ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ราชครูโนรากับครูโนรา ต่างกันอย่างไร ความเข้าใจที่ไม่ควรละเลย โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

หากกล่าวถึงคำว่า “ โนรา ” ในความเข้าใจของชาวบ้าน ค่อนข้างจะมีในหลายมิติ ในบางครั้ง การเอ่ยถึง หรือการกล่าวสรรพนามที่แทนโนรา ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละพื้นที่ พอจะกล่าวยกมาให้ทำความเข้าใจได้ดังต่อไปนี้

๑. สรรพนามของโนราที่ผ่านการผูกผ้าตัดจุกอย่างสมบูรณ์

สำหรับโนราที่สมบูรณ์ตามขนบประเพณีโนรา จะต้องเป็นโนราในขั้น “ ราชครูโนรา ” ซึ่งสรรพนามราชครูโนรานั้น เป็นนามที่ใช้ขนานนามโนราผู้ที่ผ่านพิธีผูกผ้าตัดจุก หรือ ผ่านการบวชโนรามาแล้ว โดยอ้างเอาเรื่องราวเมื่อครั้งพญาสายฟ้าฟาดทรงพระราชทานเครื่องต้นให้แก่ชายน้อย และพระราชทานยศให้เป็นขุนศรีศรัทธาหัวหน้าของโนราทั้งหลาย สามารถฝึกสอนและบังคับบัญชาผู้คนในสังกัดได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีโนราที่ผ่านการเล่าเรียนในขนบการเป็นโนราจนสมบูรณ์แล้ว จะต้องมีการผูกผ้าตัดจุก หรือในบางขนบก็เรียกการบวชโนราใหญ่ให้กับโนราผู้ที่เล่าเรียนเจนจบแล้ว โดยในการบวชโนรานั้นจะตัดจุกครอบเทริดครั้งหนึ่ง และบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาครั้งหนึ่ง เมื่อสึกหาลาเพศออกมาแล้ว จึงถือว่าเป็นราชครูโนราโดยสมบูรณ์ สามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามขนบโนราได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นขับบทกาศครู การบนบาน และแก้เหมรฺยบน การแทงจระเข้ การตั้งหิ้งครูหมอโนรา การเชื้อเชิญดวงวิญญาณของครูหมอเข้าประทับทรง การผูกผ้าตัดจุกให้กับราชครูโนรารุ่นถัดไป รวมถึงการรับขันหมากจากผู้ศรัทธา ก็ล้วนแต่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ราชครูโนราสามารถประกอบได้ทั้งสิ้น แต่ก็มีบางพื้นที่เช่นกัน ที่เรียกราชครูโนราว่า โนราใหญ่ เช่นแถบพื้นที่ จ.ตรัง และแถบพื้นที่ทางตะวันตกของภาคใต้ ซึ่งบุคคลที่เป็นราชครูโนรา หรือโนราใหญ่ มักจะได้รับการยอมรับและได้รับการเคารพนับถือจากสังคมว่าเป็นผู้ที่สืบทอดโนราอย่างสมบูรณ์

๒. สรรพนามของโนราผู้สอนวิชาโนราให้แก่ศิษย์

ผู้ที่ถ่ายทอดการร่ายรำโนราให้แก่ศิษย์ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นราชครูโนราที่มีหน้าที่ในส่วนนี้โดยตรง แต่ก็มีโนราหลาย ๆ ท่าน ที่ฝึกหัดเยาวชนให้หัดรำโนรา แต่ไม่ได้ผูกผ้าตัดจุก หรือ ผ่านการบวชโนราใหญ่แต่อย่างใด ซึ่งบุคคลประเภทนี้ จะเรียกกันว่า “ ครูโนรา ” ซึ่งครูโนรานั้น เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ยกเว้นแต่ราชครูโนรา ที่มักจะนิยมบุรุษเพศ หน้าที่ของครูโนรา คือการถ่ายทอดลีลาท่ารำ การขับบท การเล่นเครื่องดนตรี และจริยามารยาทต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่รำโนรา แต่โดยส่วนใหญ่ครูโนราที่เป็นผู้ชายค่อนข้างจะมีน้อย เพราะค่านิยมของสังคมโนรา ที่โนราจะต้องพยายามพากเพียรเป็นราชครูโนราให้ได้ จึงทำให้ครูโนรา เป็นตำแหน่งที่น้อยคนจะเป็นกัน

๓. สรรพนามของครูหมอโนรา

ครูหมอโนรา ก็มีสรรพนามการเรียกขานที่แตกต่างกัน บางท่านจะเรียกคณะครูหมอโนราอย่างรวม ๆ ว่า “ ครูโนรา ” ซึ่งคำว่าครูโนรานี้ มักจะนิยมเรียกกันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และในบางธรรมเนียม ก็นำคำว่า ราชครูโนรา มาใช้กับครูหมอที่เป็นผู้สถาปนาโนรา ได้แก่ พญาสายฟ้าฟาด พระแม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี ขุนศรีศรัทธา เป็นต้น ซึ่งครูหมอที่เป็นราชครูโนรา หรือ เป็นครูต้นโนรา จะเป็นครูหมอในระดับสูงสุดกว่าครูหมอทั้งหลาย ด้วยศักดิ์และสิทธิ์ของผู้ที่สถาปนาวิชาขึ้นมา

คำว่า “ ราชครูโนรา ” จึงเป็นความภูมิใจของโนราที่ผ่านพิธีกรรมการตัดจุกผูกผ้าอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ได้รับ มิใช่แค่สิทธิในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงความศรัทธาที่ได้รับจากลูกหลานเชื้อสายโนรา ที่ไว้วางใจในตัวราชครูโนรา ผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของผู้คนผ่านความบันเทิง

หมายเหตุ :
– “เทริด” เป็นคำ ๑ พยางค์ ที่อ่านควบกล้ำ ๒ ตัวอักษร “ทร”
– “เหมรฺย” เป็นคำ ๑ พยางค์ ที่อ่านควบกล้ำ ๓ ตัวอักษร “หมร”