ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

อาณาจักรศรีวิชัย ดินแดนที่ควบคุมเส้นทางเชื่อมต่อทางทะเล ระหว่างทะเลจีนใต้ในทางตะวันออกและมหาสมุทรอินเดียในทางตะวันตก การเชื่อมต่อการค้าขายระหว่างสองมหาสมุทร ได้นำเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นอย่างมาก ในการสร้างความมั่งคั่งแก่อาณาจักรนั้น นอกจากจะต้องมีทรัพยากรที่มากพอแก่การค้าขายแล้ว ยังจะต้องมีการ “ ติดต่อ สื่อสาร ” ที่สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้อีกด้วย

สำหรับภาษาของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ ภาษาพูด และ ภาษาเขียน ซึ่งก่อนจะมีภาษาเขียนนั้น ย่อมต้องมีภาษาพูดมาก่อนอยู่เสมอ ซึ่งในวันนี้ เราจะมาพูดถึง “ ภาษา ” ภายในอาณาจักรศรีวิชัยกัน ว่าในอดีตเขาพูดภาษาอะไร จึงสามารถติดต่อสร้างความเข้าใจระหว่างดินแดนได้อย่างดีเยี่ยม แน่นอนว่า สำหรับภาษาพูดของคนอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่ง จะพูดภาษาถิ่นของตนเป็นหลัก แต่ถ้าเมื่อใดมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผลประโยชน์เรื่องการค้าขาย หรือผลประโยชน์เรื่องการปกครอง คนในพื้นที่นั้น ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพูดได้ถึงสองภาษาขึ้นไป เพื่อใช้สำหรับสื่อสารในพื้นที่และสื่อสารกับชนชาติที่เข้ามาค้าขาย หรือติดต่อความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ซึ่งภาษาพูดของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น ประกอบไปด้วย

๑. ภาษาถิ่น = ภาษาถิ่นของศรีวิชัยนี้จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค หรือ ตามแต่ละชนเผ่า ซึ่งภาษาถิ่นของศรีวิชัยนั้นประกอบด้วย ภาษาชาวพื้นถิ่นบก(ราเม็งบก) ภาษาชาวพื้นถิ่นน้ำ(ราเม็งน้ำ) ภาษาชาวพื้นถิ่นใต้ เป็นต้น

๒. ภาษาปรากฤต = เป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางศาสนา โดยภาษาปรากฤตนั้น แปลได้ว่า ภาษาถิ่น เป็นภาษาพื้นฐานที่ชาวศรีวิชัยใช้ติดต่อกับดินแดนทางตอนใต้ของอนุทวีป ตั้งแต่ปัลลวะ ไปจนถึงศรีลังกาในปัจจุบัน

๓. ภาษาสันสกฤต = เป็นภาษาที่ใช้ในทางการเมืองและการศาสนา เล่าเรียนกันในหมู่ชนชั้นปกครองและเหล่านักบวช ทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายานในยุคศรีวิชัยนั้น ล้วนนิยมภาษาสันสฤตเป็นใหญ่ ดังนั้น ภาษาสำหรับราชการ สำหรับการศาสนา หรือ การทูตระหว่างประเทศ จะเห็นได้จากศิลาจารึกส่วนใหญ่ที่พบในศรีวิชัย จะใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก แล้วจึงใช้ภาษาถิ่นกำกับ

๔. ภาษาอื่น ๆ = ภาษาอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากภาษาทั้งสาม จะเป็นภาษาที่เหล่าพ่อค้าชาวศรีวิชัย ใช้ติดต่อกับชนชาติคู่ค้า เช่น ภาษาจีน ภาษาเขมร ภาษาอาหรับ ภาษามอญ เป็นต้น

ในด้านภาษาพูด เราพอจะสรุปได้ว่า ชาวศรีวิชัยที่เป็นนักค้าวานิช อาจพูดได้อย่างน้อยสามภาษาขึ้นไป หรือ ถ้าเป็นชนชั้นปกครอง อาจพูดได้สองภาษาเป็นอย่างต่ำ ส่วนชาวบ้านทั่วไป อาจพูดแค่ภาษาถิ่น หรือ อาจมีภาษาที่สอง ไว้สำหรับค้าขาย หรือ ไว้สำหรับดำเนินการในด้านศาสนา เปรียบได้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่รู้ภาษาถิ่นผ่านสังคมที่กำเนิด และเรียนรู้อีกภาษาหนึ่งจากศาสนาที่ตนเองศรัทธา

ส่วนภาษาเขียนของศรีวิชัยนั้น ในช่วงยุคแรก ( พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ ) ได้ใช้อักษรปัลลวะเป็นหลัก มีหลักฐานทั้งศิลาจารึกวัดเสมาเมือง จารึกหุบเขาช่องคอย รวมถึงศิลาจารึกวัดมเหยงค์ รวมถึงศิลาจารึกในดินแดนต่าง ๆ ในอุษาคเณย์ ต่างใช้อักษรปัลลวะกันอย่างแพร่หลาย โดยได้พัฒนาอักษรปัลลวะ มาเป็นอักษรของชนชาติตน แต่ก็ยังคงไม่นิยมนัก เนื่องจากตัวอักษรปัลลวะนั้น ถูกมองว่าเป็นภาษาของชนชั้นสูง และเป็นภาษาศักดิ์ สิทธิ์ที่มีผลในด้านศาสนา กระทั่งอาณาจักรปัลลวะได้ล่มสลายลง ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อาณาจักรทั้งหลายที่ได้รับอิทธิพลของปัลลวะ ก็เริ่มหันมาใช้อักษรของตนเอง ทั้ง ทมิฬ ( อินเดียใต้ ) สิงหล ( ศรีลังกา ) กวิ ( อินโดนิเซีย ) อักษรมอญ อักษรพม่า หรือแม้แต่ดินแดนที่ใช้อักษรปัลลวะที่เข้มข้นอย่างอาณาจักรพระนคร และจามปา ก็เริ่มที่จะหันมาใช้อักษรพื้นเมืองของตนมากขึ้นหลังปัลลวะล่มสลาย แต่สำหรับศรีวิชัย อาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของตัวอักษรให้เป็นท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง นครสวรรค์ ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นอักษรขอม แต่ในจารึกฐานพระนาคปรกวัดเวียง และศิลาจารึกวัดหัวเวียง ที่พบที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อาจเป็นการใช้อักษรปัลลวะยุคสุดท้ายก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอักษรโบราณบางท่านก็ได้ระบุว่า อักษรที่เขียนที่ฐานพระนาคปรก และ อักษรที่เขียนในศิลาจารึกวัดเวียงนั้น เป็นอักษรกวิ คือ อักษรของชวาที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะนั่นเอง และจากการค้นคว้าของ ศาสตราจารย์ ดร. ประนะวิธาน ได้พบเรื่องราวการใช้อักษรของชาวศรีวิชัย ( ลังกาเรียกชวากะรัฐ ) ในหนังสือชื่อ “ วินัยศาสนา ” ที่เขียนโดย พระมหาเมธังกรสวามี ในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ ความว่า ชนชั้นสูงในชวากะมีความนิยมใช้ภาษาเตลุกูมาตั้งแต่โบราณ แม้กระทั่งในสมัยที่ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ ชาวชวากะก็ยังคงนิยมใช้ภาษาเตลุกูกันอยู่ ซึ่งภาษาเตลุกูนั้น เป็นภาษาของผู้คนในรัฐอานธรประเทศและรัฐเตลังคณะ ซึ่งในอดีตทั้งสองรัฐนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัลลวะ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่สองดินแดนแห่งนี้ จะได้รับอิทธิพลจากปัลลวะไปอย่างมาก จนสามารถนำไปเผยแพร่ยังต่างแดนได้

ภาษาพูด และ อักษรเขียน เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเป็นปึกแผ่นและความกลมเกลียวของชาติบ้านเมือง ชาติใด ชนใด ที่สามารถสร้างอักษรเขียนเป็นของตนได้ ชาตินั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกราชให้ประจักษ์ แต่ในกรณีของศรีวิชัย ถึงแม้จะไม่ได้มีอักษรเขียนเป็นของตนเอง และใช้อักษรในฝั่งของชมพูทวีปตอนใต้ในการจารึก แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนทะเลใต้ กับ อาณาจักรทางตอนใต้ของอนุทวีปอินเดีย ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ศาสนา และ การค้า ซึ่งปรากฎร่องรอยอารยธรรมให้เห็นอยู่ตราบจนปัจจุบัน