ที่มา : https://web.facebook.com/jiradejwong…
ผู้เขียน : ภูมิ จิระเดชวงศ์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

รากฐานที่มาของประวัติศาสตร์ในคาบสมุทรตอนกลางของภาคใต้ ( ครอบคลุมพื้นที่ พัทลุง – สงขลา ) จะต้องรู้ถึงที่มาของต้นกำเนิดของธารอารยธรรมแห่งคาบสมุทรเสียก่อน นั่นคือ “ อารยธรรมโบราณเมืองสทิงพระ ” ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่ อ.ระโนด อ.สทิงพระ ไปจนถึง อ.สิงหนคร แหล่งอารยธรรมเมืองสทิงพระ มีปรากฏอายุความเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยปรากฎหลักฐานเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี และ เทวรูปที่ใกล้เคียงกับศิลปะคุปตะหลายองค์ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบชุมชนโบราณ โบราณสถาน ตลอดจนโบราณวัตถุ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ กระจายตัวตั้งแต่ อ.ระโนด จนถึง อ.สทิงพระ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของคาบสมุทรสทิงพระในฐานะเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ

ถึงแม้ว่าเมืองสทิงพระ จะปรากฏโบราณสถาน และ โบราณวัตถุอย่างมากมายที่บ่งบอกฐานะความเป็นบ้านเมืองก็ตาม แต่กลับปรากฎเรื่องราวตำนานบ้านเมืองอยู่น้อย จะมีเรื่องปรากฏชัดเจน เป็นหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงไปแล้ว เรื่องราวเดียวที่มีสอดคล้องกับพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ อยู่ในตำนานเพลานางเลือดขาว ได้กล่าวถึงเจ้าผู้ปกครองเมืองสทิงพระ อันมีพระนามว่า “ พระเจ้ากรุงทอง ” เป็นเจ้านครที่มีอำนาจเต็มอยู่ในสทิงพาราณสี และมีอำนาจอยู่เหนือแผ่นดินฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เป็นไปได้ว่า เมืองสทิงพระในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ เป็นช่วงที่มีความเจริญถึงขีดสุดในฐานะเมืองท่า และในฐานะผู้ควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร ( จากปากน้ำปะเหลียน จ.ตรัง – ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ) ความเจริญของเมืองสทิงพระ ได้เป็นไปตามวัฎจักรของโลก มีช่วงที่เจริญรุ่งเรือง และในช่วงที่ร่วงโรย ความเป็นบ้านเมืองของสทิงพระ ได้ปรากฏช่วงที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้

๑. สทิงพระ ในยุค ทวารวดี – ศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖
๒. สทิงพระ ในยุค ต้นกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐
๓. สทิงพระ ในยุค กรุงศรีอยุธยา ยุคกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑

แต่สิ่งที่เจริญรุ่งเรืองในคาบสมุทรแห่งนี้ คือความเจริญทางศาสนา ที่ประกอบไปด้วยศาสนสถานทั้งศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ เรียงรายกันตลอดตั้งแต่ทางตอนเหนือของระโนด จรดลงไปถึงเขาน้อยที่สิงหนคร ซึ่งโบราณสถานในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มีดังต่อไปนี้

 ภูเขาน้อย ( พระเจดีย์เขาน้อย ) อ.สิงหนคร ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
 เขาคูหา อ.สทิงพระ ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔
 วัดจะทิ้งพระ อ.สทิงพระ ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕
 วัดเจดีย์งาม อ.ระโนด ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๘
 วัดสีหยัง อ.ระโนด ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖
 แนวกำแพงหินโบราณ วัดสูงเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๔
 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนอู่ตะเภา – ระโนด อ.ระโนด ประกอบไปด้วย

– แหล่งโบราณคดีท่าบอน บ้านท่าบอน ต.ท่าบอน อ.ระโนด
– แหล่งโบราณคดีบ้านโคกทอง ม.๕ ต.ระโนด อ.ระโนด
– แหล่งโบราณคดีบ้านมะขามเฒ่า ต.ระโนด

 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนโบราณพังยาง อ.ระโนด ประกอบไปด้วย

– แหล่งโบราณคดีวัดขุนช้าง – บ้านสามี ต.พังยาง อ.ระโนด
– แหล่งโบราณคดีเมืองพังยาง ต.พังยาง อ.ระโนด

 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนโบราณสีหยัง – เจดีย์งาม อ.สทิงพระ ประกอบไปด้วย

– แหล่งโบราณคดีบ้านเจดีย์งาม ต.บ่อตรุ อ.ระโนด
– แหล่งโบราณคดีเมืองสีหยัง ต.บ่อตรุ อ.ระโนด

 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนเขาคูหา – เขาพะโคะ อ.สทิงพระ ประกอบไปด้วย

– แหล่งโบราณคดีเขาคูหา ม.๕ บ.เขาคูหา ต.ชุมพล อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีเขาพะโคะ ม.๖ บ.เขาพะโคะ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีชะแม บ้านชะแม ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดียางคอกควาย บ้านวัดกระ หมู่ ๒ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ

 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนโบราณสทิงพระ ( เมืองเก่าสทิงพระ ) อ.สทิงพระ

– แหล่งโบราณคดีบ้านวัดกลาง ต.กระดังงา อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณสทิงพระ หมู่ ๕ บ้านจะทิ้งพระ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีบ้านโคกเนินและพังรอบเมืองโบราณสทิงพระ บ้านจะทิ้งพระ บ้านพัง แขกชี บ้านพังเภา (ในไร่) ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณศรีมงคล หมู่ ๒ บ้านศรีไชย ต.คูขุด อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีวัดพระสิงห์หรือวัดสิง ( ร้าง ) หมู่ ๕ ต.บ่อดาน อ.สทิงพระ
– แหล่งโบราณคดีวัดพังขี้เหล็ก ( ร้าง ) บ้านพังขี้เหล็ก

 แหล่งโบราณคดี กลุ่มชุมชนโบราณบ้านปะโอ อ.สิงหนคร

– แหล่งโบราณคดีเตาเผาบริเวณริมคลองโอ ในเขต ต.ม่วงงาม และ ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร
– แหล่งโบราณคดีบ้านหนองหอย ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร
– แหล่งโบราณคดีวัดขนุน บ้านขนุน ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร
– แหล่งโบราณคดีบ้านรำแดง ต.รำแดง อ.สิงหนคร

อายุของแหล่งโบราณคดี ส่วนใหญ่จะมีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ ในบางแหล่งโบราณคดี หรือ บางโบราณสถาน ได้มีการสร้างศาสนสถานทับซ้อนในยุคสมัยถัดมา เช่น วัดจะทิ้งพระ , วัดเจดีย์งาม , วัดพะโคะ , เจดีย์วัดเขาน้อย รวมถึงชุมชนเมืองโบราณสทิงพระ ที่มีการใช้พื้นที่ทับซ้อนในยุคสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของโบราณวัตถุที่มีการค้นพบในเมืองสทิงพระโบราณนั้น ประกอบไปด้วย

๑. พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะทวารวดี จากบ้านพังแฟบ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒
๒. พระพิฆเนศ ๔ กร จากบ้านพังขนุน ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒
๓. ศิวลึงค์และฐานโยนิโทรณะ จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒
๔. พระวิษณุ ๔ กร จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๓
๕. พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะอนุราธปุระตอนปลาย จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
๖. พระศิวะ ศิลปะชวา จาก ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕
๗. พระฤๅษีอคัสตยะ ศิลปะชวา จาก พังพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
๘. พระนางศยามตารา จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔
๙. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ทรงประทับนั่ง พบจาก ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔
๑๐. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมันตมุข ศิลปะพระนครยุคเกาะแกร์ จาก ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖
๑๑. พระนางโยคินี ศิลปะศรีวิชัย จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
๑๒. ท้าวชัมภล ( ท้าวกุเวรนุราช ) ศิลปะศรีวิชัย จาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๖

เมื่อพิจารณาจากแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานที่มีปรากฏอยู่ในพื้นที่คาบ สมุทรสทิงพระฝั่งแผ่นดินบก พบว่าพื้นที่ในแถบ อ.ระโนด – อ.สทิงพระ เป็นชุมชนเมืองที่อาศัยกันอย่างแน่นหนา ในอดีตเมืองสทิงพระในยุคโบราณรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าค้าขาย อิทธิพลความเจริญของเมืองสทิงพระได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของประชากรในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และการขยายตัวในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการเผยแผ่อารยธรรมจากสทิงพระไปยังดินแดนฝั่งตรงข้ามของแผ่นดินบก นั่นคือแผ่นดินริมขอบทะเลสาบในฝั่งพัทลุงในปัจจุบัน