ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ยันต์ กับ ความเชื่อในระดับสังคมใหญ่
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงยันต์ กับวิถีชีวิตของผู้คน ที่ผูกพันตั้งแต่ปฎิสนธิ จน กระทั่งเสียชีวิตลง ในคราวนี้ จะมากล่าวถึงยันต์ ในระดับ “มหภาค ” หรือ ในระดับชุมชน และ ระดับเมือง ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเด่นชัด พอที่จะนำมาอธิบายได้ ดังต่อไปนี้

ยันต์ กับการตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย
กลุ่มบุคคลที่มีการรวมตัวอยู่อาศัยกันมาก ๆ เมื่อได้ลงหลักปักฐานที่ใดที่หนึ่งแล้ว ก็มักจะมีการ “ สร้าง ” สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ศูนย์รวมทางใจของคนกลุ่มนั้นเสมอ โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อและสิ่งที่ตนนับถือ สำหรับในประเทศไทย ในทุก ๆ ชุมชน หรือ ทุก ๆ หมู่บ้าน มักจะมีการกำหนด เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ วัด เป็นศูนย์รวมของหมู่บ้านเสมอ และสิ่งที่เป็นศูนย์รวมใจ ก็มักจะต้องทำให้ “ ขลัง ” หรือ “ ศักดิ์สิทธิ์ ” มากกว่าปกติ ซึ่งสิ่งรวมใจนั้น มักจะเป็นเสาหลักบ้าง เป็นศาลบ้าง หรือ เป็นพระปฎิมาบ้าง ซึ่งการสถาปนาสิ่งรวมใจในระดับชุมชนนั้น ย่อมจะมีการ “ นำยันต์ ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยันต์ ที่ใช้กับการเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนในพื้นที่ มักจะใช้ยันต์ที่มีอานุภาพทางด้านปกป้องชุมชนให้รอดพ้นจากอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ และยันต์ที่มีอานุภาพที่ทำให้ชุมชนแห่งนั้น เจริญรุ่งเรืองไปนาน ๆ ยันต์ที่นำมาใช้กันบ่อย ก็มี ยันต์จตุโร ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์มหาบุรุษแปดจำพวก ยันต์โสฬสมงคล เป็นต้น ซึ่งบางยันต์ ก็มีการใช้ตั้งแต่ระดับบ้านเรือน ไปจนถึงการสถาปนาหลักเมือง เช่น ยันต์โสฬสมงคล ยันต์พระไตรสรณาคมน์ ยันต์ตรีนิสิงเห เป็นต้น ซึ่งยันต์เหล่านี้ มีอานุภาพที่รอบด้าน อธิษฐานคุณได้ดั่งใจนึก และเป็นยันต์ที่มีอานุภาพมาก จึงมีการเลือก นำมาประกอบในการสถาปนาศูนย์รวมใจของชุมชน หรือ บ้านเมืองนั้นๆ เพื่อสวัสดิมงคลของผู้คนที่อยู่อาศัย

ยันต์ ในฐานะสิ่งปกป้องผู้คนในชุมชน หรือ ในเมือง
ในยุคสมัยที่ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ ยันต์ ก็ย่อมมีบทบาทอยู่มากต่อสังคมในสมัยนั้น สิ่งหนึ่งที่จะปกป้องให้พวกเขารอดพ้นจากอันตรายที่มีอยู่อย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด , ภัยจากการสู้รบปล้นชิง , การบุกรุกของสัตว์ร้าย , การทำไสยเวทของผู้มีวิชา “ ยันต์ ” เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยจะมีการลงยันต์ฝังตามที่ต่าง ๆ เช่น ฝังสี่มุมเมืองบ้าง ฝังบนขื่อประตูเมืองบ้าง สลักไว้ตามทางเข้าออกบ้าง โดยยันต์ที่ใช้ฝังตามประตูเมือง จะมีคุณในด้านการป้องกันตราย และ “ ข่ม ” ผู้มีวิชาที่เข้ามาในตัวเมือง ไม่ให้ก่อการร้ายได้อย่างสะดวก เช่น ที่เมืองเชียงใหม่ ได้มีการสลักยันต์ ฝังยันต์ไว้ที่ประตูเมืองทุกแห่ง ควบคู่กับการกระทำมนต์ป้องกันแบบอื่น เป็นต้น ซึ่งยันต์ที่มีปรากฎว่า นำมาฝังในประตูเมือง ก็คือยันต์ “ มงกุฎพระราม ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ ยันต์พญาไก่เถื่อน ” ที่มีคุณทางเมตตา เมื่อนำมาฝังบนประตูเมือง ก็จะมีอิทธิคุณในด้านป้องกันอันตรายทันที

ยันต์ ในบทบาทการสงคราม
ในสังคม ความขัดแย้ง และ ความประนีประนอม ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดมา เมื่อใดที่ความขัดแย้งไม่อาจยุติได้ด้วยสันติ การสู้รบจึงต้องเกิดขึ้น และเพื่อชัยชนะที่เด็ดขาด แต่ละฝ่ายล้วนแต่สรรหาวิธีที่จะทำให้ตนได้รับชัยชนะ แม้ว่าบางครั้งชัยชนะนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสียที่ยากจะประเมินค่าก็ตาม

“ ยันต์ ” มีบทบาทในการสงคราม ในฐานะเครื่องปลุกขวัญ ในบทความที่แล้ว ได้กล่าวถึงการใช้ยันต์ระดับไพร่พลทั่วไป ในคราวนี้ การใช้ยันต์ในระดับกองทัพ แม่ทัพนายกอง ล้วนแล้วแต่มีการประยุกต์ยันต์ ให้เข้ากับ พาหนะศึก และยุทธภัณฑ์ทั้งหลาย เพื่อให้มีอำนาจป้องกันอันตราย และ ข่มขวัญศัตรู โดย ที่อาวุธนั้น จะใช้ยันต์ที่มีคุณในทางปราบปราม เช่น นะปราบศัตรู ยันต์มหาปราบ ส่วนยันต์ที่ใช้กับพาหนะ แล้วเครื่องมือควบคุมสัตว์ จะเป็นยันต์ที่สะกดสัตว์ได้ เช่น ยันต์หนุมานหักคอเอราวัณ ยันต์นกหัสดิลิงค์ ส่วนธงต่าง ๆ จะมีการลงยันต์ หรือไม่ก็ทำตะกรุดสำหรับบรรจุในธง โดยมากใช้ยันต์ที่มีคุณปราบศัตรูได้

นอกจากนี้ ในด้านการทำพิธีทางพิชัยสงคราม ก็ยังมีการนำยันต์ มาประกอบในการทำพิธีข่มศัตรู โดยการเขียนยันต์ทับนามศัตรู แล้วกระทำการตัดไม้ข่มนาม หรือ กระทำพิธีอื่น ๆ ที่เป็นการประหารศัตรู เอาฤกษ์เอาชัยเสียก่อนออกศึก ในส่วนของผู้นำการรบ ก็จะมีเสื้อยันต์ ประเจียดต้นแขน ตะกรุดลงยันต์ ถักด้วยเชือกหุ้มอย่างดีสำหรับติดตัวออกรบ และก่อนที่จะออกณรงค์สงคราม แม่ทัพนายกอง จะต้องทำการปลุกเครื่องรางของตนเสียก่อน แล้วจึงออกไปนำหน้าไพร่พล เป็นการปลุกใจของตนให้หึกหาญที่จะนำไพร่พลออกไปปกป้องบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยอันตราย

ยันต์ ในฐานะสิ่งเยียวยาโรคภัย
ในยุคที่การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า นอกจากการใช้ตัวยาสมุนไพร และ ใช้วิธีการรักษาอย่างพื้นฐานแล้ว ยันต์ ก็เกี่ยวกับการรักษาโรคในยุคโบราณด้วย ในหลาย ๆ แห่ง ที่มีประวัติว่าเป็นท่าน้ำ หรือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มักจะปรากฎประวัติว่า พระคณาจารย์ หรือ ผู้มีวิชาในที่นั้น ๆ จะลงยันต์ใส่ไว้ในท่าน้ำ หรือ บ่อน้ำ สำหรับให้ผู้คนดื่มกินแก้โรค หรือ กินเพื่อบำรุงร่างกาย เช่น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดอินทรวิหาร มีแผ่นศิลาลงยันต์ ที่สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ฝังเอาไว้ หรือ ท่าน้ำ วัดน้อย สุพรรณบุรี ที่ปรากฎประวัติว่า หลวงพ่อเนียม อดีตเจ้าอาวาส เคยเขียนยันต์ใส่แผ่นศิลาเอาไปฝังไว้ ทำให้น้ำในบริเวณท่าน้ำ บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา

นอกจากการลงยันต์มงคล ลงในแหล่งน้ำของชุมชน หรือ ภายในตัวเมืองแล้ว ก็มีการทำยันต์ สำหรับขับไล่อวมงคลในยามมีโรคระบาด ซึ่งยันต์ที่ใช้นั้น จะมีเป็นทั้งผ้ายันต์สำหรับพกพา ปิดบ้านเรือน หรือแม้แต่ใช้เขียนเป็นผง นำผงไปผสมกับทรายแล้วเสกหว่านรอบบ้าน ก็จะสามารถป้องกันโรคภัยได้ดุจเดียวกัน

จากหัวข้อทั้งสี่ที่นำเสนอให้ได้อ่านกันนี้ แสดงถึงความสำคัญของยันต์ในระดับชุมชน และ ระดับบ้านเมือง ที่เป็นขวัญกำลังใจอย่างกว้างขวาง จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ “ ยันต์ จะมีความคุ้นตา และ ผูกพันกับสังคมไทย ” อย่างแนบแน่น ในหัวข้อถัดไป จะกล่าวถึง ประเภทของยันต์ที่มีอยู่ในสังคมไทย

ประเภทของยันต์ที่มีอยู่ในสังคมไทย
ยันต์ ถูกออกแบบให้มีอานุภาพตรงกับความต้องการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ มีครบทุกด้าน สุดแท้แล้วแต่จะนำไปใช้อย่างไร ซึ่งยันต์ที่มีในสังคมไทยที่มีปรากฎ พอ จะจำแนกได้ดังนี้ คือ

๑. ยันต์ด้านรอดพ้นจากอันตราย แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– เขี้ยวงา คมฟันของสัตว์กัดไม่เข้า
– ฟันแทงไม่เข้า
– ชาตรี ( คือ ไม่ว่าอะไรกระแทกเข้า จากหนักกลายเป็นเบาหมด )
– อาวุธทำอันตรายอะไรไม่ได้
– แคล้วคลาด
– จังงัง คือ สามารถทำให้ศัตรูไม่สามารถใช้อาวุธทำอะไรเราได้ คล้ายกับคนแข็งทื่อ
– ลวงตา ทำให้เห็นเป็นคนหลายคน
– กำบังล่องหน

๒. ยันต์ด้านเป็นที่นิยม คนรักคนชอบ แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– เสียงไพเราะติดใจคน
– มหานิยม คือ ผู้คนชอบ
– มหาเมตตา ผู้คนเอ็นดู รักใคร่
– มหาเสน่ห์ ผู้คนหลงไหล

๓. ยันต์ด้านการป้องกันอันตราย แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ป้องกันสัตว์ทั้งหลาย
– ป้องกันตนให้พ้นผู้คนมาทำอันตราย
– ป้องกันคุณวิชาอาคม
– ป้องกันภูติผีปีศาจ
– ป้องกันเคหะสถาน
– ป้องกันบ้านเมือง
– ป้องกันการถูกลักขโมย

๔. ยันต์ด้านตบะเดชะอำนาจ แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ทำให้มีสง่าราศี เป็นที่จับตาของผู้คน
– มีอำนาจแก่บริวารบ่าวไพร่
– มีอำนาจให้ผู้คนยินยอม
– มีอำนาจให้ขุนนางเกรงใจ พร้อมช่วยเหลือ

๕. ยันต์ด้านการเงิน แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ค้าขายดี
– มีโชคลาภ
– ชนะพนัน
– มาซื้อแล้ว ก็วนเวียนกลับมาซื้ออีก
– ทำไว้ในที่เก็บทรัพย์ ทำให้ทรัพย์งอกเงย

๖. ยันต์ด้านส่งเสริมดวงชะตา แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– แก้เคราะห์ – ส่งเคราะห์
– สืบชะตาอายุ
– ส่งเสริมชะตาให้สูงขึ้น

๗. ยันต์ด้านรักษาโรค แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– บรรเทาอาการป่วยไข้
– ป้องกันไม่ให้สิ่งที่มองไม่เห็นมาลักคุณยา
– ป้องกันคนไข้ไม่ให้ถูกรังควาน
– เพื่อป้องกันโรคระบาด

๘. ยันต์ด้านคดีความ ว่าความ แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ทำให้คู่ความว่าความไม่ได้
– ทำให้คู่ความหวาดกลัวที่จะฟ้องร้อง
– ทำให้คู่ความยอมความโดยไม่ทราบสาเหตุ

๙. ยันต์ด้านการควบคุมสัตว์ แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง
– ทำให้สัตว์เลี้ยงเชื่อฟัง
– ทำให้สัตว์เลี้ยงไม่ถูกขโมย
– เสริมพละกำลัง ปลุกขวัญกำลังใจของสัตว์เลี้ยง

๑๐. ยันต์ด้านการทำลายล้างศัตรู แบ่งย่อยลงไปอีกดังนี้
– ทำให้กิจการถึงแก่วิบัติ
– ทำให้เกิดเคราะห์ในดวง
– ทำให้เกิดป่วยไข้
– ทำให้เกิดวิกลจริต
– ทำให้เกิดแตกแยกในครอบครัว
– ทำให้สูญเสียแก่ชีวิต
– ทำให้อาศัยในถิ่นฐานไม่ได้

๑๑. ยันต์ด้านการทำมาหากิน แบ่งย่อยลงไปดังนี้
– ทำให้พืชผลออกผลดี
– ทำให้ศัตรูพืชไม่มารบกวน
– ทำให้ผลิตผลเพิ่มพูนขึ้น
– ทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล

๑๒. ยันต์ด้านการทำสิ่งเคารพนับถือ แบ่งย่อยลงไปดังนี้
– ยันต์ ที่ใช้ลงผ้ายันต์สำหรับกราบไหว้
– ยันต์ที่ใช้ประกอบขึ้นเป็นรูปเคารพสำหรับบูชา
– ยันต์ที่ใช้ในการทำพระพุทธรูป

จากประเภทอานุภาพของยันต์ทั้ง ๑๒ ประเภท จะเห็นได้ว่า ยันต์ไทยนั้น มีการกำหนดขึ้นมาหลากหลาย ให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่ประสงค์จะใช้ ซึ่งยันต์แต่ละประเภทนั้น มีการวางจิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้ยันต์ที่เหมาะสม ควรจะศึกษาให้ถึงรายละเอียดอย่างรอบด้านแล้วจึงนำมาใช้ จึงจะประสบผลดั่งที่คณาจารย์ผู้กำหนดได้พรรณาเอาไว้

ลิ้งบทความตอนที่ ๑ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1301381727009222
ลิ้งบทความตอนที่ ๒ https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1303058686841526