ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ความเชื่อเรื่องภูมิเทพ หรือ เทพเจ้าประจำผืนดิน ได้มีปรากฏในทุกอารยธรรมทั่วโลก โดยเปรียบเปรยมาแผ่นดินในสมบูรณ์นั้นเหมือนกับเทพยดา หรือ ผู้ทรงพระคุณยิ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงผืนดิน และ ให้ความเคารพต่อทวยเทพที่รักษา จึงมีพิธีกรรมสำหรับการบูชาเทพแห่งแผ่นดิน แตกต่างกันไปตามอารยธรรม

สำหรับของประเทศไทย มีความเชื่อในเรื่องของเทพยดารักษาผืนดิน ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งได้รับเอาคติของตัวเทพเจ้ามา ในคณะเทพเจ้าประจำผืนดินของประเทศไทยนั้น โดยหลักแล้วประกอบด้วย

๑. พระภูมิ
๒. เจ้ากรุงพาลี
๓. พระนางธรณี
๔. ท้าวปัถวี
๕. พญานาค

ซึ่งเทพเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นั้น ปรากฎอยู่ในคาถาบูชาอัฎฐทิศของตำรับพิธีกรรมไทย เป็นตำรับหลวงที่มีการแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผืนดิน นับตั้งแต่การขุดหลุมสร้างบ้าน จรดจนถึงตั้งศาลพระภูมิต้องมีเทพเจ้าทั้ง ๕ องค์นี้ ร่วมอยู่ด้วยเสมอ
ตามตำนานปกรณัมเทพเจ้าในฝ่ายไทย เท่าที่สรุปใจความ ที่มาของตำนานพระภูมิ มีเรื่องราวอยู่ว่า เจ้ากรุงพาลี เป็นพระราชาผู้เรืองอำนาจ มีพระราชโอรสถึง ๙ พระองค์ แต่ละพระองค์ก็แกล้วกล้าในการสงคราม จึงได้ปราบปรามโลกทั้งปวงไว้ในมือ มิใช่แค่โลกมนุษย์ ยังรวมถึงโลกบาดาล และกำลังจะพิชิตโลกสวรรค์ เทพยดาทั้งหลายเห็นในความอหังการของเจ้ากรุงพาลี จึงได้เข้าเฝ้าพระนารายณ์ ( บางตำนานบอก พระพุทธเจ้า ) เพื่อขอให้ทรงกำหราบทิฐฐิของเจ้ากรุงพาลีเสีย พระนารายณ์ จึงอวตารลงไปเป็นพราหมณ์เตี้ย ขออุทิศทานจากเจ้ากรุงพาลี เมื่อเจ้ากรุงพาลีให้ที่ดินเป็นทาน พราหมณ์แปลงจึงก้าวเท้าเพื่อครอบครองที่ดินอันเป็นทานนั้น ฝ่าเท้าก้าวแรกครอบคลุมโลกมนุษย์ ฝ่าเท้าก้าวที่สองครอบคลุมสวรรค์ ฝ่าเท้าก้าวที่สามจะครอบคลุมบาดาล เจ้ากรุงพาลีได้คุกเข่าประนมมือ ก้มเศียรของตนรองรับพระบาทพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงให้เจ้ากรุงพลีลงไปอาศัยเป็นราชาใต้บาดาล พร้อมกับเหล่าลูก ๆ และบริวารทั้งหมด ภายหลังเหล่าพระราชโอรสเจ้ากรุงพาลีบังเกิดความอดอยาก จึงได้ขอร้องพระบิดาเจ้ากรุงพลีว่าสำนึกผิดแล้ว จะขอไปดูแลโลกมนุษย์ตามเดิม เจ้ากรุงพลีพร้อมพระโอรสจึงไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อทูลขออนุญาต พระนารายณ์จึงอนุญาตให้พระราชโอรสทั้งเก้าปกครองดูแลผืนดินตามเดิม แต่ให้มีที่อาศัย หรือ มีพื้นที่เทวาลัยเพียงแค่เสาเดียว และห้ามทำการรีดรัดเอาเครื่องเซ่น ห้ามเรียกร้องเครื่องสังเวยอันเกินควรจากมนุษย์ เหล่าพระราชโอรสของเจ้ากรุงพาลีให้สัจจะรับพระโอษฐ์ แล้วจึงบังคมทูลลาไปรักษาสถานที่ตามกำหนด โดยแบ่งปันความรับผิดชอบดังต่อไปนี้

๑. พระชัยมงคล ทำหน้าที่ รักษาบ้านเรือน สถานที่มนุษย์อยู่อาศัย
๒. พระนครราช ทำหน้าที่ รักษาค่ายคูประตูหอรบ ค่ายทหาร ป้อมตำรวจ โรงพัก คลังแสง คลังอาวุธ
๓. พระเทเพน ทำหน้าที่ รักษาคอกสัตว์ โรงช้าง โรงม้า ฟาร์มเลี้ยงสัตว์
๔. พระชัยศรพณ์ ทำหน้าที่ รักษายุงฉาง คลังข้าว คลังสินค้า ธนาคาร อาคารเก็บสินค้าชนิดต่าง ๆ
๕. พระคนธรรพ์ ทำหน้าที่ รักษาโรงวิวาห์ โรงละคร สถานบันเทิง โรงแรม รีสอร์ท
๖. พระธรรมโหรา ทำหน้าที่ รักษาอุทยานป่าไม้ ป่าเขา สวนป่า
๗. พระธรรมมิกราช ทำหน้าที่ รักษาไร่นา สวนผลไม้ แปลงผัก อุทยานที่ท่องเที่ยว
๘. พระเทวเถรวัยทัต ทำหน้าที่ รักษาวัด ปูชนียสถาน เทวสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
๙. พระทาสธารา ทำหน้าที่ รักษาริมฝั่งน้ำ น้ำตก ธารน้ำ ปากคลอง ปากทะเล พื้นที่ติดทะเล

ในการสถาปนาสถานเทวาลัยพระภูมิ หรือ ศาลพระภูมิ จะมีการเชิญเจ้ากรุงพาลี นางพระธรณี ท้าวปัถวี และ พญานาค ขึ้นมาเป็นพยาน และอวยชัยให้สิทธิ แก่พระภูมิในการปกครองสถานที่นั้น ๆ อย่างเต็มที่

สำหรับคติการตั้งศาลพระภูมิ มีที่มาจากตำนานพระภูมิในข้างต้น จึงมีการสร้างศาลขึ้น เพื่อเป็นที่สักการบูชา โดยผนวกเอาศาสตร์ความรู้ทางไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และ คติความเชื่อทางพราหมณ์มาเป็นต้นขั้วของการสถาปนาภูมิเทพประจำแผ่นดิน โดยมีขั้นตอนในการฝังเครื่องมงคลในผืนดิน การบวงสรวงเทพยดา และอัญเชิญพระภูมิขึ้นศาล ซึ่งขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม และ บทโองการสำหรับใช้ในพิธี ทางผู้เขียนได้รับมอบตำราเก่ามาจาก ท่านอาจารย์กีชา วิมลเมธี ปราชญ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและอดีตเจ้าอาวาสวัดศาลามีชัย จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งท่านอาจารย์กีชา วิมลเมธีได้ค้นคว้าและรวบรวมขั้นตอนพิธีกรรมมาเป็นแบบฉบับ และได้รับความรู้จากท่านพราหมณ์สุเมธ พรหมชาติ ในเรื่องการเขียนยันต์และขั้นตอนพิธี ตลอดจนถึงบรรพบุรุษของผู้เขียนเองที่ได้ประกอบพิธีในการตั้งศาลต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์พิธีกรรม ขั้นตอนการตั้งศาลพระภูมิที่มีปรากฏไว้ ผู้เขียนจึงได้นำพิธีการตั้งศาลพระภูมิมาเรียบเรียงไว้เป็นตำรา ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้และนำไปประกอบพิธี ให้มีผลประสิทธีถูกต้องตามคติโบราณ และให้ถูกต้อง ตามขนบประเพณีไทย

สำหรับขั้นตอนการประกอบพิธี เครื่องบูชา เครื่องบวงสรวง และรายละเอียดทางด้านโองการ ผู้เขียนได้เรียบเรียงเอาไว้จนครบถ้วนแล้ว ท่านผู้สนใจ สามารถค้นคว้า สอบทาน และศึกษา ให้ถูกต้องตามครรลองของประเพณีวัฒนธรรมไทยสืบไป

โดยในตำราตั้งศาลพระภูมิ จะมีเนื้อหาดังนี้

๑. เครื่องบูชา เครื่องบวงสรวง
๒. โองการธรณีสารใหญ่ และ โองการธรณีสารน้อย ( ใช้ทำน้ำมนต์ประพรมก่อนตั้งศาลพระภูมิ )
๓. ของมงคลในหลุมฐานเสาศาลพระภูมิ และ ยันต์จตุโรและคาถาที่ใช้เสกยันต์จตุโร
๔. บูชาเทพยดาอัฎฐทิศ
๕. คาถาบูชาพระฤกษ์
๖. โองการสังเวยเทวดา และ อัญเชิญพระภูมิ
๗. จารยันต์กำกับเจว็ดพระภูมิ
๘. โองการเชิญพระภูมิขึ้นศาล
๙. โองการบวงสรวงพระภูมิ
๑๐. ขอพรพระภูมิ

หมายเหตุ การเรียบเรียงตำราขึ้นในครั้งนี้นั้นผู้เขียนประสงค์มอบให้ทุก ๆ ท่านที่สนใจและมีความตั้งใจจริง โดยจะพิจารณาไปตามความเหมาะสม ไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด