ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ศิลาจารึก หลักฐานสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ ที่พบใน จ.นครศรีธรรมราช โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

นครศรีธรรมราช มีการพบหลักศิลาจารึกที่สำคัญอยู่ด้วยกัน ๕ หลัก ที่มีบันทึกเรื่องราวความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์บ้านเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งศิลาจารึกทั้ง ๕ หลักนั้น ได้มีการแปลความที่สมบูรณ์แล้ว ๒ หลัก ส่วนที่เหลือ อีก ๓ หลัก เนื่องจากจารึกได้ลบเลือน และมีบางส่วนที่ชำรุดไป จึงทำให้ได้ข้อความที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของหลักศิลาจารึกทั้ง ๕ หลักนั้น ได้นำข้อมูลมาจาก ฐานจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) ที่ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับจารึกไว้ได้อย่างครบถ้วน

๑. จารึกหุบเขาช่องคอย

สถานที่พบ = ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช
อายุของศิลาจารึก = ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ประวัติการค้นพบ = ค้นพบโดยนายจรง ชูกลิ่น และ นายถวิล ช่วยเกิด ชาวบ้านคลองท้อน ม.๙ ต.ควนเกย อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ได้เดินทางไปหาของป่าในบริเวณที่ศิลาจารึกอยู่ จนได้ค้นพบรอยจารึกดังกล่าว นายจรง และ นายถวิล จึงได้บอกเรื่องนี้แก่พระภิกษุเพิ่ม เจ้าอาวาสวัดหนองหม้อ ต่อมา พระภิกษุเพิ่มก็ได้นำเรื่องการพบศิลาจารึกมาบอกแก่ นายอำไพ ขันทาโรจน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช จนมีการดำเนินการสำรวจ แปลจารึก และได้รับการตั้งชื่อจากนายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในยุคปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ว่า “ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ”
ข้อความในจารึก = ได้กล่าวถึงการบูชาพระศิวะ ในฐานะของเทพแห่งป่าและวิทยาการ รวมถึงสรรเสริญผู้ที่เป็นคนดีว่า ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด ที่แห่งนั้นก็จะได้รับความสงบสุข สันนิษฐานว่า ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย อาจทำหน้าที่เหมือน “ ป้ายบอกทาง ” สำหรับพราหมณ์และชาวชมพูทวีปที่เดินทางมายังดินแดนทะเลใต้ในยุคก่อนซึ่งเดินทางมายังเมืองที่รุ่งเรืองด้วยศาสนาพราหมณ์ทางตะวันออกก็เป็นได้

๒. จารึกวัดเสมาเมือง

สถานที่พบ = วัดเสมาเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
อายุของศิลาจารึก = พุทธศตวรรษที่ ๑๓
ประวัติการค้นพบ = กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงค้นพบที่วัดเสมาเมือง จ.นครศรีธรรมราช และในมาตรวจอ่านในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งที่มาบางสำนวน ก็บอกว่าแต่เดิมแล้วจารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจาก จ.สุราษฎร์ธานี ถึงอย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากร ได้ตังชื่อหลักศิลาหลักนี้ว่า จารึกวัดเสมาเมือง ตามสถานที่แรก ที่มีการค้นพบนั่นเอง
ข้อความในจารึก = ในศิลาจารึกได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าวิษณุ แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ มหาราชผู้เกรียงไกรของศรีวิชัย ว่าพระองค์ทรงประเสริฐเหนือพระราชาพระองค์อื่น ๆ จนได้รับฉายาว่า “ ศรีมหาราช ” และได้กล่าวถึงการสร้างปราสาทอิฐสามหลัง โดยพระเถระชื่อชยันตะ เพื่อเป็นที่ประทับของพระพุทธรูป พระปัทมปาณี และ พระวัชรปาณี เมื่อพระชยันตะเถรมรณภาพ ลูกศิษย์ของท่านที่ชื่อว่า อธิมุกติ ได้สร้างปราสาทอิฐขึ้นอีก ๒ หลัง ในบริเวณใกล้ ๆ กัน

๓. จารึกวัดมเหยงค์

สถานที่พบ = วัดมเหยงค์ จ.นครศรีธรรมราช
อายุของศิลาจารึก = พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ประวัติการค้นพบ = เดิมศิลาจารึกหลักนี้ ถูกฝังที่ผนังด้านหน้าของตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร ต่อมา ได้มีการแปลจารึกโดย นายฟูร์เนอโร และ พระสารศาสตร์พลขันธ์ ( เจรินี ) ไม่ปรากฎว่าย้ายจากนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพเมื่อไร และได้มีการย้ายสถานที่จัดเก็บหลายครั้ง จนกระทั่งปัจจุบัน จารึกวัดมเหยงค์ อยู่ที่ห้องอุตราภิมุข ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ข้อความในจารึก = ในศิลาจารึก ได้กล่าวถึงการถวายกัลปนาให้แก่พระภิกษุ และพราหมณ์ในคณะไศวะนิกาย ซึ่งมีการถวายสิ่งของต่าง ๆ หลายชนิด แต่น่าเสียดายว่า ตัวจารึกเองก็มีส่วนที่หักหายไป จึงทำให้ข้อความไม่สมบูรณ์

๔. จารึกวิหารโพธิ์ลังกา

สถานที่พบ = วิหารโพธิ์ลังกา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
อายุของศิลาจารึก = พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙
ประวัติการค้นพบ = จารึกหลักนี้ พบโดยเจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ ที่วิหารโพธิ์ลังกา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ต่อมาได้รับการแปลโดยหอสมุดแห่งชาติ และตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารศิลปากร ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งจากการอ่าน พบว่าเป็นภาษามอญโบราณ ซึ่งไม่ทราบว่าศิลาจารึกหลักนี้ อยู่ที่วัดพระมหาธาตุมาแต่เดิมหรือไม่ เพราะจารึกภาษามอญ มักจะพบทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่
ข้อความในจารึก = ได้กล่าวถึงความสง่างามของพญานาค ๒ ตัว ที่ชูคอสักการต่อพระอาทิตย์ และได้กล่าวพรรณาถึงสภาพของบ้านเมืองในเบื้องซ้าย

๕. จารึกวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช

สถานที่พบ = วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
อายุของศิลาจารึก = พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ประวัติการค้นพบ = แต่เดิมแล้ว จารึกนี้อยู่ในวัดพระมหาธาตุ ฯ พร้อมกับศิลาจารึกวิหารโพธิ์ลังกา และศิลาจารึกที่พบที่วัดเสมาชัย แต่น่าเสีย ดายว่าศิลาจารึกวัดเสมาชัยเลือนลางเกินกว่าที่จะอ่านได้ ส่วนศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุนั้น ถูกจารึกด้วยอักษรปัลลวะ ด้านหนึ่งอ่านออกเป็นภาษามอญ ส่วนอีกด้าน อ่านเป็นภาษาทมิฬ
ข้อความในจารึก = ได้กล่าวถึงบุคคลชื่อ “ มายา ” ทำการอุทิศบูชาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ด้วยความชำรุดของศิลาจารึก จึงทำให้ไม่ทราบถึงประโยคที่สมบูรณ์