ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ขุนอาเทศคดี
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

การจัดทำให้แก่ศพของผู้ตาย ในจังหวัดนครศรีธรรมราชหรือหลาย ๆ จังหวัดในภาคใต้ ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่ก่อน ๆ ได้กระทำกันเป็นพิธีรีตรองอย่างพิถีพิถันมาก ผิดกับการกระทำในสมัยนี้ เข้าใจว่าจะเป็นขนบประเพณีสืบ ๆ กันมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว โดยถือว่าการตายเป็นเรื่องอัปมงคล เป็นเสนียดจัญไร ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้ผีดุร้ายกลับมาอาละวาดหลอกหลอน หรือเกิดเหตุร้ายขึ้นได้ จึงเห็นว่าสมควรที่จะนำมากล่าวไว้เพื่อเป็นเครื่องเปรียบเทียบและวิจารณ์กันดูว่า เหตุใดคนแต่ก่อนเขาจึงทำกันอย่างนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์อย่างไรบ้าง กล่าวคือ

๑. ถ้ามีการตายลง ณ ที่บ้านเรือนใด เจ้าภาพต้องเชิญผู้ที่มีความรู้ในทางเวทย์มนต์ หมอผี มาร่ายโองการเสกทำน้ำมนต์ขับไล่ผีสางรังควาน ประพรมน้ำมนต์ที่ซากศพเพื่อป้องกันมิให้ผีดุร้ายมาอาละวาดหลอกหลอน ทำให้เดือดร้อนรำคาญ เรียกว่า ‘พิธีดอย’ พิธีนี้เข้าใจว่า เกิดขึ้นจากความกลัวผีนั้นเอง คนโบราณกลัวผียิ่งกว่าคนสมัยนี้ คนสมัยนี้ไม่ค่อยทำพิธีดอยกันแล้ว เว้นแต่ในชนบทยังมีทำกันอยู่บ้าง

และบางท้องถิ่นยังเอาลูกพันธุ์ (ลูกคันธ์สำหรับอบน้ำ) มาตั้งไว้ข้างศพ คือทำเป็นปริศนาธรรม ดังปรากฏตามหนังสือเฉลยปริศนาธรรมของนายเลียบ ประพันธ์ ว่า

“ขอแถลงแจ้งข่าวกล่าวยุบล
หวังให้คนรู้เรื่องเบื้องโบราณ

เมื่อคราวศพหลบหลับอยู่กับที่
ปิดภูษีมิดชิดคิดสงสาร
เอาลูกพันธุ์มาแนบกายผู้วายปราณ
จะบรรหารบอกเล่าให้เข้าใจ

คำว่าพันธุ์นั้นสืบต่อจากพ่อแม่
เป็นเที่ยงแท้มั่นคงไม่สงสัย
ให้ดูข้างพันธุ์พ่อแม่มาแต่ไร
ไม่มีใครรอดพ้นสักคนเลย

แต่ล้วนกายแตกดับจิตกลับหาย
ยังแต่กายตั้งกลิ้งนอนนิ่งเฉย
ไม่มีใครนึกรักสักคนเลย
ตั้งหน้าเฉยเกลียดชังทั้งหญิงชาย

คิดแต่จะให้พาไปหาเปลว
เป็นคนเลวทรามใหญ่นึกใจหาย
น่าสมเพชเวทนาแก่ร่างกาย
เกิดมาได้เป็นมนุษย์วิสุทโธ

เพราะมีศีลห้าประจำจึ่งล้ำเลิศ
ได้มาเกิดเป็นมนุษย์วิสุทธิ์โส
ภณะได้พบลาภยิ่งสิ่งบุญโต
มากลับโซเปื่อยเน่าไม่เข้าการ

ท่านทำมาเพื่อให้รู้อยู่ทั่วกัน
เราเป็นพันธุ์ปลดปลงในสงสาร
ตลอดถึงเผ่าพงศ์ในวงวาน
อยู่ไม่นานถึงตายได้ทุกคน”

๒. เมื่อทำพิธีดอยแล้ว ก็จัดการอาบน้ำศพ คือเอาขมิ้น ดินเหนียวตำเคล้าให้เข้ากัน แล้วเอาน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำมะพร้าว มาประสมอาบชำระศพให้สะอาด อาบให้ครบสิบสอง (ลูกหลานจะอาบน้ำศพ หรือช่วยขัดถูทำความสะอาดศพ ก็จะให้ทำกันในระหว่างนี้ นอกจากเวลานี้แล้ว จะไม่มีการรดน้ำกันอีก และทำการเฉพาะลูกหลานเป็นการภายในเท่านั้น)

“ให้อาบน้ำตามกฎบทโบราณ
ที่ทำการอาบน้ำตามคัมภีร์

เอาน้ำร้อนน้ำเย็นขมิ้นดินประสม
คือดินน้ำไฟลมสมเป็นสี่
น้ำมะพร้าวได้แก่จิตลิขิตมี
ตัวเรานี้คือธาตุสี่มีขึ้นก่อน

ส่วนดวงจิตจรมาอยู่อาศัย
ในดินน้ำลมไฟใจพักผ่อน
พอกายแตกแยกพรากจิตจากจร
เที่ยวเร่ร่อนตามกรรมสุดรำพัน”

คำว่าอาบน้ำครบสิบสองนั้น คือสิบสองภาชนะที่ตัก ถ้าตักด้วยขันก็ให้ครบสิบสองขัน

“จะกล่าวพร่องเรื่องจริงทุกสิ่งสรรพ์
ครบสิบสองภาชนะประหลาดครั้น
เค้าจัดสรรประมวลประมาณมา

คืออายตนะทั้งสิบสอง
ให้ถูกต้องตามกระแสแน่หนักหนา
เค้าแถลงแจ้งข่าวเล่ากันมา
ให้รู้จักอายตนะสิบสองอัน

คือตาหูจมูกลิ้นกายและใจ
เป็นอายตนะภายในใหญ่มหันต์
เรียกอายตนะสิบสองนั้น
ที่จัดสรรตั้งไว้ข้างภายใน

ข้างภายนอกบอกเล่าเป็นข้อข้อ
เติมติดต่อแจ้งศาลออกขานไข
มีหกอย่างทางนอกบอกต่อไป
รูปเสียงใสกลิ่นรสกำหนดมา

พร้อมทั้งโผฏฐัพพะธรรมหกข้อ
นี่แหละหนอให้เห็นเป็นปัญหา
สิ่งถูกต้องจำได้กายกายา
อารมณ์มาเกิดไปในใจจริง

ทั้งสองฝ่ายได้ประจบครบสิบสอง
อยู่ปกครองร่างกายทั้งชายหญิง
เป็นบ่อบุญบ่อบาปทราบความจริง
สิบสองสิ่งติดตนทุกคนไป

ใครทำบุญบุญพาไปหาลาภ
ใครทำบาปบาปตามติดผิดวิสัย”

บางท้องถิ่นเอาใบมะกรูด ใบมะนาว รากสะบ้า มาตำกับขมิ้นทาศพด้วย เข้าใจว่าเพื่อดับกลิ่น ฆ่าเชื้อโรคบางอย่าง เพราะรากสะบ้ามีพิษเมา โบราณเอามาตำสระผมทำลายขี้รังแคและค่าตัวเหาได้

ตามหนังสือเฉลยปริศนาธรรมว่า

“ส่วนรากสะบ้านั้นเล่าจะกล่าวพร่อง
ไปตามคลองรำพันดังบรรหาร
คือความหลงไม่รู้จริงสิ่งอยู่นาน
ไม่มีการเปลื้องปลดให้หมดไป

อุปาทานยึดถือเหมือนมือกุม
เข้ามารุมกันหลงให้สงสัย
เพื่อเป็นสองของจิตสนิทใน
ให้หลงใหลเป็นบ้าในอารมณ์

หลงรูปรสกลิ่นเสียงสำเนียงหวาน
อุปาทานยึดถือเล่าเข้าประสม
หลงรูปรสกลิ่นเสียงสำเนียงหวาน
อุปาทานยึดถือเล่าเข้าประสม
ไม่รู้สึกสิ่งเดียวว่าเปรี้ยวขม
เลยหลงชมทุกอันจนวันตาย

นี่แหละเอารากสะบ้ามาทาตัว
ให้รู้ทั่วความจริงสิ่งทั้งหลาย
เลยเกาะแกะแนะนำควรจำไว้
รู้สึกกายตรงความไปตามกาล”

๓. เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วยกทรงให้นั่ง ใช้ยอดกล้วยเป็นหลอดกรอกน้ำผึ้งรวงกับการบูรลงไปในท้องมาก ๆ เพื่อป้องกันมิให้ศพเน่าเร็ว แล้วจัดการตกแต่งให้แก่ศพ คือหวีผมกลับมาข้างหน้า เมื่อหวีเสร็จแล้วให้หักหวีทิ้งลงในโลง ตามชนบทบางแห่งหวีด้วยพด (เปลือกมะพร้าว) การหวีกลับและหักหวีนี้เป็นปริศนาธรรม เพื่อแสดงให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง ไม่สวย ไม่งาม การหักหวีก็เพื่อให้คิดหักจิตพักใจ ไม่ต้องเศร้าโศกอะไร เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตายเป็นธรรมดา

วิธีจัดนุ่งห่มให้แก่ศพนั้น โดยมากใช้ผ้าที่ผู้ตายชอบใช้นุ่งห่มประจำหรือผ้าขาวก็ได้ ทำชายพกไว้ข้างหลัง โจงกระเบนไว้ข้างหน้า หรือจะนุ่งไม่โจงกระเบนก็ได้ การกระทำเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นปริศนาธรรม ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง ไม่สวย ไม่งาม ดังกล่าวแล้ว

บางท้องถิ่นใช้ผ้านุ่งเพียงหนึ่งศอกปิดไว้เพียงข้างหน้า ผ้าห่มก็กว้างเพียงหนึ่งศอกเท่านั้น เพื่อแสดงว่ามนุษย์ที่เกิดมาแล้วอายุไม่ยาวยืน อายุสั้นพลันตาย ควรรีบประกอบกรรมดีไว้ให้มาก อย่าประมาทว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่มีโรคภัย ยังไหลต่อความตาย เพราะความตายเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ ว่าจะตายเมื่อใด วันนี้หรือวันไหน อาจตายเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ก็ได้ วันคืนล่วงไป ๆ ชีวิตของคนสัตว์ก็ล่วงไป ๆ ตามวัน เวลานั้นด้วย ท่านเปรียบเหมือนคนจูงโคไปฆ่า ยิ่งก้าวไปเท่าใด ก็ยิ่งใกล้ที่ที่จะฆ่าเข้าไปทุกที เวลานี้ใกล้เข้าไปเพียงไหนแล้วไม่รู้ จงรีบทำดี ทำดีไว้ อย่าได้ประมาท

“ข้างหลังเผยปิดข้างหน้าเวลาตาย

นุ่งและห่มผ้านั้นสั้นหนึ่งศอก
ผมผู้บอกคิดไปหัวใจหาย
ชีวิตสัตว์เกิดมาสั้นเร็วพลันตาย
ควรขวนขวายทำความดีเป็นศรีตัว”

๔. แล้วเอาด้ายขาว ผูกกรองมือ กรองเท้า เอาดอกไม้ ธูป เทียน ซองหมากพลู ใส่มือให้ แล้วโยงไปผูกไว้กับคอ ถ้าเป็นศพคนที่มั่งมีเงินทอง ก็เอาแหวนทองรูปพรรณใส่ปากศพ และบางคนเอาทองปิดหน้าศพ หรือปิดด้วยทองอังกฤษตามสถานะของตน บางท้องถิ่นใช้ใบพลูปิดหน้าศพก็มี (ตามหนังสือประเพณีไทย ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ว่า การที่เอาทองปิดหน้านั้น เพื่อเป็นเครื่องป้องกันดวงตาหลุด เช่นเดียวกับชาวอียิปต์) และตามหนังสือเฉลยปริศนาธรรมอธิบายว่า การผูกกรองมือ เท้า และคอ หมายถึง บ่วง ๓ ได้แก่ บุตร และทรัพย์กับภรรยา ยากที่จะตัดนิวรณ์ห่วงใยให้ขาดได้ ดังปรากฏตามโคลงโลกนิติว่า

๑. ปุตโต คีเว = มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
๒. ธนัง ปาเท = ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
๓. ภริยา หัตเถ = ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ รึงรัด มือนา

และผู้เขียนได้แต่งเทียบ

มีบุตรดุจบ่วงคล้อง คอกระสัน อยู่ฮา
ทรัพย์ผู้บาทาพัน แน่นไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงขัด ขึงรัด มือพ่อ
ใครตัดสามบ่วงได้ จึ่งพ้นสงสารฯ

ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลูที่ใส่มือให้นั้น เพื่อจะได้นำไปบูชาพระจุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุพระพุทธเจ้า อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือเพื่อแสดงว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

แหวนทองรูปพรรณที่ใส่ปากนั้น หมายความว่าทรัพย์สมบัติเป็นของกลางสำหรับโลก แม้จะปกครองยึดถือก็ได้เฉพาะชั่วคราว เมื่อตายแล้วใส่ปากให้ก็เอาไปไม่ได้ ต้องคืนให้แก่โลก สิ่งที่ติดตัวไปได้คือบุญกุศลและบาปเท่านั้น

แหวนหรือทองรูปพรรณที่ใส่ปากนั้น เป็นของเสียสละ เจ้าภาพไม่ได้คิดเอาคืน เป็นของตกได้แก่สัปเหร่อ ผู้เขียนเคยเห็นสัปเหร่อควักเอาแหวนจากปากศพ แล้วใส่หมับเข้าปากตนทั้งที่มีน้ำเน่าน้ำหนอง ถามเขาว่าทำไมทำอย่างนั้น ถ้าเช็ดล้างให้สะอาดเสียก่อนไม่ได้หรือ เค้าตอบว่าเป็นธรรมเนียมของสัปเหร่อ ต้องทำความสนิทสนม ไม่รังเกียจแก่ศพ หากไม่ทำอย่างนั้น จะเอาของเขาไม่ได้ เป็นอุบาทว์จัญไร ทำมาหากินไม่เกิดผล คล้ายกับที่ถือกันว่าถ้าฆ่าคนตายแล้ว ต้องเลียโลหิตที่เปื้อนมีด ดาบ เพื่อแก้ขวง คือเสียผีนั่นเอง แต่ตามหนังสือประเพณีไทยว่า “การที่เอาแหวนใส่ปากศพนั้น เพื่อสำหรับผูกได้สายสิญจน์ในปากศพ ซึ่งเวลาเผา สัปเหร่อก็เอาออกมาทำความสะอาดแล้วกลับคืนให้เจ้าภาพ ถ้าเจ้าภาพต้องการจะเอาไว้ ก็เอาเงินแลกกลับคืนตามตกลงกัน ถ้าไม่ต้องการ ของก็เป็นของสัปเหร่อ เข้าใจว่าเป็นของล่อใจสัปเหร่อให้ทำศพนั้นโดยประณีตเท่านั้น”

การเอาวัตถุปิดหน้าศพนั้น ถือว่าการตายเท่ากับถูกแผ่นดินกลบหน้าไปชาติหนึ่ง คนที่ยังไม่ตายควรจะถือเป็นคติรีบทำบุญกุศลประกอบการงานที่ควรทำทำเสียให้เสร็จ อย่าทอดทิ้งการงานไว้ให้อากูลแก่ลูกหลาน เมื่อถูกแผ่นดินกลบหน้าแล้ว ก็หมดเรื่องกันไปคราวหนึ่ง

“เร่งหาผลกุศลก่อนจะดับจิต
เมื่อชีวิตบรรจบพบสว่าง
ถึงชีพลับดับกระเด็นให้เห็นทาง
แสงสว่างคือกุศลที่ตนทำ

ทำสิ่งใดแล้วทำให้ตลอด
อย่าทิ้งทอดเอาไว้ดูไม่ขำ
คิดนึกตึกตรองต้องจดจำ
คิดหรือทำรีบร้อนเสียก่อนตาย

ครั้นตายแล้วแคล้วคลาดนิราศหมด
ทั้งลาภยศผาสุกทุกข์ก็หาย
จะช่วยใครที่ไหนก็ไม่ได้
เหมือนความตายปิดหน้าดั่งวาที”

๕. เมื่อกรองมือเท้า นุ่งห่มเสร็จแล้ว ก็เอาผ้าขาวห่อศพทบไปมาหลาย ๆ ชั้น ผูกตราสังด้วยด้ายขาวเป็นเปลาะ ๆ ตลอดหัวและเท้าให้แน่นหนา แล้วจึงนำศพลงในโลง เรื่องผูกมัดตราสังศพนี้ ปรากฏตามหนังสือศาสนาสากล ของหลวงวิจิตรวาทการว่า เป็นสิ่งที่ได้กระทำกันมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณของมนุษย์สมัยหินที่เห็นศพเป็นของร้าย เข้าใจกันว่าคนตายก็เหมือนคนนอนหลับ ดวงวิญญาณยังอยู่ในร่างนั้นจะลุกขึ้นมาหลอกหลอนหรือทำความไม่ดีอะไรให้ จึงได้มัดแข้งมัดขาเพื่อมิให้ลุกขึ้นมาได้ และเมื่อนำไปกลบหรือฝังแล้ว ก็ยังได้เอาหินก้อนใหญ่ ๆ มหึมา มากองทับกันไว้อย่างแน่นหนา จนแน่ใจว่าจะลุกขึ้นไม่ได้อีกต่อไปอีก

ความคิดอย่างนี้ก็ได้แพร่มาจนกระทั่งถึงไทยเรา เช่นเรื่องตราสังมัดศพหรือทำน้ำมนต์พระพรมศพที่เรียกกันว่า ‘ดอย’ นั้นก็ไม่ใช่อื่นใด เป็นเรื่องป้องกันผีดุเท่านั้น เวลานี้เลิกกรองมือกรองเท้าผูกมัดตราสังกันแล้ว การแต่งตัวนุ่งห่มให้แก่ศพ ก็นุ่งห่มกันตามธรรมดา ตามฐานะของผู้ตายที่ควรแก่การบริโภคใช้สอย ฉะนั้น โอกาสที่พระจะชักผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น น้ำเลือด น้ำหนอง) อย่างสมัยก่อน ๆ จึงไม่มีในปัจจุบันแล้ว

๖. วิธีทำโลง ต้องทำให้ปากโลงผายกว่าก้นนิดหน่อย แล้วเอาดินเหนียวมาตำผสมกับใบบอนและใบฝรั่ง เพื่อให้เหนียว ยาตามแนวก้นโลงและข้างๆ เพื่อป้องกันมิให้น้ำเน่า น้ำหนอง ไหลซึมออกมาได้ แล้วให้เอากระดาษฟางหรือปูนขาวโรยอีกทีหนึ่งเพื่อดูดน้ำเน่า น้ำหนองไว้ด้วย

ต่อจากนั้น ก็เอาไม้รอด ๔ อัน ยิงตั้งขวางไว้ในโลง (บางท้องถิ่นเรียกว่าไม้ข้ามทะเล) แล้วเอาฟาก ๗ ซี่วางลงบนไม้รอด (ฟาก ๗ ซี่นี้ ต้องถักด้วยเชือกเป็น ๓ แห่ง จะใช้กรองทับไปมาเหมือนอย่างที่กรองกันตามธรรมดาไม่ได้) แล้วจึงเอาศพใส่ลงในโลง ให้สายด้ายที่ผูกมัดมือศพเหลือยื่นออกมาจากโลงเพื่อผูกกับผ้าโยงสำหรับพระใช้ชักบังสุกุลต่อไป

ไม้รอด ๔ อันนั้น หมายเอาธาตุสี่ ที่เรียกว่าไม้ข้ามทะเล คือหมายเอาการข้ามโอฆะ ๔ นั้นเอง ได้แก่ กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ ไม้ฟาก ๗ ซี่ หมายเอาพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ เชือกที่กรองฟาก ๓ แห่ง (๓ เปลาะ) นั้นหมายถึง พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ รวมความว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องข้ามโอฆะ ที่ห้ามมิให้กรองฟากกลับไปกลับมา ก็เพื่อจะไม่ให้กลับมาเกี่ยวพันกับโลกอีก

“เรื่องเชือกพับบังคับกลับกรองหลบ
แจ้งให้ครบตามจริงทุกสิ่งสรรพ์
พระอริยะละกิเลสเหตุพัวพัน
ท่านบากบั่นข้ามไปเสียไกลตน

ไม่ต้องมาละอีกหลีกไปแล้ว
ให้คลาดแคล้วกลอกกลับรับแต่ผล”
ขณะเมื่อเอาศพลงบรรจุในโลงนั้น ต้องนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมเสียหนึ่งเตียง เรียกว่าสวดหน้าศพ หรือหน้าหนวยไม้

๗. เมื่อเอาศพลงหีบแล้ว ถ้ามีความประสงค์จะตั้งศพไว้ที่บ้าน เพื่อสะดวกแก่การทำบุญให้ทานต่อหน้าศพ ก็ให้จัดสถานที่ที่ตั้งศพ ที่พระสวด ที่พักพระ ที่พักแขกไปมาในงาน

ที่ตั้งศพนั้น ให้มีฐานวางศพ ๒ – ๓ ชั้น และมีแจกันปักดอกไม้ พานดอกไม้ เชิงเทียนวางขัดกันไป และตั้งผ้าโยงที่บูชาพระให้ผู้ตายตรงหน้าศพ ตั้งโต๊ะหมู่สำหรับพระพุทธรูป ควรจัดให้ศพหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้าตั้งอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสถานที่บังคับจะตั้งให้หันศีรษะไปทางไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก ข้อสำคัญ อย่าจัดให้พระนั่งสวดพระอภิธรรม ที่ตั้งโต๊ะหมู่พระพุทธรูป หรือที่แสดงพระธรรมมาเทศนาอยู่ทางปลายเท้าศพเท่านั้น

การตั้งศพทำบุญที่บ้าน โดยมาก ๓ วันหรือ ๗ วัน มีเทศน์และสวดพระอภิธรรมในเวลากลางคืน รุ่งขึ้นตอนเช้าเลี้ยงพระ โดยมากพระที่สวดเตียงหลัง ๆ เพราะท่านอยู่ดึก และตั้งอาหาร ข้าว น้ำ ให้แก่ศพทั้งสองเวลา มีการเคาะที่โลงบอกให้รับประทานอาหาร ประเพณีอันนี้อาจเกิดขึ้นด้วยกตัญญูรู้คุณ หรือการเซ่นวิญญาณมาจากจีนก็ได้

๘. วันเผาศพนั้น ทางปักษ์ใต้ถือเอาวันขึ้นแรมเป็นสำคัญคือ ข้างขึ้นถือวันคี่ ข้างแรมถือวันคู่ ห้ามมิให้ทำการเผาศพ เช่น วันขึ้นค่ำ ๓ ค่ำ ๕ ค่ำ หรือวันแรม ๒ ๔ ๖ ค่ำเหล่านี้ จะเผาศพมิได้ ถือว่าเป็น ‘วันผีหามคน’ ถ้าจะเผาวันข้างขึ้นให้เผาวันขึ้น ๒ ค่ำ ๔ ค่ำ ซึ่งเป็นวันคู่ หรือถ้าจะเผาวันข้างแรมก็เผาวันแรมค่ำ ๓ ค่ำ เป็นต้นเรียกว่า ‘วันคนหามผี’ แม้จะตรงกับวันพระหรือวันอาทิตย์วันศุกร์หรือวันไหนไหนก็ใช้ได้ไม่ห้าม (ตรงข้ามกับภาคกลางซึ่งถือวันศุกร์ไม่เผาศพ)

๙. เครื่องประโคมในงานศพนั้น ใช้เครื่อง ‘กาหลอ’ มีกลองแขก (กลองชนะ) ๒ ใบ ฆ้องโหม่ง ๑ ใบ ปี่ห้อ (ปี่ชวา) ๑ อัน ใช้ประโคมตั้งแต่คืนแรกจนตลอดงาน ต้องปลูกโรงให้อยู่เป็นเอกเทศ มีคนประจำเครื่อง ๓ คน กินอยู่หลับนอนในโรงนั้นเสร็จ ถ้ามีธุระจำเป็นจะออกจากโรง ก็ต้องอยู่เฝ้าโรงคนหนึ่ง จะทิ้งโรงไปไม่ได้ มีพิธีรีตองถือครูถือผี เช่นเริ่มจะลงมือประโคมต้องทำพิธีเบิกปากปี่เสียก่อน มีดอกไม้ ธูป เทียน หมาก ๙ คำ ผ้าขาวสองผืน เงินหกสลึง เป็นค่าขึ้นครู

เมื่อวันจะออกจากโรงแห่นำศพไปป่าช้า ต้องดูทิศทางมิให้ต้อง ‘ผีหลวง’ หรือ ‘หลาวเหล็ก’ ถ้าจะออกทางประตูไม่ได้โดยเป็นทิศห้าม ก็ต้องแหกฝาโรงออกไป เครื่องกาหลอนี้ สมัยก่อน ๆ นิยมใช้กันมากเพราะค่าแรงงานถูก และมีเสียงไพเราะ โหยหวน คล้ายพิณพาทย์ทำเพลงนางหงส์ แต่ปัจจุบันนี้นิยมใช้พิณพาทย์หรือแตรเครื่องดุริยางค์กันแล้ว เว้นแต่ชนบทยังใช้กาหลอกันอยู่

แต่เมื่องานพระราชทานเพลิงศพพระครูกาเดิม (คลิ้ง มงฺคโล) วัดจันทาราม วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๓ นี้ ได้หาเครื่องกาหลอมาประโคมในงาน รู้สึกว่าครึกครื้นดี คำว่า ‘กาหลอ’ เข้าใจว่ามาจากรากศัพท์ว่า ‘กาหล’ ซึ่งแปลว่า แตรงอน อึกทึก (หมายความว่าเครื่องประโคมอันมีเสียงอึกทึก)

๑๐. เวลาจะยกศพออกไปจากบ้าน ต้องทำประตูพราง คือเอาไม้ ๔ อันทำเป็นสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ทาบไว้ที่ประตูเรือนข้างนอก ที่จะนำศพออกไป และต้องให้ลูกหรือหลานคนสุดท้องถือข้าวสารออกตามศพไปด้วย ประตูพรางนี้ เมื่อนำศพออกไปแล้ว ให้เอาออกทิ้งเสีย ศพที่นำออกไปนั้นให้เอาเท้าออกไปก่อน และกลบลบรอยคนหามศพเสียด้วย ทั้งนี้เพื่อมีให้ผีกลับบ้านถูก ส่วนลูกหลานเด็กเล็กก็ให้เอามีดหม้อทาหน้า เพื่อมิให้ผีจำหน้าได้หรือให้ผีเกลียด ฯ

(คำอธิบายภาพปก ศพพระครูกาชาด (ย่อง อินฺสุวณฺโณ) วัดวังตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จาก Facebook : Krit Jakkrit)

จากบทความ “ประเพณีการจัดทำศพ (ที่ถูกต้อง) ของชาวใต้” ของขุนอาเทศคดี ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๓