ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

การเข้าทรง คือ วิธีติดต่อกับสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยกายหยาบวิธีหนึ่ง ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเชื่อแบบวิญญาณนิยม ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมในโลก เป็นความเชื่อที่เก่าแก่ มีในทุก ๆ ชนชาติ มีคติ แนวคิดที่ใกล้เคียงกัน มีหลักสำคัญในการติดต่อ ต่อสิ่งที่ควบคุมธรรมชาติ หรือ ผู้ที่เป็นบรรพบุรุษ เพื่อให้ความช่วยเหลือ คลี่คลายเรื่องทุกข์ร้อนต่าง ๆ ให้หมดไป หรือ เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ ทางความเชื่อของบุคคลในครอบครัว ในท้องถิ่นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

สำหรับความเชื่อในการเข้าทรงของภาคใต้ เท่าที่ผู้เขียนประสบพบเจอ และได้ค้นคว้ามา ก็พอสรุปได้ว่า การเข้าทรงในภาคใต้ มีด้วยกัน ดังนี้คือ

๑. การเข้าทรงภายในครอบครัว หรือ ภายในชุมชน
การเข้าทรงประเภทแรก คือการทรงภายในครอบครัว หรือ ภายในชุมชน ซึ่งคนทรงประเภทนี้ จะเข้าทรงจิตวิญญาณ ที่เป็นบรรพบุรุษ ครูอาจารย์ หรือ อารักษ์ในพื้นที่ ซึ่งการเข้าทรงนั้น จะทรงกันในช่วงเทศกาลประจำปีของแต่ละบ้าน หรือ แต่ละชุมชนเป็นหลัก เช่น พิธีไหว้ครู พิธีทำบุญฉลองทวด หรือ ทำบุญพ่อตา เป็นต้น การเข้าทรงประเภทภายในชุมชนนี้ เป็นการเข้าทรงเพื่อบำบัดความทุกข์ให้กับลูกหลาน และเป็นการเชื่อมสายใย ความผูกพันภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยมีสิ่งที่เคารพนับถือร่วมกันเป็นศูนย์กลาง การเข้าทรงของร่างทรงภายในชุมชนนี้ จะไม่มีการทรงพร่ำเพรื่อ บางที่อาจประทับทรงแค่ปีล่ะหนก็มี การสืบทอดทรง จะสืบทอดกันภายในครอบครัวที่เป็นร่างทรงมาแต่เดิม แต่ก็ไม่เสมอไป บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะคัดสรรผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในการเป็นร่างทรง เพื่อสื่อสารกับลูกหลานในชุมชน การเข้าทรงภายในท้องถิ่น สามารถพบเห็นได้ทั่วภาคใต้ มีอยู่ในทุกจังหวัด

๒. การเข้าทรงด้วยคาถาอาคม
การเข้าทรงด้วยคาถาอาคม คือการที่ “ นายหมรูน ” หรือผู้ที่สามารถติดต่อกับโลกวิญญาณได้ จะใช้คาถาอาคม และสมาธิจิตในการอัญเชิญครูอาจารย์ บรรพบุรุษ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาประทับทรง การใช้คาถาอาคมในการเชิญ ในภาคใต้จะใช้บทครึ่งแรกของบทพระสัสดีใหญ่ และบทบูชาครูต้น ในการอัญเชิญดวงจิตมาประทับทรง เพื่อสอบถามธุระในเรื่องสำคัญต่าง ๆ การเข้าทรงด้วยการใช้อำนาจของคาถาอาคม ส่วนมากหมอจะเป็นผู้ภาวนา แล้วให้ลูกหลานของเจ้าบ้านเป็นร่างทรง ในบางคติก็นำเอาเด็กที่มีอายุพอจะพูดได้ เจรจาได้เป็นร่างทรง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการจดจำเรื่องราวจากคนอื่น ๆ เอามาพูด การเข้าทรงด้วยวิธีนี้ กล่าวได้ว่า มีแทบอยู่ทุกจังหวัดในภาคใต้เช่นกัน ส่วนมากจะมีการใช้คาถาอาคมเพื่อเข้าทรงในงานสำคัญ ๆ เช่น พิธีไหว้ครูประจำปี พิธีสมโภชน์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการเข้าทรงอย่างลับ ๆ เพื่อสอบถามปัญหาสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

๓. การเข้าทรงโดยการละเล่น
การเข้าทรงโดยการละเล่น จะนิยมเข้าทรงเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อถามไถ่ฤดูกาล ฝนฟ้าอากาศในแต่ล่ะปี โดยมีวิธีเข้าทรง โดยการให้ร่างทรงนั่งคลุมผ้าที่ลานกว้าง แล้วผู้ละเล่นจะเชื้อทรงโดยการนั่งล้อมร่างทรงเป็นวงกลม ร้องเพลงเชื้อเชิญดวงจิตที่เป็นสัตว์ในธรรมชาติมาประทับทรง ซึ่งถ้าร่างทรงเป็นผู้ชาย ก็จะนิยมทรงนางช้าง และทรงมดแดง ส่วนถ้าร่างทรงเป็นผู้หญิง ก็จะนิยมเข้าทรง พญาหงส์ หรือ นางหงส์ เพื่อถามไถ่เรื่องฤดูกาล ฝนฟ้า และการทำไร่นา และเมื่อถามเรื่องสำคัญได้แล้ว ก็จะมีการหยอกให้ร่างทรงโกรธ เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งการเข้าทรงโดยการละเล่นในภาคใต้ในปัจจุบัน ได้เลือนหายไปจากสังคมเสียแล้ว เนื่องจากขาดผู้ที่สืบสาน

๔. การเข้าทรงโดยพิธีกรรม
การเข้าทรงโดยพิธีกรรม คือการเข้าทรงที่เป็นแบบแผน และไม่ได้ทรงกันบ่อยนัก จะมีการเข้าทรงก็ต่อเมื่อครบรอบสัญญาที่ให้ไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ เกิดความทุกข์ร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะมีการเข้าทรงโดยพิธีกรรมขึ้นมา สำหรับในภาคใต้ การเข้าทรงโดยพิธีกรรม มีด้วยกัน ๕ ชนิด ดังนี้คือ

๔.๑ พิธีกรรมเหลยไท
พิธีกรรมเหลยไท หรือ การเข้าทรงผีแชง จะมีมากใน จ.ชุมพร จ.ระนอง และทางตอนบนของ จ.สุราษฎร์ธานี จะเป็นพิธีกรรมเพื่อสังเวยอารักษ์ในท้องที่ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่แต่ละครอบครัวนับถือ ซึ่งการเข้าทรงเหลยไทนี้ จะมีการยกโรงหลังคามุงจาก ทำคล้าย ๆ กับโรงครูมโนราห์ แต่จะทำพิธีกรรมแค่คืนเดียว และไม่มีการแสดงใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเหลยไทบูชาครูและชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็จะร้องเรียกอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาประทับทรง เพื่อมาพบปะเจ้าบ้าน และแก้ไขปัญหาที่ติดขัดให้หมดไป

ในปัจจุบัน การเข้าทรงโดยพิธีกรรมเหลยไท หรือ ทรงผีแชง นับวันจะหาชมได้ยาก และขาดผู้สืบทอดที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ไม่ค่อยได้เห็นกันในโลกออนไลน์มาก เท่ากับการทรงประเภทอื่น ๆ

๔.๒ พิธีกรรมเข้าทรงโดยใช้มโนราห์
พิธีกรรมการเข้าทรงโดยใช้มโนราห์เป็นผู้ประกอบพิธี จะนิยมในการประกอบพิธี “ มโนราห์โรงครู ” ซึ่งจะมีการทรงของดวงจิตครูหมอโนรา และบรรพบุรุษภายในครอบครัวนั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า “ ตายายโนรา ” ซึ่งครูหมอโนรา และ ตายายโนรา จะประทับทรงเมื่อมโนราห์มาประกอบพิธีเชื้อเชิญ เพื่อมารับเครื่องสังเวย มาเยี่ยมเยือนลูกหลานตามที่ได้ให้สัจจะสัญญากันไว้ เมื่อครูหมอโนรา ตายายโนรามาประทับทรงแล้ว ก็จะตรวจดูข้าวของสังเวย เสร็จแล้วจึงไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของลูกหลาน ขอบเขตของการประทับทรง จะทรงเฉพาะภายในโรงมโนราห์ กับที่หน้าหิ้งบูชาเท่านั้น จะไม่ทรงนอกเหนืออาณาเขตที่มโนราห์กำหนดไว้ ซึ่งการเข้าทรงโดยการใช้มโนราห์นั้น ผู้ที่เชื้อทรงจะต้องเป็นมโนราห์ชั้นนายโรง ผ่านการผูกผ้าตัดจุก บวชเรียนสำเร็จแล้ว จึงจะสามารถกระทำได้โดยสมบูรณ์

๔.๓ พิธีกรรมโต๊ะครึม ( เล่นนายมนต์ หรือ ตายายลิมนต์ )
พิธีกรรมโต๊ะครึม หรือ นายมนต์ เป็นพิธีกรรมการเข้าทรง ที่มีอยู่ในทางตอนใต้ของ จ.สงขลา ตลอดจนถึงหลายพื้นที่ของ จ.ปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อการบูชาบรรพบุรุษโดยเฉพาะ แบบเดียวกับการเข้าทรงเหลยไทของภาคใต้ตอนบน โต๊ะครึมหรือนายมนต์จะมีโรงเฉพาะ สำหรับให้เข้าทรงและวางเครื่องสังเวย ผู้ที่เป็นนายโรงลิมนต์ จะทำการร้องบทเชื้อเชิญบรรพบุรุษ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในละแวกใกล้บ้านเจ้าภาพมาประทับทรง ซึ่งเป็นการทรงที่ไม่มีการแสดงใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาบรรพบุรุษโดยตรง และเป็นพิธีกรรม ที่นับวันจะหาผู้สืบทอดได้ยากอีกแขนงหนึ่งเช่นกัน

๔.๔ พิธีกรรมมะตือรี
พิธีกรรมมะตือรี หรือ ตือรี เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาว ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการปลูกโรงสำหรับตั้งเครื่องสังเวย มี “ มะโย่ง ” และ “ บอมอ ” ( พ่อหมอ ) เป็นผู้ประกอบพิธีหลัก จะเริ่มพิธีกรรมในช่วงค่ำ หลังจากไหว้ครู สังเวยครูแล้ว ก็จะทำการจุดกำยาน และจุดเทียน อัญเชิญบรรพบุรุษของเจ้าบ้านมาประทับทรง ส่วนมากแล้ว พิธีกรรมมะตือรี จะจัดขึ้นเพื่อกำจัดโรคภัย ความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ และส่วนมากมักจะหายเป็นปกติ หลังจากที่ได้ประกอบพิธีกรรมแล้ว

เนื่องจากมะตือรี เป็นพิธีกรรมท้องถิ่น ที่ขัดกับความเชื่อหลักของศาสนาอิสลาม จึงทำให้การละเล่นมะตือรีในสามจังหวัดชายแดนค่อนข้างหาดูได้ยาก และมีแนวโน้มว่าจะสาบสูญไปจากพื้นที่

๔.๕ การเข้าทรงครูหมอหนังตะลุง
การเข้าทรงครูหมอหนังตะลุง เป็นธรรมเนียมที่มีเฉพาะใน จ.ภูเก็ต ที่นายโรงหนังตะลุง จะทำพิธีอัญเชิญดวงจิตครูอาจารย์ในวิชาหนังตะลุงมาประทับทรงในพิธีไหว้ครู ซึ่งแต่ละครั้ง จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ นายโรงหนังตะลุงผู้ประกอบพิธี จะอัญเชิญ พระฤๅษี พระพิราพ พระพิเภก ตลอดจนครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ มาประทับทรงเพื่อรับการสักการะจากลูกศิษย์ลูกหา การเข้าทรงครูหมอหนังตะลุงในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จะมีการจัดทุก ๆ ๓ ปี หรือ ๕ ปี ต่อหนึ่งครั้ง จึงทำให้หาชมได้ยากในปัจจุบัน

๕. การเข้าทรงของชาวเล
การเข้าทรงของชาวเล หรือ ชาวอูรังลาโว้ย หรือ ชาวน้ำ ในพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งอันดามัน จะมีการเข้าทรงบรรพบุรุษ ตลอดจนเทพเจ้าในคติของชาวเล ในทุก ๆ วันเทศกาลประจำปีของชาวเล โดยจะกระทำพิธีกันที่ศาลพ่อตา หรือ ศาลโต๊ะประจำหมู่บ้าน มีพ่อหมอ หรือ หมอประจำหมู่บ้าน เป็นผู้เชื้อเชิญดวงจิตของบรรพชนชาวเลลงประทับทรง เพื่อสื่อสารกับลูกหลาน และปัดเป่าโรคภัยให้ ซึ่งการเข้าทรงของชาวเล จะพบได้ตามแหล่งชุมชนที่ชาวเลตั้งชุมชนอยู่

๖. การเข้าทรงของชาวไทยเชื้อสายจีน
การเข้าทรงของชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคใต้ มีคติสืบทอดมาจากความเชื่อในการเข้าทรงเทพเจ้าของชาวจีนทางตอนใต้ ซึ่งเป็นคติการผสมผสานระหว่างความเชื่อทางศาสนา และ ความเชื่อทางเวทมนตร์ของชาวจีน โดยจะนิยมประทับทรงเทพเจ้าที่เป็นบรรพบุรุษ หรือ เป็นเทพเจ้าประจำถิ่นของตน การประทับทรงของชาวไทยเชื้อสายจีนนั้น จะประทับทรงกันที่ “ อ๊าม ” หรือ ศาลเจ้าที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อการประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าในงานประจำปี เช่น เทศกาลถือศีลกินเจ หรือ เทศกาลเฉลิมฉลองวันสำคัญของเทพเจ้าประจำศาล ผู้ที่จะมาเป็นร่างทรงของเทพเจ้าจีน มักจะมาจาการเลือกสรรค์ของเทพเจ้า และมักจะมาเป็นร่างทรงเพราะสุดวิสัยแล้วจริง ๆ การประทับทรงตามความเชื้อของชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคใต้ มีให้เห็นอยู่แทบทุกจังหวัด จะมีมากตามชุมชน หรือ ย่านที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนได้อาศัย

การตรวจสอบทรง
เมื่อมีการประทับทรงในแต่ละครั้ง ผู้อัญเชิญดวงจิตมาเข้าทรง หรือ ผู้ช่วย จะต้องมีการ “ ตรวจสอบทรง ” เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยจิตของร่างทรงเอง หรือเกิดจากดวงจิตที่แปลกปลอมเข้ามาสิงสู่ ดังนั้นจึงมีการตรวจสอบทรงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกหลาน ผู้ร่วมในพิธีกรรม โดยมีวิธีคร่าว ๆ ที่ใช้กันเป็นหลัก ๆ ดังนี้คือ
๑. ถามชื่อ ถามในสิ่งที่ดวงจิตคุ้นเคย และดูอากัปกริยาของผู้ที่มาสิงสู่ ว่ามีอะไรผิดแผกไปจากเดิมหรือไม่
๒. ถามเรื่องที่ดวงจิตนั้นมีความถนัด เช่น โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วิชาความรู้แขนงต่าง ๆ
๓. ถามเรื่องความเป็นมาเป็นไปในอดีต ถ้าตอบได้สอดคล้องกับความเป็นมาในท้องที่ และยุคสมัยที่ดวงจิตมีชีวิตอยู่ ก็พอถือว่าใช้ได้
๔. ถามสิ่งของที่ถูกนำไปซ่อน ถ้ามาทรงจริงต้องตอบได้
๕. ให้คนทรงเลือกของเซ่นไหว้ ถ้าเลือกตรงกับที่ดวงจิตศักดิ์สิทธิ์ชอบ ก็ถือว่าตรงกัน
๖. สอบถามเรื่องลูกหลาน เรื่องดินฟ้าอากาศ ถ้ารู้จริงต้องตอบได้ถูกต้อง
๗. ทดลองกับร่างคนทรงโดยตรง คือ ใช้บุหรี่จิ้ม ใช้ธูปจี้ ใช้ดาบฟัน ไปในขณะประทับทรง เป็นต้น เพราะร่างทรงนั้นจะไม่มีความเกรงกลัวหรือมีความรู้สึกแต่อย่างใด วิธีนี้ เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมกันนัก ถ้าหากยังมีความเกรงใจกันอยู่จริง ๆ จะไม่ใช่วิธีนี้เด็ดขาด
วิธีการตรวจสอบทรง ๗ ข้อนี้ เป็นวิธีที่นิยมกันมากในอดีต และในปัจจุบัน เพื่อเป็นการทดสอบการทรง ว่าจะใช่ดวงจิตดวงเดิมที่มาหรือไม่ และเพื่อเป็นการยืนยันในขั้นต้น ว่าเป็นการเข้าทรงจริง ๆ ไม่ได้หลอกลวงแต่ประการใด ทั้งนี้ ควรจะมีวิจารณญาณอย่างมากทุกครั้ง เมื่อได้อยู่ร่วมกับการประทับทรง เพื่อมิให้ตกเป็นเครื่องมือโดยง่าย และ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ระหว่าง “ ความเชื่อส่วนบุคคล ” และ “ ความจริงโดยรวม ” ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ที่ “ ความเชื่อส่วนบุคคล ” ได้สร้างความวุ่นวายกับผู้คน จนทำให้มีการดูแคลนดูถูกการเข้าทรงแบบเหมารวม ซึ่งเป็นการอคติกันเกินไป จึงควรจะมีใจที่เป็นกลาง รับฟังไว้ แต่ก็อย่าได้เชื่อเสียทั้งหมด จึงจะเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๑