ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

พระวิหารสูง (หอพระสูง) จ.นครศรีธรรมราช จากพื้นที่วัดชายดัง #สู่เนินเลือดแห่งการสู้รบ #และพื้นที่ถวายพระเพลิงพระเจ้าตากสิน
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

นครศรีธรรมราช จังหวัดที่อุดมไปด้วยพุทธสถานจำนวนมาก ทั้งที่ยังคงอยู่ และรกร้างไปแล้ว โดยเฉพาะในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ปรากฏวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปีมากมาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วตัวเมืองนครศรีธรรมราช

แต่ยังมีสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่บนเนินดิน เป็นที่สักการะของชาวเมืองมานับร้อยปี แม้กระทั่งพื้นที่ใกล้กันกับเนินพระแห่งนี้ จะกลายเป็นโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชแล้วในปัจจุบัน พระพุทธปฎิมาบนเนินดิน ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชโดยเสมอมา และสถานที่ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น คนนครศรีธรรมราชรู้จักกันในนาม “ หอพระสูง ” ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

สำหรับความเป็นมาของหอพระสูง ได้ถูกบันทึกไว้โดย “ ครูน้อม อุปรมัย ” อดีตครูและศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของหอพระสูงไว้ ( ในขณะนั้นโรงเรียนเบญจมราชูทิศยังตั้งอยู่บนพื้นที่ด้านหน้าหอพระสูง ก่อนที่ภายหลังจะย้ายไปอยู่ใกล้กับสี่แยกเบญจม ฯ ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ) ซึ่งประวัติความเป็นมาของหอพระสูง ท่านครูน้อม อุปรมัย ได้บันทึกไว้ในบทความชื่อ “ ความรู้เรื่อง พระสูงเมืองนคร ” ผู้เขียนจึงขอนำมาสรุปแบ่งเป็นสามตอนหลัก คือ

๑. ก่อนหน้าที่จะมาเป็นหอพระสูง
ในอดีตของหอพระสูง ก่อนหน้าที่จะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ในสมัยก่อน ยังคงเป็นเพียงป่าละเมาะริมคลอง ซึ่งในอดีตพื้นที่เนินพระสูง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “ วัดชายดัง ” ( วัดร้าง ) ต่อมาในยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพจากอังวะเข้ารุกรานอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ๙ เส้นทาง ซึ่งหัวเมืองทางตอนใต้ ก็เป็น ๑ ใน ๙ เส้นทาง ที่กองทัพพม่าบุกลงมาทางใต้ ข่าวการศึกที่ราชอาณาจักรอังวะบุกเข้ามา ได้เข้าถึงเมืองนครศรีธรรมราชโดยตลอด กองทัพจากพม่าเข้ารุกรานตีเมืองปะทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองท่าทอง จนกองทัพพม่าบุกเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ทางกองทัพเมืองนคร ฯ ได้เตรียมพื้นที่บริเวณหอพระสูง ยาวไปทางตะวันออกในการขุดสนามเพลาะสำหรับใช้สู้รบ เป็นแนวปะทะก่อนที่จะเข้าถึงกำแพงเมือง โดยได้มีการพูนดินบริเวณพระสูงขึ้นเป็นเนินสูง ใช้สำหรับการตั้งป้อมยิงปืนใหญ่ใส่ข้าศึก การสู้รบระหว่างกองทัพจากอังวะ และกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชได้ปะทะกันอย่างดุเดือด แต่ด้วยกำลังที่มากกว่า ทำให้กองทัพอังวะสามารถทำลายแนวป้องกันบริเวณหอพระสูงลงได้ ก่อนที่จะบุกเข้าประชิดเมือง และ ตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ในเวลาถัดมา

ถึงแม้นครศรีธรรมราชจะถูกกองทัพข้าศึกยึดได้ แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ยกทัพมาขับไล่กองทัพจากราชอาณาจักรอังวะออกไปจนสิ้น เมื่อสิ้นศึกแล้ว เจ้าพระยานครฯ พัฒน์ จึงได้เกลี้ยกล่อมผู้คนกลับเข้าสู่เมืองตามเดิม

เพื่อรำลึกถึงสงคราม ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงเรียกขนานนามเนินดินแห่งนั้นว่า “ เนินเลือด ” และตามความเชื่อของคนในยุคนั้น ได้เชื่อว่า ที่เนินเลือดแห่งนี้ เป็นจุดที่ผีดุสุด จนทำให้ชาวเมืองในยุคนั้นหลีกเลี่ยงที่จะเดินผ่านไปเลยก็มี

๒. การก่อสร้างพระสูงบนเนินดิน
หลังจากที่เจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ฯ ) ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง พระบริรักษ์ภูเบศร์ ( น้อย ) บุตรบุญธรรม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช สืบทอดจาก เจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ฯ ) ถึงแม้ในยุคการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชของเจ้าพระยานคร ( น้อย ) จะวุ่นวายกับการปราบกบฏไทรบุรีตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง แต่ในด้านการศาสนาแล้ว ท่านเจ้าพระยานคร ( น้อย ) ได้สร้างศาสนสถานเอาไว้เช่นกัน เช่น พระสูงวัดวังตะวันตก , วัดศาลามีชัย , โบสถ์มหาอุด วัดแจ้งวรวิหาร เป็นต้น

และหนึ่งในศาสนสถานที่สำคัญที่ท่านเจ้าพระยานคร ( น้อย ) ได้สร้างเอาไว้ นั่นคือ “ หอพระสูง ” โดยสร้างไว้บนเนินดินที่เคยเป็นจุดสู้รบในอดีต นัยว่า

เป็นการอุทิศบุญกุศล และไม่ให้เนินดินแห่งนี้ถูกใช้งานอย่างอื่นอีกต่อไป ท่านเจ้าพระยานคร ( น้อย ) จึงได้สร้างพระพุทธปฎิมาองค์ใหญ่ขึ้นเหนือเนินดินแห่งนี้ โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก องค์พระสูง ๘ ศอก วิหารที่สร้างครอบพระปฎิมาเป็นวิหารทรงมหาอุด คือ มีประตูเข้า – ออก เพียงทางเดียว มีช่องลมรูปกากบาทสำหรับระบายอากาศ ตามการสรุปอายุของหอพระสูง สันนิษฐานอยู่ในยุคอยุธยาตอนปลาย ถึง ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ( พุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ )

สาเหตุที่มีการสร้างพระสูงขึ้นบนเนินแห่งนี้ มีการสันนิษฐานไว้ ๒ ทางหลักๆ คือ

๑. สร้างพระสูงขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวเมือง
เป็นที่ทราบของผู้คนในยุคนั้นว่าเนินที่ก่อสร้างพระสูง เดิมทีเป็นจุดรับศึกสงคราม เป็นจุดที่มีการสูญเสียล้มตายของไพร่พลทั้งฝ่ายเมืองนคร และฝ่ายทัพอังวะ ถึงแม้ด้านหนึ่งจะเล่าลือถึงกิตติศัพท์ทางด้านความเชื่อ แต่ถ้าพิจารณาในมุมขวัญกำลังใจแล้ว สถานที่ ที่เกิดการล้มตายของผู้คน ย่อมเป็นที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น เพื่อปลอบขวัญของผู้คน และเพื่ออุทิศบุญกุศลแก่ผู้วายชนม์ เจ้าพระยานคร ( น้อย ) จึงได้สร้างพระพุทธปฎิมาเหนือเนินดินแห่งนี้ พร้อมวิหารครอบในลักษณะมหาอุด เพื่อยุติความหวาดกลัวของชาวเมือง เมื่อมีหอพระสูงแล้ว ทำให้ภายหลัง ผู้คนค่อย ๆ ลืมเลือนเรื่องราวความน่ากลัวในสถานที่แห่งนี้

๒. สร้างพระสูงขึ้นเพื่อครอบสถานที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
กระแสเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในบันทึกของสกุล ณ นคร ซึ่งเป็นสกุลผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในยุคธนบุรี – ยุคกลางกรุงรัตนโกสินทร์ มีความเชื่อว่าพระองค์ได้ทรงเสด็จมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ซึ่งแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มีการนำเสนอในปัจจุบัน แม้ว่าเหตุการณ์ในบั้นปลายพระชนม์ชีพจะมีสิ่งที่เป็นปริศนาหลายประการที่ยังคงถกเถียง แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเป็นที่เคารพของผู้คนในเมืองที่พระองค์เคยประทับ ซึ่งนครศรีธรรมราชก็เป็นหนึ่งในนั้น

จากเรื่องราวภายในของสกุล ณ นคร ได้กล่าวถึงหอพระสูงว่าถูกใช้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีการปลงพระศพในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งในการปลงพระศพครั้งนี้ ได้กระทำโดยอำพราง โดยถวายพระเพลิง ไปพร้อมกันในงานเผาศพเจ้าพระยานคร ( พัฒน์ ฯ ) บิดาบุญธรรมของ ท่านเจ้าพระยานคร ( น้อย ) เมื่อการถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าพระยานคร ( น้อย ) จึงได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งทับสถานที่ถวายพระเพลิงเสีย และได้บรรจุสรีรังคารที่เหลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป นอกจากนั้น ยังได้มีการวาดลวดลายมงคลทางจีนเอาไว้ที่ฐานของพระพุทธรูป และวาดลายดอกไม้ลวดลายศิลปะจีนประดับฝาผนังทั้งสี่ด้าน

ถึงแม้เรื่องราวในข้างต้น จะเป็นเพียงเรื่องราวที่ปรากฏกันภายในตระกูล ณ นคร และมีปรากฎประปรายกันในหมู่ชนพื้นเมืองนครศรีธรรมราช แต่ก็ไม่สามารถละเลยเรื่องราวและที่มาได้ ในภายหลัง ได้มีการตีแผ่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสิน และ ตระกูล ณ นคร กว้างขวางขึ้น จึงทำให้หอพระสูงรู้จักกันว่าเป็น ๑ ในสถานที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย ตามธรรมเนียมของตระกูล ณ นคร แล้ว จะต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์ มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลกันบนหอพระสูงแห่งนี้ เป็นประจำทุกปี

๓. ความเชื่อ – ความศรัทธาต่อพระสูง
จากบทความเรื่อง “ ความรู้เรื่อง พระสูงเมืองนคร ” ที่เขียนโดย ครูน้อม อุปรมัย ศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้บันทึกในบทความว่า ในยุครัชกาลที่ ๕ ศาลตัดสินคดีถูกย้ายมาอยู่ด้านหน้าหอพระสูงอยู่ระยะหนึ่ง ได้มีการให้ผู้ที่มีคดี หรือ มีความวิวาทบาดหมางกันให้มาสบถสาบานต่อหน้าองค์พระสูง ซึ่งการสาบานก็เป็นที่เห็นผลปาฎิหาริย์กันโดยตลอด ถึงยกกันว่า พระสูง เป็นพระพุทธรูปที่ใช้สำหรับการสาบาน

ต่อมาในยุคมหาสงครามเอเชียบูรพา ( พ.ศ. ๒๔๘๔ ) ก่อนที่กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่เมืองนครศรีธรรมราช องค์พระสูงได้หลั่งน้ำตาออกมา ทำให้คนในเมืองทราบถึงลางร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาวาตภัยได้เข้ากระหน่ำเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีผู้คนส่วนหนึ่งได้วิ่งไปอาศัยหลบภัยที่หอพระสูง ซึ่งภายหลังพายุผ่านไป หอพระสูงยังคงปลอดภัย ไม่ได้รับอันตรายจากภัยในครั้งนี้แต่อย่างใด

ล่วงเลยมาจนถึงในยุคที่มีการใช้พื้นที่ด้านข้างของหอพระสูงเป็นโรงเรียน ในยุคเริ่มต้นให้เป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ก่อนที่ในกาลต่อมาจะเป็นโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ในทุกครั้งที่มีการจับฉลากเพื่อเข้าเป็นนักเรียน จะมีผู้ปกครองและนักเรียนจากทั่วสารทิศภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาขอพรจากองค์พระสูง เพื่อให้สอบเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ และในทุก ๆ วันที่ ๑ มิถุนายน ของทุกปี โรงเรียนกัลยาณีนครศรีธรรมราชจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่บนหอพระสูงเป็นประจำ

ในปัจจุบัน หอพระสูง หรือ พระวิหารสูง ได้มีการเปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าสักการะอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับท่านที่สนใจ หรือ มีความศรัทธา สามารถเข้าไปสักการะได้ในทุก ๆ วันทำการ

อ้างอิง
๑. เอกสารบทความเรื่อง “ ความรู้เรื่อง พระสูงเมืองนคร ” ที่เขียนโดย ครูน้อม อุปรมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ และ อดีต สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ๔ สมัย
๒. ข้อมูลเรื่องหอพระสูงจาก “ หนังสือที่ระลึก พิธีประดิษฐานและสมโภช พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” จัดพิมพ์โดย กองทัพภาคที่ ๔