ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ยันต์ไทยมีหลายรูปแบบ หลายลักษณะ ตั้งแต่อักขระตัวเดียวไปจนถึงเป็นตารางที่ใช้พื้นที่มาก ความสำคัญก็มีแตกต่างกันออกไป ไม่จำเป็นว่ายันต์สำคัญจะ ต้องใช้เนื้อที่ หรือมีอักขระ และตัวประกอบมากเสมอไป ซึ่งก่อนจะเข้าถึงยันต์แต่ละรูปแบบ จะขออธิบายส่วนประกอบของยันต์ก่อน เพื่อที่ให้เข้าใจได้ง่าย

ส่วนประกอบของยันต์ไทย หลัก ๆ มีดังนี้ คือ
๑. ลายเส้นที่เชื่อมระหว่างอักขระ หรือ ทำช่องตารางให้อักขระ
๒. อักขระ ที่เป็นหัวใจคาถาบทต่าง ๆ
๓. ตัวองค์พระ
๔. อุโองการ สูรย์ จันทร์ และ อุณาโลม
๕. ตัวเลข
๖. รูปภาพ
๗. สัญลักษณ์เพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ดาวห้าแฉก ใบพัดสามแฉก ฟองมัน ฟันทูน ฯลฯ

ในกรณีที่ยันต์เป็นยันต์ประเภท “ นะ ” หรือ “ นะปถมัง ” จะมียันต์ที่เป็นลายเส้นรูปร่างต่าง ๆ เป็นจุดโดดเด่น โดยจะมีการเสริมอุณาโลม หรือ ใส่อักขระเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เว้นเสียแต่ที่จะเป็นนะใหญ่ ๆ ที่จะมีอักขระมากเป็นพิเศษ

รูปแบบประเภทของยันต์ไทย

๑. ยันต์ประเภท “ นะ ”
ยันต์ประเภท “ นะ ” ถือเป็นพื้นฐานของการเขียนยันต์ และเสกยันต์ที่ง่ายที่สุด โดยมีองค์ประกอบเป็นลายเส้นในลักษณะต่าง ๆ มีตั้งแต่ไม่ซับซ้อน จนไปถึงพิศดาร คาถาบทหลัก ๆ ที่ใช้ คือคาถาชุดปถมัง ที่เริ่มต้นว่า “ ปถมังพิน ธุกัง ชาตัง ” ในการเริ่มเขียนหัวยันต์นะ ซึ่งยันต์นะนั้น มีมากหมายแยกย่อยไปอีก โดยมากจะไม่ซับซ้อน โดยเขียนยันต์ตัวนะ พร้อมองค์ประกอบปลุกเสกตามครูบาอาจารย์ถ่ายทอดก็ถือว่าเสร็จ สามารถใช้งานได้ทันที

ยันต์นะ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ ตำราปถมัง ” ที่อยู่ในส่วนของการนำวิชาปถมังไปใช้งาน โดยยันต์นะ ส่วนใหญ่แล้วจะแตกออกมาจากวิชาปถมัง เว้นเสียแต่บางนะ ที่มีการนำเอาอักขระเข้ามาประกอบ หรือ ใช้องค์ประกอบจากวิชาอื่น ซึ่งยันต์นะ นั้น มีการทำตำราออกมาอย่างแพร่หลาย มีความสำคัญถึงขนาดเป็นยันต์บังคับในการหล่อพระ หรือในที่รู้จักกันในนาม “ ยันต์ ๑๐๘ กับ นะปถมัง ๑๔ ” ซึ่งในการหล่อพระใด ๆ จะขาดยันต์นะไปไม่ได้เลย และบางคณาจารย์ ก็ใช้เพียงแค่ “ ยันต์นะ ” เพียงชุดเดียว ในการลงประทับที่หลังเหรียญของท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของยันต์ประเภท “ ตัวนะ ” ได้เป็นอย่างดี

๒. ยันต์ประเภทเรขาคณิต
ยันต์ประเภทเรขาคณิต คือการเขียนยันต์ที่มีรูปร่างเป็น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม แล้วเขียนอักขระใส่ในรูปร่างเรขาคณิตเหล่านั้น โดยแบ่งช่องสำหรับเขียนอักขระไว้เรียบร้อย ( เว้นแต่บางยันต์ก็ไม่มีการขึ้นช่อง เท่าแต่เขียนเป็นแถวประกอบเท่านั้น ) ซึ่งยันต์ประเภทเรขาคณิตนี้ มีตั้งแต่รูปร่างสามัญง่าย ๆ ไปจนถึงซับซ้อน เป็นกลวิชาเลยทีเดียว

อักขระที่ลงในยันต์ประเภทเรขาคณิต มักจะนำเอาคาถาบทต่าง ๆ ที่มีทั้งบทเต็ม และ บทย่อ นำมาลงในตัวยันต์ เช่น หัวใจพระเจ้าห้าองค์ หัวใจพระอภิธรรม กลบทอิติปิโส คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า เป็นต้น ซึ่งยันต์ประเภทเรขาคณิตที่เราพบเห็นกันมากที่สุด ได้แก่ ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ยันต์อิติปิโสแปดทิศ ยันต์ไตรสรณาคมณ์ เป็นต้น ซึ่งการเขียนยันต์แบบทรงเรขาคณิต จะมีความซับซ้อนกว่าการเขียนยันต์ประเภท “ ยันต์นะ ” เป็นอย่างมาก และจะลงผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าพลาดตัวใดตัวหนึ่ง จะถือว่า “ ยันต์นั้นวิบัติ ” ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นผู้ที่เขียนยันต์ประเภททรงเรขาคณิต จึงต้องมีกำลังสติ และสมาธิอย่างมาก จึงจะทำให้ยันต์ออกมาสวยงามตามแบบแผนตำรา และ มีอานุภาพรองรับการปลุกเสกได้อย่างเต็มที่

๓. ยันต์ประเภทรูปภาพ
ยันต์ประเภทรูปภาพ คือยันต์ที่ใช้รูปภาพเป็นใจกลางหลักของยันต์ แล้วมีองค์ประกอบอื่น ๆ เป็นอักขระคาถา เป็นตัวเลข เป็นตัวยันต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ประกอบเข้าจนเป็นยันต์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา ซึ่งยันต์ประเภทรูปภาพนั้น มีทั้งที่เป็นสัตว์ เป็นรูปเทวดา ในปัจจุบันมีการพัฒนา ต่อยอดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

โดยยันต์ประเภทรูปภาพนั้น จะเน้นอิทธิคุณให้รูปภาพนั้นมีพลังที่สามารถคุ้มครอง หรือ บังเกิดฤทธิ์ปกป้อง อำนวยสิ่งที่ผู้บูชาต้องการให้ได้ ซึ่งในอดีต จะนิยมรูปสัตว์ รูปเทวดา รูปพระเพียงไม่กี่รูป ซึ่งยันต์ประเภทสัตว์ ที่คุ้นเคยกันดีตั้งแต่โบราณ ก็ได้แก่ ยันต์เสือ ยันต์ราชสีห์ ยันต์พญาหงษ์ ยันต์หนุมาน ยันต์ลิงลม ยันต์หมูป่า ยันต์นกสาริกา ยันต์จิ้งจก เป็นต้น ส่วนรูปเทวดา ที่คุ้นเคยกันดี ก็มียันต์รูปแม่ซื้อ รูปท้าวเวสสุวัณ รูปพระฤๅษี รูปพระนารายณ์ ส่วนรูปพระที่นิยมใช้กัน เป็นพระกัจจายนะเถระบ้าง พระสีวลีเถระบ้าง พระพุทธบาทบ้าง พระพุทธเจ้าบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ยันต์ประเภทรูปภาพ ถ้าเป็นรูปพระ รูปเทวดา หรือ รูปที่สำคัญ ๆ คนในยุคก่อนจะนิยมเขียนใส่ผ้าไว้บูชา เช่น ยันต์รูปพระนารายณ์ ยันต์รูปพระพุทธเจ้า ส่วนยันต์ประเภทรูปสัตว์ต่าง ๆ จะนิยมสักไว้ติดตัว เพื่อที่จะให้มีกำลัง มีเดชอย่างสัตว์ตัวนั้น เช่น ยันต์เสือ ยันต์หมูป่า ยันต์ลิงลม เป็นต้น

๔. ยันต์ที่ประกอบด้วยอักษรล้วน ๆ
ยันต์ที่ประกอบด้วยอักษร หรือ อักขระล้วน ๆ ก็มีอยู่เช่นกัน และมีให้เห็นกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตัวอักษรขอม “ นะ โม พุท ธา ยะ ” ที่มีการนำมาเขียนรวมกันเป็นยันต์ นะปฐมกัลป์ และ นะซ่อนหัว ซึ่งยันต์ที่ประกอบจากอักขระทั้ง ๕ นี้ มีคุณในทุก ๆ ด้าน เหล่าคณาจารย์ จึงนิยมเขียนไว้ในผ้ายันต์

นอกจากนี้ ยังมียันต์ “ พุทซ้อน ” ของหลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ที่เขียนตัวพุท ซ้อนกัน ๓ ชั้น แล้วเขียนอุณาโลมไว้เหนือยันต์ นับเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อท่านที่ได้ผล นอกจากนี้ อีกยันต์หนึ่งที่ใช้อักขระเป็นหลัก ก็คือ “ ยันต์เกราะเพชร ” ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ที่เอาบทอิติปิโส หรือ บทสรรเสริญพุทธคุณ นำมาเรียงเป็นยันต์ ซึ่งโด่งดังไปทั่วประเทศ และบางยันต์เอง ก็เป็นเพียงแค่อักขระธรรมดา ๆ ดูแล้วไม่น่าขลัง แต่สามารถส่งผลได้อย่างเกินคาด เช่น ยันต์พุทโธ ยันต์นอโม เป็นต้น โดยเฉพาะ “ ตำรับยันต์นอโม ” ของสำนักเขาอ้อ ที่นำเอาตัวอักษรและสระทั้ง ๒๙ ตัว มาทำเป็นยันต์และคาถา ที่สามารถใช้สรรพคุณได้รอบด้าน ดังนั้น ยันต์ที่เกิดจากการร้อยเรียงตัวอักษร หรือ อักขระ ก็มีความสำคัญ และ มีอิทธิคุณ ไม่แพ้ยันต์ประเภทอื่น ๆ เลย อย่าได้คิดประมาทว่าเป็นเพียงยันต์ธรรมดา

๕. ยันต์ที่ใช้ตัวเลขเป็นสิ่งขับเคลื่อน
ยันต์ที่ใช้ตัวเลขเป็นองค์ประกอบหลัก หรือเป็นสิ่งขับเคลื่อนยันต์ ก็มีปรากฎให้เห็นอยู่พอสมควร โดยการใช้ตัวเลขในยันต์นั้น ใช้แทนดาวพระเคราะห์ เช่น พระอาทิตย์แทนด้วย ๑ พระจันทร์แทนด้วย ๒ พระเกตุแทนด้วย ๙ ยันต์ที่ใช้เลขพระเคราะห์ จะเป็นยันต์ประเภทเกี่ยวกับดวงชะตา เช่น ดวงพิชัยสงคราม เลข ใช้แทนสวรรค์ชั้นภพภูมิต่าง ๆ เช่น ในอัตราตรีนิสิงเห จตุเทวา หรือ จตุมหาราชิกาใช้ ๔ สัตตะนาคา หรือ ชั้นนาคใช้ ๗ นวะเทวา หรือ ชั้นจักรวาลใช้ ๙ หรือใช้แทนคุณของสิ่งต่าง ๆ ในวิชา เช่น คุณบิดา ๒๑ คุณมารดา ๑๒ พระอภิธรรม ๗ นวะหรคุณ ๙ เป็นต้น ซึ่งยันต์ที่ใช้อัตราตัวเลข ส่วนใหญ่เป็นยันต์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิชาโหราศาสตร์ เช่น ยันต์จตุโร , ยันต์ตรีนิสิงเห , ยันต์โสฬสมงคล , ยันต์จักรพรรตราธิราช ยันต์เหล่านี้ จะมีอานุภาพมาก ไม่แพ้ยันต์ประเภทอื่น ๆ ซ้ำยังเป็นยันต์ที่ใช้ตั้งแต่การลงเสาเอกของบ้าน ไปจนถึงการลงเสาหลักเมืองเลยทีเดียว นับว่ามีคุณไม่เบา

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยันต์ที่ประกอบด้วยเลขในฝ่ายการกระทำย่ำยีศัตรู ก็มีอยู่เหมือนกัน ในตำรับยันต์ของภาคใต้ จะมีการลงยันต์พระเคราะห์ ๗ ชั้น พระเคราะห์ ๓ ชั้น หัวใจพระเคราะห์ ส่งไปหาศัตรูก่อนที่จะกระทำคุณวิชาอื่น ๆ ใส่ลงไป เชื่อว่าเมื่อส่งเคราะห์ไปหาศัตรู จะทำให้การทำของใส่นั้นง่ายขึ้น เนื่องจากได้กระทำให้ชะตาของศัตรูตกต่ำลง ง่ายแก่การทำลายแล้วนั่นเอง

๖. ยันต์ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย
ยันต์ประเภทนี้ ถือเป็นยันต์ที่เกิดจากการรวมเอารูปลักษณ์ต่าง ๆ ประชุมกัน ถือเป็นยันต์ที่มีความสลับซับซ้อน และมักจะปรากฎในตำราขั้นลับของแต่ละสำนักเสมอ ยันต์ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย คือมีทั้งอักขระ เลข ยันต์นะ รวมอยู่ในยันต์เดียวกัน มักจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่กินเวลาการเขียนยันต์หลายชั่วโมง ซึ่งยันต์เหล่านี้ ที่ปรากฎเป็นยันต์ชั้นยาก ก็มีปรากฎให้เห็นกัน เช่น ยันต์มหาระงับ ยันต์มหาจักรพรรดิตราธิราช ของสำนักวัดประดู่โรงธรรม ยันต์สลักเกล้า ของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ยันต์พระปถมัง ๔ ด้าน ยันต์สุริยประภา – จันทรประภา ยันต์ชุดนารายณ์ประจำทิศ ( นารายณ์พลิกแผ่นดิน , นารายณ์ตรึงไตรภพ , นารายณ์เกลื่อนสมุทร , นารายณ์หักจักร ฯลฯ ) และยันต์เสมาประจำทิศ ยันต์เหล่านี้ล้วนมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน พิศดารทั้งสิ้น

ยันต์ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย ที่มีทั้งรูป ทั้งอักขระ และ เลขยันต์ในชุดเดียวกัน มักจะเป็นยันต์สำคัญเสมอ ที่มีคุณในแต่ละด้านอย่างครอบคลุม โดยยันต์ที่มีองค์ประกอบหลากหลายส่วนใหญ่ โบราณจารย์ที่กำหนดตำรา มักจะบอกอุปเท่ห์ฝอยเอาไว้มากมาย กล่าวคือ เป็นยันต์ที่ใช้ได้สารพัดนั่นเอง ยันต์ใหญ่เหล่านี้ มักจะลงตะกรุด ถวายแก่ท้าวพระยามหากษัตริย์ แม่ทัพเสนาบดีผู้นำทัพ ผู้นำบ้านเมืองอยู่เสมอ ๆ

๗. ยันต์ที่เขียนจากการเห็นในสมาธิจิต
ยันต์ที่เขียนโดยสมาธิจิต เกิดจากการเข้าฌาน เข้าภาวนาจนจิตสงบแล้ว บังเกิดตัวยันต์ขึ้นในนิมิต ยันต์ประเภทนี้ ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในทำเนียบยันต์ไทย และเมื่อเกิดแล้ว มักจะเป็นวิชาประจำตัวคณาจารย์ผู้นั้นไป จนเป็นสัญลักษณ์ของท่าน ซึ่งท่านที่สำเร็จการพบยันต์ในสมาธิจิต ที่รู้จักกันดี ก็ได้แก่ หลวงพ่อพัฒน์ วัดใหม่พัฒนาราม จ.สุราษฎร์ธานี ที่พบยันต์จากการเข้ากสิณสมาธิ หลวงพ่อนอง วัดทรายขาว ที่พบยันต์นารายณ์แปลงรูป ตำรับเฉพาะของท่าน จากการเข้าฌานเช่นเดียวกัน รวมถึงหลวงพ่อบ่าวเอิง วัดญวนสะพานขาว ที่ท่านได้นั่งสมาธิภาวนาจิต จนได้เขียนยันต์รูปแบบต่าง ๆ ไว้ในผ้ายันต์ที่ท่านสร้าง ซึ่งยันต์ที่ท่านทั้งสามค้นพบนั้น ได้เป็นยันต์ประจำตัวของท่าน และเป็นยันต์ที่สร้างชื่อให้ท่านเป็นอย่างมาก และยาก ที่จะหาผู้สำเร็จอย่างท่านได้

๘. ยันต์ที่เขียนขึ้นโดยการประทับทรง
ยันต์ที่เขียนขึ้นจากการประทับทรง เป็นยันต์ที่มักจะเป็นเอกลักษณ์ของผู้ที่เสก ไม่ได้มีการสืบทอดเป็นตำรับตำรา เพราะถือว่าเกิดจากอำนาจของผู้สร้าง ที่มาสิงสู่ในร่างมนุษย์ ในขณะทำวัตถุมงคล การใช้ยันต์ในขณะประทับทรงในฝั่งไทยนั้นมีปรากฎให้เห็นอยู่ แต่ที่โด่งดังมากก็คือ ยันต์ขององค์จตุคามรามเทพ ที่เขียนลงในวัตถุมงคลของหลักเมืองนครศรีธรรมราชในขณะประทับทรง ได้มีอิทธิฤทธิ์ จนเกิดปาฎิหารย์แก่ผู้ศรัทธาหลายท่าน ซึ่งไม่บ่อยนัก ที่วัตถุมงคลจากการประทับทรง จะได้การยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ยันต์แต่ละแบบ แต่ละประเภท ล้วนแต่มีอานุภาพทั้งสิ้น จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังจิตของผู้เขียนเป็นหลัก ถ้าผู้เขียนมีกำลังจิตเข้มแข็ง อารมณ์แน่วแน่ สามารถกำหนดอารมณ์ของคาถาในการปลุกเสกยันต์ได้ ยันต์นั้นก็จะเกิดอานุภาพ แต่ถ้าผู้ปลุกเสกมิได้มีความมั่นคงในกระแสจิต และ ไม่มีสมาธิในขณะเขียนยันต์ ต่อให้ยันต์ที่ง่ายที่สุดก็จะไม่บังเกิดผลใด ๆ เลย ดังนั้น คณาจารย์ที่เชี่ยวชาญยันต์ จึงมียันต์หลาย ๆ ด้าน ไว้ฝึกปรือกำลังจิต และ สมาธิของตน เพื่อไว้ยกระดับจิตของตนให้ไปสู่ระดับจิตที่ละเอียดขึ้น

ลิ้งบทความตอนที่ ๑ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1301381727009222
ลิ้งบทความตอนที่ ๒ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1303058686841526
ลิ้งบทความตอนที่ ๓ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1849896418534907