ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

เมืองโบราณพระเวียงหรือเมืองกระหม่อมโคก เป็นเมืองเก่าแก่ ที่เกิดขึ้นก่อนตัวเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โดยตัวเมืองนครศรีธรรมราชในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ หรือยุคปลายศรีวิชัยนั้น ได้ตั้งอยู่ที่ “ เมืองพระเวียง ” ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุ ก่อนที่จะร้างลงด้วยโรคระบาด

ตัวเมืองนครศรีธรรมราชที่เห็นในปัจจุบัน ได้สร้างขึ้นในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในช่วงที่เจ้าศรีราชา พระโอรสของพระพนมวัง นำไพร่พลจากเมืองท่าทอง มาฟื้นฟูวัดพระบรมธาตุ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ เมืองพระเวียงหรือเมืองกระหม่อมโคก ซึ่งมีอาณาเขต ตั้งแต่แนวคลองสวนหลวง ทางทิศเหนือ จรดแนวคลองคูพาย ทางทิศใต้ ทางตะวันตกมีคลองหัวหว่อง ส่วนทางตะวันออกนั้น แนวคูเมืองได้ตื้นเขินไปหมดสิ้น ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการปลูกสร้างสถานที่ทางราชการ ตลอดจนโรงเรียน และเคหสถานจนหมดสภาพร่องรอยของความเป็นเมือง แต่ก็ยังพอมีแนวคันดินให้เห็นอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งก็เหลือน้อยเต็มที

จากการขุดค้น และ การค้นพบโบราณวัตถุจากบริเวณเมืองโบราณพระเวียง ทางกรมศิลปากรได้สรุปอายุของเมืองเอาไว้ว่า น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ ซึ่งมีความสอดคล้องกับตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้ระบุถึงเมืองพระเวียงไว้ว่า

“ เมื่อศักราช ๑๒๐๐ ปี พระญาจันทรภาณุเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุระเป็นพระญาจันทรภาณุ ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง อยู่มาท้าวศรีธรรมโศกถึงแก่กรรม พระญาจันทรภาณุผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นเจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือมารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไม้ไผ่แล้วกลับไป อยู่มาภายหลังชาวเมืองถากถางไม้ไผ่เก็บเงิน ชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองแต่งทหารออกรบอยู่ แล้วเจ้าเมืองพาญาติวงศ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง ”

พื้นที่ในบริเวณเมืองพระเวียงในอดีต มีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว เท่าที่มีการสำรวจ และบันทึกไว้ ประกอบด้วยวัดดังต่อไปนี้

๑. วัดสวนหลวงตะวันออก ( ร้าง ) ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
๒. วัดสวนหลวงตะวันตก ปัจจุบันยังคงสภาพเป็นวัด
๓. วัดพระเสด็จ ( ร้าง ) ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๑๔
๔. วัดบ่อโพง และ วัดกุฎิ ( ร้าง ) ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
๕. วัดเพชรจริกตะวันออก ( ร้าง ) ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ทำการไปรษณีย์ศาลามีชัย
๖. วัดเพชรจริกตะวันตก ปัจจุบันยังคงสภาพเป็นวัด
๗. พระราชวังของเมืองพระเวียง สันนิษฐานว่า อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปจนถึงบ้านพักตำรวจนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
๘. วัดพระเวียง ( ร้าง ) ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช

อาณาเขตที่ตั้งของเมืองพระเวียง
เมืองพระเวียงตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช มีความกว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร ความยาวประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร ใช้แนวคันดินเป็นกำแพงเมือง โดยทางด้านตะวันออก จะมีแนวกำแพงสองชั้น คูเมืองก็อาศัยคลองตามธรรมชาติทั้งสามสายเป็นคู คือ คลองสวนหลวงทางทิศตะวันออก คลองหัวหว่องทางทิศตะวันตก และ คลองคูพายทางทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันออก เป็นคูที่เกิดจากการขุดเชื่อมน้ำจากคลองคูพายและคลองสวนหลวง ซึ่งในปัจจุบันยังมีแนวคันดินให้เห็นได้อยู่ทางทิศตะวันออก ในด้านทิศใต้ ยังพอมีร่องรอยที่หัวมุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และด้านทิศตะวันตก ที่บริเวณป่าช้าวัดเพชรจริก

ขนาดของคันดินกำแพงเมืองพระเวียง โดยสรุปแล้ว ตัวคันดิน มีขนาดกว้าง ๓ – ๕ เมตร สูง ๑ – ๑.๕ เมตร ใช้วิธีการสร้างโดยการขุดเอาดินในคูมาถมพูน แล้วใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นขวากปักไว้ ดั่งที่ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้บันทึกไว้

โบราณวัตถุที่ค้นพบภายในเมืองพระเวียง
จากการค้นพบ และขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ – พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงค้นพบพระพุทธรูปปางแสดงธรรมจักรเนื้อสำริด ในพระเจดีย์ใหญ่วัดพระเวียง ( ร้าง ) หลังจากนั้น ได้มีการค้นพบ พระกรุพิมพ์ผาลไถ ที่วัดพระเวียง ( ร้าง ) , ฐานศิลาประดิษฐานรูปเคารพจากวัดเพชรจริก , ปฎิมากรรมสำริดรูปผู้หญิงนั่ง , รูปหล่อหัวนาคสำริด , รูปหล่อมกรสำริด , เหรียญเงินแบบต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องภาชนะดินเผาชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กุณฑี หม้อ แจกัน ถ้วยกระเบื้อง ที่มีการพบเศษกระเบื้องภาชนะจำนวนมากในพื้นที่อาณาเขตเมืองพระเวียง และยังมีการขุดพบ “ ปล่องบ่อน้ำดินเผา ” ซึ่งเป็นเครื่องใช้ดินเผาที่ปรากฎในภาคใต้น้อยมาก แต่กลับมาปรากฎ ในการขุดค้นในอาณาเขตเมืองพระเวียง

จากการขุดค้นโบราณวัตถุในเมืองพระเวียง ได้มีการพบเครื่องภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ มากที่สุด โดยแบ่งประเภทภาชนะดินเผาได้สองประเภทคือ

๑. เครื่องภาชนะดินเผาพื้นถิ่น เช่น กุณฑี หม้อปากผาย กระเบื้องดินขอ ปล่องบ่อน้ำดินเผา เป็นต้น เครื่องภาชนะเหล่านี้ เป็นเครื่องใช้ที่มีการผลิตในดินแดนใกล้เคียงกับเมืองพระเวียง

๒. เครื่องภาชนะจากต่างประเทศ เช่น เครื่องถ้วยเวียดนาม เครื่องถ้วยจีน ในยุคราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง ภาชนะเครื่องเคลือบต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสินค้ามาจากต่างแดน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการพบบ่อย

จากหลักฐาน การค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นแนวคันดิน คูเมืองพระเวียงที่เหลือ อยู่ก็ดี เป็นโบราณวัตถุที่มีการค้นพบ เป็นพระพิมพ์ ภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ ก็ดี ได้ระบุถึงความเป็น “ เมืองพระเวียง ” ที่มีความเจริญ ในด้านเศรษฐกิจ และ ด้านศาสนา ซึ่งผู้เขียนขอสันนิษฐานว่า แต่เดิมแล้ว เมืองพระเวียง ได้มีการนับถือพุทธศาสนา ในนิกายมหายาน โดยมีหลักฐานเป็นพระพิมพ์ และปฎิมากรรมสำริดที่เป็นศิลปะลพบุรี ก่อนที่ภายหลัง จะมีการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาในนิกายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ โดยมีศูนย์กลางใหม่ เป็นพระบรมธาตุที่อยู่ทางตอนเหนือของเมือง

ถึงแม้ว่าอายุเมืองของเมืองโบราณเมืองพระเวียง จะมีอายุปรากฎในประวัติศาสตร์แค่หนึ่งร้อยปีเศษ เพราะได้รกร้างลงด้วยโรคระบาด แต่ก็ได้ระบุ “ ความเป็นบ้านเป็นเมืองที่เก่าแก่ ” ของเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างดีอีกแห่งหนึ่ง และเป็นบทเรียน ในการอนุรักษ์โบราณสถาน ให้ชาวนครศรีธรรมราชได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของหลักฐานที่ระบุถึง “ ความเก่าแก่ ” ในบ้านเมืองตน สาเหตุหนึ่งที่ไม่ค่อยปรากฏแหล่งโบราณสถานในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากนัก เพราะเกิดจาก “ การรุกล้ำทำลาย ” อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้หลักฐานสำคัญ ๆ ถูกทำลายลงไปมาก ซึ่งโบราณสถานเมืองพระเวียง ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ถึงขนาดที่ไม่หลงเหลือโบราณสถานใด ๆ ภายในอาณาเขตตัวเมืองเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ในโบราณสถานแห่งใดทั้งสิ้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก ข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ. นครศรีธรรมราช โดยกรมศิลปากร ที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช

ขอขอบคุณภาพกราฟฟิคแผนที่ โดย สิปปกร ปุดจีน (https://drive.google.com/…/1UDyEWSBJhzzEcRIWFclyhtp0oMT…)

*บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑