ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

#เจ้าศรีราชา เจ้าเมืองผู้ฟื้นฟูนครศรีธรรมราชหลังจากล่มสลายไป
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์
 

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย – ตามพรลิงค์ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หัวเมืองในทะเลใต้ต่างประสบกับโรคระบาด จนทำให้ไม่สามารถกลับมาก่อร่างสร้างเมืองกันใหม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราช หรือที่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ ท้าวอู่ทอง ” พระมหากษัตริย์ ผู้เสวยราชสมบัติอยูที่เมืองเพชรบุรี ได้ทรงส่งพระราชโอรสพระนามว่า “ พระพนมวัง ” พร้อมด้วยไพร่พลจำนวนหนึ่ง ลงมาฟื้นฟูบูรณะหัวเมืองในทางตอนใต้ทั้งหมด ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

สาเหตุของการที่พระมหากษัตริย์แห่งเพชรบุรี – อโยธยา ต้องส่งพระราชโอรสองค์สำคัญลงมาบูรณะบ้านเมืองนั้น มีสาเหตุมาจาก การที่พระพนมทะเลศรี ฯ ได้ทรงให้สัตย์สาบาน ต่อ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จันทรภาณุ มหาราชแห่งศรีวิชัย – ตามพรลิงค์พระองค์สุดท้าย โดยเบื้องต้นนั้น พระพนมทะเลศรี ฯ หรือ ท้าวอู่ทอง ได้ทรงต้องการที่จะตีเมืองศิริธรรมนคร หรือ ตามพรลิงค์เป็นเมืองขึ้นแต่เมื่อได้ทำสงครามกับพระเจ้าจันทรภาณุ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนไม่สามารถบุกลงไปทางใต้ได้สำเร็จ จึงได้ขอเจรจาสงบศึกกับ มหาราชจันทรภาณุ ที่ ตำบลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่ปักปันเขตแดนกันเสร็จแล้ว พระพนมทะเลศรี ฯ และ พระเจ้าจันทรภาณุ ได้ทรงหลั่งทักษิโณทก กระทำสัตย์สาบานแก่กัน ว่าจะทรงขอดองเป็นพระญาติ ฝากบ้านฝากเมืองแก่กัน และถ้าบ้านเมืองของใครเกิดมีอันเป็นไปเสียก่อน ก็จะไปช่วยบูรณะให้กลับเจริญดั่งเดิม ซึ่งหลังจากที่พระพนมทะเลศรี ฯ หรือ ท้าวอู่ทอง ได้ให้สัตย์สาบานแก่พระเจ้าจันทรภาณุแล้ว ก็ทรงถวายไทยทานมาช่วยเหลือการสร้างพระบรมธาตุเมืองนครอยู่เสมอ รวมทั้งแลกเปลี่ยนสินค้าแก่กันเสมอ

กระทั่งกรุงตามพรลิงค์ ประสบกับโรคระบาดทั้งอาณาจักร จนทำให้ล่มสลาย ไม่สามารถฟื้นคืนกำลังกลับมาได้ดั่งเดิม พระพนมทะเลศรี ฯ จึงทรงมีพระราชโองการให้ พระพนมวัง พระราชโอรส นำผู้คนลงไปบูรณะหัวเมืองทางตอนใต้ โดยมีข้อความ ระบุในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า

“ แลพระเจ้าอยู่หัวประทานให้พระพนมวังแลนางสะเดียงทองออกไป สร้างเมืองนครดอนพระ แลท่านให้พลเจ็ดร้อย แขกห้าสิบ ช้างสาม ม้าสอง มาประทานให้แก่พระพนมวังแลนางสะเดียงทอง อยู่ในเมืองนครดอนพระนั้นจงขาด แลมีลูกหลานให้อยู่กินเมืองมีญาติกาหญิงชายไซร้ให้ถวายเข้ามาเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัว แลเมืองแห่งใด ๆ เป็นเมืองขึ้นไซร้ พระพนมวังแลนางสะเดียงทองแต่งแขกนั้นให้ไปเป็นเจ้าเมืองนั้นอยู่จงทุกเมืองนั้น ให้มาขึ้นในเมืองนครดอนพระเป็นส่วยทอง แลในใต้หล้าฟ้าเขียว ณ บ้านเมืองไกล พระพนมวัง แลนางสะเดียงทองไซร้ เป็นธุระสร้างบ้านเมืองแลพระมหาธาตุจงลุสำเร็จ แล้วให้เจ้าศรีราชาผู้ลูกพระพนมวังแลนางสะเดียงทองเข้ามาเอาแก้ว สำหรับยอดพระเจ้านั้นแลทองออกไป แลพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้สร้างป่าเป็นนาจงทุกตำบล ให้ป่าวแก่คนอันอยู่ ณ เขาให้ออกมาทำไร่นาแล อยู่เป็นที่ถิ่นฐาน บ้านที่อยู่ให้มีชื่อตำบล แลให้พระพนมวังกฎหมายไว้ให้เจ้าศรีราชา เอาเข้ามาไหว้พระเจ้าอยู่หัวจงรับทราบ แลพระเจ้าอยู่หัวสั่งเท่านั้นแล พระพนมวังแลนางสะเดียงทองแลศรีราชากราบลา ”

จากข้อความที่ระบุถึงการมาของพระพนมวัง และ นางสะเดียงทอง ในส่วนนี้ จะเห็นได้ถึงความตั้งพระทัยของพระพนมทะเลศรี ฯ ที่ทรงต้องการที่จะบูรณะหัวเมืองทางตอนใต้ทั้งหมด รวมถึงพระบรมธาตุเมืองนคร ฯ ที่ในยุคนั้นได้ปรักหักพังลงแล้ว ให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง แต่การฟื้นฟูบูรณะบ้านเมืองนั้น ย่อมไม่ใช่การง่าย จึงได้ทรงพระราชทานไพร่พล ให้พระพนมวัง และ นางสะเดียงทอง พาไปสร้างบ้านเมืองด้วย

เมื่อพระพนมวัง และ พระนางสะเดียงทองเดินทางลงใต้ มาจนถึงเมืองท่าทอง ( อยู่ในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ) ก็ได้ตั้งเมืองลงที่ “ บ้านจงสระ ” และได้ให้ขุนนางใต้บังคับบัญชา ไปฟื้นฟูบูรณะหัวเมืองต่างๆ ตั้งแต่ บางสะพาน ไปจน ถึงหัวเมืองในแหลมมลายู โดยยึดตามพระราชโองการที่พระพนมทะเลศรี ฯ ทรงกล่าวไว้ ว่าให้ รวบรวมผู้คน มาสร้างนา แล้วจึงสร้างเมือง ซึ่งพระพนมวัง และ พระนางสะเดียงทอง ก็ได้ทรงยึดตามรับสั่งในพระราชโองการ จนทำให้เมืองท่าทอง กลับมาอุดมด้วยไร่นาอีกครั้ง

สำหรับพระโอรส และ พระธิดา ของพระพนมวัง ตามที่พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชระบุไว้ มีด้วยกัน ๓ พระองค์ คือ

๑. เจ้าศรีราชา พระโอรสองค์โต มีพระชายาชื่อ นางสน ปกครองเมืองสะอุเลา ( หรือเมืองท่าทอง ) ช่วยราชการพระพนมวัง
๒. เจ้าสนตรา พระธิดาองค์รอง มีพระสวามีชื่อ เจ้าอินทราชา ผู้สถาปนาเมืองตระนอม เมืองท่าค้าขายในยุคฟื้นฟูเมืองนครยุคหลัง
๓. เจ้าอินทกุมาร พระโอรสองค์เล็ก มีพระชายาชื่อ นางจันทร์ ผู้ปกครองพื้นที่แถบดำถะหมอท่าทอง ภายหลังได้ปกครองเมืองท่าทองแทนพระเชษฐา

ตลอดพระชนม์ชีพของพระพนมวัง ได้ทุ่มเทกับการบูรณาการบ้านเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งได้ถึงแก่ทิวงคตลง เจ้าศรีราชา เจ้านางสนตรา และ เจ้ากุมาร จึงได้จัดการถวายพระเพลิงปลงพระศพ นำพระอัฐิไปบรรจุไว้ในภูเขาแห่งหนึ่งแล้ว จึงได้ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบทูลเรื่องการสิ้นชีพของพระพนมวัง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว มีบันทึกในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช มีความว่า

“ พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่ารัตนาการเจ้าไซร้ จะให้ครองสมบัติแทนสืบไป แลเจ้าศรีราชากราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทูลว่าตั้งบ้านเมืองสร้างป่าเป็นนา ตั้งบ้านถิ่นฐานป่าวให้คนทั้งหลายทำไร่นาแล้ว แต่งแขกไปกินเมืองแล้ว แลคนในเมืองนครดอนพระนั้นน้อยนัก แล้วเจ้าศรีราชากราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระพนมวังตายแล้ว แลพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาปราณีพระพนมวัง พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มีพระกรุณาแก่เจ้าศรีราชา ประทานให้ชื่อเป็น “ พญาศรีธรรมโศกราช สุรินทรราชาสุริวงศ์ธิบดี ศิริยุธิษเถียร อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร ” นางสนไซร์พระราชทาน ให้ชื่อ “ นางจันทรเทวีศรีรัตนฉายา ” นางเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานให้เงินแก่พญาศรีธรรมราชโศกราชมหานครพันตำลึง พญาศรีธรรมโศกราชก็ทูลพระกรุณาว่าเมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี ยากเงินทอง ข้าพระเจ้าพระบาทอยู่หัว จะขอนำเงินเล็กปิดตรานโมประจำแต่นี้ไป เมื่อหน้า แลพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาให้ทำเงินเล็กปิดตราประจำแต่นี้ไปเมื่อหน้า แลพระเจ้าอยู่หัวเร่งพญาศรีธรรมโศกราชให้ออกไปแต่งบ้านเมืองให้สำเร็จ ก็เร่งให้แต่งพระมหาธาตุให้แล้วเสร็จตั้งบ้านทุกตำบล แลประมวลผู้คนเข้าอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนั้น อันบ้านที่จรงสระนั้นให้พระญาติ อยู่ครองเมืองที่นั้น พระเจ้าอยู่หัวสั่งแล้วเท่านั้น พญาศรีธรรมโศกราชนางจันทรเทวีศรีรัตนฉายากราบบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ลาออกมาเมืองนครศรีธรรมราชไซร้

พญาศรีธรรมโศกราชให้พันวังหมื่น ตั้งบ้าน ๆ อยู่จรุงสะรักษาธาตุพระพนมวังอยู่ในถ้ำซึ่งก่อบรรจุธาตุ นั้นแลญาติกาทั้งปวงแลลูกหลานพระพนมวังนางสะเดียงทองไซร้ พระยาไว้ให้อยู่นางสนตรา เจ้าอินทราชกุมารก็แจกกัน ณ บ้านจรุงสะ ให้อยู่ท่าทอง ให้อยู่ไชยชะคราม ให้อยู่กระ หนอม ให้อยู่ตระชน ให้อยู่อะลอง ให้อยู่ทุ่งหลวง ให้อยู่ไชยา ให้ชุมพร ให้อยู่กระ ให้อยู่บางตะพาน ให้อยู่คูหา แล แต่งพญาก็ยกช้างม้ารี้พลเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ”

หลังจากที่พระพนมวังทิวงคตลง เจ้าศรีราชา พระโอรสองค์โตก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชองค์แรกจากพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงอโยธยา โดยมีนามของยศว่า “ พญาศรีธรรมโศกราช สุรินทรราชา สุริวงศ์ธิบดี ศิริยุธิษเถียร อภัยพิริยะปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร ” พร้อมด้วยนางสน พระชายา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ นางจันทรเทวีศรีรัตนฉายา ” แม่นางเมืองนครศรีธรรมราชองค์แรก อีกทั้งได้รับพระราชทานทรัพย์ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างบ้านเมือง

เมื่อได้ แต่งตั้งขุนนางรักษาเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระพนมวัง และจัดสรรให้ญาติ ๆ บางส่วน ไปอยู่กับเจ้านางสนตรา และ เจ้าอินทราชกุมาร ผู้เป็นน้อง และที่เหลือให้เดินทางไปตั้งรกรากยังดินแดนต่าง ๆ แล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช องค์แรกแห่งยุค อโยธยา ก็ได้นำไพร่พลลงไปบุกเบิกเมืองนครศรีธรรมราช โดยการบุกเบิกนั้น ก็ได้ดำเนินการอย่างเดียวกับที่พระพนมวัง พระบิดาเคยกระทำ คือส่งขุนนางไปยังท้องที่ต่าง ๆ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำไร่นา ริเริ่มการสร้างตัวเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น และส่งคนเดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ภายใต้การปกครอง ให้ส่งกำลังพล กำลังทรัพย์มาร่วมบูรณะพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชให้สำเร็จ

จะเห็นได้ว่า เจ้าศรีราชา พระโอรส ที่เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูหัวเมืองทางตอนใต้แก่พระพนมวัง ได้กระทำหน้าที่ตามพระบรมราชโองการ ที่พระอัยกา ( พระพนมทะเลศรีฯ ) และ พระบรมราชโองการ ที่พระเจ้าอยู่หัว ( พระเจ้าอู่ทองแห่งอโยธยา ) ได้พระราชทานไว้อย่างเคร่งครัด จนการฟื้นฟูบูรณาการเมืองนครศรีธรรมราช ได้ประสบผลสำเร็จในช่วงระยะหลังจากเจ้าศรีราชาถึงแก่กรรมไปแล้ว

และจากหลักฐาน ดวงเมืองเก่า ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้ระบุวันที่สถาปนาดวงเมืองไว้ว่า ได้ตั้งขึ้น ในวันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๑๘๓๐ ตรงกับปีฉลู อาจพอระบุห้วงเวลา การเดินทางมาลงหลักปักฐานของเจ้าศรีราชา เจ้าพระยานครศรีธรรมราชองค์แรกได้ ว่าท่านคงจะเดินทางมายังเมืองนครบวกลบไม่เกิน ๕ ปี นับจาก พ.ศ. ๑๘๓๐ นี้

ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองในอุษาคเณย์ ในยุคปี พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นห้วงเวลาหลังจากที่จักรวรรดิบายนได้ล่มสลายไปแล้ว จึงทำให้ดินแดนต่าง ๆ พากันแยกตัวเป็นอิสระ หรืออาจเรียกได้ว่า “ ยุคสมัยแห่งนครรัฐ ” ซึ่งในยุคนั้น ได้มีอาณาจักรที่ต่างตั้งตนเป็นใหญ่หลายดินแดน เช่น อาณาจักรล้านนาของพ่อขุนเม็งราย อาณาจักรสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรพะโค หรือหงสาวดีทางตะวันตก อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรจามปา และอาณาจักรเขมรใน ทางตะวันออก ส่วนที่ใจกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ได้บังเกิดนครรัฐนามว่า “ อโยธยา ” ที่มีอำนาจทางการทหาร และสมบูรณ์ด้วยรี้พล ถึงกับสามารถสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัยได้ จนเป็นเหตุให้ พ่อขุนรามคำแหง ต้องทรงติดต่อทางราชไมตรีกับราชสำนักมองโกล เพื่อที่จะอาศัยอิทธิพลของราชสำนักมองโกล ซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น ปกป้องอาณาจักรของพระองค์ให้รอดพ้นจากการคุกคามของอาณาจักรอโยธยาทางตอนใต้

จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเหตุไฉนพระมหากษัตริย์แห่งเพชรบุรี – อโยธยา จึงสามารถส่งพระราชโอรสลงมาฟื้นฟูหัวเมืองทางตอนใต้อันห่างไกลออกไปได้ ถ้าหากพระองค์ทรงไม่มีรี้พลที่แกล้วกล้าในการสงคราม หรือ ถ้าทรงไม่มีอานุภาพในลุ่มเจ้าพระยาจริง คงจะไม่สามารถยกทัพลงไปบุกอาณาจักรศรีวิชัย – ตามพรลิงค์ ในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุได้อย่างแน่นอน

นี่คือมุมมองที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่เคยมองเห็น ไม่ได้เข้าใจว่า บ้านเมืองยุค พ.ศ. ๑๘๐๐ ไม่ได้มีระบบการปกครองบ้านเมืองอย่างกรุงศรีอยุธยา จึงพลอยเข้าใจกันไปว่า กรุงสุโขทัยคือราชธานีในยุคนั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว กรุงสุโขทัยคือเมืองศูนย์กลางของนครรัฐสุโขทัยเท่านั้นเอง มิได้เป็น “ เมืองหลวง ” อย่างเช่นที่กรุงศรีอยุธยาได้เป็น เพราะยุคนั้น นครรัฐต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอิสระแก่กัน ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครอง ของนครรัฐใด นครรัฐหนึ่งดั่งที่เคยเข้าใจกันมา