ที่มา : https://web.facebook.com/nakornlibrary…
ผู้เขียน : The Library At Nakorn
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

#พระพุดศรีหึงสำมรับเมือง” หรือ #พระพุทธสิหิงค์สำหรับเมือง คือชื่อที่สมเด็จพระสังฆราชาวัดหน้าพระลาน เจ้าคณะกาแก้ว และเจ้าคณะเมืองนครสมัยธนบุรี และรัชกาลที่ ๑ เรียกพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ ปรากฏอยู่ในตำราพระราชพิธีตรุษสารทเมืองนครที่คัดส่งไปยังกรุงเทพ ฯ
 
ตำราว่า เมื่อจะตั้งการพระราชพิธีตรุษสารทเมืองนครในแผ่นดินพระเจ้าขัติยราชนิคม ผู้ผ่านขัณฑเสมาพระนครศรีธรรมราชนั้น จะนิมนต์พระพุทธสิหิงค์สำหรับเมืองออกตั้งบนเตียงอันเป็นประธานในโรงพิธี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินนครศรีธรรมราชทรงพระภูษาขาวเสด็จขึ้น เจ้าคณะกาแก้ว เรียกพระครูปลัด พระครูรอง วินัยธร ผูกมงคลที่ฐานพระสิหิงค์เวียนขวาสามรอบแล้วโยงขึ้นเพดานพระ แล้วจึงชักมงคลออกไปยังกระโจมเทียน ยังเตียงสวด ยังอาสนสงฆ์ ยังพระเจ้าแผ่นดิน ที่ข้างเตียงพระสิหิงค์นั้นทอดศัตราวุธ และ”ของวิเศษทั้งปวง”
 
และเมื่อประกาศเทวดาให้ช่วยรักษาพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนผู้คนทั้งหลาย และขับเทวดาอันเป็นมิจฉาทิฎฐิให้ออกไปนอกจักรวาลโดยอ้างอำนาจของพุทธคุณ เจ้าพนักงานประกาศก็ถูกกำหนดให้ยืนจำเพาะต่อหน้าพระสิหิงค์ดังหนึ่งอาศัยพระสิหิงค์นี้แทนองค์พระพุทธเจ้าที่จะอ้างเอาพุทธคุณปัดเป่าอุปัทวันตรายทั้งปวง
 
พระสิหิงค์สำหรับเมืองได้เป็นประธานในท่ามกลางมณฑลพิธีอันซับซ้อนนี้ และประดิษฐานอยู่ตลอดจนจบการพระราชพิธีทั้งตรุษ และทั้งสารทซึ่งต่างก็กินเวลาหลายวัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นของมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในพิธีกรรมฝ่ายบ้านเมือง
 
แต่ก็เฉพาะพิธีกรรมฝ่ายเมืองเท่านั้น แต่โบราณพระสิหิงค์สำหรับเมืองไม่ได้ถูกเชิญไปเป็นประธานในพิธีกรรมอื่นนอกเขตจวนวัง หรือพื้นที่บริบท การถือน้ำพระพัทธสัตยาในวิหารหลวงนั้นตำราไม่กำหนดให้เชิญพระสิหิงค์สำหรับเมืองออกไป
 
หลายสิบปีมาแล้วที่คนหลายภาคส่วนพยายามจะแสวงหาพระพุทธสิหิงค์ของแท้จากลังกาตามสิหิงคนิทาน โดยรวมเอาพระสิหิงค์สำหรับเมืององค์นี้ไว้ในเชคลิสต์ ๑ ใน ๓ เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อดูจากเอกสารโบราณ และร่องรอยทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชแต่ไรมา ไม่เคยยก หรือพยายามอธิบายว่าพระสิหิงค์สำหรับเมืององค์นี้เป็นพระสิหิงค์ของแท้ดั้งเดิมในตำนาน เรื่องนี้เกิดขึ้นใหม่ตามกระแสที่แพร่ลงมาจากวงวิชาการในสมัยหลัง
 
คนนครในอดีตรู้ว่า พระสิหิงค์องค์นี้คือพระพุทธสิหิงค์สำหรับเมือง คือเป็นของประจำเมือง ขณะเดียวกันวัดหลายสิบวัดในเมืองนครที่เก่าแก่ หรือเคยมีพระเถระที่มากบารมี ต่างมีพระสิหิงค์สำหรับวัดของตนไว้ในครอบครอง ทั้งโดยเปิดเผยทั้งอยู่เงียบ ๆ ล้วนเป็นพระสิหิงค์สมัยอยุธยาองค์ย่อม ๆ ที่มีทั้งปราณีต ทั้งสะท้อนลักษณะพื้นบ้าน เป็นของคู่วัดมาแต่เดิมบ้าง เป็นของที่อาจโยกย้ายจากวัดร้างมายังวัดที่มีพระสังฆาธิการมากบารมีปกครองบ้าง วัดแห่งหนึ่งในย่านท่าวังมีพระพุทธสิหิงค์ที่อาจเก่าถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 เก็บรักษาอยู่ในวัดอย่างเงียบ ๆ ถึง ๒ องค์
 
พระพุทธสิหิงค์ที่ปัจจุบันเป็นสมบัติของตระกูลลิมปิชาตินั้นมีจารึกด้านหลังว่าหลวงพระเพ็ชรได้สร้างไว้ในวัดทรายมณีทารามเมื่อปี 2237 ในพระบรมธาตุก็มีพระสิหิงค์ขนาดใหญ่มากถึงสององค์ องค์หนึ่งที่ริมกำแพงวิหารโพธิลังกาอาจเป็นพระสิหิงค์สมัยอยุธยาที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ พุทธลักษณะปราณีตงดงาม
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นพระสิหิงค์สำหรับเมือง หรือสำหรับวัด ก็ไม่มีองค์ใดเป็นพระสิหิงค์จากลังกาตามตำนาน แม้แต่ของวัดบ้านนาก็ตาม พระสิหิงค์ในเมืองนครล้วนมีอายุในช่วงอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น และได้อิทธิพลของศิลปะล้านนาผ่านอยุธยาลงมา คนนครในอดีตจึงไม่เคยหวนไห้ หรือตั้งประเด็นค้นหาว่าพระสิหิงค์องค์ใดเป็นพระสิหิงค์จากลังกา แต่ต่างพากันสร้างพระสิหิงค์สำหรับวัดของตน และกำหนดพระสิหิงค์สำหรับเมืองเอาไว้เพื่อพิธีฝ่ายเมืองเป็นระบบระเบียบ
 
มิตรสหายชาวลานสกาเคยเล่าให้ฟังว่าย้อนกลับไปสี่ห้าสิบปีก่อน มีการพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งชาวบ้านไปประชุมกันดูแล้วระบุว่าพระพุทธรูปที่พบนั้นเป็นพระสิหิงค์ โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากการขัดสมาธิเพชร และปางมารวิชัย เป็นองค์ความรู้ที่ตกทอดมาจากโบราณ สะท้อนว่าคนนครในอดีตย่อมมีความคุ้นเคยกับพระสิหิงค์อยู่มากทีเดียว จนในระดับชาวบ้านก็รู้เกณฑ์ในการวินิจฉัยได้
———————————
 
ดูเรื่องเกี่ยวเนื่อง : หอพระสิหิงค์หลังเก่า – ความทรงจำที่หายไปของเมืองนครศรีธรรมราช