ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

เจ้าพญาสายฟ้าฟาด กษัตริย์องค์ปฐมแห่งเวียงกลางบางแก้ว (ที่ตั้งเมืองแห่งแรกบนดินแดน จ.พัทลุงในปัจจุบัน) กับคุณูปการในการสร้างเมือง
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

หากเอ่ยถึง พญาสายฟ้าฟาด มักจะอดไม่ได้ที่จะนึกถึงโนรา ด้วยว่าพญาสายฟ้าฟาดทรงเป็นผู้พระราชทานเทริดพร้อมเครื่องต้น และแต่งตั้งขุนศรีศรัทธาผู้เป็นพระราชนัดดาให้มีหน้าที่ในการเผยแพร่การแสดงโนราไปยังท้องที่ต่าง ๆ เพื่อดึงผู้คนเข้าสู่ความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงทำให้เมื่อเอ่ยถึงพระนามของพระองค์ เราจะต้องนึกคู่กับโนราเสมอ

แต่สิ่งที่เราต้องทราบประการหนึ่งคือ พญาสายฟ้าฟาดนั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองเวียงบางแก้ว อันเป็นเมืองเก่าแก่ของชาวพัทลุง สันนิษฐานว่าในช่วงที่พระองค์ครองราชย์สมบัตินั้น อาจอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ เป็นช่วงที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังเรืองอำนาจอยู่ โดยพญาสายฟ้าฟาดพระองค์ได้ทรงนำราษฎรบางส่วนจากฝั่งสทิงพระ (ปัจจุบันเป็นอำเภอที่อยู่ใน จ.สงขลา) ที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่า ไปยังโคกเมืองบางแก้ว เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าภายในทะเลสาบในด้านตะวันออกมีศูนย์กลางการค้าหลักที่เมืองสทิงพาราณสี และในด้านตะวันตกได้มีศูนย์กลางเริ่มแรกในโคกเมืองบางแก้ว วัตถุประสงค์ในการสถาปนาเมืองเวียงบางแก้ว นอกจากจะเพื่อระบายประชากรมาสู่ฝั่งตะวันตกแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมเส้นทางการหาของป่า และบุกเบิกพื้นที่สำหรับทำนา เพื่อเพิ่มทรัพยากรสำหรับขยายอาณาจักร

โดยภาพรวมในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ หลังจากที่พระเจ้าศรีพาลบุตร กษัตริย์ศรีวิชัยราชวงศ์ไศเลนทร์ที่ปกครองชวากลาง ได้ถูกกษัตริย์พื้นเมืองราชวงศ์สัญชัยยกทัพขับไล่ ทำให้ทรงกลับมาอาศัยที่กรุงกฑาหะ หรือ จังหวัดเคดาห์ ในประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ความยิ่งใหญ่ของศรีวิชัยได้ลดลงหลังจากสูญเสียดินแดนหมู่เกาะชวากลาง แต่ดินแดนในพื้นที่ตอนบน ตั้งแต่เมืองไชยาจรดลงมาจนปลายแหลมมลายูและบางส่วนของเกาะสุมาตรา ยังคงตกเป็นของศรีวิชัย ศูนย์การค้าขายที่ควบคุมช่องแคบมะละกา และช่องทางการสัญจรระหว่างคาบสมุทร ยังคงสร้างความรุ่งเรืองให้แก่อาณาจักร โดยในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา เป็นเมืองท่าฝั่งตะวันออก ที่เชื่อมการค้าขายระหว่างอาณาจักรพระนคร จักรวรรดิจีน อาณาจักรจากฝั่งตะวันตกอย่างสิงหล ( ลังกา ) ปาณฑยะ และปัลลวะ โดยมีหลักฐานจากเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เทวรูป พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปในศาสนาพุทธที่มีการพบภายในพื้นที่ อ.สทิงพระ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความเจริญของบ้านเมืองสทิงพาราณสีในขณะนั้น

ดินแดนสทิงพาราณสี ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ มีฐานะเป็นหนึ่งในหัวเมืองของสหพันธรัฐศรีวิชัย มีพื้นที่ครอบคลุมในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลา พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพัทลุง มีบางส่วนของนครศรีธรรมราชและจังหวัดตรังรวมอยู่ด้วย จากชัยภูมิพื้นที่อันเป็นหัวเมืองท่า ทำให้สทิงพาราณสีเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก หลังจากที่สั่งสมรากฐานความเจริญมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ สันนิษฐานว่าพญาสายฟ้าฟาด ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ครองกรุงสทิงพาราณสีในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ที่ดินแดนลุ่มน้ำทะเลสาบมีความเจริญถึงขีดสุด จนเป็นเหตุให้ต้องมีการขยายพื้นที่การปกครองเพื่อรักษาเส้นทางเดินข้ามคาบสมุทร ระหว่างท่าปลันดาในฝั่งเมืองตรัง ผ่านป่าเขาและทุ่งราบในพื้นที่ทางตอนกลางของคาบสมุทร มาสิ้นสุดที่เมืองท่าทางตะวันออก เพื่อที่จะเป็นการควบคุมเส้นทางการค้าขาย และบุกเบิกเส้นทางการหาสินค้าจากป่านำไปค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ ซึ่งพญาสายฟ้าฟาด ทรงสถาปนาบ้านเมืองหรือที่ตำนานเรียกว่า ตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นที่โคกเมืองบางแก้ว เพื่อเป็นเมืองท่าจากฝั่งด้านในทะเลสาบ โดยมีหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ คือฐานศิวลึงค์ของโบสถ์พราหมณ์โบราณที่อยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ซึ่งฐานศิวลึงค์นั้นมีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ โดยประมาณ สันนิษฐานว่า แรกเริ่มเดิมทีโคกเมืองบางแก้วคงเป็นชุมชนที่มีการนับถือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการของการขยายชุมชน และกลายเป็นบ้านเมืองสมบูรณ์ในยุคของพญาสายฟ้าฟาด

อาณาจักรที่ใกล้เคียงกับสทิงพาราณสี ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ในทางทิศใต้ของสหพันธรัฐศรีวิชัย มีอาณาจักรมะตะรัมที่ปกครองโดยระตูกะปิตันแห่งราชวงศ์สัญชัย ทางด้านทิศตะวันตก มีอาณาจักรสิงหลที่ถูกปกครองโดยราชวงศ์ลัมพะกันนะ อยู่ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าอัคคโพธิที่ ๘ ถึงพระเจ้าเสนะที่ ๒ และอาณาจักรปัลลวะ ที่ถูกปกครองโดยพระเจ้านันทิวรมันที่ ๓ ทางด้านทิศอีสาน อาณาจักรพระนคร ( เขมร ) ถูกปกครองโดย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ อาณาจักรจามปา ถูกปกครองโดย พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ส่วนในจักรวรรดิจีนในยุคนั้น ตรงกับปลายยุคราชวงศ์ถัง อาจอยู่ระหว่างรัชสมัยของพระจักรพรรดิถังเหวินจง ถึงรัชสมัยของพระจักรพรรดิถังอี้จง ซึ่งอาณาจักรโดยรอบของศรีวิชัยในขณะนั้น ล้วนแต่เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งในทางการเมืองและการปกครองทั้งสิ้น

หากว่าเมืองสทิงพาราณสี ที่ปกครองโดยพญาสายฟ้าฟาดไม่มีความสามารถทางการเมืองและการทหารแล้ว ก็คงไม่สามารถป้องกันการขยายอิทธิพลของอาณาจักรรอบข้างได้ เพราะในช่วงเวลานั้น อาณาจักรต่าง ๆ ทั้งมะตะรัม สิงหล ปัลลวะ อาณาจักรหริหราลัย ( อาณาจักรพระนคร / เขมร ) ล้วนแต่มีแสนยานุภาพทางด้านพุ่งรบและขยายดินแดน

คุณูปการโดยหลักของพญาสายฟ้าฟาด พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งเมืองพัทลุงนั้น มีดังต่อไปนี้
๑. บุกเบิกพื้นที่ฟากตะวันตกของทะเลสาบสงขลา สำหรับทำการเกษตร และเชื่อมเส้นทางข้ามคาบสมุทร จากท่าปลันดาในจังหวัดตรังปัจจุบันมายังนครสทิงพาราณสีในฟากตะวันออก
๒. เป็นผู้สถาปนาเวียงบางแก้ว และนำผู้คนที่อยู่ในฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ ย้ายมาตั้งบ้านเมืองในทางตะวันตก เพื่อควบคุมเส้นทางการค้า
๓. ทรงสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา ไปยังผู้คนที่ห่างไกลจากศูนย์ความเจริญ ทั้งศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาพุทธ
๔. พญาสายฟ้าฟาด ทรงรักษาเมืองสทิงพาราณสี และร่วมมือกับหัวเมืองอื่น ๆ ในสหพันธรัฐศรีวิชัยในการรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากการคุกคามของอาณาจักรรอบข้าง
๕. พญาสายฟ้าฟาด เป็นผู้สถาปนาขุนศรีศรัทธาขึ้นเป็นพระนัดดา พระราชทานเครื่องยศให้ และสถาปนาเหล่าโนราขึ้นเป็นนักรำหลวง สนับสนุนให้มีการรำกันอย่างแพร่หลาย

สิ่งที่มีความเข้าใจอย่างไม่ครอบคลุมกันมาโดยตลอดข้อหนึ่ง คือมักจะเข้าใจกันว่า พญาสายฟ้าฟาดทรงเป็นโนรา ซึ่งในข้อเท็จจริงคือ พญาสายฟ้าฟาดทรงเป็นผู้พระราชทานเครื่องต้นและตำแหน่งหน้าที่ของโนราให้แก่ขุนศรีศรัทธาผู้เป็นพระราชนัดดา ซึ่งฐานะของพญาสายฟ้าฟาดทรงเป็นบูรพกษัตริย์แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตลอดจนพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางทั้งหมด จึงมิใช่เพียงแค่ลูกหลานโนราที่จะบูชาพญาสายฟ้าฟาด แต่ลูกหลานชาวเมืองพัทลุง ลูกหลานชาวเมืองสงขลา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนที่ศรัทธาสามารถบูชาขอพรได้ ด้วยฐานะของพญาสายฟ้าฟาด ที่ทรงปกครองราษฎรทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นที่พึ่งที่บูชาของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบทั้งปวง ผู้ใดที่ได้อาศัยในผืนแผ่นดินพัทลุงและดินแดนนครสทิงพาราณสีทั้งหมด เมื่อได้บูชาและขอพรจากพญาสายฟ้าฟาด ผู้เป็นบูรพกษัตริย์ผู้ครองดินแดนตอนกลางของคาบสมุทรแล้วไซร้ ก็ย่อมมีความสุขสวัสดีมีชัยในการดำรงชีวิตบนแผ่นดินของพระองค์ชั่วกาลนาน

ขอบคุณภาพจาก น้องเอก เวียงบางแก้ว