ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

ความหมายของยันต์
“ ยันต์ ” คือ สิ่งที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อหวังผลทางด้านความศักดิ์สิทธิ์ โดยเขียนไป ภาวนาคาถากำกับไป ยันต์มีหลายรูปแบบ หลายชนิด นับตั้งแต่อักขระตัวเดียวโดด ๆ ไปจนถึง อักขระจำนวนมาก ที่ประกอบกันเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ บางครั้ง ก็นำเอารูปภาพต่าง ๆ มาผนวกเข้ากับอักขระ จนเป็นยันต์ขึ้นมา บ้างก็เป็นเลขอย่างเดียว บ้างก็เป็นรูปเรขาคณิต ยันต์นั้น นับเป็นวิชาสากลของโลกแขนงหนึ่ง ที่มีเกือบทุกชนชาติ ทุกประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย ยันต์นั้น ได้รับคติ การจาร การลง การใช้คาถา รวมถึงองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น โหราศาสตร์ พิธีกรรม อักษรศาสตร์ มาจากพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์ อันเป็นรากฐานคติความเชื่อของชาวไทยอย่างช้านาน เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของยันต์ในสยามประเทศ

ที่กำเนิดของยันต์
กำเนิดของยันต์รูปแบบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มาจากครูอาจารย์ของแต่ละสำนักเป็นผู้กำหนดขึ้น โดยมีองค์ประกอบของการกำหนดยันต์ดังนี้
๑. กำหนดจากการสังเกตุสัญลักษณ์ของธรรมชาติ เช่น สายฟ้า เมฆ สายน้ำ กระแสลม แล้วนำมากำหนดเป็นยันต์
๒. กำหนดจากการนำเอาหัวใจคำสอน มาประกอบเป็นยันต์
๓. กำหนดจากนิมิตรในสมาธิจิต นำมาประกอบเป็นยันต์
๔. กำหนดจากการนำเอาองค์ความรู้ นำมาประกอบเป็นยันต์

คุณประโยชน์ของการเขียนยันต์
สาเหตุที่คณาจารย์ในยุคต่าง ๆ ได้มีการกำหนดยันต์ขึ้นมา ก็เพื่อคุณประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้ คือ

๑. เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิต ให้ไปในระดับธรรมะที่สูงขึ้น เช่น การชักยันต์ตำราปถมัง ที่กระทำตั้งแต่พินธุ จนไปถึงมหาสูญ คือนิพพาน ทำให้จิตของผู้ชัก รู้แจ้งเห็นธรรมมากยิ่งขึ้น

๒. เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอานุภาพจิต และรู้จักควบคุมอารมณ์ เนื่อง จากการลงยันต์ในแต่ละครั้ง จิตต้องมีสมาธิ และวางอารมณ์ให้ยันต์นั้นบังเกิดอานุภาพมากที่สุด เช่น ยันต์คงกระพัน ก็ต้องวางอารมณ์ที่ขึงขัง เข้มแข็ง ยันต์เมตตา ก็ต้องวางอารมณ์ที่เมตตา อ่อนโยน เป็นต้น

๓. เป็นประโยชน์แก่การบอกกล่าวองค์ความรู้ในสำนัก เนื่องจากบางยันต์นั้น ได้มีการประชุมอักขระขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ คณาจารย์ในสำนักนั้น ๆ จึงได้เอาหัวใจ หัวข้อองค์ความรู้ในสำนัก ใส่ลงในยันต์ด้วย เพื่อที่จะให้ศิษย์ที่ได้รับยันต์ไป นำไปทบทวนให้บังเกิดความแตกฉานทางจิตต่อไป เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์รัตนมาลา เป็นต้น

๔. เป็นประโยชน์ในด้านการใช้งานประเภทต่าง ๆ ยันต์นั้นมีมากมายหลากหลายประเภท มีทั้งให้คุณ ให้โทษ มีทั้งใช้ในทางกุศล และในทางอกุศล ซึ่งแต่ละยันต์นั้น มีเอกลักษณ์ และคุณประโยชน์ที่เฉพาะตัว บางยันต์ก็มีคุณรอบด้าน แล้วแต่จิตจะปรารถนา แต่บางยันต์ ก็มีคุณในด้านเดียว ดังนั้น เมื่อจะใช้ยันต์ ก็ต้องนำยันต์ที่ตรงกับการใช้งานนำไปใช้ เช่น หากไปสงคราม ก็ต้องใช้ยันต์ที่แคล้วคลาด คงทน หากไปเรื่องคดี ขึ้นโรงขึ้นศาล ก็ต้องใช้ยันต์ที่เอาชนะคู่ความ หากไปเจรจาค้าขาย ก็ต้องใช้ยันต์ที่เสน่หา อ่อนหวาน เป็นโชคลาภ

๕. เป็นประโยชน์ในด้านการดำรงศรัทธาของมหาชน ยิ่งยันต์ที่กำหนดขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์มากเท่าไร มหาชนที่นำไปบูชาแล้วได้ผล ก็จะนับถือยันต์นั้นไปอย่างยาวนาน ซึ่งความรู้ในเรื่อง “ ยันต์ ” ในบางครั้ง ก็สามารถนำพาสาธุชนให้บำรุงศาสนา และเป็นขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังเป็นการ “ เกื้อกูลทางจิตใจ ” ระหว่างศาสนา และผู้ศรัทธา ซึ่งจะทำให้ศรัทธาของชนผู้นับถือ จะมีความสืบต่อไปยาวนาน

ด้วยประโยชน์ของยันต์ในข้างต้นทั้ง ๕ ข้อ ได้ทำให้ยันต์ ได้ฝักรากหยั่งลึกลงในคติสังคมไทยมาอย่างช้านาน ถึงแม้ว่ากระแสโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร แต่ความเชื่อเรื่องยันต์ก็จะอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยเสมอมา

ประวัติศาสตร์ของยันต์ไทย
ยันต์ในประเทศไทย มีต้นกำเนิดอย่างช้าสุดก็คงจะเป็นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หลังจากที่สามารถพิชิตดินแดนต่าง ๆ ลงได้อย่างราบคาบ เพื่อที่จะให้เกิดความเป็นเอกภาพขึ้น จึงได้มีการประชุมเอาสำนักต่าง ๆ ที่อยู่ภายในราชอาณาจักร มาประมวลเอายันต์ในแต่ละสำนักมาสู่นครหลวง และในขณะเดียวกัน แต่ละสำนัก ก็ต้องพัฒนายันต์ของตนให้ไปถึงขีดสุด ทั้งในด้านองค์ความรู้ อานุภาพ และ รูปลักษณ์ที่งดงาม จึงทำให้ยุคกรุงศรีอยุธยา ทำให้ยันต์รูปแบบต่าง ๆ แบ่งบานขึ้น เพื่อให้สนองรับต่อการณรงค์สงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเพื่อพัฒนาความรู้ในสำนักของตนให้เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง จึงทำให้ยันต์ในยุคนั้น มีการพัฒนา จนแตกแขนงเป็นยันต์มากมายที่ได้เห็นกัน ถึงแม้ว่าการพัฒนายันต์จะมีชะงักบ้างในยุคเสียกรุงครั้งที่ ๒ แต่ก็ได้เฟื่องฟูขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้ง และได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

วิธีการใช้ยันต์ ในด้านคติความเชื่อ
การใช้ยันต์ในประเทศไทย ได้มีหลากหลายตามความประสงค์ของการใช้
โดยพอที่ได้ค้นคว้ามา ได้มีการใช้ยันต์ในรูปแบบดังต่อไปนี้ คือ

๑. ยันต์ใช้เขียนลงในผ้า เรียกว่า “ ผ้ายันต์ ” ใช้สำหรับพกพา ผ้ายันต์เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมากที่สุดอีกรูปแบบหนึ่ง ผ้ายันต์หลายขนาด หลายประเภท มีตั้งแต่ใช้กางเป็นเพดานในที่บูชาพระ ใช้เป็นธงสำหรับออกศึก ใช้สำหรับพกพาค้าขาย จนไปถึงใช้สำหรับป้องกันอันตรายในครัวเรือน ซึ่งผ้ายันต์นี้มีหลายประเภท พอจะจำแนกได้ดังนี้
– เพดานยันต์ คือยันต์ที่ใช้ลงในผ้าขาว แล้วขึงเหนือหิ้งพระ หิ้งครู ใช้ในด้านส่งเสริมดวงชะตา ปกป้องเคหสถานบ้านเรือน
– ธงยันต์ คือยันต์ที่ลงในผ้า แล้วทำเป็นธงนำทัพ มีทั้งรูปแบบห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และ สามเหลี่ยม
– ผ้าประเจียด คือ ผ้ายันต์ที่ลงในผ้า แล้วฟั่นให้เป็นเกลียว ใช้คาดต้นแขน คาดสะพาย หรือ คาดเอว
– ผ้ายันต์สำหรับปิดที่ต่างๆ คือผ้ายันต์ที่ใช้กำกับเฉพาะที่ เช่น ปิดหัวเสาเรือนป้องกันอันตราย ปิดหัวเรือเพื่อค้าขายดี เป็นต้น

๒. ยันต์ที่เขียนลงในแผ่นโลหะแล้วม้วนให้เป็นหลอดกลม เรียกว่า “ ตะกรุด ” หรือบางแห่งเรียกว่า “ พิศมร ” เป็นการเขียนยันต์ลงในแผ่นโลหะ มีการใช้วัสดุตั้งแต่ทองคำ ไปจนถึงทองแดง ซึ่งการเขียนยันต์ในตะกรุด จะช่วยให้สามารถพกพาติดตัวไปได้ ตะกรุดจะมีอานุภาพไปทางใด ก็แล้วแต่ยันต์ที่ใช้ลง เช่น คงกระพัน แคล้วคลาด กันภัยอันตราย เสน่หาเมตตา

๓. ยันต์ที่เขียนลงในเสื้อ เรียกกันว่า “ เสื้อยันต์ ” การทำเสื้อยันต์ ถือว่าเป็นการแสดงองค์ความรู้ขีดสุดของสำนักนั้น ๆ โดยการทำเสื้อยันต์นั้น มีจุดมุ่งหมายสำหรับให้ลูกศิษย์ที่นำไปณรงค์สงครามได้แคล้วคลาดปลอดภัยกลับมา การทำเสื้อยันต์ จึงมีจุดประสงค์เดียว คือใช้ปกป้องชีวิตของผู้ครอบครอง ให้รอดพ้นจากภยันตรายต่าง ๆ

๔. ยันต์ที่เขียนลงในกระดาษ การเขียนยันต์ลงในกระดาษนั้น เป็นสิ่งที่โบราณใช้กันบ่อย มีวิธีใช้หลัก ๆ ๓ ประเภทคือ
– ใช้ทำแหวนพิรอท เมื่อลงยันต์ในกระดาษแล้ว ก็จะฟั่นเกลียว ถักตามกรรมวิธี แล้วนำไปเผาไฟ ถ้าไฟไม่ไหม้แหวน ก็จะนำแหวนนั้นมาปลุกเสกต่อ แล้วลงรักปิดทอง สำหรับสวมติดตัว
– ใช้ทำไส้เทียน หรือ ฟั่นเป็นไส้เทียน โดยลงยันต์ในกระดาษ แล้วนำมาพันรวมกับด้ายดิบที่เป็นไส้เทียน จากนั้นจึงนำเอาขี้ผึ้งบริสุทธิ์ที่ผ่านการเคี่ยวแล้ว มาแผ่เป็นแผ่น เอาไส้เทียนวางลงแล้วคลึงให้ได้เป็นเทียน ซึ่งการลงยันต์สำหรับทำเทียนนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ยันต์ที่มีอานุภาพในด้านการส่งเสริมดวงชะตา หรือ แก้ไขคดีความ หรือ ในด้านเสน่หาเมตตา เป็นต้น
– ใช้ในการห่อวัสดุอาถรรพ์ โดยลงยันต์ในกระดาษ แล้วนำกระดาษนั้นมาห่อวัสดุ สำหรับบรรจุลงใต้ฐานพระ

๕. ยันต์ที่เขียนลงบนกระดานชนวน เพื่อทำเป็นผง เรียกกันว่า “ ผงชักยันต์ ” หรือ “ ผงลบถม ” ซึ่งการลงยันต์ประเภทนี้ เป็นการลงยันต์เพื่ออบรมจิตใจ ให้ไปถึงระดับภูมิธรรมที่สูงขึ้น ซึ่งยันต์ที่ใช้ในการเขียนผงชักยันต์ หรือ ลงยันต์ลบถมนี้ จะมีโดยหลัก ๆ ๕ ตำราใหญ่คือ
– ตำราปถมัง ว่าด้วยการกำเนิดของชีวิต ไปจนถึงการดับสูญ อานุภาพของผงปถมังนี้ จะมีคุณในด้านกำบัง ล่องหน แคล้วคลาด หรือใช้ในทางเมตตาก็ได้
– ตำรามูลกัจจายน์ หรือ ตำราการทำผงอิธะเจ ว่าด้วยการสนธิอักษรภาษาบาลี อานุภาพของผงอิธะเจนี้ จะมีคุณในด้านเสน่หา เมตตา ในอดีต หลายสำนักจะนิยมลบถมกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาภาษาบาลี
– ตำรามหาราช ว่าด้วย การครองใจสัตว์ ครองใจมนุษย์ อานุภาพของผงมหาราช จึงทำให้บังเกิดความเมตตา มหาอำนาจ ในทางการปกครอง
– ตำราตรีนิสิงเห ว่าด้วย อัตราของจักรวาล ตั้งแต่ชั้นบาดาล ไปจนถึงชั้นนิพพาน มีรหัสการลงเป็นจำนวนเลข เช่น เอกยักขา , ทเวเทวราช , ตรีนิสิงเห , จตุเทวา , ปัญจพุทธา , สัตตะนาเค ฯลฯ ซึ่งอานุภาพของผงตรีนิสิงเห จะสามารถป้องกันอันตรายจากสิ่งที่มองไม่เห็น และสิ่งที่มองเห็นทั้งปวง รวมถึงถอดถอนคุณไสย และรักษาโรคภัยได้ทั้งปวง
– ตำราพุทธคุณ ว่าด้วย การลบผงในวิชาที่ว่าด้วยคุณพระพุทธเจ้า ซึ่งผงพุทธคุณนั้น จะมีอานุภาพรอบด้าน
นอกจากห้าตำราหลัก ที่ใช้ในการลบผงยันต์ ก็ยังมีตำราลบผงยันต์อื่น ๆ ที่แต่ละสำนักคิดค้นขึ้นมาได้ เช่น ผงชักยันต์นอโม ผงนะคาบต่าง ๆ ของสำนักเขาอ้อ , ผงชักยันต์รัตนมาลา ของสำนักประดู่โรงธรรม , ผงชักยันต์เกราะเพชร ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นต้น

๖. การสักยันต์ การสักยันต์ ถือเป็นการลงยันต์ที่ติดแนบเนื้อของผู้สักไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต เดิมแล้วการสักนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ชายชาตรีชาวอุษาคเณย์ในแถบตอนบน คือพม่า ไทใหญ่ และ ลาว ต่อมาได้แพร่ หลายมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงได้มีการนำเอายันต์ต่าง ๆ มาสักบนร่างกาย โดยการสักนั้น อาจารย์สักจะใช้หมึกสีผสมกับว่านยาเป็นน้ำหมึกสัก แต่ถ้าไม่ต้องการให้เห็นร่องรอยใด ๆ ก็ใช้น้ำมันที่สกัดจากว่านยาสมุนไพร ในการสัก ยันต์ที่ใช้ในการสักนั้น ส่วนใหญ่อาจารย์สักจะให้ผู้ที่สักเลือกเอา ว่าจะต้องการด้านใด ซึ่งส่วนใหญ่ที่นิยมกันมาตั้งแต่อดีต จะนิยมสักด้านแคล้วคลาด คงทน ป้องกันอันตราย แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่สักเพื่อให้เป็นเสน่ห์เมตตา และเสริมดวง ในปัจจุบัน มีสำนักสักยันต์มากมายแทบจะทุกพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการสักยันต์ลงในร่างกายได้เป็นอย่างดี

๗. การผสมยันต์ลงในวัตถุมงคลอื่น ๆ วัตถุมงคลบางชนิด จะมีการผสมยันต์ตามตำราบังคับ เช่น สีผึ้ง ก็จะมียันต์ที่ต้องเขียนลงในแผ่นขี้ผึ้งที่จะนำไปหลอมทำสีผึ้ง พระกริ่ง – พระชัยวัฒน์ พระพุทธรูป เทวรูป วัตถุมงคลประเภทรูปหล่อ ประเภทเหรียญ ก็ต้องลงยันต์ตามตำราลงในแผ่นโลหะ เพื่อที่จะนำไปหลอมเป็นพระ การสร้างพระผง ก็ต้องมีผงชักยันต์ตามตำรา ผสมลงในเนื้อพระ เพื่อให้พระมีอานุภาพขึ้น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การใช้ยันต์ในสังคมไทยที่มีมาแต่โบราณนั้นมีหลากหลายเกินกว่าจะอธิบายหมดในบทความเดียว จากหัวข้อการใช้ยันต์ในข้างต้น ยังเป็นเพียงการใช้ยันต์ในด้านความเชื่อ ความศรัทธา ยังไม่ได้รวมเอาการใช้ยันต์ในด้านวิถีชีวิตเข้าไป ซึ่งจะได้อธิบายในบทความต่อไป ถึงการใช้ยันต์ในวิถีชีวิตของผู้คน