ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๘
ชาวชมพูทวีป จากจักรวรรดิโมริยะ เริ่มเข้ามาแสวงโชค หาทรัพยากรจากสุวรรภูมิไปค้าขายยังชมพูทวีป โดยเดินทางมาตามลายแทงในคัมภีร์มหานิเทศ และ คัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งผู้ที่เข้ามาในสุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นพ่อค้า ( ไวศยะ / แพทย์ ) และ ชนชั้นแรงงาน ( ศูทร ) เป็นส่วนใหญ่ ในระยะแรกนี้ พราหมณ์จะเข้ามาน้อย เพราะหมู่บ้านชาวชมพูทวีปในสุวรรณภูมิยังไม่มีมากนัก

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๐
ชาวชมพูทวีปจากนครรัฐต่าง ๆ ได้มาปักหลักตามอาณาจักรต่าง ๆ ของสุวรรณภูมิ โดยตั้งชุมชน หรือ นิคมของกลุ่มตนขึ้น และเพื่อที่จะสะดวกต่อการประกอบพิธีทางศาสนา จึงได้มีการเชิญพราหมณ์มายังสุวรรณภูมิ เป็นเหตุให้พราหมณ์จากอนุทวีปอินเดีย เดินทางมายังดินแดนแห่งทองคำ โดยพราหมณ์กลุ่มแรกที่เข้ามา คือพราหมณ์ฝ่ายไวษณพนิกาย ที่มีสำนักหลักอยู่ที่หัวเมืองริมทะเล เช่น นครรัฐปัลลวะ นครรัฐคุปตะ เป็นต้น

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑
พราหมณ์ฝ่ายไวษณพนิกายมีอิทธิพลเต็มในสุวรรณภูมิ โดยสามารถเข้าถึง ชนชั้นปกครองบ้านเมืองโดยตรง จึงทำให้ปรากฎเทวรูปพระวิษณุจำนวนมาก ตั้งแต่เมืองออกแก้ว ทางตะวันออกสุดของกัมพูชา จรดบ้านพงตึก ที่กาญจนบุรี และมีการพบพระวิษณุกับพระกฤษณะที่ศรีเทพ และพบพระวิษณุที่โบราณสถานเขาพระเหนอ จ.พังงา แสดงถึงอิทธิพลของพราหมณ์ฝั่งไวษณพนิกาย ที่รุ่งเรืองและแผ่ขยายเต็มที่ จึงเป็นต้นเหตุให้พราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย ต้องเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาบ้าง ( อ้างอิงจากเทวรูปพระวิษณุ ที่ค้นพบจากกลุ่มโบราณสถานในข้างต้น )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒
พราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย โดยเฉพาะไศวนิกายฝ่ายใต้ ที่รู้จักกันดีในนามนิกาย ปาศุปตะ ที่ก่อตั้งนิกายโดยละกุลีศะ สนับสนุนให้พราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกายเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในสุวรรณภูมิ มีกลุ่มผู้ศรัทธาที่เป็นพ่อค้า นำพาพราหมณ์ไศวะนิกายปาศุปัตลงเรือ ( อ้างอิงการเดินทางเข้ามาของพราหมณ์ไศวะ จากจารึกหุบเขาช่องคอย จ.นครศรีธรรมราช ) เดินทางไปยังชวา เขมร จามปา และ สุวรรณภูมิ โดย กลุ่มพ่อค้าไศวะนิกายเหล่านี้ ได้นำพาพราหมณ์ไศวะนิกายเข้าถึงผู้ปกครองของอาณาจักร จึงทำให้การวางรากฐานของพราหมณ์ไศวะนิกายเติบโตเร็วกว่าไวษณพนิกาย

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓
พราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย ได้ลงหลักปักฐานที่ชวา เขมร จามปา รวมถึงสุวรรณภูมิ ได้สำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองพื้นถิ่น จึงทำให้พราหมณ์ฝ่ายไศวะใช้เวลาไม่กี่ปีในการสร้างศาสนสถาน และสร้างรากฐานของตน โดยพราหมณ์ฝ่ายไศวะในดินแดนทางตอนใต้ของสุวรรณภูมิ ได้สถาปนาศิวาลัยของตนขึ้น ที่ เขาคูหา อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ ที่ เขาคา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช สร้างอาณาเขตดินแดนอิทธิพลทางตะวันออกของอาณาจักรทะเลใต้ ให้กลายเป็นไศวะจนหมดสิ้น ( อ้างอิงจาก กลุ่มโบราณสถานไศวะนิกายในภาคใต้ฝั่งตะวันออก )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔
การก่อสร้างศาสนสถานในพราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย ได้เจริญทางตะวันออกของภาคใต้ โดยมี โบราณสถานเขาคา และ โบราณสถานเขาคูหา เป็นศูนย์กลางของฝ่ายไศวะ และ พราหมณ์ฝ่ายไวษณพนิกาย ได้เจริญทางตอนเหนือ และทางตะวันตกของภาคใต้ มีศูนย์กลางที่นครศรีโพธิ ( ไชยา ) และ ตักโกลา ( พังงา ) และในยุค พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ นี้ อิทธิพลของพราหมณ์ไศวะนิกายเจริญรุ่งเรืองมากในสุวรรณภูมิ หลาย ๆ อาณาจักร ได้ยกให้ไศวะนิกายเป็นศาสนาประจำอาณาจักร เช่น เขมร ( อาณาจักรพระนคร ) ชวา จามปา เป็นต้น และในระยะนี้เอง ได้มีการเข้ามาของพุทธศาสนา โดยปรากฎการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างพราหมณ์กับพุทธ ( อ้างอิงจาก จารึกวัดมเหยงค์ หลักที่ ๒๗ )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
กลุ่มพ่อค้าจากอาณาจักรปัลลวะ ได้เข้ามาตั้งสมาคมที่เมืองตักโกลา นำเอาเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ศิลปะปัลลวะ พร้อมเทวรูปบริวารมายังเมืองตักโกลา เพื่อสถาปนาความเป็นไวษณพนิกายแข่งกับกลุ่มไศวะนิกายในฟากบูรพาทิศ ( อ้างอิงจากจารึกศิลาที่พบที่เขาเมือง ตะกั่วป่า ) ซึ่งในยุคนี้ การแข่งขันระหว่างไศวะและไวษณพเริ่มรู้ผลแพ้ชนะแล้ว ฝ่ายไวษณพอ่อนกำลังลง แต่ทางไศวะเองก็ไม่สามารถเอาชนะเด็ดขาดได้ และในช่วงร้อยปีตรงนี้เอง ที่พุทธศาสนานิกายมหายาน ได้ถูกสนับสนุนให้ขึ้นมาแทนที่ศาสนาพราหมณ์ โดยการนำของมหาราชศรีวิชัยพระนามว่า “ สุชิตราชา หรือ ชีวกราช ”

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖
พุทธศาสนานิกายมหายานได้เจริญรุ่งเรืองแทนที่ศาสนาพราหมณ์ทั้งสองนิกาย ส่งผลให้เขาคา มหาศิวาลัยแห่งคาบสมุทรต้องรกร้างลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา แต่พุทธศาสนานิกายมหายานรุ่งเรืองในศรีวิชัยได้ไม่กี่สิบปีก็ต้องเผชิญกับภัยสงครามที่นำโดย พระเจ้าราเชนทร์โจฬะ พระองค์ทรงนำทัพชาวทมิฬเข้าโจมตีศรีวิชัยจนพินาศ โดยในภาคใต้ ได้ปรากฎเทวรูปพระวิษณุศิลา และ เทวรูปพระวฎุกไภรวะ ศิลปะโจฬะ ที่โบราณสถานเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ยืนยันการมีอิทธิพลของโจฬะเหนือดินแดนคาบสมุทรแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีจารึกที่กล่าวถึงพราหมณ์เป็นภาษาทมิฬ อายุ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ( ก็คือ จารึกหลักที่ ๒๙ พบที่วัดพระมหาธาตุ )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗
ทางด้านศรีวิชัย หลังจากที่กู้อิสรภาพกลับมาได้ ก็เร่งทำนุบำรุงพุทธศาสนานิกายมหายาน แทนที่ศาสนาพราหมณ์ ทางด้านชวา ได้มีการผสมศาสนาระหว่างพุทธมหายาน และ ไศวะนิกาย จนเป็นลัทธิ ศิวะ – พุทธะ ส่วนทางอาณาจักรพระนคร ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น หลังสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ราชวงศ์ของพระองค์ดำรงต่อไปไม่นาน ก็ถูกราชวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่นับถือไวษณพนิกาย และ พุทธศาสนาแบบวัชรยานโค่นล้มราชวงศ์เสีย แล้วเปลี่ยนจากไศวะนิกาย เป็นไวษณพนิกายแทน ( มหาปราสาทนครวัดเป็นไวษณพนิกาย )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘
พุทธศาสนานิกายวัชรยาน ได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ในสุวรรณภูมิ จรดมวลหมู่เกาะสุมาตรา ทำให้ศาสนาพราหมณ์ลดบทบาทลงอย่างมาก จนกระทั่งหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสวรรคต นครรัฐต่าง ๆ ล้วนพากันยกเลิกพุทธศาสนานิกายวัชรยาน แล้วหันไปนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาแทน ศาสนาพราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย ที่หวังว่าจะฟื้นฟูอำนาจอีกครั้ง ก็มีอันต้องล้มลง เนื่องจากการเข้ามาของพุทธเถรวาท อันเป็นที่นิยมอย่างใหม่ในหมู่อาณาจักรแถบสุวรรณภูมิ

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙
ความนิยมในพุทธศาสนาเถรวาทได้เป็นที่นิยมของชนทุกชั้น จึงทำให้ศาสนาพราหมณ์ลดบทบาทลง จากที่เคยมีอำนาจเหนือการเมือง การปกครอง ก็มีอำนาจจำกัดเหลือเพียงแค่ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา และในยุค นี้เอง ที่พราหมณ์ผแดงธรรมนารายณ์ นำพราหมณ์จากชมพูทวีป มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา จนพระเจ้าอู่ทองทรงพระราชทานที่ให้พราหมณ์จากอินเดียใต้เหล่านี้ ไปตั้งรกรากที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นการฟื้นฟูพราหมณ์ยุคหลังศรีวิชัยล่มสลายอีกครั้ง ( อ้างอิงจากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ) ในทางนครรัฐสุโขทัย ได้มีการสร้างเทวาลัยมหาเกษตร หรือ เทวาลัยเกษตรพิมาน สำหรับเป็นเทวาลัยพราหมณ์ประจำเมือง ( อ้างอิงจาก ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐
กลุ่มพราหมณ์ที่มาจากอินเดีย ได้กระจายตัวกันอาศัยในแถบคาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง และ สงขลา มีพราหมณ์อาศัยอยู่ ทำรับราชการเป็นพราหมณ์ประจำเมือง โดยมีกลุ่มพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นพราหมณ์กลุ่มใหญ่ที่สุด อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหาราชครูพราหมณ์แห่งกรุงศรีอยุธยาโดยตรง ซึ่งพราหมณ์เมืองนคร ฯ มีพร้อมสรรพทั้งหอพระอิศวร หอพระนารายณ์ โบสถ์พราหมณ์ และ เสาชิงช้า ( อ้างอิงจากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ) แต่การนับถือศาสนาพราหมณ์ยังไม่หายไปจากลุ่มเจ้าพระยาทีเดียว เพราะยังปรากฎการสร้างเทวรูปพระอิศวร และเพทเจ้าในศาสนาพราหมณ์อยู่ ( อ้างอิงจาก จารึกฐานเทวรูปพระอิศวร กำแพงเพชร )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
เกิดการรวมตัวระหว่างพราหมณ์ทั้งสองนิกาย คือ ไศวะนิกาย และ ไวษณพนิกาย ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีราชสำนักและประกอบพิธีต่อบ้านเมือง ความเชื่อเรื่องศาสนาพราหมณ์ ได้มีการผสมผสานกับพุทธศาสนา จนเป็นที่มาของโองการชนิดต่าง ๆ ที่นำเอาเทพในศาสนาพราหมณ์ ผสมกับคติทางพุทธศาสนา ในยุคอยุธยาตอนกลาง พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานคุ้มกันไม่ให้ไปออกราชการสงครามสองครั้ง คือใน รัชสมัยสมเด็จพระชัยราชา และ รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( อ้างอิงจากตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
ในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเทวาลัยหรือโบสถ์พราหมณ์ จากเดิมที่อยู่ที่ศาลพระกาฬ ( ในพงศาวดารเรียก เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระนารายณ์ ) สี่แยกตระแลงแกง ใจกลางพระนคร ไปยังบริเวณบ้านชีกุน ( อ้างอิงจาก พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ) และในยุคของพระเจ้าปราสาททองนี่เอง ที่พราหมณ์ศิริวัฒนะจากอินเดีย เข้ามารับราชการ จนได้รับตำแหน่งเป็นพระมหาราชครูแห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในศาสนาพราหมณ์มาก โปรดให้ทรงสร้างเทวรูปพระอิศวร และ พระพิฆเนศไว้หลายองค์ ประดิษฐานไว้ที่ เทวสถานบ้านชีกุน ( พงศาวดารเรียกเทวสถานบ้านชีกุนว่า อารามพระศรีรุทรนาถ ) นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชอีกด้วย ( อ้างอิงตามตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช และ พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ) ต่อมาในรัชสมัยของพระเพทราชา พระองค์ทรงเริ่มสนับสนุนพุทธเถรวาทมากกว่าพราหมณ์ สังเกตได้จากงานพุทธศิลป์แบบบ้านพลูหลวงที่แพร่กระจายในภาคกลางและภาคใต้

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
สถานการณ์พราหมณ์ในยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงแก่การซบเซา เนื่องจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงสนับสนุนพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ไม่ได้ลดบทบาทของพราหมณ์ในด้านพิธีกรรมแต่อย่างใด ยังคงให้พราหมณ์ยังคงทำพิธีที่เทวสถานบ้านชีกุนต่อไป และในทางคณะพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพระเวทสำหรับการประกอบพิธีกรรม ( อ้างอิงตามตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓
เมืองนครศรีธรรมราช ได้เกิดขาดแคลนพราหมณ์สำหรับประกอบพิธี มีแต่พราหมณ์ที่เป็นพ่อค้า จึงทำให้พระครูพิเชษฐโหรดาจารย์ พระครูพราหมณ์ในราชสำนักต้องส่งจดหมายไปยังขุนพรหมสุทธิชาติราชปโรหิต ประมุขพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้น ให้ช่วยเฟ้นหาเชื้อสายพราหมณ์มาบวชพราหมณ์ และกำชับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ให้ช่วยเอาใจใส่พราหมณ์เมืองนคร ( อ้างอิงตามตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ) แต่ไม่ทันจะดำเนินการ กรุงศรีอยุธยาก็ประสบเหตุภัยสงคราม จนถึงเสียกรุงในที่สุด

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔
หลังจากพ้นผ่านภัยสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพราหมณ์ชาวนาฬิวันจากสุโขทัย มีตำแหน่งเป็น พระครูสิทธิชัย ได้กราบทูลขอต่อ รัชกาลที่ ๑ ให้ทรงสถาปนาโบสถ์พราหมณ์ขึ้นสำหรับพระนคร เป็นการฟื้นศาสนาพราหมณ์ โดย รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์จากหัวเมืองนครศรีธรรมราช พราหมณ์จากพัทลุง และ พราหมณ์จากเพชรบุรี มาเป็นพราหมณ์ประจำเทวสถานสำหรับพระนคร ( อ้างอิงจาก ประวัติเทวสถานโบสถ์พราหมณ์พระนคร )

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕
หลังจากที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปฎิรูปประเทศ ยกเลิกระบบเจ้าเมือง ส่งผลให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา ตรัง สงขลา เพชรบุรี ไม่สามารถให้การอุปถัมภ์แก่คณะพราหมณ์ได้ ทำให้คณะพราหมณ์บางส่วนต้องขึ้นไปพำนักที่เทวสถานสำหรับพระนคร และพราหมณ์ที่ยังคงอาศัยในพื้นที่ ก็ต้องรับประกอบพิธีให้ชาวบ้านเพื่อประทังชีพ ในยุครัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงศึกษาเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ผ่านปกรณัมอินเดียที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เกิดการเปลี่ยน แปลงการปกครอง ทำให้คณะพราหมณ์ถึงยุคตกต่ำที่สุด

ยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ( ปัจจุบัน )
หลังการเสวยราชสมบัติของพระภัทรมหาราช ( รัชกาลที่ ๙ ) พราหมณ์พระนครจึงได้กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง โดยมีการริเริ่มทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปี และพราหมณ์ก็ได้มีการฟื้นฟูมาตามลำดับ จนถึงราวปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อได้เกิดปรากฎการณ์เทวรูปดื่มนมทั่วโลก ได้เกิดกระแสหันกลับไปนิยมเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ประกอบกับเมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา ได้มีชาวอินเดียเข้ามาตั้งการค้าในประเทศไทยมากมาย ได้ทำให้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ผ่านพิธีกรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ ได้ทำให้เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เป็นที่นับถือในปัจจุบัน