ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ประวัติวัดบูรณารามที่ได้ยกมานี้ เป็นผลงานเขียนของ อ.น้อม อุปรมัย อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรและอดีตครูที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ท่านได้มีผลงานเขียนทางวิชาการหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เรื่องประวัติ วัดบูรณาราม ที่จะหยิบยกมาให้ท่านได้อ่าน

วัดบูรณาราม ตั้งอยู่ในใจกลาง ต.ท่าวัง ย่านใจกลางการค้า เศรษฐกิจในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ถึงวัดบูรณารามจะเป็นวัดเก่าแก่ แต่กลับถูกบดบังด้วยสิ่งปลูกสร้างที่แน่นหนา เรื่องราวความเป็นมาของวัดไม่ควรที่จะถูกละเลย ซึ่ง ท่าน อ.น้อม อุปรมัย ได้เขียนประวัติไว้ดังนี้

#เป็นที่ตั้งหน่วยรบ
ใน พ.ศ. ๒๑๔๑ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระยาศรีธรรมราชเดชะ มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อรับมือข้าศึกที่ยกกองทัพเรือมาจากเมืองยี่หน ( รัฐยะโฮร์ ประเทศมลายู ( มาเลเซียในปัจจุบัน) ) ข้าศึกที่ว่านี้คือพวกโจรสลัดที่รวบรวมคณะเป็นกองโจรใหญ่ เที่ยวปล้นสะดมและโจมตีเมืองต่าง ๆ ทางริมฝั่งทะเลทั่วไป มีหัวหน้าชื่อ “ อุชงตนะ ” ได้แต่งตั้งให้ ลักปะมาหน่า เป็นแม่ทัพยกเข้ามาโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช ในการรบครั้งนั้นทหารฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพออกไปตั้งรับที่ปากน้ำ ปากพญา โดยมี ขุนคำแหงปลักเมือง เป็นหัวหน้า ทหารเจ้าเมืองนครศรี ฯ คาดคะเนกำลังของฝ่ายข้าศึกผิดไป ไม่นึกว่าข้าศึกจะยกมาเป็นขบวนทัพเรืออันมหาศาล เลยถูกตีแตกกระจาย หัวหน้าคือขุนคำแหงตายในที่รบ ณ ที่รอปากพญา แล้วแตกร่นเข้าเมือง ฝ่ายกองทัพโจรสลัดก็รุกไล่เข้ามาจนถึงตีนกำแพงเมือง ฝ่ายอุดรหรือทิศเหนือ ดังนั้นพระยานครศรีธรรมราชเดชะ จึงยกกองทัพออกต่อสู้ข้าศึกด้วยตนเอง โดยมารวมพลตั้งเป็นหน่วยรบขึ้น ณ ที่สาธารณะอันเป็นลานกว้างใหญ่ คือที่ตั้งของวัดบูรณารามเดี๋ยวนี้ เจ้าเมืองนคร ฯ ได้คุมกำลังทหารขับไล่ข้าศึกออกทะเลไป

และเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๔ ได้ข่าวว่าพวกโจรสลัดคณะเดิมจะยกมาปล้นเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระยารามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง และให้ขุนเยาวราชเป็นปลัดเมือง เจ้าเมืองจึงได้เกณฑ์ประชาชนพลเมืองช่วยป้องกันบ้านเมืองในยามคับขัน ให้ขุดคูขวางกั้นข้าศึกมิให้ยกกองทัพเข้าถึงตัวเมืองนคร ฯ เหมือนกับครั้งก่อน โดยสร้างคูเมืองป้องกันเมืองถึง ๒ ชั้น เรียกว่าคูชั้นนอกและคูชั้นใน คูชั้นนอกขุดแยกจากคลองท่าซัก ใกล้กับปากน้ำปากพญาเป็นเส้นตรงไปทางทิศทักษิณไปบรรจบกับแม่น้ำปากนคร ปากทางแยกที่ขุดนั้น เดี๋ยวนี้มีชื่อว่าบ้านศาลาสี่หน้า คูชั้นในนั้นก็ขุดจากลำคลองท่าซักเหมือนกัน แต่ตอนนั้นอยู่ใกล้ตำบลท่าวัง จึงถูกเรียกว่า “ คลองท่าวัง ” ซึ่งความจริงก็เป็นลำคลองสายเดียวกับคลองท่าซัก ขุดตรงไปทางทิศทักษิณเหมือนกัน ไปบรรจบ “ คลองคูพาย ” ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปากนคร คูชั้นในนี้อยู่ห่างจากคูชั้นนอกริมทะเลตะวันออกประมาณหนึ่งโยชน์

ในการตั้งหัวงานขุดคูนั้น เจ้าเมืองให้พลเมืองมารวมพลกันที่ปากทางที่จะเดินออกไปยังที่ขุดก่อนเสมอ แล้วค่อยแยกย้ายกันออกไปขุด ที่รวมพลนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า “ หัวหมฺรอ ” เพราะมีคนมารวมกันมากทุกวันจนกว่าจะขุดคูเสร็จ โดยนัดหมายให้มาพบกันที่หัวหมฺรอ คูชั้นนอกเดี๋ยวนี้กลายเป็นคลอง เรียกว่า “ คลองขุด ” ส่วนคูชั้นในเรียกกันทั่วไปว่า “ คูขวาง ” คูทั้งสองนี้ตั้งอยู่ฝ่ายบูรพาหรือทิศตะวันออกของเมืองนครศรี ฯ

จนมาถึงเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๑ ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และเริ่มต้นรัชสมัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา กองทัพโจรสลัดคณะเดิมมา นำโดยหัวหน้าเองคือ “ อุชงตนะ ” ยกมาโจมตีเมืองนครศรีธรรมราชอีก พระยารามราชท้ายน้ำ ก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดรหรือทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองนคร ฯ บริเวณริมคลองท่าซักเป็นส่วนใหญ่ เป็นระยะมาจนถึงคูขวางชั้น ใน จนถึงชานเมืองตั้งค่ายทหาร ๒ แห่ง คือที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดชุมพูพล ( ร้าง ) เดี๋ยวนี้แห่งหนึ่ง และที่บ้านหัวหมฺรออีกแห่งหนึ่ง เจ้าเมืองแต่งตั้งกองทัพออกต่อสู้กับข้าศึก โดยแต่งเป็นกอง “ เรือหุ้มเรือพาย ” ถือพลประมาณห้าหมื่นเศษ ออกรบกับข้าศึกถึง ๗ วัน ๗ คืน เลือดไหลนองไปทั่วสนามรบ ซึ่งตั้งอยู่ที่ทุ่งหยาม ระหว่างแม่น้ำปากนครกับคลองท่าซัก ทหารทั้งสองฝ่ายรบกันถึงขั้นใช้อาวุธสั้น ไม่ได้พักผ่อนนอนหลับ ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยเพลียอิดโรย จนในที่สุดพระยารามราชท้ายน้ำถึงแก่ความตายในที่รบ ด้วยความอิดโรยอ่อนเพลียจนหมดแรงสิ้นลมหายใจไปเอง จุดที่ตายของพระยารามราชท้ายน้ำ อยู่ตรงทิศใต้ของวัดนาวงเดี๋ยวนี้ เมื่อเห็นข้าศึกอ่อนเพลียซบเซาลงมากแล้ว ขุนพัญจาแม่ทัพส่วนหน้าก็นำทหารออกหักทัพในเวลากลางคืน ตีฝ่ายข้าศึกที่รุกประชิดเข้ามาถึงวัดท่าโพธิ์จนสุดกำลัง หักโหมข้าศึกชนิดสุดแรงเกิดเป็นครั้งสุดท้าย จนข้าศึกแตกพ่ายหนีไม่เป็นกระบวน แต่ก่อนจะหลบหนีลงทะเลไปนั้น ข้าศึกได้จุดไฟเผาวัดท่าโพธิ์จนพินาศสิ้น ฝ่ายพญาแก้วผู้เป็นหลานของพระยารามราชท้ายน้ำก็ได้นำศพพระยารามราชท้ายน้ำมาพักอยู่ที่บ้านหัวหมฺรอ แล้วตั้งการทำพิธีเผาศพกันที่หน้าเมืองเป็นการมโหฬาร สมเกียรติชายชาติทหารของพระยารามราชท้ายน้ำ ผู้ทำการรบจนสุดใจขาดดิ้นแล้ว ภายหลังได้ไปก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำไว้ในวิหารพระธรรมศาลา ในวัดพระมหาธาตุเมืองนคร ฯ ต่อมาทางเทศบาลเมืองนครศรี ฯ ได้ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งว่า “ ถนนรามราชท้ายน้ำ ” ตรงหน้าวัดมุมป้อม ซึ่งทหารของท่านได้ใช้เดินทัพไปตีข้าศึกในครั้งนั้นอีกทางหนึ่งด้วย วีรกรรมของพระยารามราชท้ายน้ำ ยังคงกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอมา จนกระทั่งบัดนี้

สรุปการศึกระหว่าง นครศรีธรรมราช – นครรัฐปลายแหลมมลายูแล้ว อ.น้อม อุปรมัย ได้นำเรื่องราวในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นแกนหลัก โดยการสู้รบระหว่างกองทัพโจรสลัด และ กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช สามารถสรุปให้เข้าใจได้ดังนี้

#ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
กองทัพโจรสลัดปลายแหลม เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๑๔๑ ทัพโจรสลัดนำโดยลักปะมาหน่า ( ลักษมาณา ตำแหน่งนายทัพเรือของชาวมลายู ) ได้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชในการปกครองของพระยาศรีธรรมราชเดชะ ผลการสู้รบ ทัพโจรสลัดบุกมาถึงชานเมือง แต่พระยาศรีธรรมราชเดชะ สามารถขับไล่ออกไปได้

จนกระทั่ง อีก ๓ ปี ถัดมา คือ พ.ศ. ๒๑๔๔ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแต่งตั้งให้พระยารามราชท้ายน้ำ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระยารามราชท้ายน้ำ ได้คาดคะเนไว้ล่วงหน้าว่าการศึกกับโจรสลัดจะต้องเกิดขึ้นในอนาคตแน่ จึงได้ทำการวบรวมกำลังรบ สะสมอาวุธ สะสมกองเรือ กะเกณฑ์ชาวบ้านมาขุดคู ตบแต่งพื้นที่ทางตะวันออกของเมืองนครใช้รับศึกที่จะเกิดขึ้น โดยชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่หัวหมฺรอ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่วัดบูรณารามนั่นเอง

#ปลายรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม
วันเวลาล่วงเลยผ่านไปถึง ๒๗ ปี กองทัพโจรสลัดจากปลายแหลมมลายู ฉวยโอกาสที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยา ยกทัพเข้าโจมตีหัวเมืองทางตอนใต้ของราชอาณาจักรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กองทัพโจรสลัดอุชงตนะ ได้ถูกสกัดกั้นโดยกองทัพของพระยารามราชท้ายน้ำ กองทัพเรือ และ ทัพบกของเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้าผจญศึกกับกองทัพโจรสลัดยาวนานถึง ๗ วัน กระทั่ง พระยารามราชท้ายน้ำเสียชีวิตในที่รบ ส่วนกองทัพโจรสลัด ก็ถูกขุนพัญจา เข้าโจมตีกะทันหัน ทำให้แตกทัพพ่ายศึกหนีไป พระยารามราชท้ายน้ำได้เตรียมการรับมือโจรสลัดไว้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเนิ่นนานนับยี่สิบปีก็ตาม ซึ่งนครศรีธรรมราช ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่โจรสลัดเข้าโจมตี แต่ก็สามารถต้านทานไว้ได้ แสดงถึงการเตรียมพร้อมของบ้านเมือง ที่พร้อมจะเผชิญศึกสงครามเมืองยามมีภัย

#แบ่งที่บ้านหัวหมฺรอให้นายทหาร
กาลเวลาล่วงเลยจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๓ แห่ง ราชวงศ์จักรี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีศักดิ์เป็นเจ้าพระยาและมีเชื้อสายเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ชื่อ “ เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ( น้อย ) ” ได้ยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรีซึ่งตั้งตัวเป็นกบฎ หลังจากตีเมืองไทรบุรีราบคาบแล้วก็กลับมาจัดแจงทำนุบำรุงเมืองนคร ฯ เป็นการใหญ่ ท่านได้แบ่งที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่นายทหารที่ไปร่วมรบปราบกบฎเมืองไทรบุรี โดยให้เข้าถากถางตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง สำหรับในที่ซึ่งเป็นบ้านหัวหมฺรอ ซึ่งเป็นที่รวมคนทั้งพลเรือนและทหารมาก่อนนั้น ก็ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ ในสมัยนั้นท่านจึงแบ่งที่ดินในบริเวณบ้านหัวหมฺรอทางทิศตะวันออกใกล้ทุ่งนาให้แก่นายทหารใกล้ชิดของท่านส่วนหนึ่งด้วย นายทหารดังกล่าวนั้นสืบได้ความว่าเป็นบิดาของ “ เฒ่าช่วย ” เป็นต้นตระกูลของนายบุญส่ง กิจวิบูลย์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนครศรี ฯ และ นายหัน จิตโอภาส นักธุรกิจคนสำคัญของเมืองนครศรี ฯ อยู่ในเวลานี้ ( เวลาในบทความคือ พ.ศ. ๒๕๑๙ )

#สร้างบ้านหัวหมฺรอเป็นวัด
เจ้าพระยานคร ( น้อย ) ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ก่อนหน้าที่จะถึงแก่อสัญกรรมประมาณ ๑๐ ปี ท่านได้บูรณะปฎิสังขรณ์วิหาร ศาลาการเปรียญในวัดหลายแห่ง และได้สร้างที่ตั้งวัดใหม่ขึ้นหลายแห่ง แห่งแรกคือวัดวังตะวันตก ซึ่งเดิมเป็นวังที่ประทับของ “ หม่อมปราง ” ข้าบาทบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงพระราชทานหม่อมปรางให้เจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ขณะที่ตั้งครรภ์ประมาณ ๓ เดือน เจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ) รับหม่อมปรางมาไว้ แล้วตั้งให้อยู่ในฐานะ “ แม่เมือง ” ได้สร้างวังที่อยู่ของหม่อมปรางจนคลอดบุตรคือเด็กชายน้อย ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครน้อย เมื่อมารดาของท่าน คือ หม่อมปรางได้สิ้นอายุขัยไปแล้ว วังของหม่อมปรางก็ว่างลง เจ้าพระยานครน้อยก็ได้ตั้งวัดขึ้น เรียกกันว่า “ วัดวังตะวันตก ” ส่วนบ้านหรือวังของพระบริรักษ์ภูเบศร์ ( ตำแหน่งก่อนหน้าพระยานครน้อยจะรับตำแหน่งเจ้าเมือง ) ซึ่งเดิมตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวังของหม่อมปราง แต่ต่อมามีถนนตัดแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนนั้น พอพระบริรักษ์ภูเบศร์ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยานคร ฯ แล้วที่บ้านหรือวังเดิมของท่านก็ว่างลง เจ้าพระยานคร ( น้อย ) จึงอุทิศบ้านหรือวังเดิมให้เป็นวัดอีกวัดหนึ่ง ชื่อว่า “ วัดวังตะวันออก ” เพื่อที่จะตบแต่งบ้านเมืองให้เหมาะสมสวยงามขึ้น ท่านจึงสร้างที่บ้านหัวหมฺรอที่รกร้างมาก่อน ให้เป็นวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง เรียกชื่อตามบ้านว่า “ วัดหัวหมฺรอ ” ทั้งนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับการตั้งวัดวังตะวันตก และ วัดวังตะวันออก ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๑ เปลี่ยนชื่อจาก “ หัวหมฺรอ ” มาสู่ “ บูรณาราม ”

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในสมัยเจ้าอาวาสวัดหัวหมฺรอชื่อ “ ท่านพระครูกาเดิม ” ท่านได้เปลี่ยนชื่อวัดหัวหมฺรอ เป็นชื่อวัด “ บุณนาราม ” ต่อมา ท่านพระครูไพศาลสาธุกิจ ( เจ้าอาวาสในยุคนั้น ) ท่านได้เปลี่ยนชื่อ “ วัดบุญนาราม ” ให้เป็นวัด “ บูรณาราม ” เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ และยังคงใช้กันมาตลอดจนกระทั่งถึงทุกวันนี้