ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ถ้ำคูหา เทวาลัยพราหมณ์เมืองสทิงพระในอดีต
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ถ้ำคูหา ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๕ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา (ห่างจากวัดพะโคะประมาณ ๓๐๐ เมตร) เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ โดยเป็นเพียงถ้ำเดียวในยุคโบราณ ของประเทศไทยที่ใช้การขุด ตัวถ้ำคูหาอยู่ทางด้านตะวันออกของภูเขา มีการสร้างโดยใช้การขุดถ้ำโดยฝีมือมนุษย์อย่างชัดเจน สันนิษฐานว่ามีอายุการสร้างที่ร่วมสมัยกับถ้ำเอลโรล่า และ ถ้ำอชันตา เทวาลัยถ้ำคูหา เป็น ศาสนสถานในไศวนิกาย โดยปรากฏหลักฐานสำคัญเป็นศิวลึงค์และฐานโยนี อีกทั้งยังปรากฏเทวรูปของพระอคัสตยะ คุรุคนสำคัญของไศวนิกายที่บริเวณพังพระ ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งถ้ำคูหา มีส่วนของศาสนสถานดังต่อนี้

๑. ลานด้านหน้าถ้ำ เป็นลานกว้างสำหรับใช้ในการประกอบพิธี มีโบราณวัตถุอยู่บนลาน ได้แก่ฐานโยนิโทรณะที่แกะสลักจากหิน ซึ่งแต่เดิมได้มีศิวลึงค์ประดิษฐานร่วมอยู่ด้วย ต่อมา ได้มีการนำศิวลึงค์ไปรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

๒. ถ้ำที่ ๑ เป็นถ้ำที่อยู่ตรงด้านหน้าของลาน ภายในเป็นรูปโค้งสูงประมาณ ๒.๕ เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ลึกประมาณ ๔.๕ เมตร ภายในถ้ำสกัดหินจนเรียบ ด้านในสุด แกะสลักเป็นซุ้มครึ่งวงกลมใช้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ อยู่สูงขึ้นจากพื้นถ้ำประมาณ ๑.๕ เมตร ทางด้านขวามือ มีการเจาะพื้นถ้ำสำหรับใช้ในการสรงน้ำ และมีการสกัดผนังถ้ำสำหรับเป็นรางระบายน้ำ สันนิษฐานว่าในอดีต คงมีการใช้รางน้ำเหล่านี้ สำหรับสรงสนานเทวรูปที่เกี่ยวเนื่องในไศวนิกายมาก่อน

๓. ถ้ำที่ ๒ เป็นถ้ำที่อยู่ห่างจากถ้ำที่ ๑ ราว ๑๐ เมตร รูปทรงของถ้ำเป็นลักษณะทรงโค้ง ภายในมีการเจาะหินยกระดับสูงจากพื้นราว ๖๐ ซม. ที่ผนังถ้ำด้านในสุด เขียนอักษร “ โอม ” สีแดง ภายในกรอบสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่า ในถ้ำที่สอง คงไม่ได้เน้นพื้นที่สำหรับพิธีกรรมอย่างเช่นถ้ำแรก จึงไม่ได้มีการเจาะรางน้ำ ในอดีตอาจเป็นถ้ำสำหรับผู้บำเพ็ญพรต หรือใช้สำหรับสั่งสอนอบรมทางศาสนา

สำหรับการสำรวจถ้ำคูหา ทรงกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้มีการพบส่วนภาชนะมุงหลังคา พบชิ้นส่วนกระเบื้องดินเผา พบชิ้นส่วนเทวรูปพระวิษณุ และชิ้นส่วนศิวลึงค์

หากท่านสนใจที่จะเข้าไปเยี่ยมชมถ้ำคูหา ถ้ำขุดยุคโบราณถ้ำเดียวในประ เทศไทย ท่านสามารถเดินทางมาตามเส้นทาง ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๘ สายระโนด – สงขลา เลี้ยวขวาที่สี่แยกชุมพล เข้ามาทางเดียวกับวัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพะโคะประมาณ ๓๐๐ เมตร จะมีป้ายบอกทางระบุไว้ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวัน