ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

พิธีกรรมการเขียนยันต์ของคนไทย
ยันต์ คือ รูปลักษณ์ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้บังเกิดอิทธิคุณศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นรูปภาพบ้าง สัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประกอบกันบ้าง การเขียนยันต์ของคนไทยนั้น มีหลากหลายตำรับตำรา แล้วแต่ว่าสำนักใด ให้สูตรการทำยันต์มาอย่างไร แต่แกนที่สำคัญของการเขียนยันต์ในคติไทย เริ่มจากการไหว้พระ ไหว้ครูอาจารย์ ภาวนาจนจิตสงบ ทำน้ำมนต์เพื่อป้องกันตัว จากนั้นจึงอธิษฐานพินทุอุปกรณ์เขียน พิน ทุวัสดุที่ใช้เขียน เพื่อให้บังเกิดบริสุทธิ์แก่วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ จากนั้นจึงเรียนเขียนยันต์ โดยเริ่มจากลายเส้น เป็นรูปภาพ เป็นทรงตาราง เป็นวงกลม หรือ เป็นตัวนะต่าง ๆ เรียกกันว่า “ กระดูกยันต์ ” ถัดไปจึงเป็นการวาดรูปองค์พระ ( ถ้ายันต์นั้นมี ) เขียนอักขระ เขียนตัวเลข ( ถ้ายันต์นั้นมี ) เขียนอุณาโลม เสร็จแล้วจึงเรียกสูตรเรียกนาม ทำการปลุกเสก แล้วถือว่า ยันต์ที่เขียนไปนั้น มีอานุภาพ สามารถนำไปใช้ได้ ตามคุณที่มีบันทึกสืบต่อกันมา แต่การเขียนยันต์ จะต้องมีสมาธิ ความสงบของจิต และ ความทรงจำที่แม่นมาก ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าหากลงอักขระผิดแม้แต่ตัวเดียว ก็จะทำให้ยันต์นั้นถึงแก่ “ วิบัติ ” คือเป็นยันต์ที่ใช้ไม่ได้เลย

พิธีกรรมการเขียนยันต์ของคนไทย จะมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

๑. สถานที่ในการเขียนยันต์ จะไม่นิยมเขียนกันในที่อยู่อาศัย เนื่องจากเกรงผลกระทบของเวทมนตร์ ส่วนใหญ่จะนิยมในอุโบสถ ในถ้ำ ในป่าช้า หรือในที่สงัด บางสูตรยันต์ก็บังคับสถานที่ว่าต้องดำลงไปเขียนใต้น้ำ หรือ เขียนในโลงศพก็มี

๒. ฤกษ์ยามที่ใช้เขียน ก่อนจะเขียนยันต์ จะต้องมีการดูฤกษ์ยามให้ดีเสียก่อน ว่าเหมาะกับการเขียนยันต์หรือไม่ เพราะแต่ละฤกษ์ มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน และช่วงเวลานั้น เป็นเวลามงคลเหมาะสมหรือไม่ มีจุดอวมงคลอยู่หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนยันต์ มักจะคำนวณล่วงหน้า เพื่อหาเวลาสำหรับลงยันต์ที่เหมาะสมที่สุด

๓. ทิศทางของการเขียน การเขียนยันต์ เมื่อได้เวลา และ สถานที่ อันเหมาะสมแล้ว จะต้องดูทิศในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้การเขียนยันต์ไปต้องทิศ อวมงคล เช่น ทิศพระราหูจร ทิศผีหลวง ทิศหลาวเหล็ก ทิศอสูร ซึ่งถ้าเขียนหันไปหาทิศเหล่านี้ ก็จะมีเหตุให้การเขียนยันต์นั้นไม่สำเร็จ หรือ มีอุปสรรคที่คาดไม่ถึงมาขัดขวาง ดังนั้น ผู้เขียนยันต์พึงพิจารณาทิศในการเขียนด้วย

๔. อุปกรณ์และเครื่องครูของการเขียนยันต์ สิ่งที่ผู้เขียนจะต้องเตรียมให้พร้อม นอกจากมีอุปกรณ์ที่ใช้เขียนแล้ว ยังต้องมีเครื่องสำรับบูชาครู ที่จะขาดไม่ได้เลยในการเขียนยันต์แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ ถ้าการเขียนยันต์ ต้องไปเขียนในสถานที่ ๆ ไกลบ้าน ก็ต้องตระเตรียมเสบียง สิ่งที่ต้องพกไปในระหว่างทางด้วย รวมถึงในบางครั้ง อาจต้องมีผู้ช่วย ในการประกอบพิธีเขียนยันต์ เพื่อความสะดวก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับผู้เขียนยันต์ว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากครูอาจารย์มากเท่าไร

พิธีกรรมเขียนยันต์ของคนไทย มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ

๑. การเขียนยันต์โดยปกติ
การเขียนยันต์โดยปกติ คือการเขียนยันต์ที่ไม่จำกัดสถานที่ ไม่มีข้อบังคับมากนัก เป็นยันต์ที่สามารถเขียนที่บ้านได้ ยันต์ประเภทนี้ จะเป็นยันต์ง่าย ๆ ไม่มีความซับซ้อนมาก แต่มีอิทธิคุณสูง เช่น ยันต์นะประเภทต่าง ๆ ยันต์จตุโร ยันต์ทางเมตตา ยันต์สำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ยันต์อยู่คงบางตัว ซึ่งยันต์เหล่านี้ จะเขียนลงเป็นตะกรุดบ้าง ทำเป็นผ้ายันต์บ้าง หรือ บางครั้งก็เขียนด้วยดินสอพอง ลบผงแล้วผสมแป้งทาตัวก็มี และเป็นยันต์ที่ไม่มีผลกระทบด้านลบต่อผู้คนในครอบครัว จึงสามารถเขียนขึ้นที่บ้านของผู้เขียน หรือ นำไปเขียนในระหว่างการเดินทางได้ ซึ่งการเขียนยันต์นั้นก็ต้องอาศัยความสงบพอควร จึงจะทำให้เกิดอิทธิคุณได้

๒. การเขียนยันต์ในอุโบสถ
การเขียนยันต์ในอุโบสถ เป็นพิธีกรรมเขียนยันต์ที่สำคัญมาก เพราะยันต์ที่ใช้เขียนในอุโบสถ มักจะเป็นยันต์ใหญ่ หรือ ยันต์ที่สำคัญ เช่น ยันต์พระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ , ยันต์มหาจักรพรรตราธิราช , การลงยันต์เพื่อสถาปนาเสาหลักเมือง , การจารตะกรุดถวายพระมหากษัตริย์ เป็นต้น การเขียนยันต์ในวาระสำคัญเหล่านี้ จะเขียนในอุโบสถสำคัญ โดยยันต์บางตำรานั้น นอกจากจะให้เขียนในอุโบสถแล้ว ยังบังคับเครื่องบูชาครู ประกอบพิธีกรรมการเขียนด้วย เช่น ยันต์พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ที่กำหนดเครื่องบูชาครูไว้ ว่าให้บูชาด้วย ธูป ๑๕๖ ดอก , เทียน ๑๕๖ เล่ม , บายศรีปากชาม ซ้ายขวา พร้อมหัวหมู เมื่อบูชาครูด้วยเครื่องที่กำหนดแล้ว จึงจะสามารถลงยันต์ได้ ซึ่งยันต์หลาย ๆ ยันต์ ก็ได้มีการกำหนด เครื่องบูชาเอาไว้ บ้างก็เรียกเอาบายศรีปากชาม บ้างก็เรียกเป็นค่าครู หรือ สิ่งของประกอบอื่นๆ บางยันต์ สำคัญถึงขนาดต้องนิมนต์พระมาเจริญคาถาให้ครบจำนวนกำหนด เช่น การลงยันต์มหาจักรพรรตราธิราช ได้กำหนดให้นิมนต์พระภิกษุมา ๑๐๘ รูป เพื่อเจริญพระปริตร พระทิพยมนต์มงคลต่าง ๆ สมโภชแก่ตะกรุด หรือ แผ่นยันต์มหาจักรพรรตราธิราช อีกทั้งยันต์ที่จะมีการลงสำหรับทำหลักเมือง คือ ยันต์โสฬสมหามงคล ยันต์จตุโร ยันต์องครักษ์ ก็มีกำหนดในตำราทำหลักเมือง ว่าให้จารในอุโบสถเช่นเดียวกัน ดังนั้น ยันต์ที่ทำพิธีเขียนในอุโบสถ มักจะเป็นยันต์ที่สำคัญเสมอ

๓. การเขียนยันต์ใต้น้ำ
การเขียนยันต์ใต้น้ำ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเขียนยันต์ลงในตะกรุดบางตำรา ที่มีการบังคับให้ผู้เขียนยันต์ ลงไปเขียนอักขระบางตัว ที่ใต้น้ำ โดยตะกรุดใต้น้ำที่ดังที่สุดในไทย คงจะไม่เกินตะกรุดของหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ที่ท่านได้จารตะกรุดใต้น้ำเอาไว้ให้ลูกศิษย์ มีอิทธิคุณด้านแคล้วคลาดอันตราย ซึ่งการเขียนยันต์ใต้น้ำนั้น ต้องลงไปดำเขียนใต้สายคลอง หรือ แม่น้ำไหลที่มีความลึกท่วมหัวคนขึ้นไป จึงจะนับว่าสำเร็จ ซึ่งการทำยันต์ประเภทนี้ ถ้าหากไม่มีร่างกายที่พร้อม หรือ มีวิชาที่แน่จริงแล้ว ก็อาจมีสิทธิ์ถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ยันต์ที่ทำตะกรุดใต้น้ำ หรือ จารกันใต้น้ำ ส่วนมากมักจะเป็นยันต์ที่มีอิทธิคุณเน้นหนักไปทางป้องกันอันตราย ป้องกันปืนผาหน้าไม้ ป้องกันอันตรายจากการต่อสู้ เป็นต้น

๔. การเขียนยันต์ในป่าช้า
ขึ้นชื่อว่า “ ป่าช้า ” คงไม่ใช้สถานที่ ที่คนเป็นจะไปย่างกรายกันอยู่แล้ว แต่สำรับยันต์บางประเภท ได้มีการบังคับให้ผู้เขียนยันต์ ไปลงวิชากันในป่าช้า เช่น ยันต์กาจับหลัก ที่จะต้องไปนอนในโลงศพ ในป่าช้า รอจนกว่าอีกาจะมาเกาะโลง ส่งเสียงร้อง แล้วจึงเขียนยันต์ให้เสร็จก่อนที่กาจะบินหนี เชื่อว่าเมื่อเขียนยันต์กาจับหลักได้สำเร็จตามเคล็ดวิชากำหนด เมื่อนำไปใช้ จะทำให้เกิดเสน่ห์เมตตาถึงขนาดที่ฝ่ายถูกกระทำขนข้าวของหนีมาหาผู้กระทำถึงที่เลยทีเดียว

โดยส่วนมากแล้ว ยันต์ที่ใช้เขียนในป่าช้า มักจะเป็นยันต์ที่ใช้ในด้านเสน่ห์ ด้านกระทำสาปแช่ง หรือด้านสูญความ หรือ ล้มคดี การทำยันต์ในป่าช้าในทุกครั้ง มักจะมีการเซ่นนายป่าช้า หรือ ตากะลี ยายกะลาทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการรบกวนของภูติผีในป่าช้า ยันต์ที่ลงในป่าช้าที่เป็นด้านเสน่ห์ มักจะลงยันต์ในดินป่าช้าบ้าง ลงในวัสดุอาถรรพ์ประเภทอื่น ๆ บ้าง แล้วนำมาฝังในป่าช้า เมื่อกระทำพิธีถูกถ้วน ก็จะทำให้ผู้ที่ถูกกระทำหลงรักอย่างไม่เสื่อมคลาย

ยันต์ที่ใช้ในการกระทำสาปแช่งในป่าช้า มักจะเขียนลงทับชื่อศัตรู แล้วฝังลงในป่าช้า เพื่อให้อำนาจของภูติผีไปกระทำย่ำยีศัตรูอีกแรงหนึ่ง เชื่อว่าจะมีผลที่รุนแรงขึ้น ส่วนยันต์ที่กระทำการสูญความ หรือ ล้มคดี เมื่อกระทำในป่าช้าแล้ว จะส่งผลให้คู่กรณียอมความไปเอง หรือ บังเกิดความสับสนจนไม่สามารถว่าความกับผู้กระทำได้

๕. การเขียนยันต์เพื่อคุณเสน่ห์
การเขียนยันต์ในเชิงเสน่ห์ เมตตา รักใคร่ มีกลวิธีการกระทำหลากหลาย บ้างก็กระทำในป่าช้า บ้างก็ทำบนทางสามแพร่ง ยันต์เพื่อเสน่ห์อย่างพื้นฐาน คือการใช้ดินสอผงเขียนยันต์ในกระดาน แล้วปลุกเสก ลบผงยันต์นั้น นำไปผสมกับแป้งทาหน้า หรือ เขียนยันต์ลงในตะกรุดขนาดเล็ก ใส่ในตลับสีผึ้ง หรือ เขียนลงใน

ขี้ผึ้ง เคี่ยวเป็นสีผึ้งไว้ใช้งานก็มี

แต่การใช้ยันต์เสน่ห์บางตำรับ ก็มีกรรมวิธีที่พิศดารมากกว่านั้น คือใช้ใบรัก นำ มาเขียนชื่อของคนที่จะกระทำ ประกบคู่กับใบรักที่เขียนชื่อผู้กระทำ หนีบด้วยไม้ตับปิ้งปลา แล้วทำการปลุกเสกตามตำราระบุ ก็จะส่งผลให้คนกระทำหลงไหลในผู้กระทำ บางตำรับยันต์ก็ให้เขียนยันต์ลงในผ้าเช็ดหน้า เช่น ยันต์ตราประตูทอง ที่ให้เขียนลงในผ้าเช็ดหน้า ยิ่งเช็ดหน้า ก็จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดเมตตามหานิยม เสริมสง่าราศีให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ในบางสูตรยันต์ ก็ให้ลงยันต์ผู้กระทำลงในหุ่นขี้ผึ้ง แล้วจับประกบกันฝังลงในป่าช้า ก็จะทำให้ผู้ถูกกระทำรักหลง อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

หากท่านที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่อง “ พระลอ ” ก็คงจะคุ้น ๆ กับการทำเสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพราย ที่ได้เขียนยันต์เรียกจิตพระลอลงใน “ ลูกลม ” ( คือกังหันพื้นบ้านขนาดเล็ก ยังเห็นอยู่ได้ใน จ. ตรัง ) นำไปติดบนยอดต้นตะเคียน แต่ยันต์บางตำรับ ก็ใช้เพียงแค่การเรียกจิตของผู้กระทำลงในฝ่ามือ แล้วเขียนยันต์ประทับ ก็ได้ผลดุจเดียวกัน ทั้งที่ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับกระแสจิตของผู้กระทำด้วย ว่ามีความเข้มแข็งเพียงไร ถ้าจิตใจยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอ ก็จะเลือกใช้ “ ยันต์ ” เป็นตัวช่วยในการทำให้ความต้องการประสบผลสำเร็จ

๖. การเขียนยันต์กระทำฝ่ายตรงข้าม
การข่ม การสะกด การสาปแช่งฝ่ายตรงข้าม ถือเป็นวิธีทางจิตวิทยาที่ได้ผลกับ

การเอาชนะอยู่เสมอ ถึงแม้บางครั้งจะทำให้คนที่กระทำ กลายเป็นคนที่ดูไม่สมประกอบก็ตาม

ยันต์ กับ การกระทำฝ่ายตรงข้าม มักจะมีการเลือกวัสดุในด้านการแตกหัก การทำลายมาใช้เป็นหลัก เช่น ใช้บาตรแตกมาลงยันต์ แล้วนำไปทิ้งที่บ้านศัตรู ทำให้บังเกิดความแตกแยก หรือ มีเหตุให้อยู่บ้านไม่ได้ หรือบางยันต์ก็ใช้เขียนลงใบตาล เขียนชื่อศัตรูลง เผาให้เป็นเถ้าถ่าน นำไปคลุกข้าวให้สุนัขกิน เชื่อว่าภายในไม่กี่วัน ศัตรูจะมีอันเป็นไป หรือ อย่างช้าสุดก็ ๗ วัน

การกระทำฝ่ายตรงข้ามด้วยยันต์ นอกจากจะกระทำให้ถึงแก่ชีวิตแล้ว ยังมีการกระทำเพื่อเอาชนะในทางคดีด้วย ไม่ว่ายุคสมัยใด การขึ้นโรงขึ้นศาล ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ยืดเยื้อ และสูญเสียทรัพย์โดยใช่เหตุเสมอ ดังนั้น การยุติเรื่องราวไม่ให้บานปลาย คือการทำวิธีอย่างไรก็ได้ ที่ทำให้คู่กรณีฝ่ายตรงข้าม “ ยอม ” หรือ “ หมดสภาพ ” ที่จะฟ้องร้องเอาชนะตน ซึ่งในยุคก่อน ได้มียันต์ประเภท “ สูญความ ” หรือ “ เกลื่อนความ ” สำหรับเอาชนะกันในทางคดี ยันต์ประเภทนี้ มีลงในใบเต่าร้างบ้าง หรือ นำไปลงในอิฐวัดร้าง แล้วห่อด้วยด้ายตราสังนำไปถ่วงน้ำ ก็จะมีผลทำให้คู่กรณียอมคดีไปอย่างไม่มีสาเหตุ และบางยันต์ ก็ใช้ในเชิงมหาอำนาจ ข่มขู่จิตใจของคู่กรณีโดยตรง จึงทำให้ฝ่ายตรงข้าม ไม่สามารถว่าความได้ถูกต้อง จนต้องถูกปรับให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป

๗. การเขียนยันต์ลงบนวัสดุพิเศษ
เนื่องจากยันต์บางสูตร มีความพิเศษ พิศดารในการใช้วัสดุสำหรับรองรับยันต์ที่เขียน จึงทำให้ต้องมีหัวข้อนี้ขึ้นมา ยันต์ที่เขียนลงในวัสดุพิเศษ ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้บ่อยนัก บางวัสดุก็ต้องเสี่ยงชีวิตไปหามา ยกตัวอย่างเช่น หน้าผากเสือ ที่นิยมนำมาลงยันต์พระไตรสรณาคมน์ หรือ ลงยันต์พญาเสือสูตรต่าง ๆ แล้วม้วนเป็นตะกรุดหน้าผากเสือ หรือ ตะกรุดหนังเสือ จะยิ่งทำให้อานุภาพของยันต์นั้น มีอำนาจมากยิ่งขึ้น

วัสดุพิเศษสำหรับลงยันต์ บางอย่างก็เป็นของที่พอจะหาได้ เช่น ใบโพธิ์สำหรับลงยันต์กำบัง , แผ่นศิลา สำหรับเขียนยันต์ฝังบ่อน้ำ แต่บางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่หายาก เช่น แผ่นเงิน แผ่นทองคำ ผ้าดาดเพดานของผู้ทรงวิชา กะลาตาเดียว เป็นต้น

การลงยันต์ในวัสดุพิเศษ มีเหตุผลสำคัญคือ วัสดุที่นำมาใช้รองรับยันต์นั้น คณาจารย์ผู้คิดค้นยันต์ได้เลือกนำมาใช้ เพราะมีสภาวะที่จะรองรับอานุภาพยันต์ได้เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่า ยันต์ที่ใช้เขียนในวัสดุพิเศษ เมื่อนำไปเขียนในวัสดุอื่น ๆ แล้วจะไม่ได้ผล เช่น ยันต์เกี่ยวกับพระราหู ถ้าลงในกะลาตาเดียวจะมีอานุภาพมาก แต่ถ้ารู้เคล็ดวิชา รู้วิธีลงยันต์ ถึงจะเขียนลงในผ้า ก็อาจมีคุณได้เหมือนกัน แต่อาจไม่เท่ากะลาตาเดียว

การเขียนยันต์ของชาวไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีกรรมวิธี ตั้งแต่ธรรมดาไปจนถึงวิธีพิเศษ ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดยันต์ ว่าจะกำหนดไว้อย่างไร ที่จะทำให้ยันต์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ที่สำคัญที่สุดของการเขียนยันต์ ก็คือ “ จิตใจที่เข้มแข็ง และ มุ่งมั่น ” ของตัวผู้เขียนเอง ที่จะทำให้ยันต์มีอานุภาพขึ้นมาได้ เรื่องของจิตใจที่หนักแน่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ร่ำเรียนการลงยันต์จะขาดเสียไม่ได้เลย ไม่ อย่างนั้น ยันต์ที่เขียนไป ก็ไม่ต่างอะไรกับรูป ๆ หนึ่ง ที่ไม่มีอานุภาพอะไรเลย

ลิ้งบทความตอนที่ ๑ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1301381727009222
ลิ้งบทความตอนที่ ๒ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1303058686841526
ลิ้งบทความตอนที่ ๓ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1849896418534907
ลิ้งบทความตอนที่ ๔ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1306687556478639