ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

วัดพะโค หรือ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อเอ่ยถึง ทุกคนย่อมต้องนึกถึงหลวงปู่ทวด หรือ สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ เป็นอันดับแรก ในฐานะวัดที่หลวงปู่ทวดได้พำนักหลังจากที่กลับมาจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว และเป็นหนึ่งในวัดที่ผูกพันกับหลวงปู่ทวด

แต่มีคนนอกพื้นที่ไม่มากนักที่จะทราบว่าวัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐาน เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อแทนตัวบรรพสตรีท่านหนึ่ง ชาวบ้านตั้งชื่อพระพุทธรูปตามบรรพสตรีท่านนั้นว่า “ แม่ทวดยายหมฺลี ” หรือ ทวดยายหมี หรือ ทวดยายสำลี แล้วแต่จะเรียกกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ศิลปะยุคปลายอยุธยา – ยุครัตนโกสินทร์ องค์พระมีความสูงราว ๑๕๐ เซนติเมตร ปัจจุบันองค์พระแม่ทวดยายหมฺลี หรือ แม่ทวดสำลี อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากผ่านกาลเวลามานับร้อยปี ซึ่งตรงกันข้ามกับความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อแม่ทวดเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากผ้าหลากสีสันสดใส ที่ห่มคลุมรัดกายสมมติของแม่ทวดจนไม่อาจเห็นรูปลักษณ์ขององค์ด้านใน

สำหรับประวัติแม่ทวดยายหมฺลี หรือ ทวดยายสำลี ตามมุขปาฐะของชาวบ้าน ได้มีลักษณะความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับพระเจ้าแม่อยู่หัว ที่วัดท่าคุระ โดยมีประวัติว่า แม่ทวดเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่ง ที่มักจะเดินทางมายังชุมชนเขาพะโคะ หรือ เขาพิพัธสิงห์ ได้สอนให้ชาวบ้านปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า จนชาวบ้านรอบเขาพะโคะสำนึกในบุญคุณ จึงนับถือในฐานะครูสอนทอผ้าและมีความเชื่อที่ตรงกัน ว่าทวดยายหมฺลี หรือ ทวดยายสำหมฺลีเป็นคนเดียวกับ พระนางนวลทองสำลี หนึ่งในครูต้นโนรา โดยมีเรื่องราวที่เป็นภาคขยายตำนานออกมา หลังจากที่พระนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศออกจากเมืองแล้ว พระนางได้มาพำนักที่เกาะสีชัง ( ปัจจุบันคือ พื้นที่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ชื่อเกาะมีที่มาจากแหลมชัน ที่สังเกตได้ชัดจากทิศตะวันตก ) โดยได้รับการอุปการะจากชาวบ้านในแถบพื้นที่บ้านท่าคุระ ( ชาวบ้านในแถบท่าคุระ เชื่อกันว่า คือ ตายายพราหมณ์จันทร์ ในตำนานเจ้าแม่อยู่หัว-เป็นผู้ดูแล ) พระนางนวลทองสำลี มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน จึงทำให้พระนางสามารถเดินทางในพื้นที่ทางตะวันตกของเมืองสทิงพระอย่างอิสระ ตำนานได้กล่าวว่า พระนางนวลทองสำลี ได้สอนการทอผ้าให้กับชาวบ้าน ต่อมาเมื่อมีเหตุที่ต้องกลับเมือง พระนางนวลทองสำลีได้เดินทางมาอำลาชาวบ้านที่เคยอุปการะตอนตกยาก โดยมอบเครื่องประดับให้ชาวบ้านท่าคุระ แต่ด้วยความเคารพรัก ชาวบ้านย่านวัดพะโคะก็ได้เอ่ยถึงพระนางนวลทองสำลีตลอดมา ถึงในยุคโบราณเก่าก่อนจะไม่มีรูปเคารพอย่างเช่นวัดท่าคุระก็ตาม ภายหลังเมื่อชาวบ้านมีกำลังทรัพย์ จึงได้สถาปนาพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์หนึ่ง ขึ้นมาเป็นตัวแทนของพระนางนวลทองสำลี โดยถวายนามว่า “ ทวดยายสำหมฺลี ” หรือ ทวดยายหมี หรือ ทวดยายสำลี สืบมา

ในตำนานเจ้าแม่อยู่หัวของวัดท่าคุระและตำนานของแม่ทวดสำหมฺลี ต่างเชื่อตรงกันว่า เจ้าแม่อยู่หัวและแม่ทวดยายสำหมฺลี คือ พระนางนวลทองสำลี ผู้ให้กำเนิดการแสดงโนรา เนื่องจากตำนานของพระพุทธรูปทั้งสององค์ มีความสอดคล้องกัน ทั้งในด้านเรื่องราวและความเชื่อ ถึงแม้เรื่องราวที่มาของแม่ทวดสำหมฺลี จะเป็นเพียงมุขปาฐะที่แพร่หลายกันในความศรัทธาของชาว อ.สทิงพระ จ.สงขลา แต่ความศรัทธานั้นก็ได้ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน แม่ทวดยายสำหมฺลี เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวสทิงพระในฐานะมารดาผู้อารีย์ ไม่ว่าเรื่องเพาะปลูก เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อสมหวังดั่งปรารถนา ก็นิยมแก้บนกันในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยมีการแก้บนหลากหลายวิธี เช่น การถวายผ้านุ่ง การรำโนรา การปิดทองถวาย การบริจาคเงินทำบุญ หรือแม้แต่การลากเรือพระก็ตาม นี่คือวิถีการตอบแทนเมื่อสิ่งที่ขอสัมฤทธิ์ผล

สำหรับประเพณี ที่นิยมปฎิบัติต่อแม่ทวดสำหมฺลี เป็นประจำทุกปี จะมีการอัญเชิญพระแม่ทวดยายสำหมฺลี ( ทวดยายสำลี / ทวดยายหมี ) ขึ้นพนมพระลากในช่วงออกพรรษา ( ตรงกับช่วง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ) ของทุกปี โดยมีพิธีกรรมเริ่มจากการถวายสำรับข้าวที่ ๑๒ สมโภชพระแม่ทวดยายสำหมฺลี การสรงน้ำพระแม่ทวด การแสดงมหรสพสมโภช การอัญเชิญพระแม่ทวดยายสำหมฺลี ขึ้นพนมพระลากไปยังวัดศิลาลอย ก่อนจะมีสิ้นสุดที่การอัญเชิญพระแม่ทวดยายสำหมฺลีกลับวัด ในทุก ๆ ปี ชาว ต.ชุมพล จะรอคอยการเชิญแม่ทวดยายสำหมฺลีออกมาเยี่ยมเยือนลูกหลาน ในช่วงเทศกาลออกพรรษา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับบรรพสตรีที่พวกเขาเคารพรักมาหลายชั่วอายุคน

ถึงแม้คติการสถาปนาพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของสตรีที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นคติที่แปลกไปจากคติความเชื่อในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มักจะสร้างพระพุทธรูปให้เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ที่ทรงคุณ หรือ เป็นตัวแทนของขัตติวงศ์ชนชั้นสูงที่เป็นบุรุษ แต่การสถาปนาพระพุทธรูป ให้เป็นตัวแทนของบรรพสตรีนั้น เป็นคติที่ยกความสำคัญของสตรีในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าคติการทับซ้อนกันของพระพุทธรูปและบรรพสตรี คือความประสงค์ที่จะส่งเสริม สตรีจะไปจุดสุดท้ายของพระพุทธศาสนา คือ การบรรลุพระอรหัตในกาลข้างหน้า โดยผู้ที่สร้างพระพุทธปฎิมาแล้วขนานนามเป็นบรรพสตรีนั้น ปรารถนาให้บุญกุศลที่ได้สร้างพระปฎิมา จะเป็นกุศลปัจจัย เกื้อให้บรรพสตรีผู้นั้นได้บรรลุธรรมในพุทธศาสนา หลุดพ้นจากสังโยชน์ร้อยรัดทั้งปวง หรือ อาจกล่าวได้ง่ายว่า คติการสถาปนาพระพุทธรูปเป็นชื่อบรรพสตรี คือ การอุทิศบุญกุศลในรูปแบบหนึ่ง และเป็นการชักจูงผู้คนให้แนบแน่นกับพระพุทธศาสนา โดยเปรียบเทียบความผูกพันระหว่างมารดากับบุตรนั่นเอง ซึ่งพระแม่ทวดยายสำหมฺลีเอง เป็นหนึ่งในคติการสถาปนาพระพุทธรูปเป็นบรรพสตรี ผ่านความเคารพรักที่ชาวบ้าน มีต่อแม่ทวดหมฺลี หรือ พระนางนวลทองสำลี บรรพสตรีผู้ทรงคุณแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

อ้างอิง
๑. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ ๔ จับ:พืช – ชาบ้าน หัวข้อ เจ้าแม่อยู่หัว หน้า ๑๗๖๕ – ๑๗๖๘
๒. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ Re-collection ย้อนทวนความหมาย ของ (ไม่) ธรรมดา เล่ม 2 หัวข้อ ศาสนาและความเชื่อ เรื่อง ทวดยายสำลีตำนาน ความเชื่อ ของชาวสทิงพระ หน้า ๓๗ เรียบเรียงโดย พระศักรินทร์ สิริภทฺโท และ คุณนวลพรรณ บุญธรรม จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

หมายเหตุ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น ขอเชิญทุก ๆ ท่านร่วมอัญเชิญและสักการะขอพร “ทวดนวลทองสำลี” หรือ “ทวดยายหฺมฺลี” วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา