ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ทุ่งสง เส้นทางการค้าโลก เส้นทางยุทธศาสตร์ ในอดีต

พื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญยิ่งในทางการค้าและการรบของเมือง จากชุมชนเมืองท่า เปลี่ยนเป็น สถานีการค้าทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

อำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ดินแดนที่ราบสลับภูเขาใจกลางคาบสมุทรทางตอนใต้ของไทย ในปัจจุบันเป็นจุดเชื่อมต่อของการขนส่งระหว่างจังหวัด จึงทำให้ อ.ทุ่งสง ค่อนข้างจะสำคัญและเจริญกว่า อำเภออื่น ๆ ภายใน จ.นครศรีธรรมราช และเป็นที่รวมของย่านการค้าที่สำคัญ ระหว่างนครศรีธรรมราช ตรัง และ กระบี่

แต่เมื่อได้เจาะลึกลงถึงเส้นทางน้ำที่มีมาแต่โบราณแล้ว พบว่า อ.ทุ่งสง เป็นต้นธารของแม่น้ำสายสำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก นั่นก็คือ “ แม่น้ำตรัง ” ซึ่งมีต้นกำเนิดของแม่น้ำจากเขาวังหีบ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาในเทือกเขาหลวง แม่น้ำตรัง ไหลจากทุ่งสง เข้าไปสู่ ต.กะปาง จ.นครศรีธรรมราช และ อ.รัษฎา อ.เมือง ก่อนจะไปออกทะเลที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งจากการศึกษาเส้นทางของแม่น้ำตรัง พบว่าสามารถสัญจรด้วยเรือแล่นเข้ามายังต้นน้ำ แล้วเดินทางผ่านคลองที่เชื่อมกันระหว่างแม่น้ำตรังกับแม่น้ำตาปี ก่อนที่จะเดินทางไปสู่แม่น้ำตาปี และล่องเรือตามน้ำขึ้นไปยังปากอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทางสัญจรสายน้ำโบราณสายนี้ ได้มีการบันทึกไว้โดยนักภูมิศาสตร์ระดับโลกอย่าง “ คลอดิอุส ปโตเลมี ” ( ภาษากรีก เคลาดิออส โตเลเมออส Κλαύδιος Πτολεμαῖος; ) ที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแหลมทองคำ หรือ โกลเด้น เครโสเนส ( Golden Chersonese) ไว้ในหนังสือ จีโอกราเพียน ( Geographia ) โดยอาศัยข้อมูลจากมารินุส นักภูมิศาสตร์แห่งเมืองไทร์ และรวบรวมการบันทึกภูมิศาสตร์จากพ่อค้าวานิชชนชาติต่าง ๆ ที่ได้แวะมาค้าขายในทางตะวันตก แล้วเขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๗ ซึ่งนักภูมิศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ชื่อก้องโลกในยุคเก่าแก่ท่านนี้ ได้กล่าวถึงแหลมทอง หรือ เกาะทองคำว่า ภายในดินแดนแห่งนี้ มีแม่น้ำสามสายที่ใช้สำหรับข้ามดินแดนจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ได้แก่

๑. แม่น้ำไครโสนาส ( Khrysoanas )
๒. แม่น้ำอัตตาบาส ( Attabas )
๓. แม่น้ำปะลันดาส ( Palandas )

ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางเส้นทางน้ำสายใน โดย ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ท่านได้นำเอาข้อมูลเรื่องภูมิศาสตร์เส้นทางน้ำสายใน ๓ สายจากบันทึกของคลอดิอุส ปโตเลมี ในสำนวนการแปลของ เซอร์ โรแลนด์ แบรดเดอร์ ( Sir Roland Bradder ) เป็นข้อมูลหลักในการสำรวจเส้นทาง ทางน้ำสายใน โดยเน้นพื้นที่ใน อ.ทุ่งสง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยเมื่อตรวจพิกัดแล้ว พบว่า แม่น้ำทั้งสามสายตามบันทึก สามารถเทียบเคียงกับเส้นทางน้ำได้ดังต่อไปนี้

๑. แม่น้ำไครโสนาส ( Khrysoanas ) คือแม่น้ำตรัง ( แม่น้ำกันตัง ) ที่มีต้นน้ำจากเขาวังหีบ หนึ่งในภูเขาสำคัญของเทือกเขานครศรีธรรมราช มีต้นน้ำมาจากคลองท่าเลา และ คลองท่าโหลน ที่เกิดจากเขาปลายเบิด ไหลออกทะเลที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ตรงเส้นละติจูดที่ ๘ องศา ๒๘ ลิปดาเหนือ และเส้นลองติจูดที่ ๙๙ องศา ๓๐ ลิปดาตะวันออก

๒. แม่น้ำอัตตาบาส ( Attabas ) คือ แม่น้ำตาปี ( แม่น้ำหลวง ) มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาหลวง ที่ อ.พิปูน แล้วไหลรวมกับ คลองมิน คลองหลุน คลองเพรง ที่ปากน้ำฉวาง และ ไหลจากใต้ขึ้นเหนือไปออกที่ปากอ่าวบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ตรงเส้นละติจูดที่ ๙ องศา ๐๕ ลิปดาเหนือ และเส้นลองติจูดที่ ๙๙ องศา ๒๐ ลิปดาตะวันออก

๓. แม่น้ำปะลันดาส ( Palandas ) คือ คลองมิน ในเขต ที่มีปลายน้ำที่ปากน้ำฉวาง ใน อ.ฉวาง มีต้นน้ำที่ ต.เขาขาว อ.ทุ่งสง และ คลองโอ๊ะ เป็นคลองเชื่อมกันระหว่างคลองมิน และคลองวังหีบ ถัดจากคลองวังหีบ คือการบรรจบกันของคลองวังหีบและคลองท่าเลา กลายเป็นคลองท่าหลวง ซึ่งคลองท่าหลวงจะไหลจาก พื้นที่รอยต่อระหว่าง บ.นาไม้ไผ่ และ บ.ที่วัง ไหลลงไปทางทิศใต้ แล้วสมทบกับคลองกะปาง ที่ระหว่างรอยต่อ อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง และซึ่งท่านศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้ระบุในหนังสือทักษิณรัฐ ว่าคลองโอ๊ะ และคลองมิน คือแม่น้ำปะลันดาสดังกล่าว

และจากการค้นคว้าดังกล่าวของ ท่านศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการสัญจรทางน้ำที่สำคัญยิ่ง ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออก ของดินแดนแหลมทองแห่งนี้ และไม่ได้มีเพียงแค่ท่านศาสตราจารย์มานิต ที่ค้นคว้าเรื่องเส้นทางแม่น้ำสามสายตามที่ ปโตเลมีบันทึกไว้ แต่ยังมีนักเดินเรือชาวอังกฤษ ที่ชื่อว่า ทริสตัน โจนส์ ( tris ton Jones ) และ โทมัส เอทเทน ฮูเบอร์ ( Thomas Etten Houber ) ได้มาพิสูจน์เส้นทางสายน้ำโบราณตามที่ปโตเลมีบันทึกไว้ โดยได้เริ่มพิสูจน์ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ด้วยการซื้อเรือประมงจากชาวทะเลที่ จ.ภูเก็ต แล้วแล่นเรือจากภูเก็ตเข้าปากน้ำกันตัง ล่องทวนกระแสน้ำของแม่น้ำตรังขึ้นไปทางต้นน้ำ เรือได้แล่นฝ่าห้วงน้ำไปจนถึงวัดเขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ปรากฎว่าคลองตื้นเขินเกินกว่าที่จะแล่นต่อ กำนันตำบลเขาโรในสมัยนั้นต้องนำช้างมาลากเรือขึ้นจากคลอง แล้วประสานงานให้ ผู้บัญชาการค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ช่วยนำรถขนาดใหญ่บรรทุกเรือไปยังต้นน้ำตาปีที่ อ.ถ้ำพรรณรา แล้วเดินทางล่องเรือตามแม่น้ำตาปีต่อไป จนออกปากอ่าวบ้านดอน ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ใช้ระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด ๔๒ วัน หลัง จากการเดินทางสำเร็จลง นายทริสตัน โจนส์ ก็ได้ให้นักข่าวสัมภาษณ์ที่โรงแรมโอเรียลเต็ล กรุงเทพ ฯ ว่าการเดินทางตามเส้นทางน้ำสายในนั้นเป็นไปได้ และมีระยะทางที่สั้นกว่าการเดินทางด้วยช่องทางธรรมชาติอื่น ๆ

และจากการค้นคว้าของ ครูน้อม อุปรมัย ก็พบว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ และปี พ.ศ. ๒๓๒๐ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงให้พระเจ้าขัตติยนิคมสมมติมไหสวรรค์ ( พระเจ้านครหนู ) ขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำตรังและแม่น้ำตาปี เพื่อเชื่อมเส้นทางการสัญจรระหว่างทะเลหน้าใน ( ทะเลฝั่งอ่าวไทย ) และทะเลหน้านอก ( ทะเลฝั่งอันดามัน ) ให้สำเร็จ แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความขาดแคลนด้านกำลังพลที่ใช้แรงงานขุดคลอง จึงทำให้พระเจ้านครหนู ทำได้แค่ขุดแต่งแนวลำคลอง ไม่สามารถเชื่อมแม่น้ำทั้งสองสายตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินให้สำเร็จได้

ทุ่งสง ดินแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสายน้ำสำคัญทั้งสองสาย คือ แม่น้ำกันตัง และ แม่น้ำตาปี ได้มีการใช้ดินแดนแห่งนี้เป็นฐานทัพ “ สำหรับเดินทัพเรือ ” มาตั้งแต่ยาวนาน โดยชัดเจนและมีหลักฐานในสมัยของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ( น้อย ) ที่ได้ใช้เมืองตรังเป็นฐานทัพต่อเรือไปตีไทรบุรี และเคลื่อนกำลังพลของฝ่ายสยามผ่านทางทุ่งสง ลงเรือแจวไปตามลำคลองท่าหลวง ออกแม่น้ำตรัง และขึ้นเรือรบที่ปากน้ำกันตัง ซึ่งในสมัยนั้น เมืองตรังเป็นอู่ต่อเรือที่สำคัญทางตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราช โดยคู่กับอู่ต่อเรือที่ “ บ้านดอน ” ของเมืองท่าทอง ( ปัจจุบันคือ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ) ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือทางตะวันออก การที่เจ้าพระยานคร ( น้อย ) ตั้งอู่ต่อเรือไว้ที่ปากน้ำสำคัญทั้งสองสาย คาดว่าเจ้าพระยานครน้อยคงทราบเรื่องความสำคัญของดินแดนปากน้ำทั้งสอง จึงได้ให้ไพร่พลไปลกหลักปักฐาน แล้วต่อเรือเอาไว้ใช้ในสงคราม ผู้เขียนสันนิษฐานว่า องค์ความรู้เรื่องการตั้งฐานต่อเรือ เจ้าพระยานคร ( น้อย ) ต้องมีความรู้ทางภูมิศาสตร์พอสมควร จึงจะสามารถ ตั้งอู่ต่อเรือยังที่ปลายทางของแม่น้ำสองสายได้

จากการสำรวจเส้นทางน้ำในข้างต้น และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของดินแดนทุ่งสง ผู้เขียนจึงตั้งข้อสันนิษฐานไว้ตามข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าและลงพื้นที่สำรวจว่า ในอดีตกาล ในยุคสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุ พระองค์ได้ทรงยกกำลังพลจากเมืองนคร มารวมทัพกันที่พื้นที่ใน อ.ทุ่งสง ก่อนที่จะทรงเสด็จโดยชลมารคทางเรือพร้อมด้วยกองทัพ ไปขึ้นเรือศึกที่ปากแม่น้ำกันตัง แล้วจึงทรงเคลื่อนพลไปโจมตีดินแดนทัมพะเทนิยะ เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระเขี้ยวแก้ว ( พระทาฐธาตุ ) จากลังกามายังกรุงศิริธรรมนคร ซึ่งเมื่อได้อ้างอิงจากการสำรวจเส้นทางน้ำโบราณในข้างต้นแล้ว พบว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่พระเจ้าจันทรภาณุ จะทรงใช้ดินแดนทุ่งสงในการนำทัพลงเรือไปยังลังกา รวมถึงใช้เส้นทางน้ำสายใน ลำเลียงกำลังพลจากทะเลตะวันออก มารวมกำลังพลที่ทะเลตะวันตก ก่อนที่จะยาตราทัพนาวีเรือนหมื่นข้ามทะเลอันดามันไปปิดล้อมดินแดนที่เป็นปฎิปักษ์ต่อพระองค์ ซึ่งการที่พระองค์ได้ตั้งฐานรวมพลที่ทุ่งสงนี้ ต่อมาหลังจากนั้นหลายร้อยปี เจ้าพระยานคร ( น้อย ) ก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ตามที่พระเจ้าจันทรภาณุเคยดำเนิน โดยใช้ทุ่งสง เป็นจุดรวมพลหลัก ก่อนที่จะยกทัพไปลงเรือที่เมืองตรัง เพื่อยกทัพไปตีไทรบุรีในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แม้ว่าในปัจจุบัน เส้นทางน้ำเชื่อมทางระหว่างแม่น้ำแห่งตะวันออก และแม่น้ำแห่งตะวันตก จะกลายเป็นลำคลองสายเล็ก ๆ ที่ตื้นเขินไปเกือบหมดแล้ว แต่ร่องรอยการเชื่อมต่อระหว่างสายธารนั้น ย่อมยังปรากฎร่องรอยเหลืออยู่ และเมื่อได้มีผลการพิสูจน์ปรากฎออกมา ก็พบว่าการเดินทางข้ามคาบสมุทรโดยใช้เส้นทางสายน้ำทางใน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของดินแดนแถบหลังเขาหลวง ที่เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญทางด้านการเดินทาง ด้านยุทธศาสตร์ และในด้านการค้าขาย มาตั้งแต่โบราณกาล

บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒