ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ไกรศักดิ์ สุจารีย์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียงมาเป็นเวลาช้านาน เนื่องด้วยเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้ว (ฟัน) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นำมาจากลังกา กอปรกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีสวยงาม ความโดดเด่น และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้พุทธเจดีย์องค์นี้มีความสำคัญและมีคุณค่าต่อชาวนครศรีธรรมราช เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยอายุของ พระบรมธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเป็นสาเหตุให้พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะส่วนปลียอดทองคำ ซึ่งเป็นส่วนที่เสื่อมสภาพได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องปะทะกับความชื้นจากฝนและลมทะเล จึงทำให้ต้องมีการบูรณะอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสังคมและสื่อโซเซียลมีเดีย เนื่องจากได้เกิดคราบสนิมบริเวณ ปลียอดทองคำซึ่งได้ย้อยลงมาบริเวณปล้องไฉน ทำให้ต้องดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุและหาแนวทางการแก้ไขอย่างละเอียดซึ่งในวันนี้ผู้เขียนจึงได้เรียบเรียงบทความฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการในบูรณะปลียอดทองคำในช่วงที่ผ่านมาให้เกิดความกระจ่างขึ้น ดังนี้

ในการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้น ได้อาศัยข้อมูลจากตำนานเป็นสำคัญ เนื่องจากไม่พบข้อมูลทางเอกสารที่ระบุถึงการก่อสร้างองค์พระบรมธาตุไว้อย่างชัดเจน โดยตำนานที่กล่าวถึงและถูกนำมาใช้ในการศึกษามากที่สุด ได้แก่ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช โดยตำนานทั้งสองได้ระบุเนื้อหาที่มีความคล้ายคลึงกัน มีใจความโดยสรุปดังนี้

“เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงแล้ว มีการแบ่งและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ ที่ต่าง ๆ โดยในการถวายพระเพลิงพระเกษมมหาเถระได้กำบังกายเข้าในกองเพลิงและอัญเชิญพระทันตธาตุออกไปถวายพระเจ้าสิงหราชแห่งนครป่าหมาก ต่อมาเรียกนครนี้ว่า “ทนธบุรี” ซึ่งมีกษัตริย์เมืองต่าง ๆ ได้ยกทัพมาตีเพื่อชิงพระทันตธาตุไม่ได้ขาด จนกระทั่งกษัตริย์หนุ่ม ๕ พระองค์ยกทัพเข้ามาประชิดเมือง พระเจ้าสิงหราชทรงคาดการณ์ว่ายากจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงให้พระราชธิดา พระราชบุตร คือ พระนางเหมชาลา และพระทนธกุมาร อัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือหนีไปกรุงลังกา เพื่อถวายแก่พระเจ้ากรุงลังกา แต่ระหว่างทางเรือถูกพายุซัดแตกกลางทะเล ทั้งสองพระองค์จึงขึ้นฝั่งแล้วเดินทางมายังหาดทรายแก้วและฝังพระทันตธาตุที่ซ่อนไว้ในมวยพระเกศาของพระนางเหมชาลา ณ หาดทรายแก้ว จนเมื่อพระมหาเถรพรหมเทพได้พบเข้า ได้นำสองพระกุมารอัญเชิญพระทันตธาตุต่อไปยังลังกา และถวายพระทันตธาตุต่อพระเจ้าทศคามุนี และโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์พร้อมผูกภาพยนตร์รักษาไว้ในลังกา แล้วให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 2 ทะนาน ประทานให้พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนธกุมารอัญเชิญมาประดิษฐาน ณหาดทรายแก้ว สถานที่พระทันตธาตุเคยมาสถิต ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งเมืองเอาวราชทรงอพยพผู้คนหนีไข้ห่าลงมาทางใต้จนถึงหาดทรายแก้ว จึงทำพิธีทำเงินนะโมเพื่อแก้โรคห่า เมื่อสำเร็จจึงขุดให้หาพระบรมสารีริกธาตุแก้ภาพยนตร์ได้แล้วจึงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น”

ส่วนในเรื่องของลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ตามแบบลังกา มีส่วนฐานทำเป็นฐานช้างล้อม รองรับลานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังเป็นทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์สี่เหลี่ยม ประดับด้วยเครื่องถ้วยต่าง ๆ ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรมีการประดับด้วยเสาหารและพระเวียน (พระสงฆ์ 8 รูปกำลังเดินประทักษิณรอบพระเจดีย์) ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน กลีบบัวคว่ำบัวหงาย และปลียอดซึ่งประดับด้วยทองคำและอัญมณีมีค่า ตามลำดับ

จากการศึกษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้น ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ระบุไว้ว่า “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้นมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม สัมพันธ์กับเจดีย์กิริเวหาระ เมืองโปลนนารุวะ ประเทศลังกา และสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18” จึงมีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองทั้งสองน่าจะมีการติดต่อกัน ส่งผลให้เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา ลังกาวงศ์เข้ามา และทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีความเจริญทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเวลาต่อมา ก่อนจะแพร่กระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ ของประเทศไทย อาทิ เมืองสุโขทัย หรือเมืองต่าง ๆ ในภาคใต้ เป็นต้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงการเข้ามาของพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ในดินแดนประเทศไทย” นอกจากนี้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ยังมีความสำคัญในฐานะพุทธสถานอันเป็น ศูนย์รวมศรัทธาของชาวนครศรีธรรมราชและดินแดนใกล้เคียง เกิดคติความเชื่อและประเพณีที่สำคัญหลายประเพณี เช่น ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสวดด้าน ประเพณีการตักบาตรธูปเทียน เป็นต้น

ปลียอดทองคำ กับเหตุแห่งการเสื่อมสภาพ

สืบเนื่องจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนสันทรายทะเลนครศรีธรรมราช ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้รับอิทธิพลความชื้นจากลมทะเล นอกจากนี้ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุก ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลจากความชื้นเช่นกัน ส่งผลให้พระบรมธาตุเจดีย์มีการเสื่อมสภาพ อาทิ บริเวณส่วนยอด มีร่องรอยของการฉีกขาดของทองคำ เกิดคราบสนิมของทองคำ หรือโลหะอื่น ๆ และย้อยลงมาสู่บริเวณส่วนปล้องไฉน มีการเสื่อมสภาพของปูน, ส่วนองค์ระฆังเกิดการขยายตัวของปูนเนื่องจากความชื้น ทำให้เกิดรอยร้าว คราบราและตะไคร่น้ำตามบริเวณต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นจากกาลเวลาด้วย เนื่องจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ที่มีความเก่าแก่ จึงทำให้วัสดุภายในหรือโครงสร้างอาจมีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ซึ่งจากปัจจัยการเสื่อมสภาพทั้งทางธรรมชาติและปัจจัยทางด้านอายุของโบราณสถานดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเกิดการเสื่อมสภาพอันก่อให้เกิดการบูรณะในเวลาต่อมา

การบูรณะครั้งสำคัญ

จากปัญหาการเสื่อมสภาพข้างต้น เป็นเหตุทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เกิดการชำรุดและเสียหายเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอยู่เสมอ โดยการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ มีดังต่อไปนี้

๑. ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีการบูรณะส่วนยอดขององค์พระบรมธาตุเจดีย์มาจนถึงบัลลังก์ โดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช)

๒. ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกาทศรถ และพระเจ้าปราสาททอง ได้มีการบูรณะส่วนยอดขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีการปิดทองและบูรณะปลียอดที่หัก

๓. ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้มีการบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระมหาธาตุครั้งใหญ่ โดยมีพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล(ปาน) เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะ

๔. ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๕ ได้มีการสำรวจโครงสร้างขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ และมีการอนุรักษ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์, เจดีย์ทิศ และใบเสมา รวมถึงเครื่องสูงบนสันกำแพงลานประทักษิณ โดยกรมศิลปากร

๕. ในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการซ่อมบูรณะกลีบบัวทองคำขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยกรมศิลปากร

๖. ในปีพ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ปลียอดทองคำขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยกรมศิลปากร

๗. ในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ ได้มีการบูรณะกลีบบัวทองคำ โดยกรมศิลปากร ซึ่งนับเป็นการบูรณะครั้งล่าสุดและร่วมสมัยกับปัจจุบัน

เทคนิคและวิธีการบูรณะและอนุรักษ์ส่วนยอดทองคำ

จากหัวข้อที่แล้ว เราจะเห็นได้ว่า “การบูรณะในช่วงระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการบูรณะบริเวณส่วนยอดขององค์พระธาตุเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่สูงกว่าพื้นดินเกือบ ๕๐ เมตร ทำให้ได้รับอิทธิพลความชื้นจากฝนและลมทะเล ซึ่งความชื้นเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปูนและโลหะที่ใช้หุ้มส่วนยอดเกิดการเสียหายและเสื่อมสภาพ จึงต้องมีการบูรณะอยู่บ่อยครั้ง โดยในการบูรณะแต่ละครั้งมีเทคนิคและวิธีการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

การบูรณะกลีบบัวทองคำ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐

ภายหลังจากการสำรวจโครงสร้างขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ส่งผลให้มีโครงการบูรณะและอนุรักษ์โครงสร้างขององค์พระบรมธาตุเจดีย์และบริวาร ในเวลาต่อมาหลายโครงการ โดยงานหลักเป็นการเสริมความมั่นคงของโครงสร้าง การป้องกันการรั่วซึมของน้ำและซ่อมแซมในส่วนที่เกิดความเสียหายเป็นสำคัญ จนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ งานศิลปะไทยและช่างสิบหมู่ กองหัตถศิลป์ ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมกลีบบัวทองคำ โดยมีวิธีการ คือ การสำรวจความเสียหายของกลีบบัวทองคำและโกลนกลีบบัวที่ทำจากปูน พบว่า สภาพแผ่นทองคำที่หุ้มกลีบบัว มีสภาพชำรุด มีการผุ ฉีกขาดและเป็นสนิม จึงได้มีการถอดชิ้นส่วนลงมา เพื่อนำไปศึกษาและทำการอนุรักษ์ต่อไป ส่วนสภาพโกลนกลีบบัว พบว่า เนื้อปูนเกิดการเสื่อมสภาพเป็นอย่างมาก จึงได้มีการกะเทาะปูนเก่าออก และมีการบูรณะโดยการเสริมโครงสร้างเหล็กลงไป เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรง ก่อนจะปั้นกลีบบัวขึ้นมาใหม่ตามแบบของเดิม ก่อนจะนำกลีบทองคำที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วมาหุ้มทับโกลนต่อไป โดยใช้แผ่นตะกั่วรัดโดยรอบ ยึดด้วยตะปูโลหะ และนำแผ่นทองแดงมาติดตั้งเหนือกลีบบัว เพื่อกั้นและป้องกันน้ำฝน

จากการศึกษากลีบบัวทองคำ พบว่ามีกลีบที่เป็นทองคำแท้และทองคำผสม โดยแผ่นทองคำที่ชำรุดส่วนใหญ่ล้วนเป็นทองคำผสม ดังนั้นในการบูรณะซ่อมแซมมีความจำเป็นต้องนำโลหะผสมออกไปก่อน จากนั้นจึงนำทองคำบริสุทธิ์ที่เหลือไปหลอมใหม่รวมกับทองคำที่มาจากส่วนอื่น คือ จากการซื้อ,จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ทั้งนี้เพื่อให้ได้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์ และมีน้ำหนักตามที่ต้องการ ก่อนที่จะนำไปรีดเป็นแผ่น และขึ้นรูป และนำติดตั้งบนโกลนกลีบบัวตามลำดับ โดยทองคำที่ใช้ในการบูรณะครั้งนี้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๒๓,๙๗๒.๑๐ กรัม หรือเป็นน้ำหนักทองคำเท่ากับ ๑,๕๗๓.๑๖ บาท

การบูรณะปลียอดทองคำ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘

ภายหลังจากการบูรณะปลียอดทองคำ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วเสร็จแล้วนั้น หลังจากนั้น ๒ ปี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอีกครั้ง และพบว่ามีรอยร้าว มีการหลุดร่อนของปูนฉาบ รวมถึงมีการรั่วซึมของน้ำ จึงต้องมีการบูรณะอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามในการบูรณะครั้งนี้ไม่ได้มีทำการสำรวจในส่วนของปลียอดทองคำ จึงทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเกิดความกังวลเป็นอย่างมากและเกรงว่าจะเกิดความเสียหายหนักเช่นเดียวกับองค์เจดีย์ ดังนั้นกรมศิลปากร จึงได้ลงพื้นที่และทำการสำรวจสภาพปลียอดทองคำ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๔ พบว่าทั้งส่วนโครงสร้างและทองคำที่ใช้หุ้มเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งโครงการบูรณะปลียอดทองคำในปีพ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘

สำหรับการบูรณะปลียอดทองคำ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ นั้นได้แบ่งการบูรณะออกเป็น ๒ ส่วน เช่นเดียวกับการบูรณะกลีบบัวทองคำเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๐ คือ การบูรณะด้านความมั่นคงและความแข็งแรง และการบูรณะด้านประณีตศิลปกรรม โดยแต่ละด้านมีวิธีการดังต่อไปนี้

ด้านความมั่นคงและความแข็งแรง ได้มีเจาะรูเพื่อฉีดสารเคมีเข้าไป และใช้สแตนเลสรัดรอบปลียอด เพื่อเสริมความแข็งแรง ก่อนจะพอกด้วยเส้นใยไฟเบอร์กลาสหุ้มทับผิวเดิมของแกนปลีและสแตนเลสที่รัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหุ้มทับอีกครั้งด้วยแผ่นตะกั่วและแผ่นทองคำ โดยใช้หมุดโลหะเป็นตัวตรึงชั้นโลหะดังกล่าว

ด้านประณีตศิลปกรรม ได้มีการถอดชิ้นส่วนทองคำลงมาศึกษารูปแบบ ก่อนจะนำไปแยกทองคำและโลหะผสมเช่นเดียวกับการบูรณะเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ก่อนจะนำทองคำบริสุทธิ์ไปหลอมรวมกับทองคำที่จัดหามาใหม่ ก่อนจะนำไปขึ้นรูปและใช้ทำส่วนประกอบต่าง ๆ ของปลียอด ตัวอย่างเช่น ใช้หุ้มปลียอดทองคำ, ใช้จัดทำกระเปาะพลอย,จัดทำพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือใช้ทำเส้นลวดทองคำเพื่อยึดทองส่วนต่าง ๆ เป็นต้น โดยทองคำที่นำไปใช้ในการบูรณะปลียอดทองคำในครั้งนี้ คิดเป็นน้ำหนักทั้งสิ้น ๑๔๐,๙๘๗.๙๘ กรัมหรือ คิดเป็นน้ำหนักบาทได้ ๙,๓๔๑.๓๑ บาท

การบูรณะกลีบบัวทองคำ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๑

สืบเนื่องจากในช่วงปีประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๕ ที่ผ่านมาได้เกิดกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในกระแสโซเซียลหลายประการ เช่น กรณีการที่พระบรมธาตุเจดีย์ทรุดเอียง, กรณีการจัดการผู้ประกอบการค้าดอกไม้บริเวณหน้าวัด หรือกรณีการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยบางประเด็นก็ยังมีการกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนถึงปัจจุบัน แต่กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นที่สนใจของชาวนครศรีธรรมราชมากที่สุดคือ “การเกิดคราบสนิมบริเวณปล้องไฉนขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” ทำให้มีการวิพากษ์เป็นประเด็นต่าง ๆ เป็นวงกว้าง เช่น ทองที่ใช้หุ้มเป็นทองคำแท้ แล้วจะเกิดสนิมได้อย่างไร มีการทุจริตทองคำระหว่างการบูรณะจริงหรือ รวมถึงวิธีการบูรณะโดยกรมศิลปากรเป็นต้น จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๖ กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปสำรวจและล้างทำความสะอาดคราบดังกล่าว และพบว่าได้เกิดคราบสนิมขึ้นอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นไปทำการสำรวจด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ พบว่า “เป็นคราบสนิมของโลหะตะกั่ว เหล็ก และทองแดงซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ซ่อมบูรณะปลียอดองค์พระธาตุ ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ และ ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ที่มีออกซิเจนออกซิเจนเป็นส่วนประกอบ ความร้อน ความชื้น ฝน และแสงแดด จึงเกิดเป็นสนิม และเมื่อน้ำฝนชะลงมาจึงเห็นเป็นรอยคราบสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิมบนปล้องไฉน โดยสันนิษฐานว่าบริเวณที่เป็นสาเหตุของคราบสนิมน่าจะอยู่บริเวณกลีบบัวคว่ำ บัวหงาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมของน้ำได้ง่าย”

จากเหตุดังกล่าวได้นำมาซึ่งการบูรณะกลีบบัวทองคำในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีเทคนิคและวิธีการ คือ มีการถอดกลีบบัวทองคำและวัสดุที่ใช้ยึดกลีบบัวทองคำลงมาด้านล่าง และนำวัสดุที่ใช้ยึดเดิมออกไป ก่อนจะมีการทำความสะอาดโกลนกลีบบัวให้สะอาด ส่วนกลีบบัวทองคำนั้นได้นำไปหลอมรวมกับทองคำใหม่ที่ได้จากการจัดซื้อโดยเงินของ ผู้มีจิตศรัทธา ทั้งนี้เพื่อให้ได้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์และให้ได้ตามน้ำหนักตามที่ต้องการ ก่อนจะนำมารีดเป็นแผ่น และเป็นเส้นลวด จากนั้นจึงนำไปติดตั้งบนโกลนกลีบบัวที่เตรียมไว้ เมื่อแล้วเสร็จจึงขัดล้างทำความสะอาด กำจัดคราบสนิม ตะไคร่น้ำ และขัดสีปูนบริเวณปล้องไฉนและองค์ระฆังให้มีความสวยงามและดูกลมกลืนกัน

สืบเนื่องจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ถือเป็นศาสนสถานสำคัญ เป็นที่ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายแล้วนั้น ยังมีความสำคัญในฐานะตัวแทนการเข้ามาของพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ ในดินแดนประเทศด้วย แต่เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางด้านการเสื่อมสภาพตามอายุที่เกิดขึ้น เป็นเหตุทำให้พระบรมธาตุเจดีย์ดังกล่าวเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก และมีการบูรณะอยู่บ่อยครั้ง โดย “การบูรณะในระยะเวลา ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา มักเป็นการบูรณะบริเวณส่วนยอดเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นบริเวณที่เกิดความเสียหายได้ง่ายและมักเสียหายอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องมีการบูรณะเพื่อให้มีความคงทนและสมบูรณ์อยู่เสมอ ซึ่งในการบูรณะส่วนดังกล่าวนั้น ขั้นตอนและรูปแบบวิธีการที่คล้ายกัน คือ มีการสำรวจ ศึกษาสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจะมีการวางแผนและออกแบบการทำงานโดยกรมศิลปากร โดยมีวิธีการปฏิบัติงานคือ ได้ทำการบูรณะทั้งส่วนที่เป็นแกนและส่วนที่เป็นโลหะ โดยในส่วนของปูน เนื่องจากมีความเสียหายมากกว่าปกติ จึงมีเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ การฉีดสารเคมีเข้าไปในแกนกลาง การเสริมโครงเหล็ก การรัดด้วยสแตนเลส หรือการเสริมด้วยเส้นใยไฟเบอร์กลาส เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแรงและมั่นคงให้กับแกน ส่วนงานการบูรณะซ่อมแซมโลหะที่ใช้หุ้ม ได้มีการนำทองคำที่เป็นของเดิมมาทำให้บริสุทธิ์ก่อนนำไปหลอมรวมกับทองคำที่มีการจัดหาใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์และมีน้ำหนักตามที่ต้องการ ก่อนจะนำไปดัดแปลงเป็นส่วน ๆ ต่างตามที่ต้องการ และนำไปติดตั้งยังแกนที่เตรียมไว้ตอนต้น” อย่างไรก็ตามในการบูรณะทุกครั้งได้มีการศึกษาถึงรูปร่าง รูปแบบวิธีการรวมถึงวัสดุที่ใช้ในการบูรณะ ให้มีความใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้พระบรมธาตุเจดีย์มีความสมบูรณ์ มั่นคงแข็งแรงและมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฯ

(คำอธิบายภาพปก หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ CFNA๐๑-P๐๐๑๙๒๒๒-๐๐๒๑ มีคำอธิบายเหนือภาพระบุว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” ภาพนี้จึงเป็นภาพที่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญพร้อมข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการของโบราณสถานหลายจุด ทั้งพระวิหารหลวงที่กำลังถูกรื้อลงเพื่อบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ เสาดอกไม้เพลิง ๑๐ ต้นหลากหลายรูปแบบปลูกเรียงรายเพื่อการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ และที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์เห็นการใช้งานบันไดเพื่อขึ้นไปยังบริเวณบัลลังก์)

จากบทความ “การบูรณะปลียอดทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” ของ ไกรศักดิ์ สุจารีย์ ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๖๒