ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#การใช้ฉัตรในราชวัตรประกอบพิธีกรรมต่างๆ
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ฉัตร คือ เครื่องสูง หรือ เครื่องแสดงเกียรติยศชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายร่ม ซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ โดยชั้นที่เล็กที่สุด จะอยู่ด้านบนสุด และชั้นที่ใหญ่สุดจะอยู่ด้านล่างสุด โดยฉัตรนั้น มีทั้งแบบใช้แขวน ใช้ตั้ง และ ใช้ในขบวนแห่ ซึ่งแต่เดิมแล้ว “ ฉัตร ” มีที่มาจาก “ สัปทน ” หรือ “ ร่ม ” ที่ทำจากผ้า สำหรับกางกั้นให้แก่ชนชั้นสูง และเทวรูปองค์สำคัญ ภายหลังได้มีการเพิ่ม “ ระดับชั้น ” ขึ้นเพื่อแสดงความสำคัญ และ บ่งบอกฐานะของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งฉัตรที่ใช้กันในประเทศไทยนั้น มีระดับชั้นของฉัตรตั้งแต่ ๓ ชั้น , ๕ ชั้น , ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น ซึ่งแต่ล่ะชั้น มีความหมายคร่าว ๆ ดังนี้คือ

– เศวตรฉัตร ๙ ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว โดยมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ คือผู้ยิ่งใหญ่ในท่ามกลาง หรือ ทิศกลาง มีพระบรมเดชานุภาพกว้างไกลทั้ง ๘ ทิศ จึงมีการใช้ฉัตร ๙ ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ โดยมี “ พระนพปฎลมหาเศวตรฉัตร ” เป็นพระมหาเศวตรฉัตรตั้งเหนือพระราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และในพระราชพิธีใดที่สำคัญระดับประเทศ เราก็มักจะได้เห็น พระนพปฎลมหาเศวตรฉัตรอยู่เสมอ

– เศวตรฉัตร ๗ ชั้น หรือ พระสัปตปฎลเศวตรฉัตร เป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่มิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก , สมเด็จพระบรมราชินี , พระอัครมเหสี , สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช , สมเด็จพระยุพราช , สมเด็จพระบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นพิเศษ ซึ่งฉัตร ๗ ชั้นนี้ แต่เดิมจะหมายถึง องค์มหาอุปราช พระอัครมเหสี หรือ เชื้อพระวงศ์ที่มีฐานันดรศักดิ์รองมาจากพระเจ้าแผ่นดิน ในปัจจุบัน พระสัปตปฎลเศวตรฉัตร หรือ พระบวรเศวตรฉัตร จึงเป็นเครื่องสูง ประกอบพระยศของพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่มีพระยศเสมอด้วยองค์พระมหาอุปราชในยุคโบราณ

– เศวตรฉัตร ๕ ชั้น หรือ เบญจปฎลเศวตรฉัตร สำหรับพระอัครราชเทวี พระอัครชายา พระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( กรมพระราชวังหลัง ) และ สมเด็จพระสังฆราช ที่ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงจะมีการใช้ฉัตร ๕ ชั้น สำหรับประกอบพระเกียรติยศของแต่ละพระองค์ท่าน

– เศวตรฉัตร ๓ ชั้น เป็นของสมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขฝ่ายสงฆ์ของประเทศไทย

และเมื่อได้อธิบายความหมายของพระเศวตรฉัตรในแต่ล่ะระดับชั้นแล้ว ทีนี้ก็จะขออธิบายการใช้ฉัตรในราชวัตรบ้าง เพราะการใช้ราชวัตรในพิธีกรรมต่าง ๆ นั้น หมายถึงการประกาศอาณาเขต ขอบเขตของพิธีแล้ว ยังเป็นการระบุให้ทราบโดยนัยด้วย ว่าจะเป็นพิธีทำให้แก่ผู้ใด ผู้ที่เป็นหลัก หรือ เป็นผู้ได้รับกระทำพิธีนั้น อยู่ในระดับใด จึงของใคร่ชี้แจงความหมาย การใช้ระดับชั้นของฉัตรในราชวัตรดังนี้

– ฉัตร ๙ ชั้น หมายถึง พระมหากษัตริย์ บูรพกษัตริย์ และ เทพเจ้าชั้นสูง
– ฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง พระราชวงศ์ตั้งแต่อุปราชลงมา และ เทพเจ้าชั้นสูง
– ฉัตร ๕ ชั้น หมายถึง เหล่าพระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสำคัญ
– ฉัตร ๓ ชั้น หมายถึง สมเด็จพระสังฆราช และ ผู้มียศศักดิ์

โดยทั่วไปแล้ว การใช้ฉัตรประดับราชวัตร จะต้องดูความเหมาะสมของพิธีกรรมด้วย ว่าได้ใช้ในการบวงสรวง หรือ ใช้ประกอบพิธีแก่ผู้ใด ไม่สามารถที่จะใช้ตามอำเภอใจได้ เพราะนอกจากจะแสดงถึงความไม่รู้จริงของผู้ประกอบพิธีแล้ว ยังเป็นการเสียมารยาทต่อผู้เป็นหลักในพิธีกรรมอีกด้วย ซึ่งการใช้ฉัตรนั้น จะต้องคำนึงถึงจุดนี้พอสมควร จึงจะใช้ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนประเพณีแต่โบราณ

หมายเหตุ บทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้ว เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑