ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

หนึ่งในปัญหาของลูกหลานโนรา คือ เรื่องของการสืบหาเชื้อสายโนรา การเรียงลำดับเชื้อสาย นับว่าเป็นส่วนที่สำคัญ หากขาดชั้นสักสองหรือสามช่วง การสืบค้นหาความจะมีปัญหาทันที

การนับถือครูหมอโนรา โดยมากจะมีกันในลูกหลานที่มีเชื้อสาย โดยภายในหนึ่งครอบครัว หากบรรพบุรุษในชั้นทวด หรือ เทียด ( พ่อของทวด ) ได้สืบการนับถือครูหมอโนรา ลูกหลานในชั้นถัดมา คือ ชั้นปู่ย่า หรือยายตา ชั้นพ่อหรือแม่ ชั้นลูก และ ชั้นหลาน ก็จะได้มีเชื้อสายสืบทอดกันมาด้วย

การนับเชื้อสายของครูหมอโนรา จะมีการนับแบบเดียวกับสาแหรกสกุลคนโบราณ ที่เรียกกันว่า “ สาแหรก ๘ สกุล ” หรือ ที่เรียกกันในพื้นถิ่นว่า “ ๔ ฝ่าย ๘ สกุล ” ซึ่งประกอบด้วย

ฝ่ายปู่ = สกุลพ่อของปู่ ( ทวดชาย ) และ สกุลแม่ของปู่ ( ทวดหญิง )
ฝ่ายย่า = สกุลพ่อของย่า ( ทวดชาย ) และ สกุลแม่ของย่า ( ทวดหญิง )
ฝ่ายตา ( พ่อเฒ่า / พ่อแก่ ) = สกุลพ่อของตา ( ทวดชาย ) และ สกุลแม่ของตา ( ทวดหญิง )
ฝ่ายยาย ( แม่เฒ่า / แม่แก่ ) = สกุลพ่อของยาย ( ทวดชาย ) และ สกุลแม่ของยาย ( ทวดหญิง )
(เพื่อที่จะเห็นภาพได้ง่าย ๆ ผู้เขียนจึงขออธิบายด้วยแผนผังภาพ ดังต่อไปนี้ ดูภาพแผนผังประกอบ)

จากแผนผังที่ผู้เขียนยกมา การสืบเชื้อสายครูหมอโนราจะมีอยู่สามประเภท คือ

๑. ประเภทแรก บรรพบุรุษชั้นเทียดเป็นโนรา หรือ นับถือครูหมอโนรา แต่มาขาดช่วงในชั้นทวด ( โปรดสังเกตในแผนผัง ไล่จากเทียดมาตามสายทวดคนหัวปี ) ลูกหลานประเภทนี้จะห่างไกลจากครูหมอ อาจกล่าวว่า ไม่เคยพบ ไม่รู้จัก ไม่ทราบว่าตนเองมี จนกระทั่งครูหมอมาทัก มาให้เพท จึงได้เริ่มสืบสาวราวเรื่อง แต่ลูกหลานครูหมอประเภทนี้ จะสืบเรื่องราวได้ยากมาก ๆ เพราะไม่สามารถสืบความเรื่องเชื้อสายโนราจากคนในครอบครัวได้ ต้องไปตามสืบจากพี่น้องของปู่ย่า หรือ คนร่วมสกุลเดียวกับตายาย จึงจะได้ทราบความจริงบ้าง และหลาย ๆ คน ที่ได้ถูกครูหมอ ก็มาจากกรณีแรก เพราะครูหมอต้องการดำรงการนับถือในสายตระกูลไว้ จึงเข้ามาตักเตือนเพื่อให้ลูกหลานอย่าหลงลืม ละเลยการเคารพบูชาครูหมอนั่นเอง

๒. ประเภทสอง คือ นับถือครูหมอโนราอย่างไม่ขาดชั้น เทียดเป็นโนรา ถัดลงมายังทวด ลงมาปู่ย่าตายาย ลงมาพ่อแม่ จนรุ่นลูกรุ่นหลาน นับถือไม่ขาดช่วงขาดตอน ( โปรดสังเกตในแผนผัง ไล่จากเทียดลงมาตามสายทวดคนกลาง ) ลูกหลานโนราประเภทนี้ จะรู้เรื่องความเป็นมาของโนราและครอบครัว รู้เรื่องขนบธรรมเนียมโนราอย่างมาก มีความเข้าใจในโนรามากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนมากตระกูลที่นับถือครูหมอประเภทนี้ จะเป็นตระกูลเก่าแก่ในพื้นที่ มีความเป็นมาของตระกูลที่ชัดเจน สามารถเล่าความเป็นมาเป็นไปได้สมบูรณ์

๓. ประเภทที่สาม คือ นับถือครูหมอ สืบเชื้อสายโนรา แต่เกิดสมรสกับคนธรรมดา หรือ คนที่นับถือครูหมอสายอื่น ๆ ลูกหลานประเภทนี้ จะสืบเรื่องราวได้ไม่ยาก เพราะยังมีคนรุ่นปู่ย่าตายาย หรือ รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ยังรู้เรื่องอยู่ ( โปรดสังเกตแผนผัง ไล่จากเทียด ลงมาตามสายลูกคนเล็ก ) ลูกหลานโนราประเภทที่สาม จะมีบรรพบุรุษเป็นโนราในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น ฝ่ายปู่ ถือครูหมอโนรา ในขณะที่ฝ่ายย่า ฝ่ายตา ฝ่ายยาย ไม่ได้มีเชื้อสาย หรือ ฝ่ายย่า ฝ่ายยายมีครูหมอ ฝ่ายปู่ กับ ฝ่ายตาไม่ได้มีเชื้อสาย หรือ ถือครูหมออย่างอื่น ลูกหลานประเภทนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นลูกหลานเลือดผสม แต่ก็ยังคงเป็นผู้มีสายเลือดโนราอยู่ แต่ในความหลากหลายนั้น ก็ทำได้ลูกหลานประเภทนี้มีหลายครูหมอ หรือที่เรียกกันว่า “ หลายหิ้ง ” ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายปู่ ถือครูหมอหนังตะลุง ฝ่ายย่า ถือครูหมอโนรา ฝ่ายตา ถือครูหมอยา ฝ่ายยาย ถือครูหมอแม่ทาน ( หมอตำแย ) หรือ ฝ่ายปู่ เป็นแขกถือลิเกป่า ฝ่ายย่าเป็นโนรา ฝ่ายตาเป็นครูหมอเหล็ก ฝ่ายยายเป็นคนธรรมดา เป็นต้น ซึ่งลูกหลานประเภทลูกผสม เวลานับถือจึงหลากหลาย บางคนนอกจากฝ่ายโนรา ยังมีฝ่ายจีน ด้วยก็มี ซึ่งในปี ๆ หนึ่ง ลูกหลานในสกุลผสมเหล่านี้ ต้องบูชาครูหมอและบรรพบุรุษกันหลายวาระ แตกต่างไปตามกฎธรรมเรียมที่บรรพชนกำหนดไว้

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการให้เกียรติแก่ฝ่ายเขยและฝ่ายสะใภ้ หากฝ่ายเขยและฝ่ายสะใภ้สืบเชื้อสายครูหมอโนรา เวลาที่จะประกอบพิธีบูชาครูหมอแต่ละครั้ง ก็ต้องมีการเอ่ยถึงครูหมอในฝ่ายของลูกเขยและลูกสะใภ้ด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงไมตรีจิตต่อบรรพชนของฝ่ายคู่ดอง ซึ่งนี้เป็นกุศโลบายในการประสานความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยมีครูหมอโนราเป็นศูนย์กลางสำคัญในการรักษาสายสัมพันธ์เอาไว้