ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ตาขุนลก (หลิมยี่กุน) ขุนนางผู้อุปัฏฐากการบรรพชาหลวงพ่อทวดและผู้มีคุณูปการต่อระบบการทำนาเมืองนครศรีธรรมราช
ภูมิ จิระเดชวงศ์

ตาขุนลก เป็นขุนนางในกรมนาเมืองนครศรีธรรมราช ในยุคสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ จนถึงต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นผู้อุปัฏฐากการบรรพชาของเจ้าสามีราม ( หลวงพ่อทวด ) ที่บวชแบบอุทกสีมาที่ วัดท่าแพ จนปรากฏความดั่งที่ทราบในประวัติของหลวงพ่อทวดแล้วนั้น สำหรับประวัติของท่าน เท่าที่สืบความได้ พบว่าท่านเป็นชาวมณฑลฝูเจี้ยน ( ฮกเกี้ยน ) ที่ได้อพยพมาแสวงโชคในต่างแดน ตามความนิยมของชาวจีนที่มีถิ่นฐานใกล้กับท้องทะเล สันนิษฐานว่า ท่านคงเข้ามาปักหลักค้าขาย ในเมืองนครศรีธรรมราช ราวสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ตามที่ปรากฏในตำนานหลวงพ่อทวด ได้รับราชการในที่กรมนา และ เป็นเจ้าสัวคนสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๒๐๖ หรือ ปีที่ ๘ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตาขุนลกก็ได้ถึงแก่กรรมลง

ตาขุนลก เป็นบุคคลแรก ที่นำเข้า “ จอบหัวหมู ” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ เปาะ ” มาใช้ในงานเกษตรของเมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้น ทั้งยังสนับสนุนให้ชาวบ้าน ใช้จอบหัวหมูในการทำนา แต่งร่องน้ำเข้านา พรวนดินในที่ ๆ มีน้ำขัง ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การทำนาในบริเวณเมืองนครศรีธรรมราชอย่างมาก จึงทำให้นามของ ตาขุนลก เป็นที่นับถือกันมาตลอดสามร้อยกว่าปี โดยชาวบ้านแถบมะม่วงสองต้น หลังศาลากลางเมืองนคร ฯ จะออกชื่อตาขุนลกทุกครั้งในการทำนา ไม่ว่าจะทำไร่ไถนา หรือ ลงสวนก็ตาม เมื่อถึงเวลากลางวัน ชาวสวนชาวไร่ก็จะแบ่งอาหารอย่างล่ะนิดล่ะหน่อยใส่ใบไม้ กล่าวเชิญตาขุนลกให้มารับเครื่องบูชา เพื่อขอพรอันดีในการทำการเกษตรและไร่สวน

และเมื่อตาขุนลกได้สิ้นบุญลง ในปี พ.ศ. ๒๒๐๖ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าคังซีปีที่ ๖ ตามจารึกบนป้ายหลุมศพ ชาวบ้านก็นับถือตาขุนลก ที่มีฮวงซุ้ยฝังอยู่ที่ตำบลมะม่วงสองต้นขึ้นเป็น “ ทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ ” ประจำท้องนาทุ่งปรัง มีกลุ่มสานุศิษย์ผู้นับถือ เป็นสมาคมชาวจีนในยุคสมัยนั้น ได้มีการสร้างศาลเจ้าที่บริเวณตลาด วัดสพ แกะสลักรูปตาขุนลกจำลองด้วยแก่นไม้จันทน์ขึ้น พร้อมกับรูปเคารพองค์อื่น ๆ ประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวจีนถิ่นฮกเกี้ยน ที่มีการทรงเจ้า ลุยไฟ แห่รูปสลักตาขุนลกไปทำพิธีเซ่นไหว้ประจำปีกันที่ฮวงซุ้ยของท่านที่บ้านมะม่วงสองต้น แต่ภายหลังกิจการศาลเจ้าตาขุนลกได้ซบเซาลง และขาดคนสืบทอด จึงทำให้รูปเคารพตาขุนลก และรูปเคารพอื่น ๆ ถูก นำไปประดิษฐานที่ศาลพระเสื้อเมือง (ตลาดท่าชี) อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มาจนถึงปัจจุบัน

ตาขุนลก นับว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อการทำนาในเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับความเคารพนับถือมาตลอดสามร้อยกว่าปี สมควรที่จะยกย่องเชิดชู และ ยึดเอาธรรมที่ท่านประพฤติ มาเป็นแบบอย่างในการดำรงตนในสังคม จะเกิดความรุ่งเรือง และผาสุกขึ้นได้