ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

โบสถ์พราหมณ์ เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์แห่งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าโบสถ์พราหมณ์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวาย และ พิธีตรีปวาย โบสถ์พราหมณ์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๑๕๓๐ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙

ตำแหน่งที่ตั้งและสถานที่ของโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ในบริเวณเดียวกับหอพระอิศวร โดยอยู่ห่างจากหอพระอิศวรไปทางด้านทิศใต้ ระหว่างหอพระอิศวร กับ เสาชิงช้า ( ต้นเก่าที่ถูกรื้อไป ) ตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถาน ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ ๘ องศา ๒๕ ลิปดา ๑๐ ฟิลิปดา เหนือ แวง ๙๙ องศา ๕๘ ลิปดา ๐๐ พิลิปดาตะวันออก สภาพปัจจุบันของแหล่ง เป็นโบราณสถานที่หมดสภาพแล้ว ทั้งนี้ได้มีการรื้อโบสถ์พราหมณ์ลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื่องจากตัวอาคารชำรุดลงอย่างมาก และภายหลังมีการย้ายเสาชิงช้ามาตั้งไว้ในบริเวณที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่ตั้งเดิมของโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบัน (๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕) ทางสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย)

ประวัติการศึกษาค้นคว้าที่ผ่านมา
โบสถ์พราหมณ์ เทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่เดิมเคยใช้สำหรับประกอบพิธี โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวาย และ พิธีตรีปวาย อันเป็นพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ หน้าที่ ๑๕๓๐ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙

อย่างไรก็ตาม จากการประมวลผลการศึกษาที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ พบว่า ชื่อของโบสถ์พราหมณ์ยังคงปรากฎในเอกสารสำคัญหลายฉบับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นต้นมา ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวรเดช ได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไว้ในพระนิพนธ์ชื่อ “ ชีวิวัฒน์ ” ดังความตอนหนี่งว่า

“ ….ถัดวัดเสมาเมืองไปเป็นเขตจังหวัดโบสถ์พราหมณ์ มีตัวโบสถ์พราหมณ์ ๑ หลัง ผนังทำลายมุงจาก ในโบสถ์มีคอกอิฐ ในคอกนั้นมีฐานสำหรับรองศิวลึงค์ทำด้วยศิลาสี่เหลี่ยมใหญ่ประมาณ ๒ ศอก มีรูปพระพิฆเนศศิลาปิดทองเลว ๆ ตั้งอยู่บนฐานนั้น และมีไม้บานประตูแกะสลักเป็นรูปเทวรูปเสีย เสียอยู่อันหนึ่งสูงสัก ๓ ศอก มีศิวลึงค์ย่อม ๆ ปักอยู่สองข้างฐานนั้น นอกอิฐมุมข้างตะวันออกเฉียงใต้มีศิวลึงค์อันหนึ่งปักอยู่ใหญ่ ๕ กำ สูงศอกคืบที่น่าจะเป็นศิว
ลึงค์สำหรับกับฐานที่ตั้งอยู่ข้างในนั้นแต่พลัดกันไป ”

พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโบสถ์พราหมณ์ไว้ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ ไว้ว่า

“ ( พุธ ๒๕ มิ.ย. ๑๒๑ ) เวลาย่ำค่ำกลับ แวะดูวัดจะเรียง มีเขียนพอใช้ราวแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า แต่เป็นเบ็ดเตล็ด แล้วแวะโบสถ์พราหมณ์ข้างซีกถนนข้างตะวันตกมีสองสถาน สถานพระคเณศเป็นสองชั้น ชั้นในเป็นคฤห์ หลังคาพัง ชั้นนอกก่อโบสถ์สวม แต่ก็พังแล้ว มีรูปพระคเณศหิน ๑ จเหว็ดจเขียน ๑ มีบานประตูเก่ารูปเทวดาเก่าผุพิงอยู่ด้วย มีศิวลึงค์ทิ้งอยู่ ๓ อันครึ่ง ”

พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้กล่าวถึงโบสถ์พราหมณ์ไว้ในบันทึกรายวัน ดังความตอนหนึ่งว่า

“ ( ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๖ ) ๑๑.๐๐ น. ไปดูโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ในถนนสายกลางเมือง สถานพระอิศวรอยู่ฟากตะวันตก สถานพระนารายณ์อยู่ฟากตะวันออก ในสถานพระอิศวรมีอาลัย ๒ หลัง หลังเหนือก่อด้วยอิฐ มีป้ายเขียนหนังสือติดไว้หน้ามุขว่า หอพระอิศวร ไปดูอีกหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้แห่งหอนี้ ทำด้วยไม้มีป้ายติดไว้ที่หน้ามุขเขียนว่าโบสถ์พราหมณ์ พอย่างเข้าไปในโบสถ์นั้นก็พอใจ ด้วยพบเทวสถานเก่าก่อด้วยอิฐอยู่ชิดฝาด้านหลังสุดโรงนั้น มีสัน ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขออกด้านหน้ามุขเดียวเป็นทางเข้า หลังคาไม่มีเดิมจะเป็นยอดปรางค์ นั้นมีโยนีใหญ่อยู่กลาง แต่ศิวลึงค์เอาออกมาทิ้งไว้มุขนอก

ยังมีศิวลึงค์เล็กอีก ๔ พร้อมด้วยโยนีแต่ ๑ เดิมเห็นจะวาง ๔ มุม แต่เคลื่อนที่ไปเสียแล้วบ้าง ทำด้วยหินทั้งนั้น ของในโบสถ์นี้มีกระดานอยู่สี่แผ่น
๑. กระดานฉลักรูปพระคงคาเก่ามากทีเดียว
๒. กระดานฉลักรูปพระคงคาเหมือนกัน เปนของทำเปลี่ยนใหม่เพราะแผ่นเก่าผุ แต่ก็เปลี่ยนมานานแล้วไม่ใช่ทำขึ้นใหม่ ๆ
๓. กระดานฉลักรูปอะไรแปลไม่ออก แบ่งลายเป็นสามห้อง ห้องบนเป็นเทวดาอยู่บนยอดไม้ ที่โคนไม้มีช้างสองตัว ห้องกลางเกลี้ยง ห้องล่างฉลักเป็นรูปภูเขา อาจหมายถึงพระธรณีก็ได้
๔. กระดานโล้ชิงช้า ”

พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ประทานลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ( สาสน์สมเด็จ ) ตอนหนึ่งว่า

“ ทีนี้จะทูลถวายรายงานการไปเที่ยวหัวเมืองปักษ์ใต้ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม เวลาเช้าไปดูโบสถ์พราหมณ์ จะเล่าถวายแต่พอควรเพราะว่าคงจะทรงจำได้อยู่มากแล้ว สถานพระอิศวรมีสองหลัง เก่าหลังหนึ่งใหม่หลังหนึ่ง ในหลังเก่าพบศิวลึงค์ศิลา ๕ องค์ พบนางกระดาน ๓ แผ่น ฉลักเป็นรูปพระคงคาเก่ามาก ผุแล้วแผ่นหนึ่ง ฉลักขึ้นแทนใหม่แผ่นหนึ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งข้างบนฉลักเป็นรูปเทวดาอยู่บนต้นไม้ มีช้างอยู่ที่โคนต้นไม้ข้างละตัว ข้างล่างฉลักเป็นเขาไม้ แปลไม่ออกว่าอะไรนึกเทียบกับที่กรุงเทพ ฯ มีพระอาทิตย์พระจันทร์แผ่นหนึ่ง นางพระธรณีแผ่นหนึ่ง นางพระคงคาแผ่นหนึ่ง รูปเขาอาจหมายถึงพระธรณีได้ แต่

เทวดาบนยอดไม้จะหมายถึงพระอาทิตย์พระจันทร์เห็นเป็นไปไม่ได้ นอกนั้นมีกระดานโล้ชิงช้าอีกแผ่นหนึ่ง ”

พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

พ.ศ. ๒๕๐๕ โบสถ์พราหมณ์ชำรุดลงอย่างมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น จึงให้รื้อโบสถ์พราหมณ์ลงเสีย เพื่อทำการบูรณะใหม่ ( แต่ติดขัดด้วยปัญหาบางอย่างจึงไม่ได้มีการบูรณะ ) จึงมีการเคลื่อนย้ายรูปเคารพ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์บางส่วนเข้าไปเก็บในหอพระอิศวร ส่วนนางกระดาน เทวรูป พระศิวะ เทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระอุมาเทวี เทวรูปพระคเณศวร์ ศิวลึงค์ส่วนที่เหลือได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

นอกเหนือจากบันทึกที่กล่าวมาแล้ว ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ยังได้กล่าวถึงการก่อตั้งโบสถ์พราหมณ์ หอพระนารายณ์ เอาไว้ โดยมีเหตุการณ์เริ่มต้นจากการติดต่อทางการทูตระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา และ พระเจ้ารามาธิบดี แห่งเมืองรามนคร หรือ เมืองพาราณสี ซึ่งพระเจ้ารามาธิบดีแห่งเมืองรามนคร ได้ส่งเทวรูปพระนารายณ์ พร้อมด้วยคณะพราหมณ์เข้ามาถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดี แต่เพราะเหตุจากพายุที่พัดกระหน่ำในขณะนั้น จึงทำให้คณะพราหมณ์ที่เดินทางมาจากเมืองรามนคร จึงต้องหยุดที่เมืองนครศรีธรรมราช และได้สถาปนาเทวสถานแห่งใหม่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน เครื่องอุทิศบูชาเทวรูป และ มีกฎหมายสำหรับคุ้มครองพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชอย่างพร้อมสรรพ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้น ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากทั้งราชสำนัก และ กรมการเมืองผู้ปกครอง

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่พบในโบสถ์พราหมณ์
๑. พระศิวะนาฎราช ศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบโจฬะ สูงพร้อมฐาน ๗๖ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๔๔ เซนติเมตร
๒. พระอุมา สำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ สูง ๔๕.๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๖.๕ เซนติเมตร
๓. พระวิษณุ ๔ กร ศิลปะลพบุรี เนื้อสำริด สูงพร้อมฐาน ๒๙ เซนติเมตร กว้าง ๙ เซนติเมตร
๔. พระหริหระ ๔ กร ศิลปะสุโขทัย สูง ๒๐.๓ เซนติเมตร
๕. พระคเณศ ๔ กร สำริด ประทับบนฐานรางน้ำมนต์ สูง ๘ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร
๖. พระคเณศ เนื้อสำริด ๔ กร ยืนประทับตรง สูงทั้งฐาน ๔๒.๕ เซนติเมตรฐานกว้าง ๑๕.๕ เซนติเมตร
๗. พระคเณศ ๒ กร เนื้อสำริด สูงทั้งฐาน ๑๙ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๑๓.๒เซนติเมตร
๘. หงส์สำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ ขนาดยาว ๕๑.๕ เซนติเมตร
๙. นางกระดานไม้ สภาพชำรุด แตกออกเป็นสองชิ้น ชิ้นแรกกว้าง ๒๓.๕ เซนติเมตร ยาว ๗๔ เซนติเมตร ชิ้นที่สอง กว้าง ๓๑ เซนติเมตร ยาว ๑๐๑ เซนติเมตร

ปัจจุบัน โบราณวัตถุทั้งหมด ที่ได้จากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

หมายเหตุ สามารถดูพิธีบวงสรวงบูรณปฎิสังขรณ์ โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์นครศรีรรมราช ได้ที่ https://www.facebook.com/tsammuang/videos/1462869420557191