ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

โนรา การแสดงที่แพร่หลายในภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ได้เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันในหมู่ชาวใต้อย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันโนรา เป็นการแสดงที่ผู้คนให้ความสนใจ มีศิลปินโนรารุ่นใหม่สืบทอดการแสดงโนรามากมาย และสิ่งหนึ่งที่ผู้คนสนใจกัน นั่นย่อมหนีไม่พ้น การประกอบพิธีโนราโรงครู ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดในสายโนรา โดยสามารถจำแนกความแตกต่างของธรรมเนียมโนราโรงครูในแต่ละจังหวัดได้ ดังนี้

๑. จังหวัดชุมพร
จังหวัดชุมพร ดินแดนตอนบนสุดของภาคใต้ มีเขตแดนทางตอนบนติดกับ จ.ประจวบ คีรีขันธ์ ถือเป็นประตูสู่ภาคใต้ ชุมพร ถือเป็นจังหวัดที่มีคณะโนราสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยธรรมเนียมโนราโรงครูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ โนราโรงครูในพื้นที่ชุมพร จะประกอบพิธีเพียงแค่คืนเดียว เริ่มพิธีกรรมตั้งแต่ยามนกชุมรัง และเลิกพิธีกรรมก่อนที่ฟ้าจะสว่าง ธรรมเนียมการทำพิธีโนราโรงครูก็จะคัดแต่ขั้นตอนสำคัญ เพื่อให้ทันกับเวลา ได้แก่ การทำพิธีเหยียบโรง การกาศครู – ชุมนุมครู การกราบครูหมอ การรำแสดงสัก ๒ – ๓ ฉาก ก่อนที่จะมีการเชื้อครูหมอในเวลาดึก ( ราว ๕ ทุ่ม เป็นต้นไป ) ก่อนที่จะเสร็จพิธี ส่งครูหมอและเทวดากลับในช่วงก่อนฟ้าสว่าง จึงเสร็จพิธี ธรรมเนียมการทำโนราโรงครูในรูปแบบของ จ.ชุมพร ยังปรากฏในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.ระนอง และพื้นที่แถบ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกด้วย ซึ่งทั้งสองจังหวัดนั้น เป็นพื้นที่ ที่มีคณะโนราจากชุมพร แวะเวียนไปมาหาสู่กันอย่างยาวนาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด ที่ความเชื่อของทั้งสามจังหวัดจะใกล้เคียง และไปในแนวทางเดียวกัน การประกอบพิธีโนราโรงครูของ จ.ชุมพร จะเน้นที่คืนวันพฤหัสบดี เป็นหลัก แต่ก็สามารถใช้คืนวันเสาร์ และ คืนวันอังคารได้เช่นกัน หากจำเป็นจริง ๆ

๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช หากพูดถึงในด้านธรรมเนียมการประกอบพิธีโรงครูโนราแล้ว นครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ ที่มีการประกอบพิธีโนราโรงครูหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งเป็นหลัก ๆ คือ พื้นที่ อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.พรหมคีรี อ.นบพิตำ อ.พิปูน อ.ถ้ำพรรณรา อ.ทุ่งใหญ่ อ.ฉวาง ในโซนนี้ จะประกอบพิธีโนราโรงครูเหมือนกับแถบจังหวัดชุมพร ( เรียกลำลองว่า โนราโรงครูฝ่ายบน ) ที่จะประกอบพิธีเพียงคืนเดียว พื้นที่ อ.ทุ่งสง อ.นาบอน อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ชะอวด อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ปากพนัง ในโซนนี้ จะประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูตามแบบธรรมเนียมมาตรฐาน ๓ วัน ๒ คืน ธรรมเนียมการตัดจุก ผูกผ้าราชครูโนรา ของพื้นที่ นครศรีธรรมราช ผู้เป็นพ่อ สามารถผูกผ้าตัดจุกให้ลูกชายได้ ไม่มีข้อกำหนดผูกมัดใด ๆ จึงทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราช ค่อนข้างที่จะมีโนราเยอะ และกระจายตัวไปยังจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมาก

๓. จังหวัดตรัง
จังหวัดตรัง หนึ่งในดินแดนที่มีการสืบทอดโนราด้านพิธีกรรมอย่างเข้มข้น มีชื่อเรียกลำลองกันว่า โนราฝั่งเลตก ถึงแม้มีธรรมเนียมการประกอบพิธีกรรม ๓ วัน ๒ คืน เช่นเดียวกันกับ จ.พัทลุง และ จ.สงขลา แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่เป็นของตน เช่น ราชครูโนรา หรือ โนราใหญ่ที่เป็นพ่อ จะไม่ตัดจุกให้กับคนที่เป็นลูกชาย ครูหมอที่ประทับทรง
จะลอดขื่อโรง การใช้บทพระรถเสน และ บทพระรามเข้าอาศรม ร่วมกับบทตั้งบ้านตั้งเมือง การทำซุ้ม หรือ ทับนายพรานไว้สำหรับให้นายพรานได้ประกอบพิธีเบิกป่าก่อนที่จะคล้องหงส์ การคล้องหงส์เอง ก็มีความนิยมที่จะคล้องนอกโรงมากกว่าการคล้องในโรง แม้แต่การเชื้อครูหมอ ก็จะเชื้อครูหมอกันกลางวัน ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมโนราโรงครูที่อื่น ๆ ที่นิยมเชื้อครูหมอกันในตอนกลางคืน ในส่วนของเวลากลางคืน โรงครูโนราฝ่ายตรัง จะนิยมแสดงละคร หรือ เล่นนิยายให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมและเจ้าภาพ นอกจากนี้ ราชครูโนรา หรือ โนราใหญ่ ที่ประกอบพิธีโนราโรงครู จะต้องมีความแม่นยำในพิธีกรรมและเชี่ยวชาญด้านคาถาอาคม จึงจะได้รับการยอมรับในการประกอบพิธี

๔. จังหวัดพัทลุง
เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดพัทลุง คือ ต้นกำเนิดโนรา การประกอบพิธีกรรมจึงถูกยกย่องว่าเป็นต้นฉบับของโนราโรงครูในหลายพื้นที่ เช่น จ.ตรัง จ.สงขลา และบางส่วนใน จ.นครศรีธรรมราช เอกลักษณ์ของโนราโรงครูในจังหวัดพัทลุง จะนิยมประกอบพิธีกรรมกัน ๓ วัน ๒ คืน เป็นหลัก โดยประกอบพิธีกันในวันพุธ – วันศุกร์ และหากวันช่วงสามวัน เกิดมีวันพระอยู่ด้วย จะเลื่อนการสิ้นสุดโนราโรงครูเป็นวันเสาร์แทน ธรรมเนียมที่สำคัญของโนราโรงครูของพัทลุงนั้น คืนวันพุธ จะมีการตั้งบ้านตั้งเมือง เชิญครูหมอเข้าโรงครู วันพฤหัสบดี ช่วงเช้าถวายข้าวของแก่ครูหมอ ช่วงบ่ายราชครูโนราแต่งพอกเพื่อเล่น ๑๒ กำพรัด ๑๒ บทละคร ช่วงเย็นถอดพอกให้พรเจ้าภาพ ช่วงดึกจึงจะเชื้อครูหมอมาให้พรเจ้าภาพ วันศุกร์ จะถวายข้าวของแก่ครูหมอมื้อสุดท้าย ช่วงเที่ยงราชครูโนราเล่นบทคล้องหงส์ และช่วงเย็น เล่นบทแทงจระเข้ เสร็จแล้วจึงทำการชาครูหมอ หรือการให้เงินทองเพื่อบูชาครูหมอส่งท้าย เสร็จแล้ว ราชครูโนราจึงส่งครู ส่งเทวดา เบิกแผงจากสามตับที่พาไล และตัดเหมรฺย ( สินบน ) จึงเสร็จพิธี

๕. จังหวัดสงขลา
การประกอบพิธีโนราโรงครูในจังหวัดสงขลา ถึงแม้จะมีรูปแบบและขนบธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกับจังหวัดพัทลุง แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากจังหวัดพัทลุงในส่วนของโรง เสาสวมเทริดของสงขลาจะใช้เพียงแค่ ๓ เสา ซึ่งแตกต่างจากจังหวัดพัทลุงที่ใช้ถึง ๙ เสา ที่เสาด้านหน้าโรง โนราโรงครูของสงขลา จะใช้ต้นพับแพวขนาดสูงแทนที่ต้นบายศรีของโนราโรงครูในธรรมเนียมพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช และหากเจ้าภาพบ้านไหนที่มีเชื้อสายแขก โนราโรงครูโรงนั้นจะมีการปลูกพาไลทางตะวันตกเพิ่มเติม เพื่อเชิญบรรพบุรุษเชื้อสายแขกขึ้นประทับ ในส่วนของพิธีกรรมโนราโรงครูแบบสงขลา จะมีการตั้งบ้านตั้งเมืองในวันพฤหัสบดี ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมของตรัง และ พัทลุง ที่นิยมตั้งกันวันพุธ โดยบทตั้งบ้านตั้งเมืองของทางสงขลาจะไม่ยาวนัก เพื่อให้ทันต่อการแสดง ๑๒ กำพรัด ๑๒ บทละคร ส่วนพิธีคล้องหงส์ แทงเข้ ก็จะมีเหมือนกันกับธรรมเนียมของทางพัทลุง แต่ในส่วนของการเชื้อครูหมอของทางสงขลานั้น จะนิยมเชื้อทั้งครูหมอและตายาย จึงทำให้ในบางพื้นที่ ใช้ช่วงเวลาในการพบปะลูกหลานจะนานขึ้น โดยเริ่มพิธีเชื้อครูหมอประทับทรงตั้งแต่หัวค่ำ ไปเสร็จพิธีเอาตอนใกล้สว่างของวันศุกร์ ในส่วนของวันที่ประกอบพิธีโนราโรงครู ก็จะนิยมเข้าวันพุธ – ออกวันศุกร์ แต่ก็มีคณะโนราในบางพื้นที่ เช่นแถบ อ.จะนะ อ.เทพา จะนิยมเข้าโรงครูกันวันอังคาร เสร็จสิ้นพิธีวันพฤหัสบดี และขนบโนราโรงครูในแถบพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี ยังมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับพิธีกรรมกับโนราโรงครูในแถบ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้ดอกมะพร้าว ดอกหมากประดับที่เสาโรง ใช้บายศรีขนาดเล็กตั้งเสาหน้าโรง แทนที่ต้นพับแพวที่นิยมกันทางตอนบนของจังหวัดสงขลา

๖. จังหวัดปัตตานี
จังหวัดปัตตานี ถือเป็นอีกจังหวัดที่มีคณะโนราแพร่ไปอยู่หลายคณะ ถึงแม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงเท่ากับคณะในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็ดำรงอัตลักษณ์ความเป็นโนราสืบมาได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคณะโนราส่วนใหญ่ จะเป็นโนราพิธีกรรม โนราในจังหวัดปัตตานี โนราใน จ.ยะลา และ โนรา จ.นราธิวาส สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ โนราไทย หรือ โนราตามขนบมาตรฐาน และ โนราแขก หรือ โนราควน โนราทั้งสองประเภท มีความแตกต่างกันในการแสดง รวมไปถึงพิธีกรรม โนราไทยหรือโนราดั่งเดิมในปัตตานี จะใช้ภาษาไทยทั้งหมดในการแสดง ส่วนโนราแขก จะใช้ภาษามลายู ผสมผสานกับภาษาไทยในการแสดง รวมถึงใช้เครื่องดนตรีตามแบบมลายูเข้ามาประกอบในการแสดงร่วมทั้งในภาคความบันเทิง และภาคพิธีกรรม โนราโรงครูตามธรรมเนียมของจังหวัดปัตตานี จะมีลักษณะคล้ายกับจังหวัดสงขลา แต่ในปัจจุบันวัสดุใช้ทำโรงครูโนรา จะใช้โครงเหล็กและผ้าเต็นท์คลุมหลังคาตามแบบสมัยใหม่ ทดแทนการใช้เสาไม้และหลังคาจากแบบดั่งเดิม รวมถึงเสาโรงโนราด้านหน้า โนราโรงครูปัตตานีจะนิยมใช้บายศรีขนาดไม่สูงนักตั้งเป็นหลัก ที่ด้านบนของเสาผูกดอกมะพร้าว และดอกหมาก ที่ด้านบนพาไล นิยมแขวนตะเกียงชวาลา ในส่วนของการเข้าทรง โนราโรงครูปัตตานี จะนิยมใช้ร่างทรงหลาย ๆ คนในการประทับทรง และนิยมเชิญครูหมอและตายายเข้าประทับทรงหลาย ๆ ตน เช่นเดียวกันกับธรรมเนียมของสงขลา ในส่วนของการส่งครู หรือ เลิกโรงนั้น โนราโรงครูปัตตานี จะนิยมเลิกโรงครูตอนใกล้สว่าง ซึ่งต่างจากโรงครูในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่นิยมส่งครูก่อนค่ำ

ธรรมเนียมโนราโรงครูที่ได้อธิบายมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของธรรมเนียมในแต่ละพื้นที่อย่างคร่าว ๆ หากจะเจาะลึกรายละเอียดในแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจนแล้ว จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย และความหลากหลายในพิธีกรรมโนราโรงครู เป็นตัวบ่งชี้ถึงการลื่นไหลของโนรา ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ความเชื่อ คตินิยมในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์