ที่มา : https://www.silpa-mag.com…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖

รายละเอียด

ละครชาตรีโบราณเริ่มมีแพร่หลายในเมืองนครศรีธรรมราชมาช้านานเท่าใดนั้นยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทว่าในยุคหนึ่ง นาฏกรรมอีกประเภท คือ โขนละคร ได้เข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชอย่างชัดเจน โดยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยกรุงธนบุรี และสืบทอดกันต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ปลายปีพุทธศักราช ๒๓๐๙ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะรักษาความมั่นคงในเอกราชเอาไว้ได้ บรรดาผู้คนต่างทยอยกันอพยพออกจากเมืองหลวง โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นบ้านเกิดบ้าง เมืองที่มีญาติพี่น้องอาศัยหรือรับราชการอยู่บ้าง หรือไม่ก็หัวเมืองใหญ่ที่ยังสามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้บ้าง ซึ่งเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น สถานภาพทางการเมืองมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยา โดยได้แต่งตั้งให้ พระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าเมือง และหลวงสิทธินายเวร (หนู) เป็นพระปลัดเมือง แต่ด้วยว่าพระยาราชสุภาวดีต้องอาญาทัพ จึงมีพระบรมราชโองการให้คืนกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา

ดังนั้นในช่วงนี้ เมืองนครศรีธรรมราชจึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระปลัด (หนู) โดยตำแหน่ง ซึ่งในช่วงที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระส่ายนี้ พระปลัด (หนู) ทำหน้าที่รักษาเมืองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้อพยพตามเหตุผลที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น ในทำนองว่า “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” จำนวนมาก อาทิ พระอาจารย์สี และบรรดาสานุศิษย์วัดพะแนงเชิง (ภายหลังเป็นสมเด็จพระอริยวงศญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี และสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) นางจัน อุษา นางละครในแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยาพร้อมคณะละครผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งด้วย เป็นต้น

อ่านต่อได้ที่ https://www.silpa-mag.com/history/article_12725