ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

รายละเอียด

เมื่อกล่าวถึงพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สิ่งที่ทุกคนคิดตรงกัน คือพระบรมธาตุที่มียอดทองส่องสว่างอยู่กลางเมืองที่สามารถมองเห็นได้จากทั่วสารทิศ ทุกคนที่มาไหว้ โดยส่วนมากแล้วแทบไม่ทราบประวัติอย่างละเอียด เพียงแค่ทราบจากบทกลอนวรรณกรรมพื้นเมือง ที่มีการบอกเล่าสืบต่อกันมา ที่เหลือเชื่อไปกว่านั้น ชาวนครศรีธรรมราชบางคนยังไม่ทราบว่า พระบรมธาตุแห่งนี้ใครเป็นผู้สร้างกันแน่ บางทีก็สรุปเอาง่าย ๆ ว่า ให้พระเจ้าจันทรภาณุเป็นผู้สถาปนา ซึ่งพระเจ้าจันทรภาณุนั้น ทั้งในตำนานพงศาวดารเมือง และตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุทุกฉบับ ต่างกล่าวตรงกันว่า พระองค์ทรงมิใช่ผู้สถาปนาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระองค์เพียงแค่บูรณะและต่อเติมพระบรมธาตุให้มีรูปทรงใหญ่ขึ้น แต่เพราะในรัชสมัยของพระองค์ เมืองนครศรีธรรมราชที่เมืองพระเวียงกลางสันทรายทะเลล้อมนั้นเจริญมาก จึงทำให้ผู้คนจดจำว่าพระองค์เป็นผู้สถาปนา ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาบูรณะต่อเติมในภายหลัง

ถึงกระนั้นเอง ผู้เขียนก็ไม่ปฎิเสธในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจันทรภาณุ ว่าทรงมีอิทธิพลครอบคลุมทั้งสองฟากมหาสมุทรตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ แต่เราต้องยอมรับความจริงกันว่า พระบรมธาตุแห่งนครศรีธรรมราชนั้น ได้มีการเริ่มต้นการสร้าง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา โดยอ้างอิงจากผลอายุการพิสูจน์อิฐที่อยู่ใต้ฐานพระบรมธาตุ ซึ่งจากผลการพิสูจน์นี้ ก็ทำให้ทราบโดยผิวเผินแล้วว่า พระเจ้าจันทรภาณุ ไม่ใช่พระผู้สถาปนาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชอย่างแน่นอน

แล้วพระมหากษัตริย์พระองค์ใดกันแน่ที่สถาปนาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ถ้าหากอ้างอิงตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ก็คงจะเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ที่มีเรื่องราวอยู่ว่า พระองค์ได้นำไพร่พลเทครัวอพยพโยกย้ายจากดินแดนต่างๆ ตั้งแต่ทะเลฝั่งอันดามัน มายังทางตะวันออก จนกระทั่งได้ประสบเหตุให้มาพบองค์พระทันตธาตุ และเมื่อได้ขุดพบองค์พระทันตธาตุ พระองค์ได้ก่อพระเจดีย์ครอบไว้ สำหรับ ลักษณะของพระเจดีย์ที่บรรจุพระทันตธาตุในยุคแรก มีการสันนิษฐานกันว่า คงจะเป็นจัณฑิตามศิลปะศรีวิชัย ที่กำลังนิยมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระองค์ถัดมา ( อ้างอิงจากตำนานพระบรมธาตุ ) ทรงมีพระราชศรัทธา พระองค์ก็ได้มีการสร้างต่อเติมกันถัดมา พระบรมธาตุแห่งสันทรายทะเลล้อม ผ่านทั้งความรุ่งเรือง และ ความโรยรา จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อพระองค์ทรงเสด็จเสวยราชย์สมบัติ พระองค์ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุเสียใหม่ โดยใช้ต้นแบบเป็นพระสถูปศิลปะลังกาทรงโอคว่ำ มาเป็นต้นแบบหลักในการก่อสร้าง และด้วยกำลังทรัพย์ กำลังพลที่มาก จึงทำให้พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงสร้างพระบรมธาตุได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนั้น ก่อนที่ต่อมาดินแดนศิริธรรมนคร จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอโยธยา – เพชรบุรี ที่นำโดยเจ้าศรีมหาราชา เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชพระองค์แรก ภายใต้ร่มเงาของอาณาจักรแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ถ้าหากสรุปตามพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช และ ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะสามารถเรียงลำดับถึงผู้สถาปนาองค์พระบรมธาตุได้ดังต่อไปนี้

๑. พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้มาจากเมืองหงษาวดี
๒. พระเจ้าศรีไสยณรงค์ ผู้มาจากตะวันตก
๓. พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้มาจากอินทปัตยบุรี
๔. พระเจ้าจันทรภาณุ

ซึ่งรายพระนามเหล่านี้ ล้วนมาจากตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมิใช่กษัตริย์ที่แรกเริ่มการสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช แต่ก็ไม่มีผู้ใด ปฎิเสธถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ตามมาตรฐานสากลของโลก มักจะให้เครติดแก่ผู้สถาปนา หรือ ผู้ที่คิดค้นเป็นคนแรกเสมอ ซึ่งประเด็นในจุดนี้ เราไม่ควรเอาความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจันทรภาณุ ไปบดบังความจริง ที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้มาจากหงษาวดี เป็นผู้สร้าง พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ในส่วนของด้านการพิสูจน์อายุอิฐใต้ฐานองค์พระบรมธาตุ หรือในแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ได้กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อาจสร้างหรือมีการขยายให้ใหญ่ขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในคาบสมุทรทองคำฝั่งตะวันออกเสื่อมถอยลง และเป็นจุดรุ่งเรืองของพุทธศาสนานิกายมหายานไปทั่วน่านน้ำทะเลใต้ จึงทำให้ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เริ่มมีการขยายตัวในห้วงเวลาดังกล่าวมานี้ จนกระทั่งเกิดการโยกย้ายของผู้คน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสันทรายหาดทรายแก้ว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ จนก่อกำเนิดเป็นเมืองพระเวียงขึ้นมา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ก็ค่อย ๆ ถูกพัฒนาต่อเติมขึ้นทีละน้อย และรุ่งเรืองสุด สมบูรณ์ทางรูปแบบศิลปะสุดในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุ ที่ได้ทรงนำเอาต้นแบบมาจากพระสถูปสุวรรณมาลิกเจดีย์ ( รุวันเวสิสยา ) , เจดีย์กิริเวเหระ และ เจดีย์อุทุมพร แห่งอาณาจักรสิงหล นำมาผนวกเข้ากับศิลปะพื้นเมือง จนก่อสร้างพระบรมธาตุแห่งนครศรีธรรมราชจนงดงาม แม้ว่าในบางช่วง เมืองจะถูกทิ้งร้าง จนทำให้พระบรมธาตุปรักหักพัง และ ในบางยุคสมัย พระบรมธาตุ ได้ถูกดัดแปลง ปรับเปลี่ยนทางศิลปกรรมโดยใช้ศิลปะจากศูนย์กลางในยุคนั้นเข้ามา แต่ก็ยังเหลือเค้าโครงมากพอที่จะเห็นสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของศิลปกรรม ที่สืบทอดกันมาในแต่ละยุคสมัยได้ ซึ่งเราสมควร ที่จะรำลึกถึงบูรพกษัตริย์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้สถาปนาพระบรมธาตุ ที่เป็นพระองค์จริง มิใช่ยึดเอาพระเจ้าแผ่นดินที่มีชื่อเสียงที่สุด มาเป็นผู้ก่อตั้ง หรือ ผู้สถาปนา จะส่งผลร้ายทำให้ความจริงทั้งหมดไขว่เขว่ลงอย่างน่าเสียดาย

สรุป ๑๒ ข้อในที่มาของการสร้างพระเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จากบันทึกตำนานพระธาตุ

๑. เมื่อ พ.ศ. ๑๐๘๒ ( ตามระบุในตำนานพระธาตุ ) พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งโมริยะวงศ์ ผู้ปกครองกรุงหงสาวดี หรือ เมืองสะเทิม ( สะเทิม ปัจจุบันเมืองสะเทิมเป็นเมืองที่อยู่ในการบริหารของรัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จุดนี้ผู้เขียนมองว่า น่าจะชื่อ สุธรรมวดี มาก กว่าหงสาวดี เพราะชื่อเดิมของสะเทิม คือ สุธรรมวดี หรือ สุธรรมปุระ ) ได้อพยพผู้คนหนีโรคระบาดลงมาทางใต้ ด้วยการล่องเรือ มายังเมืองท่าตักโกลา ( บริเวณ บ.ทุ่งตึก – เขาพระเหนอ – เขาพระทอง จ.พังงา )

๒. อยู่มาไม่นาน เมืองของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ตักโกลา ก็มีอันต้องอพยพ อาจเพราะโรคระบาด หรือ ภัยสงคราม หรือ ภัยธรรมชาติ ทำให้ขบวนผู้อพยพ ต้องเดินทางไปตั้งเมืองใหม่ ที่บ้านน้ำรอบ ( ปัจจุบัน บ้านน้ำรอบ อยู่ที่ ม.๑ ต.น้ำรอบ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ) แต่ตั้งได้ไม่เท่าไหร่ก็มีโรคระบาดอีก ทำให้ต้องอพยพโยกย้ายลงใต้

๓. ขบวนอพยพของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งสะเทิม ได้ลงหลักปักฐานที่เขาชวาปราบ ( เขาชวาปราบ ปัจจุบันอยู่ที่ ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ) แต่เนื่องจากเขาชวาปราบมีสภาพพื้นที่ ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงทำให้พระเจ้าศรีธรรมโศกตัดสินพระทัยอพยพอีกครั้ง

๔. ขบวนอพยพของพระเจ้าศรีธรรมโศกเดินทางจากเขาชวาปราบขึ้นเหนือมายังที่ราบริมฝั่งแม่น้ำตาปี ได้ตั้งเมืองเวียงสระขึ้น ( ปัจจุบันคือโบราณสถานเวียงสระ ม.๗ บ้านเวียง ต.เวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ) เมื่อได้ตั้งเมืองขึ้นมาแล้ว พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทรงส่งนายพรานสุรีย์พร้อมคณะพรานออกสำรวจพื้นที่ในทางตะวันออก

๕. นายพรานสุรีย์เดินทางไปสันหาดทรายแก้ว ได้พบกับดวงแก้วที่พญานาคคายไว้ จึงไปถามชาวบ้านที่ชุมชนหาดทรายแก้ว ( ปัจจุบันคือเมืองนครศรีธรรมราช ) ก็ทราบความว่า หาดทรายแห่งนี้มีพระทันตธาตุ จึงเดินทางกลับไปทูลความแก่พระเจ้าศรีธรรมโศก และพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ทรงแต่งตั้งให้นายพรานสุรีย์นำคณะอำมาตย์เดินทางไปทำแผนผังของหาดทรายแก้วให้พร้อม

๖. พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงไม่เชื่อตำนานพระทันตธาตุ จึงส่งคณะอำมาตย์ไปทูลถามพระเจ้ากรุงลงกาว่า เรื่องตำนานพระทันตธาตุจริงหรือไม่ พระเจ้ากรุงลงกาทรงตรัสว่าเป็นความจริง และสนับสนุนให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างพระบรมธาตุขึ้น โดยได้ส่งพระพุทธคัมเภียร พระเถรชาวลังกามาช่วยสร้าง

๗. แต่ไม่ทันดำเนินการ ก็เกิดไข้ห่าระบาดขึ้นที่เวียงสระอีก คราวนี้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงทรงอพยพไพร่พลมายังทางตะวันออก ปักหลักอยู่ที่บ้านนอกโคก ( บริเวณสถานีตำรวจ ถึงวัดศรีทวี อ.เมือง จ.นครศรีธรรม ราชในปัจจุบัน ) และเริ่มค้นหาพระเจดีย์ที่บรรจุพระทันตธาตุบนสันหาดทรายแก้ว

๘. เมืองที่นอกโคกตั้งได้ไม่เท่าไหร่ ก็เกิดโรคระบาดอีกครั้ง ทำให้ขบวนของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงอพยพอีกครั้ง ขบวนอพยพได้หนีโรคระบาดขึ้นไปยังเขาวัง ( เขาวังอยู่รอยต่อระหว่าง อ.ลานสกา และ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ) โดยวันหนึ่ง ได้มีพระสงฆ์จากเมืองปาวาลเดินทางมาบิณฑบาตรแก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช และพระสงฆ์รูปนี้ ก็ได้บอกวิธีแก้โรคระบาดให้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ด้วยการทำหัวนอโมจนไข้ระบาดหายไปหมดสิ้น

๙. พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงนิมนต์พระมหาเถรไปตรวจดูพระเจดีย์ฝังพระทันตธาตุ โดยมีชายชราอายุ ๑๒๐ ปี เป็นผู้นำไปยังพระเจดีย์ แต่เมื่อไปถึง ไพร่พลที่เข้าไปถางองค์พระบรมธาตุกลับถูกกาพยนต์เข้าทำร้าย จึงทำให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ต้องละเว้นจากการบูรณะพระธาตุไประยะหนึ่ง

๑๐. ต่อมาไม่นานนัก ได้ปรากฎผู้ที่สามารถแก้กาพยนต์ได้ คนผู้นี้มีชื่อว่า “ เจ้ากากภาษา ” เป็นโอรสของเจ้าเมืองโรมวิสัย ต้องการจะเดินสำเภาไปค้าขายที่เมืองตักศิลา แต่ถูกพายุพัดเรือสำเภามาเกยฝั่งหาดทรายแก้ว พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงเข้าไปสอบถามความกับเจ้ากากภาษา จึงได้ร้องขอให้เจ้ากากภาษาช่วยแก้กาพยนต์ โดยแลกกับการซ่อมเรือให้ เจ้ากากภาษาก็ตกลง และทำพิธีแก้กาพยนต์ได้สำเร็จ

๑๑. พระเจ้าศรีธรรมโศกราช สั่งให้ไพร่พลขุดพระเจดีย์องค์เดิม ก็พบพระทันตธาตุบรรจุในเรือสำเภา ลอยในแม่ขันทอง พร้อมกับพบทองคำสี่ไหที่ฝังไว้สี่มุม พระองค์ จึงให้นำทรัพย์สินทั้งหมดขึ้นมา แล้วดำเนินการสร้างพระบรมธาตุ โดยสร้างสระสี่เหลี่ยมกรุด้วยแผ่นศิลา สองชั้น ชั้นในบรรจุแม่ขันทองใส่พระทันตธาตุ ส่วนชั้นนอกตั้งเครื่องบูชาต่าง ๆ เมื่อบรรจุพระทันตธาตุเสร็จ เจ้ากากภาษาได้ดำเนินการสร้างพระบรมธาตุ โดยมีมหาชนจากทั่วสารทิศมาร่วมสร้างจนแล้วเสร็จ

๑๒. หลังจากการสร้างพระบรมธาตุเสร็จสิ้น ได้มีการบูรณะพระบรมธาตุครั้งใหญ่อีก ๖ ครั้ง ได้แก่
– การบูรณะพระบรมธาตุในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ และ พระเจ้าพงษาสุระ
– การบูรณะพระบรมธาตุในสมัยเจ้าศรีราชา เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ภายใต้การปกครองของอยุธยา
– การบูรณะพระบรมธาตุในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
– การบูรณะพระบรมธาตุในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน
– การบูรณะพระบรมธาตุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– การบูรณะพระบรมธาตุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช