ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

พระยารามเดโช ( ชู หรือ หวาน ) หนึ่งในขุนศึกคู่พระทัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชาติกำเนิดเป็นชาวเมืองไทรบุรี ( เคดาห์ ) ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พร้อมด้วย พระยายมราช ( สังข์ ) , พระยาราชวังสัน ( ฮัสซัน ) , พระเพทราชา ( ทองคำ ) , พระโกษาธิบดี ( เหล็ก ) ซึ่งมหาดเล็กเหล่านี้ ต่างเป็นข้าในสังกัด ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารทั้งสิ้น ได้ร่วมกันกระทำการ ให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นกำลังสำคัญในการขยายพระราชอำนาจของราชอาณาจักรศรีอยุธยาให้กว้างไกล โดยเมื่อครั้งต้นรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระราชโองการ ให้ พระยาโกษาธิบดี ( ขุนเหล็ก ) พร้อมด้วย พระยารามเดโช พระยาสุรสงคราม และ พระยาสีหราชเดโช ยกทัพไปขับไล่ทัพราชอาณาจักรอังวะออกจากเชียงใหม่ ด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง ได้ทำให้กองทัพอังวะนั้นล่าถอยกลับไป พระเจ้าเชียงใหม่ขอเป็นพระราชไมตรี ทำให้ในยุคนั้น กรุงศรีอยุธยา มีอำนาจเกรียงไกรอย่างมาก

เนื่องจากพระยารามเดโชเป็นขุนนางมุสลิมชาวไทรบุรี เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับหัวเมืองอิสระทางใต้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงไว้วางพระทัย ให้เป็นแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยา ในการบุกโจมตี “ นครสิงขร ” ( เพี้ยนจากคำว่า ซิงคอรา จนเป็น คำว่า สงขลา ในปัจจุบัน ) รัฐอิสระที่สถาปนาโดยสุลต่านสุไลมาน ชาห์ โดยใช้กำลังทางทหารจากทั้งกรุงศรีอยุธยา และ เมืองนครศรีธรรมราช ทั้งทัพบก และ ทัพเรือ ในการโอบล้อมโจมตีเมืองสิงขรหัวเขาแดง การต่อสู้ระหว่างทัพกรุงศรีอยุธยา กับ ทัพนครสิงขรนั้นรุนแรงมาก ถึงขนาดเมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาบุกเข้าเมืองแล้วถึงกับเผาเมืองทิ้งจนราบคาบ กองทัพที่นำโดยพระยารามเดโช ( หวาน หรือ ชู ) ได้กวาดต้อน เจ้าชายมุสตาฟา พร้อมด้วยบริวารไปปกครองเมืองไชยา และ ให้เจ้าชายฟาเพริชี น้องชายของสุลต่านสงขลา ครองเมืองไชยบุรีที่พัทลุง จากการที่พระยารามเดโชปราบรัฐนครสิงขรได้สำเร็จ ส่งผลให้เจ้าพระยาขุนศึกผู้นี้ กลายเป็นขุนนางที่มีอำนาจเต็มในภาคใต้ในทันที

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแต่งตั้งให้พระยารามเดโช ( ชู หรือ หวาน ) และ พระยายมราช ( สังข์ ) ขุนศึกคู่พระทัย ไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และ เมืองนครราชสีมา เป็นขุนศึกควบคุมดินแดนห่างไกลต่างพระเนตรพระกรรณ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การขับเคี่ยว แย่งชิงอำนาจระหว่าง ออกพระเพทราชา กับ ออกญาวิชเยนทร์ ได้เข้มข้นทวีขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรหนัก ออกพระเพทราชา กับ หลวงสรศักดิ์ บุญธรรม ได้ฉวยโอกาสนี้ นำขุนนางในสังกัดตนเข้าควบคุมราชสำนัก จับกุมตัวออกญาวิชเยนทร์ไปประหาร และ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว ตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อสองพระยาขุนศึกในสมเด็จพระนารายณ์ได้ข่าว ก็พากันโกรธทั้งคู่ ไม่ยอมไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่กรุงศรีอยุธยา ทำให้สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม ( พระราชทินนามของพระเพทราชาเมื่อทรงราชาภิเษกแล้ว ) ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก มีราชโองการให้พระยาสีหราชเดโชคนใหม่ยกทัพไปตีเมืองนครราชสีมาให้จงได้ กองทัพกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาถึงสองปีจึงจะสามารถปราบเมืองนครราชสีมาลง แต่พระยายมราช ( สังข์ ) พร้อมสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งได้หลบหนีลงไปทางหัวเมืองปักษ์ใต้ได้สำเร็จ จึงทำให้สมเด็จพระมหาบุรุษ ฯ ทรงกริ้วพิโรธยิ่งกว่าเก่า ได้โปรดให้ พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระยาสุรเสนาเป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง พระยาราชวังสันคุมทัพเรือ ยกทัพลงไปสมทบกันที่เมืองไชยา

กองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพไปยังบ้านท่าข้าม ( ปัจจุบันคือที่ ควนสราญรมย์ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ) สถานที่ อันพระยายมราชสังข์ตั้งชุมนุมก่อกบฎต่อเมืองหลวง กองทัพหลวงเข้าโจมตีเป็นเวลาหลายวันจนกระทั่งค่ายหัวควนท่าข้ามแตก พระยายมราช ( สังข์ ) พร้อมลูกน้องทั้งหมดเสียชีวิตในสมรภูมิ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกพลทั้งทัพบกและทัพเรือ เข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพระยารามเดโช พร้อมด้วยบุตรชายทั้งสอง คือ ตวนกูนาด ( ทวดหน้าศพ ) และ ตวนกูกลาย ( ทวดกลาย / ท่านกลาย ) เป็นขุนพลออกประจัญบานกับทัพจากกรุงศรีอยุธยา การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด กองทัพเมืองหลวง ก็ยากที่จะเอาชนะกองทัพเมืองนคร กองทัพเมืองนคร ก็มิอาจเอาชัยชนะ ขับไล่กองทัพเมืองหลวงไปได้ สงครามยืดเยื้อยาวนานถึงสามปี ในที่สุด กองทัพของกรุงศรีอยุธยาได้ปิดล้อมเมืองนครศรีธรรมราชไว้ทุกด้าน ทำให้กองทัพฝ่ายนครอ่อนแรงลง จนกระทั่ง พระยารามเดโช ได้ปรึกษากับบุตรชายทั้งสอง คือ ตวนกูนาด และ ตวนกูกลาย รวมถึงเจ้านายนอกหน้า ที่เป็นบุตรสาว ตลอดจนขุนพลที่เหลืออยู่ ว่าเราจะแยกกันตีฝ่าวงล้อมหลบหนี โดยพระยารามเดโชหนีไปทางตะวันออก ส่วนบุตรธิดาทั้งสามให้หนีไปทางตะวันตก เมื่อนัดแนะแผนการกันเสร็จ พระยารามเดโช กับ บุตรทั้งสาม จึงแยกกันพาไพร่พลหลบหนี

พระยารามเดโชยกพวกทหารฝีมือดีที่สุดออกไปทางตะวันออก ต่อสู้กับทหารกองเรืออาสาจามของพระยาราชวังสัน และได้ชิงเอาเรือลำหนึ่งไปจากทัพเรืออยุธยาหนีกลับไปยังไทรบุรีได้สำเร็จ การที่พระยารามเดโชหนีไปได้นั้น พระยาราชวังสัน ( ฮัสซัน ) ถูกพระยาสุรสงครามแม่ทัพหลวง จับได้ว่าเต็มใจเปิดทางหนีให้ศัตรู จึงจัดการพาไปประหารชีวิตเสียที่เมืองนคร ฯ ส่วนตวนกูนาด ตวนกูกลาย เจ้านายนอกหน้า ได้หลบลี้หนีภัยขึ้นไปยังกรุงชิง ยึดครองเอาลุ่มน้ำกลายทั้งหมดเป็นที่อาศัย แต่ก็มีสายข่าวไปส่งข่าวให้กับเจ้าเมืองนคร ฯ คนใหม่ เจ้าเมืองคนใหม่ ฯ จึงส่งกองทัพมากวาดล้าง ตวนกูนาด และ ตวนกูกลาย สิ้นชีพในที่รบ ส่วนเจ้านายนอกหน้านั้น ปรากฎว่าท่านได้เสียชีวิตเนื่องจากคลอดบุตรไม่ออกที่บ้านกรุงนาง ชาวบ้านจึงพาศพของท่านไปฝังไว้ข้าง ๆ หลุมศพของตวนกูนาดผู้เป็นพี่ชาย

ถึงแม้ว่าชะตากรรมสุดท้ายของพระยารามเดโช ขุนศึกคู่พระทัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะจบลงด้วยความโศกเศร้า แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความภักดีอย่างเหนี่ยวแน่น และ ความเป็นชาตินักรบ ของขุนศึกชาวมุสลิมที่เคยปกครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้เป็นที่กล่าวขานกันยาวนานสืบไป