาไว้เมืองนครศรีธรรมราช ความสัมพันธ์ในขั้นการไปมาหาสู่กันของชาวเมืองในชั้นหลังจึงอาจเริ่มต้นขึ้นแต่นั้น

๓. อย่างไรก็ตาม ชิณกาลมาลีปกรณ์มิได้เกิดขึ้นจากการประพันธ์อย่างสยมภู เพราะอาศัยข้อความจากพระคัมภีร์ต่าง ๆ คือ บาลีอปทานสูตร วิสุทธชนวิลาสีนี พุทธวงศ์ มธุรัตถวิลาสีนีอรรถกถาพุทธวงศ์ จริยาปิฎกอรรถบาลีอังคุตรนิกาย มหาปทานสูตร มหาปรินิพพานสูตร สุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี อรรถกถามหาวรรคทีฑนิกาย ชาตกัฏฐกถา สมันปาสาทิกา มิลินทปัญหา มหาวงศ์ วังสมาลินีปกรณ์ ทีปวงศ์ ชินาลังการและอรรถกถาชินาลังการ ธาตุวงศ์ ทาฐาธาตุวงศ์ ถูปวงศ์ โพธิ์วงศ์ และมหาวัคค์แห่งพระวินัย เหล่านี้มาอาศัยเป็นคู่มือเพื่อเรียบเรียง จึงอาจต้องมีการสอบทวนว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธสิหิงค์ที่มีกล่าวถึงในชิณกาลมาลีปกรณ์นี้ ในพระคัมภีร์ต้นฉบับนั้นมีกล่าวไว้อย่างไร

ทีนี้จะได้กล่าวถึง เรื่องพระพุทธสิหิงค์ที่มีในชิณกาลมาลีปกรณ์ ฉบับแปลและเรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร โดยจะคงรูปลักษณ์ตามการเขียนจากต้นฉบับต่อไป

“ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๗๐๐ ปี พระเถระที่เป็นขีณาสพยังมีอยู่ในลังกาทวีป ๒๐ องค์ ครั้งนั้น พระเจ้าสีหลใคร่จะทอดพระเนตรรูปของพระพุทธ จึงเสด็จไปยังวิหาร ตรัสถามพระสังฆเถระว่า เขาว่าพระพุทธของเราทั้งหลาย เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาลังกาทวีปนี้ถึง ๓ ครั้ง ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือหามิได้ ทันใดนั้น ด้วยอานุภาพของพระขีณาสพ ราชาแห่งนาคได้แปลงรูปมาเป็นคน แล้วเนรมิตตนเป็นรูปพระพุทธ เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของพระเจ้าสีหล พระราชาทรงบูชาพระพุทธรูป ๗ คืน ๗ วัน ครั้งนั้น พระราชาตรัสสั่งให้หาช่างปฏิมากรรมชั้นอาจารย์มาแล้ว โปรดให้เอาขี้ผุ้งปั้นถ่ายแบบพระพุทธ มีอาการดั่งที่นาคราชเนรมิต และให้ทำแม่พิมพ์ถ่ายแบบพระพุทธนั้นด้วยเป็นอย่างดี แล้วให้เททองซึ่งผสมด้วยดีบุก ทองคำ และเงิน อันหลอมละลายคว้างลงในแม่พิมพ์นั้น พระพุทธปฏิมานั้น เมื่อขัดและชักเงาเสร็จแล้วงามเปล่งปลั่งเหมือนองค์พระพุทธยังทรงพระชนม์อยู่

ฝ่ายพระเจ้าสีหล ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการบูชาและด้วยความนับถือเป็นอันมาก โดยเคารพ แม้พระราชบุตร พระราชนัดดา พระราชปนัดดา ของพระองค์ ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมาสืบ ๆ กันมา ต่อจากนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธปรินิพพานได้ ๑๘๐๐ ปี จุลศักราช ๖๑๘ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โรจราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองสุโขทัยประเทศสยาม ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชมพูทวีป

ได้ยินว่า ที่ตำบลบ้านโค ยังมีชายคนหนึ่งรูปงาม มีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่จะร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของเขาทั้งสองนั้น จึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่า พระเจ้าล่วง ได้ยินว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าโรจใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร แวดล้อมด้วยทหารหลายหมื่น เสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนกระทั่งถึงสิริธรรมนคร ได้ยินว่า พระเจ้าสิริธรรม ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น พระองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าโรจเสด็จมา จึงเสด็จออกไปต้อนรับ ทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว ตรัสเล่าให้พระเจ้าโรจฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ได้ทรงสดับมา พระเจ้าโรจทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามว่า เราจะไปที่นั่นได้ไหม พระเจ้าศิริธรรมตรัสตอบว่า ไปไม่ได้ เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อสุมนเทวราช ๑ รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมากรักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นดั่งนั้น สองกษัตริย์จึงส่งทูตไป ครั้นแล้ว พระเจ้าโรจก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย

ราชทูตไปถึงลังกาทวีปแล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดนั้นแก่พระเจ้าสีหล พระเจ้าสีหลทรงทราบเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา ๗ คืน ๗ วัน แล้วพระราชทานให้แก่ราชทูต ราชทูตอัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือแล้วกลับมา แต่เรือนั้นแล่นด้วยกำลังพายุ พัดกระทบกับหินในท้องทะเลเข้าก็แต่ไป ส่วนพระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่บนกระดานแผ่นหนึ่ง กระดานแผ่นนั้นลอยไปได้ ๓ วัน ถึงสถานที่แห่งหนึ่งใกล้สิริธรรมนครด้วยอานุภาพนาคราช ครั้งนั้นเทวดามาเข้าฝันพระเจ้าสิริธรรมในเวลากลางคืนให้เห็นพระสีหลปฏิมาเสด็จมาอย่างชัดเจน รุ่งเช้าจึงส่งเรือหลายลำไปในทิศต่าง ๆ แม้พระองค์เองก็ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จไปทรงค้นหาพระสีหลปฏิมา ด้วยการอธิษฐานของพระอินทร์ พระเจ้าสิริธรรมทรงพบพระสีหลปฏิมาประดิษฐานบนกระดานนั้นเข้าแล้วทรงนำมาสักการบูชา ครั้งแล้ว พระเจ้าสิริธรรมจึงส่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโรจ แจ้งว่าได้พระพุทธปฏิมาแล้ว พระเจ้าโรจจึงเสด็จไปสิริธรรมนคร แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมา มาเมืองสุโขทัย ทรงสักการบูชา แล้วโปรดให้สร้างพระปรางค์ขึ้นองค์หนึ่ง ในเมืองสัชชนาลัย ล้วนแล้วด้วยศิลาแลงและอิฐ โบกปูนขาวหุ้มแผ่นทองแดงแน่นหนา ปิดทอง ไม่ใช่แลเห็นเป็นหิน งามดั่งรูปทิพยพิมาน

ครั้นสร้างเสร็จแล้ว โปรดให้ฉลองมหาวิหารเป็นการใหญ่พร้อมกับมหาชนที่มาประชุมกันจากนครต่าง ๆ มีสัชชนาลัย, กำแพงเพชร, สุโขทัย และชัยนาท เป็นต้น และพระเจ้าโรจทรงสะสมบุญเป็นอเนกแล้วสวรรคต

เมื่อพระเจ้าโรจล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าราม พระราชโอรสของพระเจ้าโรจครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย พระเจ้ารามนั้นทรงบูชาพระสีหลปฏิมาเช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้ารามล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าปาล ได้รับราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงบูชาพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าปาลล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าอุทกโชตถตะ พระโอรสของพระเจ้าปาลได้ราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว ทรงสักการะพระสีหลปฏิมา เมื่อพระเจ้าอุทกโชตถตะล่วงลับไปแล้ว พระเจ้าลีไทย ทรงครอบครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น และพระเจ้าลีไทยนั้น มีชื่อเสียงปรากฏว่า พระเจ้าธรรมราชา ทรงศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะคือ ไตรปิฎก เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง เมืองชัยนาทเกิดทุกภิกขภัย พระเจ้ารามาธิบดี กษัตริย์อโยชชปุระ เสด็จมาจากแคว้นกัมโพช ทรงยึดเมืองชัยนาทนั้นได้โดยทำทีเป็นว่าเอาข้าวมาขาย ครั้นยึดได้แล้ว ทรงตั้งมหาอำมาตย์ของพระองค์ชื่อว่าวัตติเดช ซึ่งครองเมืองสุวรรณภูมิ ให้มาครองเมืองชัยนาท ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปอโยชชปุระ ต่อแต่นั้นมาพระเจ้าธรรมราชก็ส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้ารามาธิบดีทูลขอเมืองชัยนาทนั้นคืน ฝ่ายพระเจ้ารามาธิบดีก็ทรงประทานคืนแก่พระเจ้าธรรมราชา วัตติเดชอำมาตย์ก็กลับไปเมืองสุวรรณภูมิอีก พระเจ้าธรรมราชา ครั้งได้เมืองชัยนาทคืนแล้ว ทรงตั้งพระมหาเทวีผู้เป็นกนิษฐา ของพระองค์ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย ทรงตั้งอำมาตย์ชื่อติปัญญา ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองกำแพงเพชร ส่วนพระองค์เชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่เมืองชัยนาท เมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชชปุระสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยุดแคว้นกัมโพชได้ ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาทสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากอโยชชปุระยึดเมืองชัยนาทแล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่อโยชชปุระ และมหาอำมาตย์ชื่อพรหมไชยก็ยึดเมืองสุโขทัยได้

อนึ่ง ติปัญญาอำมาตย์ ครองสมบัติอยู่ในเมืองกำแพงเพชร ท่านได้ส่งมารดาของท่านถวายแก่พระเจ้าอโยชชปุระ และมารดาของท่านนั้น ได้เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าอโยชชปุระ ครั้งหนึ่ง นางได้ทูลด้วยถ้อยคำเป็นที่รัก ทำทีเป็นทูลขอพระพุทธรูปทองแดงธรรมดา แล้วอัญเชิญเอาพระสีหลปฏิมาส่งมาเมืองกำแพงเพชรโดยเรือเร็ว ฝ่ายติปัญญาอำมาตย์ดีใจยิ่งนัก บูชาพระสีหลปฏิมาด้วยเครื่องสักการะอันวิเศษเป็นอันมากด้วยความเคารพ

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ามหาพรหมผู้เป็นใหญ่ในเชียงราย ทรงทราบความอัศจรรย์ของพระพุทธรูปสีหลจากสำนักพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมาจากแคว้นใต้ ทั้งได้ทอดพระเนตรเห็นรูปขี้ผึ้งซึ่งพระภิกษุนั้นปั้นไว้มีลักษณะเหมือนพระสีหลปฏิมา ทรงดีพระทัย แต่แล้วก็กลับเสียพระทัย ใคร่จะทอดพระเนตรพระสีหลปฏิมาองค์จริง จึงตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาเมืองเชียงใหม่ ทูลขอพลนิกายจากพระเจ้ากือนา พระเชษฐา แล้วพาทหาร ๘๐,๐๐๐ เสด็จไปโดยลำดับบรรลุถึงสถานที่ใกล้เมืองกำแพงเพชร ตรัสสั่งให้พักกองทัพแล้วส่งทูตเข้าไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญาลำดับนั้น ฝ่ายพระเจ้าติปัญญาก็ส่งราชสาส์นไปสำนักพระเจ้าอโยชชปุระ พระเจ้าวัตติเดชรีบตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาแค่ปากน้ำโพ พระเจ้ามหาพรหมได้ส่งอำมาตย์ทูตกับพระมหาสุคนธเถระไปพร้อมด้วยเครื่องบรรดาการ อำมาตย์ทูตและพระมหาสุคนธเถระทั้งสองนั้นเข้าไปถึงนครแล้ว ได้กระทำปฏิสันถารด้วยถ้อยคำสุภาพไพเราะ พระมหาสุคนธเถระในเรือท่ามกลางกษัตริย์ทั้งสองเพื่อเป็นพยาน กษัตริย์ทั้งสองประทับอยู่ในเรือ ๒ ข้าง พระมหาสุคนธเถระได้กล่าวคำดังต่อไปนี้ เพื่อให้กษัตริย์ทั้งสองมีความสามัคคีต่อกัน

กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ทรงสดับฟังคำของมหาเถระสุคนธนั้นความว่า “มหาบพิตรทั้งสองทรงมีบุญมาก มีปัญญามาก มีกำลังรี้พลมาก ทรงตั้งอยู่ในความสัตย์แน่วแน่อยู่ในความสัตย์ ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั้งหลาย ขอมหาบพิตรทั้งสองพระองค์จงสามัคคี อย่าทรงพิโรธแก่กันเลย นี่ก็เมืองกำแพงเพชร โน่นก็นครเชียงใหม่ ขอให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าแบ่งแยกกันเลย ขอให้นครทั้งสองนั้นจงมัดไว้ด้วยเชือก คือพระราชไมตรีเถิด” แล้วต่างก็นอบน้อมรับไว้เป็นอันดี พระเจ้าติปัญญาได้ประทานเครื่องบรรณาการมีพญาช้างอันเป็นของกำนัลเป็นต้นแก่อุปราชของพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมก็ประทานม้าเป็นต้นกับเครื่องราชาภิเษกแก่พระเจ้าติปัญญา พระเจ้ามหาพรหมครั้งประทานเสร็จแล้ว จึงทูลขอพระสีหลปฏิมาต่อพระเจ้าติปัญญา พระเจ้าติปัญญาก็ประทานพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมตามพระประสงค์

ฝ่ายพระเจ้าวัตติเดชส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้าติปัญญา ให้ทูลถามว่า ขณะนั้น พระเจ้ามหาพรหมถอยกลับไปแล้วหรือยัง เรายกขึ้นมาจักรบกับพระเจ้ามหาพรหม พระเจ้าติปัญญาทรงทราบความนั้นแล้ว จึงบอกพระมหาเถระสุคนธว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า กษัตริย์ทั้งสองนี้กล้าหาญ มีกำลังรี้พลมาก ไม่มีใครที่จะสามารถห้ามได้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดให้พระเจ้ามหาพรหมถอยไปให้ไกล ให้ไปตั้งอยู่ที่เมืองตาก พระมหาเถระจึงส่งทูตไปทูลเนื้อความนั้นแก่พระเจ้ามหาพรหม พระเจ้ามหาพรหมได้ทรงฟังคำทูลนั้น จึงตรัสว่า พระเจ้าวัตติเดชขืนตามเรามา เราจะสู้รบกับพระองค์ แล้วก็ถอยไปจากเมืองกำแพงเพชร ตระเตรียมการรบอยู่ที่เมืองตาก พระเจ้าติปัญญาได้กราบทูลการถอยของพระเจ้ามหาพรหมให้พระเจ้าวัตติเดชทรงทราบ และพระเจ้าติปัญญาได้

อนุญาตพระสีหลปฏิมาแก่พระเจ้ามหาพรหมด้วยวาจาละมุนละม่อมของพระมหาสุคนธเถระ พระมหาเถระนั้นได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาลงเรือมาทางเหนือถึงเมืองตาก ฝ่ายพระเจ้ามหาพรหมดีพระทัยดั่งว่าสรงน้ำอมฤต ทรงอัญเชิญพระสีหลปฏิมาด้วยวอทองมาถึงเมืองเชียงใหม่โดยลำดับ ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาในวิหารหลวงภายในนคร

ครั้งนั้น กษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์ ทรงปรารภจะสร้างซุ้มจรนำขึ้นใหม่ให้เป็นที่ประดิษฐานพระสีหลปฏิมาที่มุขด้านทิศใต้เจดีย์หลวง ในวิหารหลวงนั้น แต่เมื่อซุ้มจระนำทำไม่เสร็จ พระเจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปเมืองเชียงรายโดยพระประสงค์จะเอาไปทำแบบสร้างอีกองค์หนึ่งด้วยทองสัมฤทธิ์ให้เหมือนองค์นั้น แล้วเลยอัญเชิญพระสีหลปฏิมานั้นไปถึงนครเชียงแสน ทรงกระทำอภิเษกพระปฏิมาองค์นั้นที่เกาะดอนแท่น ด้วยสักการะเป็นอันมากแล้วอัญเชิญมาเมืองเชียงรายอีก ประดิษฐานในวิหารหลวงที่ไว้พระพุทธรูป แล้วเอาทองเหลือง ดีบุก ทองคำ เงิน ผสมกันหล่อพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง มีขนาดและรูปร่างเท่าและเหมือนพระสีหลปฏิมาแล้วทรงทำการฉลองพระพุทธรูปเป็นการใหญ่”

ความในชิณกาลมาลีปกรณ์จบแต่เพียงเท่านี้ ท้ายย่อหน้าล่าสุดคือปลายทางของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งระบุว่า ในท้ายที่สุดแล้ว องค์ที่กล่าวถึงมาแต่ต้นพระคัมภีร์นั้นประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวง เมืองเชียงราย ก่อนที่จะจำลองขึ้นไว้อีกองค์หนึ่ง ส่วนจะส่งกลับไปเมืองเชียงใหม่หรือไม่ หรืออัญเชิญไปสถิต ณ ที่ใดต่อนั้น ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ไม่ได้ขยายความ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ข้อมูลจากสารนครศรีธรรมราช
ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๑๐ เดือนตุลาคม ๒๕๖๒