ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

 

เมื่อเอ่ยถึงโนราแล้ว หากไม่มีตาพรานอยู่ด้วย ก็คงจะเรียกโนราไม่เต็มปากเต็มคำ ตาพราน ถือเป็นตัวแสดงที่สำคัญในโนรา ไม่ว่าจะในด้านบันเทิง หรือในด้านพิธีกรรม ก็ย่อมขาดตาพรานไปไม่ได้ หากขาดไปแล้ว ถ้าเป็นการประกอบพิธีกรรม ทำให้การประกอบพิธีไม่สมบูรณ์ หรือหากเป็นภาคบันเทิง ก็จะมีผลให้การแสดงนั้น ๆ กร่อยลงมาก

หากดูในภาคความเป็นมาของโนรา จะพบว่าตาพราน หรือ พรานนั้น มีบทบาทเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่กำเนิดโนรา โดยเริ่มปรากฏชื่อพรานอยู่สองท่าน คือ “ พรานทิพย์ และ พรานเทพ ”

ประวัติความเป็นมาของตาพรานทั้งสองนั้น ตามตำนานโนราเล่าสืบต่อและเคารพกันมาคือ เมื่อครั้งที่พระนางนวลทองสำลีและนางบริพารทั้ง ๑๒ คนถูกเนรเทศลอยแพออกมาติดที่เกาะกะชัง ( ปัจจุบันคือ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ) พระนางนวลทองสำลีและนางกำนัลทั้ง ๑๒ คน ได้ขึ้นไปบนเกาะใหญ่ เพื่อแสวงหาที่พักอาศัยในระหว่างนั้นมีชายชาวเกาะ ๒ คนเดินผ่านและเห็นว่าพวกนางกำนัลชาววังทำอะไรก็ เก้ ๆ กัง ๆ เลยอาสาเข้ามาช่วย โดยตัดไม้ยอดเดียวทำเสา แป และ จันทัน ตัดเถาวัลย์มาทุบทำเป็นเชือกสำหรับผูกเครื่องเรือน ตัดเอาพืชน้ำมาสานเป็นหลังคาและสานเป็นเสื่อ เมื่อที่พักลำลองเสร็จแล้ว ชาวเกาะทั้งสองได้เชื้อเชิญให้เหล่าหญิงแปลกหน้าเข้าไปพักอาศัย เมื่อไถ่ถามกันแล้ว ชายชาวเกาะก็แนะนำว่า ตนเองชื่อทิพย์ และ อีกคนหนึ่งชื่อเทพ เป็นชาวบ้านอาศัยในเกาะแห่งนี้ พระนางนวลทองสำลีกับบริวาร จึงขอให้นายทิพย์กับนายเทพช่วยกันอยู่ดูแลพวกตน

พระนางนวลทองสำลีอาศัยบนเกาะใหญ่ ภายใต้การคุ้มครอง ดูแลโดยพรานทิพย์และพรานเทพ อีกทั้งยังมีชาวบ้านบนเกาะคอยช่วยเหลือ จึงทำให้ความเป็นอยู่ของพระนางนวลทองสำลีและบริวารไม่ลำบากอีกต่อไป ด้วยมีพรานทิพย์ พรานเทพ และ ชาวบ้านคอยหมุนเวียนกันนำเอาพืชผัก สมุนไพร และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาให้อยู่เสมอ ยามว่างก็มาร้องรำทำเพลงเป็นเพื่อนกลุ่มสาว ๆ จนกระทั่งพระนางนวลทองสำลีครบกำหนดคลอดบุตรชายออกมา เมื่อชายน้อย ( พระโอรสพระนางนวลทองสำลี ) จำเริญวัยขึ้น พรานทิพย์พรานเทพก็แวะเวียนมาเล่นด้วยอยู่เสมอ จนสองพรานกลายเป็นพี่เลี้ยงของชายน้อยในที่สุด ไม่ว่าชายน้อยจะไปที่ไหน ก็มีลุงพรานทั้งสองคอยติดตาม

เวลาผ่านไปกระทั่งชายน้อยเจริญวัยขึ้น เหตุเพราะอยากรู้ชาติกำเนิด ชายน้อยจึงได้กราบลาพระนางนวลทองสำลีเพื่อตามหาบ้านเมืองพระอัยกา ด้วยความเป็นห่วง พระนางนวลทองสำลีจึงขอให้พรานทิพย์ พรานเทพ ช่วยติดตามไปดูแลชายน้อย สองลุงพรานจึงติดตามชายน้อย คอยช่วยเหลือให้หลานโดยสารเรือพ่อค้าจนถึงฝั่ง เมื่อถึงฝั่งก็ต้องพาหลานเร่ร่อนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ อดด้วยกัน อิ่มด้วยกัน ชายน้อยมีท่ารำที่พระมารดาสอนเป็นท่าใช้หากิน สองพรานจึงคิดท่าสำหรับออกพรานขึ้นมา ไว้ช่วยหลานในระหว่างช่วงพักเหนื่อย กระทั่งการร่ายรำของทั้งสามคนเป็นที่เล่าลือกันในหมู่ชาวบ้าน จนฝีมือการรำของชายน้อยไปถึงภายในพระราชวังเวียงบางแก้ว เจ้าพญาสายฟ้าฟาดได้ให้ขุนนางไปตามตัวทั้งสามคนมารำต่อหน้าพระพักตร์ จนเจ้าพญาสายฟ้าฟาดได้ทราบความจริงว่าชายน้อยคือพระนัดดาของพระองค์ จึงได้รับขวัญและแต่งตั้งให้เป็นขุนศรีศรัทธา เป็นหัวหน้านักรำหลวง เมื่อชายน้อยเป็นขุนศรีศรัทธาแล้ว ก็ได้พรานทิพย์ พรานเทพ คอยติดตามคณะไปอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งหมดยุคครูต้นโนราแล้ว คณะโนราในยุคหลังจึงได้ใส่ชื่อตาพรานทั้งสองไปในบทกาศครู ซึ่งแทบทุกคณะจะต้องขับประกาศก่อนทุกครั้งก่อนที่จะรำ มีความว่า

“ ขุนโหรญาโหรขุนพรานญาพรานโปรดปรานเหนือเกล้าเกศา
ไหว้พรานเทพเดินดงพระยาพรานคงมาเดินป่า
พรานบุญปรึกษาเดินจำนำหน้าราชครู
แม้นผิดแม้นพลาดตรงข้อไหนชาวไทยเมตตาได้เอ็นดู
บรรดาราชครูมาอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา
ลูกจับเริ่มเดิมมาไหว้ขุนศรัทธาเป็นประธาน ”

( ส่วนหนึ่งของบทกาศครู สำนวนท่านขุนอุปถัมภ์นรากร ( โนราพุ่ม เทวา ) )

ในคติการนับถือพรานทิพย์ – พรานเทพ ได้มีกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ หากเอ่ยถึงชื่อตาพรานที่มีการเคารพนับถือมากสุด หากเป็นที่แพร่หลายกันมีอยู่ทั้งหมด ๓ องค์ คือ พรานเทพ พรานบุญ และ พรานคง แต่ภายหลังพรานเทพ กับ พรานทิพย์ กลับเป็นที่ไม่เอ่ยถึงมากนัก ทั้งที่ตาพรานทั้งสองท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ขุนศรีศรัทธานับตั้งแต่เยาว์วัยไปจนถึงประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต จึงสมควรยิ่งที่จะยกย่องคุณของตาพรานทิพย์ – ตาพรานเทพ ผู้ทรงคุณต่อขุนศรีศรัทธา ไว้เป็นที่ระลึกนึกถึงของลูกหลานโนราทุก ๆ คน