ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ในอดีตกาล เมื่อครั้งก่อนหน้าที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาแพร่ขยายครอบคลุมในปลายแหลมมลายู ดินแดนแห่งนี้ก็มีความเชื่อ คติชนที่เจือผสมด้วยคติพื้นเมือง ( ผี ) พราหมณ์ พุทธ เป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเฉพาะในท้องถิ่นปลายแหลมมลายู ซึ่งหนึ่งในความเชื่อที่ยังหลงเหลือมาอยู่นั้น คือสิ่งสักการะที่เรียกกันว่า “ บุหงาซือรี ”

บุหงาซือรี , บุหงอซีเระ หรือที่บางคนเรียกกันว่า “ บายศรีพลู ” เป็นเครื่องสักการะที่สร้างขึ้นตามคติเขาพระสุเมรในศาสนาพราหมณ์ โดยบุหงาซือรีนั้น เป็นที่สถิตของศรี และสิ่งอันเป็นมงคลทั้งหลาย โดยบุหงาซือรีจะใช้ต้นกล้วยเป็นแกนกลาง ใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงเสียบพับใบพลู ใช้กาบกล้วยตัด คั่นระหว่างชั้นใบพลูและดอกไม้ ฐานที่รองบุหงาซือรี มักจะนิยมใช้พานทองเหลือง เพื่อแสดงฐานะของพิธีนั้น ๆ

และสำหรับในคติความเชื่อของโนรา ในพื้นที่ จ.พัทลุง จ.สงขลา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนไปจนถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ที่มีชาวมาเลเซียเชื้อสายสยาม ( ออรังเซียม ) อาศัยอยู่ จะนิยมใช้บุหงาซือรี เป็นเครื่องบูชาครูหมอโนราด้วย เพราะในพื้นที่ตั้งแต่ จ.พัทลุง และ จ.สงขลาลงไป ได้มีบรรพชนชาวมลายูเข้ามาอาศัยร่วมอยู่ด้วย ในบางยุคสมัย ก็มีชาวชวา – ชาวมลายูเข้ามารับราชการในการปกครองบ้านเมือง ดังนั้น เพื่อเป็นการบูชาบรรพบุรุษชาวมลายู และ ชาวชวา ที่มีส่วนร่วมในตระกูลของลูกหลานเชื้อสายโนรา ลูกหลานจึงได้แต่งบุหงาซือรีขึ้นบูชาบรรพชนชาวนายูเหล่านั้น โดยได้มีคติในฝ่ายโนราที่เรียกกันว่า “ ฝ่ายแขก ” ซึ่งฝ่ายแขก หรือ แพรกแขกในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่บรรพชนที่นับถืออิสลาม แต่รวมไปถึงบรรพชนเชื้อสายมลายูที่มีอยู่มาก่อนหน้ายุคที่ศาสนาอิสลามจะเผยแพร่เข้ามา ซึ่งกล่าวได้เต็มที่ว่า “ ฝ่ายแขก ” ในคติโนรานั้น โดยดั่งเดิมแล้ว หมายถึงชาว ชวา – มลายู ที่ได้มาตั้งรกรากในแผ่นดินลุ่มน้ำทะเลสาบตั้งแต่โบราณกาลนั่นเอง

โดยคติความนับถือของลูกหลานโนราที่มีแพรกแขกแล้ว จะต้องตั้งเครื่องบูชาครูหมอสองส่วน ส่วนหนึ่งคือครูต้นโนรา – ครูหมอโนราฝ่ายสยาม และครูหมอโนราฝ่ายแขก เมื่อตั้งโรงครูโนรา ในบางพื้นที่ จะมีการแยกพาไลครูหมอให้แก่ฝ่ายแขกด้วย เพื่อเป็นการยกย่องบรรพชนในฝ่ายมลายู

ความนิยมการใช้บุหงาซือรี หรือ บายศรีพลู ของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลูกหลานเชื้อสายโนรานั้น มีการยึดถือเรื่องจำนวนชั้นกันละม้ายคล้ายกับจำนวนชั้นบายศรีต้นของชาวสยามอีกด้วย ซึ่งจำนวนของชั้นบุหงาซือรีนั้น จะดูจากจำนวนของแถวพับใบพลูที่เรียกซ้อนกันขึ้นไป โดยจำนวนชั้น มีความหมายดังต่อไปนี้
บุหงาซือรี มีแถวใบพลู ๓ ชั้น ใช้ในงานสุนัต แต่งงาน รับขวัญเด็ก ในคติลูกหลานโนรา ถือเป็นการบูชาบรรพชนที่เป็นคนชั้นสามัญ
บุหงาซือรี มีแถวใบพลู ๕ ชั้น ใช้ในขบวนแห่ ใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ในคติลูกหลานโนรา ถือเป็นการบูชาบรรพชนที่เป็นขุนนาง
บุหงาซือรี มีแถวใบพลู ๗ ชั้น ใช้ในงานพิธีระดับบ้านเมือง เช่นพิธีแห่นก พิธีเมาลิด ในคติลูกหลานโนรา ถือเป็นการบูชาบรรพชนที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ลูกท่านหลานเธอ
บุหงาซือรี มีแถวใบพลู ๙ ชั้น ใช้ในพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ สุลต่านรายาประจำเมือง ในคติลูกหลานโนรา ถือเป็นการบูชาบรรพชนที่เป็นพระมหากษัตริย์เช่นกัน

เมื่อกล่าวถึงบุหงาซือรีแล้ว จะไม่กล่าวถึงองค์ประกอบที่คู่กันไม่ได้ นั่นคือ “ ปูโล๊ะสมางัด ” หรือ ข้าวเหนียวเรียกขวัญ โดยข้าวเหนียวที่นำมาคู่กับบุหงาซือรีนั้น นิยมทำข้าวเหนียวมูนสีเหลือง สีขาว สีแดง และไข่ต้ม ทำเป็นกรวยภูเขามาประกอบบุหงาซือรี หรือบางแห่งก็นิยมเพียงแค่ข้าวเหนียวเหลืองอย่างเดียว ซึ่งปูโล๊ะสมางัด กับ บุหงาซือรี ถือเป็นสิ่งที่หากมีคู่กันแล้ว กิจพิธีนั้นจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน บุหงาซือรี ได้มีลูกหลานโนราใน จ.พัทลุง จ.สงขลา รวมถึงผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อนุรักษ์การทำบุหงาซือรี และยังคงนำบุหงาซือรีไปประกอบในกิจพิธีต่าง ๆ ไม่ต่างกับยุคบรรพชนที่ได้ทำบุหงาซือรีสืบต่อกันและยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่คงอยู่ของชนชาวมลายูในฝั่งสยาม

อ้างอิง
https://board.postjung.com/1243961
http://culture.pn.psu.ac.th/…//files/ch420200203105837.pdf