ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

ความหมายของเครื่องทรงองค์ครูต้นโนรา #พระเทพสิงหร/หล ( #ขุนศรีศรัทธา)
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

ตามตำนานการให้กำเนิดโนรา ครูหมอองค์หนึ่งที่เป็นบุคคลสำคัญในการแพร่ขยาย และนำการร่ายรำโนรามาเผยแพร่เป็นท่านแรก นั่นคือ “ พระเทพสิงหร/หล ” หรือเป็นที่รู้จักกันนามในภายหลังว่า “ขุนศรีศรัทธา” ซึ่งพระเทพสิงหร/หลผู้เป็นพระนัดดาของพญาสายฟ้าฟาดนั้น เป็นผู้แรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องต้นของกษัตริย์ หลังจากที่ใช้ความสามารถในการร่ายรำรักษาพระนางศรีมาลาผู้เป็นพระอัยกี ให้หายจากอาการประชวร และเพื่อเป็นการรับขวัญพระนัดดา พญาสายฟ้าฟาด จึงทรงพระราชทานเครื่องต้นของกษัตริย์ทั้ง ๕ พร้อมด้วยแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์ให้ ซึ่งเครื่องต้นทั้ง ๕ นั้น ประกอบด้วย

 

นอกจากเครื่องต้นทั้งห้าแล้ว ขุนศรีศรัทธายังได้รับพระขรรค์เฉกเช่นเชื้อพระวงศ์ และในระยะเวลาต่อมาวิวัฒนาการด้านการแต่งกายของโนรา ได้มีการเพิ่มเครื่องประดับส่วนต่าง ๆ เช่น ปัดเหน่ง ( หัวเข็มขัด ) ผ้าห้อยหน้า ผ้าสนับเพลา รวมถึงเครื่องแต่งกายประเภทลูกปัด ที่มีเพิ่มมาภายหลัง ซึ่งการค้นคว้าเพื่อหาหลักฐานต่าง ๆ ในการแต่งเครื่องโนราของพระเทพสิงหร/หล ( ขุนศรีศรัทธา ) นั้น นอกจากจะขาดไม่ได้ซึ่งเครื่องต้นทั้ง ๕ ประการ อันเป็นเครื่องแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ของเชื้อพระวงศ์แล้ว ยังต้องดูรายละเอียดให้ถูกต้องสอดคล้องกับการแต่งกายของผู้คนในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ โดยทางคณะผู้ค้นคว้าได้นำข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ที่มีต้นแบบมาจากดินแดนศรีวิชัยด้วยเวียงบางแก้วดินแดน ที่พญาสายฟ้าฟาดปกครองนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกัน และมีต้นแบบศิลปะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ซึ่งได้นำมาร่วมเป็นต้นแบบในการค้นคว้า

สำหรับรูปลักษณ์ของพระเทพสิงหร/หล หรือ ขุนศรีศรัทธาองค์ปฐม ท่านได้ทรงภูษาเครื่องทรงอย่างในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ โดยผู้คนในยุคนั้น หากเป็นบุรุษจะนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนชายยาว เหมือนกับการนุ่งผ้าของชายชาวอินเดียยุคโบราณ ในเรือนร่างกายส่วนบนนั้น จะนิยมสวมเครื่องประดับตามยศฐาตำแหน่งของตน ดังนั้นแล้ว ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ การใช้ชุดลูกปัดในการแสดงโนราจึงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีมูลเหตุใดที่พระเทพหรือขุนศรีศรัทธาที่เป็นเชื้อพระวงศ์จะต้องทรงเครื่องที่เป็นลูกปัด เพราะเครื่องต้นของชนชั้นสูงในยุคก่อนล้วนแล้วแต่เป็นแร่ธาตุอันมีค่า อย่างเช่น เงิน หรือ ทองคำทั้งนั้น

สำหรับเครื่องต้นทั้ง ๕ ที่พระเทพสิงหร/หล หรือ ขุนศรีศรัทธาสวมใส่นั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

๑. เทริดสำหรับสวมศีรษะ
เทริด ศิราภรณ์สำหรับสวมศีรษะที่พระเทพสิงหร/หล ( ขุนศรีศรัทธา ) ได้รับพระราชทาน จากพญาสายฟ้าฟาด เทริดที่พระเทพสิงหร/หลสวมนี้ เป็นเทริดทรงยอดเตี้ย ซึ่งเป็นเทริดในยุคแรก ก่อนที่จะวิวัฒนาการตามทรงพระมหาพิชัยมงกุฎในยุคอยุธยาเทริดของพระเทพสิงหร/หล นี้เป็นการย่อรวมเอาระหว่าง อุณหิสอันเป็นเครื่องประดับกรอบหน้า และเครื่องประดับสำหรับรัดมุ่นมวยผมบนเกศเข้าด้วยกัน ซึ่งคตินิยมของบุรุษชั้นสูงในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือแม้กระทั่งในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ยังมีความนิยมเกล้าผมบนจอมกระหม่อมเพราะฉะนั้นเทริดของพระเทพสิงหล จึงต้องครอบมวยพระเกศาไว้ภายใน เพื่อให้ตรงกับคตินิยมในยุคนั้น

๒. สายสังวาล
สายสังวาล หรือ สร้อยสังวาล เป็นเครื่องประดับอาภรณ์ประเภท สะพายพาดเฉียงไปกับร่างกาย แต่เดิมแล้วสังวาลจะทำจากแร่ธาตุอันมีค่า เช่น เงิน ทองคำ นาค หินลักษณะโปร่งแสง หรือ หินมีค่า ซึ่งสร้อยสังวาลสำหรับสะพายเฉียงของพระเทพสิงหร/หลนั้น เป็นสายสังวาลที่พญาสายฟ้าฟาดพระราชทานให้ ที่ปลายล่างสุดของสายสังวาลทั้งสองด้าน มีเครื่อง ประดับที่ดูคล้ายกับนกบิน เรียกกันว่า ปีกนกแอ่น ประดับเพื่อให้เกิดความสวยงาม

๓. ทับทรวง
ทับทรวง คือเครื่องประดับสำหรับปิดหน้าอก โดยมีใช้แพร่หลายตั้งแต่ยุคคุปตะ โดยถือเป็นเครื่องประดับที่แปลงมาจากสร้อยคอ โดยรูปร่างของทับทรวงนั้น มีตั้งแต่รูปร่างวงกลม รูปร่างสี่เหลี่ยม จนกระทั่งวิวัฒนาการเป็นรูปทรงที่สวยงามในปัจจุบัน ซึ่งทับทรวงของพระเทพสิงหร/หลนั้นเป็นทับทรวงรูปแบบสี่เหลี่ยมปิดในจุดลิ้นปี่โยงรัดไว้ด้วยสายสังวาลที่สะพายไขว้ ทั้งสองด้าน

๔. รัดต้นแขน และ กำไล
เมื่อกล่าวถึงเครื่องประดับอีกชิ้นของพระมหากษัตริย์ จะละเลยรัดต้นพระพาหา ( รัดต้นแขน ) และทองพระกร หรือกำไลไม่ได้เลย ซึ่งในขนบการแต่งกายของโนรานั้น โนราใหญ่จะต้องมีรัดต้นแขนและกำไลกันทุกคน ซึ่งรูปของพระเทพสิงหร/หลนั้น มีรัดต้นพระพาหา และ ทองพระกรเป็นศิลปะศรีวิชัยในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ซึ่งเป็นยุคที่ครูต้นโนรามีชีวิตอยู่

๕. ดอกจันทน์ปิดด้านหลัง
สำหรับเครื่องประดับด้านหลังของสังวาล เรียกได้ว่าเป็นแฝดกันกับทับทรวง แต่สำหรับแผ่นโลหะที่ปิดแผ่นหลัง ภาษาโนรานั้นเรียกว่า “ ประจำยาม ” ประจำยามจะมีขนาดที่เล็กกว่าทับทรวง เมื่อโนราใหญ่จะสวมเครื่องต้น ดอกจันทน์ หรือ ประจำยาม ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องต้นที่ขาดไม่ได้

ในส่วนของเครื่องประดับที่นอกเหนือไปกว่าเครื่องต้นทั้งห้า มีคำอธิบายดังต่อไปนี้

๑. #ตุ้มหูหรือพระกุณฑล
สาเหตุที่พระเทพสิงหร/หลสวมตุ้มหูทั้งสองข้าง เพราะการสวมตุ้มหูในโบราณกาลนั้น มิใช่มีเพียงสตรี แม้แต่บุรุษก็สวมเพื่อที่จะทำให้ติ่งหูนั้นยาน ตามลักษณะความเชื่อเรื่องนรลักษณ์ของผู้คนยุคโบราณ ซึ่งตุ้มหูของพระเทพสิงหลนั้น จะเป็นตุ้มหูในรูปแบบที่นิยมในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔

๒. #สายรัดอกหรือสายอุทรพันธะ
สายอุทรพันธะเป็นเครื่องประดับยุคโบราณ ที่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมอีกแล้ว มีลักษณะเป็นสายรัดคล้ายกำไล แต่จะมีขนาดยาวถึงกับโอบรัดส่วนด้านหน้าของร่างกายได้ ซึ่งพระเทพสิงหร/หลในรูปแบบที่ได้ค้นคว้านั้นก็ได้รัดสายอุทรพันธะไว้ที่หน้าอก บ่งบอกถึงสถานะชนชั้นสูงของบ้านเมือง

๓. #เข็มขัดหรือสายรัดพระองค์
สำหรับเข็มขัดที่รัดพระองค์ของพระเทพสิงหร/หล เป็นเข็มขัดที่เป็นรูปแบบในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ นำรูปแบบมาจากการทรงภูษาของเทวรูปศิลปะศรีวิชัย ในยุคที่ร่วมสมัยกันกับยุคที่ก่อตั้งเวียงบางแก้ว ซึ่งในคตินิยมของยุคนั้นสายรัดพระองค์จะทำมาจากแร่ธาตุมีค่า แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการใช้ปั้นเหน่งหรือปิดเหน่ง ที่เป็นแผ่นโลหะลงถมนำมาใช้เป็นหัวเข็มขัด

๔. #พระขรรค์
พระขรรค์ หรือ ดาบสองคม เป็นอาวุธสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือ เชื้อพระวงศ์ที่เหมาะสม ซึ่งพระเทพสิงหร/หลเอง ก็มีพระขรรค์เป็นหนึ่งในเครื่องที่พญาสายฟ้าฟาดพระราชทานให้ โดยพระขรรค์นั้นถือกันว่าเป็นเครื่องอาวุธอาญาสิทธิ์ สามารถสั่งเป็นสั่งตายได้ ในการประกอบพิธีกรรมครั้งสำคัญในทุก ๆ ครั้ง ราชครูโนรา จะต้องมีพระขรรค์ประกอบไว้ด้วยเสมอ