ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ในความเชื่อของชาวภาคใต้ เมื่อเข้าสู่เดือน ๕ ทางจันทรคติ ตรงกับเดือน เมษายน ทางสุริยคติ จะเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ผลัดเปลี่ยนปีนักษัตร ซึ่งชาวอุษาคเณย์ เรียกวันผลัดเปลี่ยนนักษัตรนี้ว่า “ วันสงกรานต์ ” จะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ชาวภาคใต้จะเฉลิมฉลองวันเปลี่ยนปี โดยการงดเว้นการทำงานหนัก ร่วมการละเล่น ร้องรำทำเพลงเพื่อความสนุกสนานกับครอบครัว อาบน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ ขอพรจากปู่ย่าตายายในครอบครัว

สำหรับพิธีกรรมที่กระทำกันในวันเปลี่ยนปีนักษัตรในภาคใต้ ก็มี “ ประเพณีรับเทียมดา ” คำว่า “ เทียมดา ” กร่อนมาจากคำว่า “ เทวดา ” ในภาษาบาลี ประเพณีการรับเทียมดานั้น จัดขึ้นเพื่อต้อนรับเทวดาอารักษ์กลุ่มใหม่ และ นางสงกรานต์ในปีนักษัตรใหม่มาประทับบนโลกมนุษย์ ตามความเชื่อของชาวภาคใต้ ว่าช่วงเดือน ๕ เป็นช่วงเวลาที่ “ ว่างเทวดา ” เพราะเหล่าเทพยดาจะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ทำให้โลกนั้นร้อนแล้ง สัตว์ทั้งหลายต่างจำศีล ต้นไม้ต่างผลัดใบเพื่อให้อยู่รอด จึงไม่เหมาะแก่การประกอบมงคลพิธีใด ๆ จะประกอบมงคลพิธีได้อีกครั้ง คือเมื่อวันขึ้นเดือน ๖ ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แผ่นดินจะมีความชุ่มฉ่ำ และวันแรกที่เปลี่ยนนักษัตรนี่เอง ได้เป็นต้นกำเนิดของ “ ประเพณีรับเทียมดา ” เกิดขึ้น โดยเชื่อว่า หลังจากที่นางสงกรานต์ได้แห่เศียรของท้าวกบิลพรหมผู้เป็นบิดาแล้ว ปวงเทวดาทั้งหลายที่มีหน้าที่ในการดูแลโลกมนุษย์ก็จะเสด็จลงมายังภูมิภาคต่าง ๆ ทำหน้าที่อารักษ์ บ้านเรือน ป่าเขา แม่น้ำ หรือ สถานที่ใด ๆ ที่ถูกมอบหมายมา จนครบเวลา ๑ ปี จึงกลับขึ้นสู่สวรรค์อีกครั้งเมื่อถึงวันเปลี่ยนนักษัตร เพื่อไปรายงานความดีความชั่วให้แก่สวรรค์ได้รับทราบต่อไป

และจากความเชื่อในข้างต้นนี่เอง จึงทำให้บรรพบุรุษชาวใต้ ได้จัดประเพณี “ รับเทียมดา ” ขึ้น โดยจัดในช่วงวันสงกรานต์ หรือ ในเดือน ๖ ที่มีวันข้างขึ้นเป็นเลขคี่ เช่น ขึ้น ๓ ค่ำ , ๕ ค่ำ , ๗ ค่ำ , ๙ ค่ำ ซึ่งในบางพื้นที่ จะเรียกประเพณีรับเทียมดานี้ว่า “ ประเพณีส่งเจ้าเมืองเก่า – รับเจ้าเมืองใหม่ ” โดยจะมีการทำศาล ๑๖ เสาขึ้นที่ในบริเวณลานกว้างของหมู่บ้านที่เป็นลานโล่ง ๆ เมื่อถึงเวลานกชุมรัง หรือประมาณหัวค่ำ ๆ ผู้คนแต่ละครอบครัวก็จะนำอาหารหวานคาว ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู พร้อมกับ “ ธงเทียว ” หรือ “ ธงทิว ” ลักษณะเป็นธงสามเหลี่ยม ทำจากกระดาษสมุด หรือ กระดาษสีขาว พันเข้ากับก้านมะพร้าวหรือซี่ไม้ไผ่ เขียนชื่อตนเอง ครอบครัว พร้อมกับคำอธิษฐานลงในธง และ “ หม้อน้ำมนต์ ” เป็นภาชนะอะไรก็ได้ที่บรรจุน้ำได้ คาดปากภาชนะด้วยด้ายขาวแดง แช่ใบหมากผู้ ใบเฉียงพร้าลงในหม้อ นำเครื่องบูชาทั้งหมด ไปของศาลรับเทวดา พร้อมกับนำเครื่องบูชาไปวางบนพื้นของศาลพร้อมหม้อน้ำมนต์ ปักธงบนหลังคาศาลเทวดา เมื่อทุกคนในหมู่บ้าน มาพร้อมเพรียงกันแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่หนึ่งคนก็จะนำชาวบ้านทั้งหมด กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย สวดบทชุมนุมเทวดาโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นก็จะมอบหมายให้ นักเพลงบอก หรือ ผู้ที่มีปฎิภาณไหวพริบในเชิงกลอน ขับบทอัญเชิญนางสงกรานต์ประจำปี และ เทวดาอารักษ์กลุ่มใหม่ที่มาจากสรวงสวรรค์ เสด็จมารับเครื่องสังเวยบนศาล แล้วก็ขอลาภขอพรจากเทวดา เมื่อคะเนว่าธูปมอดเทียนดับจนหมด ชาวบ้านจึงลาเอาธงธิวที่เขียนคำอธิษฐาน และ หม้อน้ำมนต์กลับไปยังบ้าน เพื่อนำไปเป็นมงคลแก่เคหะสถานที่อยู่อาศัย

ในปัจจุบันพิธีรับเทียมดา หรือ ประเพณีรับเจ้าเมืองใหม่ ได้ลดน้อยถดถอยลงไปอย่างมาก เนื่องจากหาผู้สืบทอดพิธีกรรมไม่ได้ และในชุมชนเกิดการอพยพไปทำงานต่างถิ่นของคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงทำให้บางพื้นที่ต้องงดจัดพิธี แต่ก็ยังสามารถเห็นการประกอบพิธีกรรมรับเทียมดาได้ ใน จ.สงขลา และ บางพื้นที่ของ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นชุมชนชาวพุทธเก่าแก่ ก็ยังคงประเพณีการรับเทียมดา หรือ ประเพณีรับเจ้าเมืองใหม่เอาไว้ และพิธีกรรมการรับเทียมดาในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ก็ได้นำการแสดงในพื้นถิ่นอย่าง “ โนราแขก ” มาร่วมแสดงในระหว่างการประกอบพิธีกรรมอีกด้วย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่หาดูได้ยาก

ประเพณีรับเทียมดา หรือ รับเจ้าใหม่เข้าเมือง จึงเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลในด้านขวัญกำลังใจ ในการเข้าสู่ปีนักษัตรใหม่อย่างเต็มตัว เพื่อขอพร ความเป็นสิริมงคลในด้านการเกษตร และ สัมมาอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมการมีปฎิสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ในท้องถิ่นที่อยู่อาศัย ให้ได้พบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมร่วมกันในวันขึ้นปีใหม่อย่างมีความสุขโดยทั่วกัน