ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วันว่าง (สงกรานต์) ๕ พิธีกรรมของชาวใต้ การแปรเปลี่ยนไปสู่ความเลือนรางและจางหายตามกาลเวลา โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

วันสงกรานต์ ในธรรมเนียมชาวทะเลใต้ตั้งแต่โบราณมา จะมีชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกัน จะเรียกกันว่า “ ประเพณีวันว่าง ” โดยมีวันสำคัญ ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ เมษายน ในทางสุริยคติของทุกปี หรือตรงกับ ปลายเดือน ๕ ต้นเดือน ๖ ในทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการเปลี่ยนศักราช ที่จะเปลี่ยนจากนักษัตรเก่า เข้าสู่นักษัตรใหม่ ตามคติโหราศาสตร์ไทย ซึ่งในวันว่างทั้ง ๓ วันนั้น มีชื่อเรียกในแต่ละวัน เป็นลำดับกันดังนี้ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน จะเรียกกันว่า “ วันส่งเจ้าเมืองเก่า ” วันที่ ๑๔ เมษายน จะเรียกกันว่า “ วันว่าง ” และ วันที่ ๑๕ เมษายน จะเรียกกันว่า “ วันรับเจ้าเมืองใหม่ ” ซึ่งเจ้าเมืองในที่นี้ คือเทวดาอารักษ์ ที่สถิตย์ยังที่ต่าง ๆ ที่จะผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่กันในช่วงวันสงกรานต์ จึงเป็นต้นเหตุความเชื่อของชาวภาคใต้ ว่า เดือน ๕ นั้นเป็นเดือนว่าง ไม่สามารถทำการมงคลใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าใคร ๆ จะทำการงานใดอยู่ก็ตาม ต่างเร่งกันทำงานให้เสร็จก่อนที่จะถึงเดือนห้า ทั้งการทำนาทำไร่ การจักสานทอผ้า การงานอาชีพใด ๆ ก็ล้วนแต่จะทำให้เสร็จก่อนเดือนห้าทั้งสิ้น เพื่อที่จะให้เดือนห้านั้นเป็นเดือนแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง ข้อปฎิบัติของชาวใต้เมื่อถึงเดือนห้า นั่นคือการพักผ่อน เว้นจากการทำงานหนักทั้งปวง ใช้เวลาไปกับการสนุกสนาน กลับถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ร่วมกันทำบุญทำทานแก่บรรพบุรุษ และร่วมกัน “ สระหัวขึ้นเบญจา ” ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว เพื่อแสดงความกตัญญู กตเวทิตาต่อผู้อาวุโสในครอบครัว

เมื่อวันว่างใกล้จวนเจียนจะมาถึง คณะเพลงบอก ที่มีฝีไม้ลายมือในทางบทกาพย์กลอน ก็จะเดินสายออก “ ทอกเพลง ” หรือ การขับเพลงบอก ยังหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อประกาศให้ผู้คนในท้องที่เริ่มเตรียมตัวสำหรับช่วงวันว่างที่ใกล้จะมาถึง โดยคณะเพลงบอกนั้น จะประกอบไปด้วย แม่เพลง ๑ คน และลูกคู่ ๔ – ๕ คน มีฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีกำกับจังหวะ จะแสดงการขับกาพย์กลอนตามชุมชน หรือ บ้านผู้คน โดยมีสินน้ำใจเป็นข้าวปลาอาหาร สิ่งของ หรือ เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการตอบแทนเพลงบอก ที่มาประกาศข่าวคราวให้ถึงบ้าน โดยเรื่องที่เพลงบอกจะนิยมนำมาทอกนั้น มีเนื้อหาเรื่องวันสงกรานต์ วันใดเป็นวันอธิบดี เป็นวันธงชัย เป็นวันอุบาทว์ เป็นวันโลกาวินาศ กาลโยคปีนี้วันที่เท่าไร นาคให้น้ำกี่ตัว รวมถึงตำนานนางสงกรานต์ และ นิทานพื้นบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึงธรรมเนียมที่ควรปฎิบัติในวันสงกรานต์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

การเตรียมการสำหรับวันว่าง ในอดีตแต่ละครอบครัวจะเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสรรพ เพื่อที่จะพักผ่อนกันเต็มที่ภายในวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ ที่จะมาถึง บ้านเรือนจะทำความสะอาดกันอย่างเรียบร้อย เสื้อผ้าชุดใหม่ก็จะถูกตระเตรียมสำหรับวันสำคัญทั้งสาม รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง พืชผักต่าง ๆ ก็จะมีการเตรียมไว้ ให้สะดวกแก่การประกอบอาหาร รวมถึงสัตว์เลี้ยง ที่จะมีการปล่อยให้ไปหากินตามอัธยาศัย ไม่ขังคอกกั้นกรง รวมถึงเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับผู้อาวุโสภายในบ้าน ที่จะใช้นุ่งหลังจากที่ได้ “ สระหัวประจำปี ” แล้ว ซึ่งแต่ละครอบครัวจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมบ้านเรือนให้พร้อมสำหรับวันว่าง วันสนุกสนานรื่นเริงที่ใกล้จะมาถึง

พิธีกรรมที่สำคัญในวันว่าง โดยที่สำคัญแล้วจะมีด้วยกัน ๕ พิธีกรรม คือ

๑. พิธีเปลี่ยนผ้าเพดาน หิ้งพระ หรือ หิ้งครูหมอ
ในสมัยโบราณ แต่ละครอบครัว มักจะมีวิชาชีพพิเศษประจำตระกูล หรือ ประจำบุคคลเสมอ เช่น ช่างตีเหล็ก หมอยา หมอดูโชคชะตา หมอตำแย นายหนังตะลุง มโนราห์ หมอวิชาแขนงต่าง ๆ ซึ่งบ้านที่มีคนในครอบครัวร่ำเรียนวิชาเหล่านี้ ก็จะมี “ หิ้งครูหมอ ” ประจำบ้าน ซึ่งจะถือโอกาสเมื่อวันว่างมาถึง ในวันส่งเจ้าเมืองเก่า หรือ วันที่ ๑๓ เมษายน ในการเปลี่ยนผ้าเพดานบนหิ้ง และ ทำความสะอาดหิ้งเสียใหม่ โดยถือกันว่า หิ้งครูหมอนั้น นอกจากจะเป็นที่สถิตย์ของครูบาอาจารย์แล้ว ยังเป็นที่สถิตย์ของบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ จึงได้มีการเปลี่ยนผ้าเพดานหิ้งขึ้น เปรียบเสมือนกับการเปลี่ยนที่รองรับหลับนอนของสิ่งเคารพนับถือเสียใหม่ มีพิธีการคือ เปลี่ยนผ้าเพดานหิ้ง เปลี่ยนผ้าขาวที่ปูบนหิ้ง แล้วประพรมด้วยของหอม เพื่อแสดงการสักการะต่อครูบาอาจารย์ เจ้าของวิชา

๒. พิธีทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
ในช่วงวันว่างทั้ง ๓ วัน จะเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่สุด ในแต่ละบ้านเรือน ก็จะนัดแนะญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว และเครือญาติไปทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ โดยก่อนหน้าที่จะทำบุญ ก็จะมีการทำความสะอาดบัว หรือ โกศบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ เมื่อถึงวันว่าง ก็จะนำภัตตาหารไปถวายพระให้ทันยามเพล แล้วไปรวมตัวยังบัวใส่อัฐิบรรพบุรุษของตน ตัวแทนของครอบครัว ๑ คน จะไปนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลบัว เพื่ออุทิศบุญกุศลให้ถึงแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
นอกจากการทำบุญในวัดแล้ว การทำกุศลอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันในช่วงวันว่าง คือการปล่อยสัตว์ ไถ่ชีวิตสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นหมู เป็ด ไก่ วัว ควาย หรือ แม้แต่ปลาตัวน้อย ๆ ก็ตาม ก็จะงดเว้นการฆ่า การใช้แรงงานสัตว์ การเบียดเบียนทุกรูปแบบในช่วงวันว่างทั้งสามวัน ถ้าหากพบสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ก็จะมีการเยียวยารักษาจนหายดี แล้วจึงปล่อยให้เป็นอิสระ เพื่อเป็นบุญอานิสงส์ที่ดีส่วนหนึ่งในปีใหม่ที่จะมาถึง

๓. พิธีสรงน้ำพระ
พิธีสรงน้ำพระ จะกระทำกันเมื่อหลังจากพระภิกษุฉันเพลแล้ว ทางทายกทั้งหลายจะนิมนต์พระพุทธรูปที่พอจะยกได้ มาตั้งไว้ที่ปะรำกลางลานวัด ซึ่งปะรำนั้น จะมีการตบแต่งให้สวยงาม บางหมู่บ้านมีช่างฝีมือ ก็จะทำบุษบก หรือ เบญจาสำหรับพระพุทธรูปขึ้น เพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำหรับสรงน้ำ การสรงน้ำพระพุทธรูปนั้น จะมีพระภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาส หรือที่มีพรรษาอาวุโสสุดเป็นผู้นำ การถวายน้ำสรง จะเริ่มจากพระภิกษุ คนเฒ่าคนแก่ แล้วจึงเป็นบุคคลทั่วไป น้ำที่ผ่านการสรงองค์พระมาแล้วนั้นถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มักจะนิยมรองเอาน้ำสรงพระไปรดในไร่นาบ้านเรือนของตน เพื่อความเป็นสิริมงคล

๔. พิธีสระหัว และ พิธีขึ้นเบญจา
พิธีสระหัว คือ การแสดงมุทิตาจิตต่อผู้อาวุโสในครอบครัว ต่อพระภิกษุที่สมควร หรือ ต่อผู้ที่ได้รับความเคารพภายในหมู่บ้าน โดยมากแล้ว การสระหัวนั้นจะนิยมกระทำต่อหลังจากที่ได้สรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เริ่มจากการสรงน้ำพระภิกษุก่อน แล้วจึงอาบน้ำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ การสระหัวของคนภาคใต้ จะหมายถึงการอาบน้ำแก่พระภิกษุ หรือ คนเฒ่าคนแก่ ที่เป็นการอาบน้ำจริง ๆ ซึ่งจะใช้น้ำสะอาด ผสมน้ำอบ หรือ แป้งหอม โปรยดอกมะลิ หรือ ดอกไม้มงคล ในการอาบน้ำพระภิกษุ และ คนเฒ่าคนแก่ เมื่ออาบจนเป็นที่เพียงพอแล้ว ผู้คนก็จะถวายผ้าไตรจีวรชุดใหม่แก่พระภิกษุ และ เสื้อผ้าชุดใหม่แก่คนเฒ่าคนแก่ เพื่อใช้ผลัดจากผ้าเดิมที่เปียกปอน เมื่อแต่งตัวใหม่เสร็จ ก็จะถึงคราวที่พระภิกษุ และ คนเฒ่าคนแก่จะให้พรลูกหลาน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ในตลอดทั้งปีที่กำลังจะมาถึง แต่สำหรับผู้ที่มีฐานะ หรือ มีกำลังทรัพย์มาก ก็จะจัด “ พิธีขึ้นเบญจา ” เพื่อสระหัวแก่พระภิกษุ และ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพนับถือ โดยเบญจานั้น จะทำมาจากหยวกกล้วย ฉลุลวดลายให้วิจิตรพิศดาร แล้วประดับด้วยกระดาษทองเกียบสีสันต่าง ๆ เบญจานั้นจะมียอดคล้ายกับมณฑป หรือ บุษบกพนมพระ เพียงแต่ทำจากวัสดุชั่วคราวทั้งหมด ด้านบนเบญจาขึงผ้าขาวเป็นเพดาน ด้านหลังของเบญจา จะมีหัวนาคพ่นน้ำ สำหรับน้ำที่ลูกหลานรดให้ต้องตัวผู้ที่ขึ้นเบญจา หัวนาคพ่นน้ำนี้จะทำเสร็จจากการแกะสลัก หรือ แกะหยวกเอา โดยภายในปากนาคนั้นจะมีลำไม้ไผ่กลวงปล้อง ต่อไปยังลำเรือที่อยู่ด้านหลังเบญจา ที่อยู่สูงมากพอที่จะทำให้น้ำไหลลงไปอาบบุคคลในเบญจาได้ การขึ้นเบญจานั้น จะเริ่มพิธีจากการ เชิญผู้อาวุโสขึ้นยังเบญจา แล้วตัวแทนญาติมิตรทั้งหมด กล่าวคำขอขมาแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ทุกคน จากนั้น เจ้าหน้าที่จะชักหัวจุกออกจากปากนาค ให้น้ำในลำเรือไหลออกจากปากนาคไปโดนตัวผู้เฒ่าผู้แก่ให้ครบทุก ๆ คน เสร็จแล้วจึงเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ไปผลัดผ้า (เปลี่ยนผ้า) ใส่ชุดใหม่ ออกมารับศีลรับพรจากพระภิกษุ และเมื่อถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ถ้าในการขึ้นเบญจา มีการสรงน้ำพระด้วย ก็จะเริ่มจากการสรงน้ำพระก่อน แล้วจึงสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ พิธีขึ้นเบญจา เป็นพิธีที่วัดความมีฐานะ ความยิ่งใหญ่ของผู้คนในยุคก่อน ซึ่งผู้ที่จะขึ้นเบญจาได้นั้น ต้องเป็นบุคคลสำคัญจริง ๆ จึงจะนิยมจัดเบญจาสระหัวให้ แต่ถ้าหากเป็นครอบครัวธรรมดา ๆ จะนิยมการสระหัวในข้างต้นมากกว่า นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังไม่เป็นการเปลืองกำลังทรัพย์อีกด้วย

๕. พิธีรับเจ้าเข้าเมือง และ พิธีรับเทียมดา
พิธีรับเจ้าเข้าเมือง เป็นพิธีที่จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ เพื่อต้อนรับนางสงกรานต์ หรือ เทวดาอารักษ์เมืองพระองค์ใหม่ที่จะมาสถิตย์ในบ้านเมือง ให้ปกปักรักษาผู้คน สัตว์ ตลอดจนพืชพรรณธัญญาหารให้รอดพ้นจากภยันตราย บังเกิดความสุขตลอดทั้งปี จึงเป็นเหตุให้จัดพิธีรับเจ้าเข้าเมืองขึ้น พบมากในแถบ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จะเริ่มจากวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ของปี โดยจะจัดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในหมู่บ้าน ที่เป็นลานกว้าง ปักเสาระทาลง ซึ่งเสาระทานั้น จะทำจากลำไม้ไผ่ขนาดยาว ๔ – ๕ เมตร บนยอดปักเฉลว ถัดลงมาเป็นโครงไม้ไผ่สำหรับปักเทียน ดัดเป็นทรงบัวตูม วงกลม และ โค้งทรงใบเสมา เพื่อใช้สำหรับปักเทียน ที่โคนเสาระทา จะมีเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเตรียมมาเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือธง ที่จะเขียนชื่อ – นามสกุล ปักไว้บนเสาระทา เพื่อเป็นของกำนลแก่เทวดา เมื่อถึงเวลา ตัวแทนชาวบ้านก็จะจุดเทียนบนเสาระทาทั้งหมด แล้วเจ้าพิธี ซึ่งเป็นหมอไสยศาสตร์ก็จะชุมนุมเทวดา ประกาศเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ นางสงกรานต์ประจำปี ลงมารับเครื่องบูชา จากนั้นก็จะโปรยข้าวสารไปยังโคนเสาระทา ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการต้อนรับเทวดา จากนั้นจึงเป็นมหรสพสมโภชน์ เมื่อเสร็จพิธี ชาวบ้านจะนำธงที่เสียบไปเสียบที่บ้านเรือน เพื่อความเป็นสิริมงคล

พิธีรับเจ้าเข้าเมืองนี้ ในบางท้องที่ ก็จะเรียกว่า “ พิธีรับเทวดา ” หรือ “ รับเทียมดา ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่จะไม่ใช้เสาระทา ทำศาล ๑๖ เสา สำหรับบูชาเทวดาแทน ใช้พื้นที่ลานกว้างในหมู่บ้าน หรือ ลานกว้างในวัด เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี ศาลสำหรับรับเทวดา จะนำไม้สูงราว ๑ เมตรเศษ จำนวน ๑๖ ต้น มาทำเป็นเสาของศาล พื้นศาลทำจากไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน ปูพื้นศาลด้วยใบกล้วยพังลา ( กล้วยตานี ) เสาตรงกลาง หรือเสารอบในทั้ง ๔ เสา จะสูงกว่าเสารอบนอก สำหรับทำโครงหลังคาให้แก่เทวดา เครื่องเซ่นไหว้และธงเทียว ก็จะใช้แบบเดียวกับพิธีรับเจ้าเข้าเมือง เพียงแต่มีหม้อน้ำมนต์ที่แช่ใบหมากผู้เฉียงพร้าเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเฉพาะที่ขาดไม่ได้ การประกอบพิธีก็จะทำพิธีในช่วงยามนกชุมรัง แบบเดียวกับพิธีรับเจ้าเข้าเมือง หมอไสยศาสตร์ก็จะอัญเชิญเทวดา และ นางสงกรานต์ประจำปีมาอวยพร แล้วมีการแสดงสมโภชน์ เมื่อเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีก็จะนำธงเทียว และ หม้อน้ำมนต์กลับไปยังบ้าน ประพรมบ้านเรือน และ เครื่องใช้ ให้บังเกิดสวัสดิมงคลทุกประการ

ในส่วนของการละเล่นในวันว่าง ที่พบกันในทุกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ที่นิยมกันจะประกอบไปด้วยการละเล่นเพื่อความสำราญต่าง ๆ แต่ที่นิยมเล่นกันทั่วไป ประกอบไปด้วย

๑. การเล่นสะบ้า
การเล่นสะบ้า หรือ ทอยสะบ้า จะนิยมใช้ผลสะบ้าในการเล่น โดยจะมีลูกสะบ้าลูกหนึ่งตั้งไว้ ห่างจากตัวผู้เล่นราว ๖ เมตร วิธีเล่นคือผู้เล่นจะต้องล้อ หรือ ยิงลูกสะบ้าให้ใกล้เคียงลูกตั้งมากที่สุด เลยลูกตั้ง หรือ ออกนอกเขต ถือว่าโมฆะ จะเป็นสิทธิ์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เล่นต่อ ผู้เล่นจะผลัดกันล้อ ผลัดกันยิงให้เป็นที่พอใจ ซึ่งแต่ละคนจะมีลีลาท่าทางการล้อ การยิงที่แตกต่างกัน ยิ่งพิศดาร ก็จะยิ่งเป็นที่นิยมชมชอบกันมาก การเล่นสะบ้าในภาคใต้แต่เดิมนั้นมีแทบทุกจังหวัด แต่ภายหลังได้ลดน้อยถอยลง เพราะหาคนเล่นได้ยาก และบางส่วนมีผลเกี่ยวข้องกับการพนัน จึงมีการเปลี่ยนเป็นการเล่นเปตองแทน

๒. เล่นโนราดิบ และ โนราโกลน ( บางที่เรียกโนราหอย )
โนราดิบ คือการละเล่นที่เลียนแบบโนราจริง โดยผู้เล่นจะเป็นชาวบ้านทั่วไป หรือ ผู้ที่มีเชื้อสายโนราก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรี ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับ รำกันตามประสาที่จำท่วงท่ามาได้ ถ้าหากใครรำและทำบทได้ดีกว่า ก็จะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ ส่วนฝ่ายที่แพ้นั้น ก็ต้องเลี้ยงข้าว เลี้ยงสุรา หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการปรับไหมที่ได้พ่ายแพ้ ซึ่งจะปรับไหมกันเพื่อเอาสนุกสนาน ไม่ได้เอาจริงเอาจังเท่าใด และจุดเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านละเล่นโนราดิบนี่เอง ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็น “ โนราโกลน ” หรือ “ โนราหอย ” ที่ได้เอาวัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัว แล้วเอาเครื่องดนตรีจริง ๆ มาประกอบการแสดง การแสดงโนราโกลน ก็จะล้อเลียนโนราจริงทุกอย่าง จะแสดงในเชิงเอาสนุกสนานกันเสียมากกว่า โดยนิยมเล่นกันในช่วงวันว่าง ซึ่งบางคนบางท่าน ก็ถึงกับตั้งคณะโนราโกลนเป็นของตนเอง รับงานแก้บน รำถวาย เหมือนกับโนราแท้ ๆ ทุกประการ

จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาวันว่าง ทั้ง ๓ วัน เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ชาวทะเลใต้จะใช้เวลาพักผ่อน ทำบุญกับครอบครัว รวมถึงละเล่นสนุกสนานเพื่อเป็นการผ่อนคลาย หลังจากที่กรำงานหนักมาตลอดทั้งปี เทศกาลวันว่าง หรือ เทศกาลสงกรานต์ของชาวภาคใต้ คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข และ ความอบอุ่นของครอบครัว ที่ลูกหลาน จะใช้เวลาใกล้ชิดกับบรรพบุรุษอย่างมีความสุข

ขอบพระคุณภาพจากหอสมุดแห่งชาติ