ที่มา : https://web.facebook.com/100010746434081…
ผู้เขียน : พรไทย ศิริสาธิตกิจ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

 
–ในพื้นที่ภาคใต้เรามักจะมีเรื่องเล่าในการแบ่งปันแรงงานที่เรียกว่า “ออกปาก” กันอยู่เสมอ นักวิชาการหลายท่านก็เอาเรื่องเล่านี้เพื่อบอกถึงความสามัคคีของชุมชนในอดีต ผมฟังทีไรก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การออกปากมันง่าย ๆ อย่างนั้นเหรอ ? เมื่อคราวที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ต่อเนื่องนับปี ผมจึงกล้าถามลุง ๆ ป้า ๆ แบบซอกแซก ถึงได้รู้ว่า การออกปากในอดีต นั้นซับซ้อนไม่ใช่เล่น และไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ผมสรุปเงื่อนไขเพื่อแบ่งปันข้อมูลได้ ๗ ข้อ ครับ
 
๑. ใช้ความสัมพันธ์แบบเครือญาติเป็นหลักก่อนที่จะพึ่งพาเพื่อนบ้าน
๒. ไม่มีค่าตอบแทนในรูปตัวเงิน แต่จะตอบแทนเป็นการเลี้ยงอาหารและแบ่งผลผลิตข้าว
๓. เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ผู้มาช่วยว่าหากเมื่อถึงคราวตนเองเดือดร้อนเพื่อนจะได้ช่วยบ้าง
๔. เกิดขึ้นทุกขั้นตอน ไถนา การดำนา และการเก็บข้าว
๕. ผู้ออกปากต้องมีเหตุผลในการออกปาก เช่น เป็นเครือญาติ, ครัวเรือนที่ไม่มีแรงงานผู้ชาย, ครัวเรือนที่มีคนเจ็บป่วยหนัก, ครัวเรือนที่คนในชุมชนเคารพนับถือ, ครัวเรือนที่วัวควายโดนขโมย หรือ ปีนั้นมีฤดูกาลปรวนแปร “#ฝนให้หยามแล้ว” แต่ไถนาไม่ทัน
๖. การออกปากไม่ว่าจะไถนา ดำนา และเก็บข้าว นิยมใช้เวลาช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยงเท่านั้น ชาวบ้านเรียกว่า “#ออกปากซักฮาย” โดยเจ้าของนาจะต้องประเมินภาระงานให้เหมาะสมกับจำนวนแรงงานที่ต้องการใช้ การออกปากนั้นไม่นิยมทำซ้ำต่อหนึ่งกระบวนการผลิตและหนึ่งฤดูกาล เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองในการเลี้ยงอาหารและเป็นการรบกวนเวลาเพื่อนบ้าน ซึ่งมีภาระภายในครัวเรือนตนเองมากอยู่แล้ว
๗. “ออกปาก” มีเงื่อนไขต่างจาก #ซอมือ #ซอแรง ครับ
 
–ว่าง ๆ จะมาเล่า เรื่องน่ารักของชุมชนในอดีตที่มีการช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบความลำบากฉับพลัน คือ “#การอุกไถนา” “#การอุกเก็บข้าว” ตามประสาคนแก่ ที่เริ่มนึกออกแต่เรื่องในอดีตแล้ว 😅🤣😂